แรงงานยื่นเร่งรัฐรับอนุสัญญาILO 87 และ98 รัฐบาลมอบของขวัญ ประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 เท่ากันทั่วประเทศ 1 ต.ค.นี้

สภาองค์การลูกจ้าง เครือข่ายแรงงานก้าวไกล และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เสนอตรงกันรัฐให้รับรองอนุสัญญาILO ฉบับ 87 และ98 โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนชุมนุมอยู่ที่บ้านพิษณุโลก ไปทำเนียบรัฐบาล

เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ วันที่1 พฤษภาคม2567 สภาองค์การลูกจ้าง 18 องค์กร เรียกร้องให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิ์ในการรวมตัวของแรงงาน รวมถึงมาตรา 98 ที่ว่าด้วยเรื่องของสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองของแรงงานเพื่อประโยชน์ของแรงงาน โดยปีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวรายงาน โดยมี นายทวี ดียิ่ง ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2567 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน ผู้นำแรงงาน และพี่น้องผู้ใช้แรงงานหลายพันคน ร่วมให้การต้อนรับ ณ ลานคนเมือง ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เปิดวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2567 รับ 10 ข้อเรียกร้องผู้ใช้แรงงาน และยืนยันว่ารัฐบาลส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้แรงงานมีสุขภาพดี มีรายได้ มีความมั่นคง ประกาศขึ้นค่าจ้าง 400 เท่ากันทั่วประเทศเป็นของขวัญ 1 ตุลาคมนี้

ทั้งนี้ขบวนแรงงานได้มีการเดินขบวนถนนราชดำเนินนอก ไปลานคนเมืองโดยข้อเรียกร้อง 10 ข้อ มีดังนี้

1) รัฐบาลต้องรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98

2) ให้รัฐบาลตรา พ.ร.บ.หรือ ประกาศเป็นกฎกระทรวงให้มีการจัดตั้ง กองทุนประกันความเสี่ยง “เพื่อเป็นหลักประกัน” ในการทำงานของลูกจ้าง

3) ให้รัฐบาลปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม เช่น การปรับฐานการรับเงินบำนาญ โดยให้มีอัตราเริ่มต้นที่ 5,000 บาท

4) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) จัดสร้างโรงพยาบาลประกันสังคม และจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อผู้ใช้แรงงาน

5) ให้รัฐบาล (กระทรวงแรงงาน) ใช้มาตรการอย่างเคร่งครัด ให้สถานประกอบกิจการที่มีลูกจ้างรับเหมาค่าแรง ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 11/1

6) ให้รัฐบาลเร่งรัดให้ได้ข้อสรุปในแนวทางการจัดระบบสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลหลังเกษียณอายุ ให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้มีระบบสวัสดิการจากรัฐเทียบเคียงกับข้าราชการบำนาญ และลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม มาตรา 33

รวมถึงให้ลูกจ้างภาครัฐวิสาหกิจได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้จากค่าตอบแทนความชอบด้วยหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับการลดหย่อนเงินได้ก้อนสุดท้าย หรือลดหย่อนเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างเอกชนได้รับเมื่อถูกเลิกจ้าง

7) ให้รัฐบาลเพิ่มหลักประกันความมั่นคงให้กับลูกจ้าง โดยเร่งดำเนินการให้ พ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติมีผลใช้บังคับโดยเร็ว

8) ขอให้รัฐบาลยกระดับกองความปลอดภัยแรงงานขึ้นเป็น “กรมความปลอดภัยแรงงาน”

9) ให้สำนักงานกองทุนเงินทดแทนจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกินให้กับลูกจ้างจนสิ้นสุดการรักษาพยาบาลเมื่อลูกจ้างบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือประสบอันตราย เนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้าง

10) ให้ รมว.แรงงาน แต่งตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องวันแรงงานแห่งชาติ ปี พ.ศ.2567 และจัดให้มีการประชุมเพื่อติดตามผลทุก 2 เดือน

ในวันนี้เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน พรรคก้าวไกล ปีนี้ ได้มาร่วมเดินขบวนกับสภาองค์การลูกจ้าง โดยมี 2 ข้อเรียกร้องหลักที่ยื่นต่อรัฐบาลให้ดำเนินการเร่งด่วน ทั้งการขอให้ผลักดัน พ.ร.บ.สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล และขยายสิทธิวันลาคลอด 180 วัน

นายเซีย จำปาทอง ประธานเครือข่ายผู้ใช้แรงงานพรรคก้าวไกล และ สส.พรรคก้าวไกล เปิดเผยต่อสื่อมวลชน ว่า ร่างพ.ร.บ. สหภาพแรงงานฉบับก้าวไกล มีเนื้อหาสอดรับกับสภาพแวดล้อมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และแรงงานที่เปลี่ยนไปสอดคล้องกับหลักการสากลภายใต้กรอบอนุสัญญา iILO 87, 98 ที่เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนทำงานและผู้ว่าจ้างได้รับความเป็นธรรม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างสังคมที่เสมอภาคเท่าเทียมกัน

ส่วนเรื่องสิทธิลาคลอด 180 วันเป็นการเพิ่มสิทธิ์การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร โดยได้รับค่าจ้างและยังสามารถมอบสิทธิการลาของตนให้บิดาตามกฎหมายของบุตร คู่สมรส หรือผู้ปกครองตามกฎหมาย ได้ลดภาระครอบครัว ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสอดคล้องกับหลักสากลขององค์การอนามัยโลก และกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ การเพิ่มสิทธิลาคลอด 180 วันจะส่งผลดีต่อสุขภาพของมารดา บุตร สร้างภูมิคุ้มกันทางครอบครัวและความมั่นคงต่อสังคม

ทั้งนี้ ยังมี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และเครือข่ายแรงงาน ได้มีการเดินรณรงค์เพื่อยืนยัน 10 ข้อเรียกร้องเพื่อแรงงานทั้งผองต้องมีคุณภาพชีวิตและเสรีภาพที่ดีขึ้นในทุกมิติสังคม ในนามของกรรมกรทุกอาชีพและสัญชาติขอเรียกร้องต่อรัฐไทยดังนี้

1. ต้องให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 และผ่านกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพการรวมกลุ่มสำหรับคนทุกสัญชาติอย่างเท่าเทียม

2. คุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติในการแสดงออกทางการเมือง และระงับการร่วมมือกับเผด็จการในเมียนมา กัมพูชาและรัฐบาลเผด็จการอื่น ๆ โดยเฉพาะในเรื่องการปราบปรามประชาชนชาวต่างชาติภายในประเทศไทย

3. ต้องบังคับใช้กฎหมายแรงงานเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะในกรณีของการจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ค่าแรง เงินประกันสังคม เป็นต้น

4. ต้องยืนหยัดในประชาธิปไตยสากล ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ปกป้องสิทธิในการแสดงออก เดินหน้าภารกิจด้านมนุษยธรรมและผลักดันสันติภาพไร้พรมแดน

5. ต้องรับรองหลักการค่าจ้างเพื่อการดำรงชีวิต โดยปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำให้สูงขึ้นเพียงพอสำหรับการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีของคนทำงานและครอบครัว

6. ต้องผลักดันสิทธิลาคลอด 180 วันแบบแบ่งกันลาได้ จนเป็นกฎหมายบังคับใช้

7. ต้องแก้ไขกฎหมายคุ้มครองแรงงานให้ครอบคลุมแรงงานทุกอาชีพและอัตลักษณ์เท่าเทียมกัน รวมถึงการปรับลดเพดานชั่วโมงการทำงานโดยไม่ลดค่าจ้างจากเดิม

8. เก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและภาษีมั่งคั่งเพื่อจัดทำรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าของทุกคน

9. ยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี คุ้มครองผู้ค้าบริการในฐานะแรงงาน

10. ต้องผลักดันการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนผ่านการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด โดยปราศจากการจำกัดควบคุมเนื้อหาการแก้ไขใดใดทั้งสิ้น

ด้าน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงงาน กล่าวถึงของขวัญสำหรับผู้ใช้แรงงาน ในวันแรงงาน 1 พ.ค.2567 ซึ่งได้แถลงเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567ว่า จะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์แน่นอน โดยของขวัญชิ้นสำคัญคือ จะมีรายละเอียดเรื่องค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาท โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี ซึ่งจะดำเนินการเร็วขึ้นจากแผนงานที่วางเอาไว้
          นายพิพัฒน์ ได้กล่าวอีกว่า ในส่วนของขวัญชิ้นต่อมา คือ ขยายเวลา วงเงินกู้สำหรับแรงงานอิสระทำงานจากที่บ้าน ที่ขณะนี้มีผู้กู้ไปแล้วกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 30 เมษายนนี้  จึงได้หารือกับอธิบดีกรมการจัดหางาน ว่าหากวันที่ 30 เมษายน วงเงินยังใช้ไม่หมด ขอให้ขยายเวลาออกไปให้วงเงินกู้สามารถใช้ได้จนหมด เพราะเป็นประโยชน์ ซึ่งใน 2 ปีแรกไม่มีดอกเบี้ย ส่วนปีที่ 3 คิดดอกเบี้ย 2% 
          นายพิพัฒน์ กล่าวว่า ของชวัญชิ้นต่อมาคือ การผลักดันอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ค.ศ. 1948 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัวกันและสิทธิในการร่วมเจรจาต่อรอง ค.ศ.1949 ผ่านขั้นตอนที่ 1 จากทั้งหมด 7 ขั้นตอน อยู่ในช่วงกลั่นกรองข้อกฎหมายโดยคณะกรรมการไตรภาคี โดยตั้งเป้าในช่วงมิถุนายน – กันยายน จะนำเข้าครม.และเข้าสู่กฤษฎีกา หลังจากนั้นจะนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ด้วยเงื่อนไขของกระบวนการทางกฎหมาย
          รมว.แรงงาน กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ใช้แรงงานได้ช่วยกันผลักดัน โดยหลักใหญ่ฝ่ายนายจ้างก็จะไม่ค่อยเห็นด้วยในฉบับที่ 87 ถ้าฉบับที่ 98 ฝ่ายนายจ้างค่อนข้างจะเห็นด้วย แต่ฝ่ายข้าราชการมีทั้งเห็นด้วย งดออกเสียง ทั้งสองฉบับ เพราะฉะนั้นต้องดูว่าสุดท้ายแล้วทางลูกจ้าง นายจ้าง และข้าราชการจะเลือกให้ผ่านทั้งสองฉบับ หรือฉบับเดียว ทั้งนี้กระทรวงแรงงานมุ่งมั่นที่จะประกาศใช้ทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งผู้ใช้แรงงานสามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันให้กฎหมายเกิดขึ้นจริง โดยทำความเข้าใจข้อดีและข้อเสียของทั้ง 2 ฉบับ
          “ผมดีใจที่เราสามารถผ่านมติขั้นที่ 1 ทั้งฉบับที่ 87 และ 98 ซึ่งตลอดระยะเวลา 30 ปี ไม่เคยผ่านขั้นตอนแรก เพราะฉะนั้นตัวผมเองพยายามจะให้ผ่านทุกขั้นตอนภายในรัฐบาลชุดนี้ แต่ทั้งหมดอยู่ที่คณะกรรมการไตรภาคี ว่าเห็นด้วยทั้งสองฉบับ หรือเห็นด้วยฉบับใดฉบับหนึ่ง แต่ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สำหรับตัวผมเห็นด้วยทั้ง 2 ฉบับ” นายพิพัฒน์ กล่าว
          นายพิพัฒน์ กล่าวอีกว่า ของขวัญชิ้นต่อมาก็คือ การผลักดันอนุสัญญาฉบับที่ 144 ว่าด้วยการปรึกษาหารือไตรภาคี (มาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ) ค.ศ.1976  และอนุสัญญาฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน ค.ศ.1981 ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะไปประชุม ILO ในวันที่ 11 -15 มิถุนายน ที่กรุงเจนีวา โดยมั่นใจว่า อนุสัญญาฉบับที่ 144 จะเสร็จทัน แต่ฉบับที่ 155 จะพยายามทำให้ทัน ตั้งเป้าจะประกาศรับรองอย่างเป็นทางการในที่ประชุมที่กรุงเจนีวา
          นอกจากนี้แต่ละหน่วยงานจะนำเสนอของขวัญให้กับผู้ใช้แรงงาน เพิ่มเติมอีกด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน