แรงงานบังคับ กับการยึดหนังสือเดินทางแรงงานข้ามชาติ

โดย นุศรา มีเสน 
nussara.meesen@gmail.com
[ตีพิมพ์ครั้งแรกในมติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2554]
ขณะที่ข่าวนโยบายค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาทของพรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในกระแสจนพาให้ตลาดแรงงานข้ามชาติอจากกัมพูชาพลอยคึกคักไปด้วย เพราะหวังจะได้อานิสงส์จากนโยบายเดียวกัน แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกลับไม่ค่อยมีใครพูดถึงอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับการปฏิบัติต่อแรงงานเหล่านี้เมื่อเข้ามาแล้ว ไม่เฉพาะแต่ปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ 
 
การกักกันแรงงานให้อยู่ใต้อาณัติควบคุมของนายจ้างด้วยการยึดบัตรประจำตัวของคนงานหรือหนังสือเดินทางเป็นวิธีการที่รับรู้กันในอุตสาหกรรมที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติจากกัมพูชา ลาว และพม่า และมักกระทำกับแรงงานที่เข้าเมืองโดยถูกกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าผ่านการดำเนินการของบริษัทนายหน้าภายใต้ข้อตกลง MoU ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 2548  รูปแบบคือ นายจ้างไทยมักยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้ระหว่างที่ทำงานให้กับตน 2 ปีตามสัญญาจ้าง ยังไม่นับว่าค่าแรงที่ให้นั้นต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ หรือต้องถูกหักอะไรไปบ้าง และมีสภาพการทำงานอย่างไร 
 
สาเหตุที่นายจ้างต้องยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้ ก็เพื่อแลกกับการชดใช้หนี้ที่เกิดจากการที่นายจ้างต้องสำรองจ่ายค่าหัวของคนงานล่วงหน้าให้กับบริษัทนายหน้า ตกราว 15,000 บาทต่อคน สนน ราคานี้มาจากการคิดค่าดำเนินการทำหนังสือเดินทางให้คนงาน ค่าทำใบอนุญาตทำงาน และค่าบริการตรวจสุขภาพ แม้ว่าตัวเลขค่าใช้จ่ายในความเป็นจริงอาจอยู่แค่ 4,500-5,000 บาท (ค่าตรวจสุขภาพ 600 บาท, ค่าประกันสุขภาพ 1,300 บาท ค่าใบอนุญาตทำงาน 1 ปี 1,800 บาท ค่าทำหนังสือเดินทาง 500-1,000 บาท และค่าธรรมเนียมอื่นๆ) นายหน้าบางแห่งยังอาจเรียกเก็บ “ค่าธรรมเนียมบริการ” เพิ่มขึ้นไปอีกหัวละ 9,500 บาท ลองคิดดูว่า หากผู้เป็นนายจ้างได้ยื่นขอโควต้าจากกรมการจัดหางานเพื่อว่าจ้างแรงงานข้ามชาติ 500 คน นายจ้างอาจต้องจ่ายเงินค่าตัวคนงานให้บริษัทนายหน้าอย่างต่ำ 7 ล้าน 5 แสนบาท นับเป็นจำนวนเงินมิใช่น้อย  
 
ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับนายจ้างคือ ยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้เป็นหลักประกันการชดใช้หนี้ของคนงาน ซึ่งจะถูกหักค่าแรงเดือนละ 1,200 – 1,500 บาท เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะครบสัญญาจ้าง เพื่อจะได้อุ่นใจว่าคนงานจะทำงานชดใช้เงินจำนวนนี้จนกว่าจะครบโดยไม่หนีหายไปไหน
 
ยังมีข้ออ้างอื่นๆอีกที่นายจ้างใช้เป็นเหตุผลในการยึดหนังสือเดินทางคนงาน เป็นต้นว่า เจ้าหน้าที่ตรวจแรงงาน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดมักเข้ามาตรวจเยี่ยมโรงงานโดยไม่แจ้งล่วงหน้า มีการคาดเค้นขอดูเอกสารประจำตัวคนงานจากนายจ้างซึ่งก็ต้องรีบจัดหาให้ การเก็บหนังสือเดินทางคนงานเอาไว้ที่สำนักงานจึงกลายเป็นความชอบธรรมสำหรับนายจ้าง แทนที่จะให้คนงานเป็นผู้ถือและรับผิดชอบเอกสารด้วยตนเอง 
 
แต่การยึดหนังสือเดินทาง ถือเป็นภัยคุกคามต่อการใช้ชีวิตในต่างถิ่นของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้อย่างยิ่งยวด การไม่มีเอกสารประจำตัวพกพาทำให้แรงงานขาดเสรีภาพที่จะไปไหนมาไหนนอกรั้วโรงงาน หนังสือเดินทางมีค่าเท่ากับเอกสารประจำตัวที่แสดงว่ารัฐได้รับรองสิทธิในฐานะพลเมืองให้แก่ประชาชนของตน ซึ่งเท่ากับบัตรประชาชนที่เราทุกคนมี การเดินทางไปที่ต่างๆของแรงงานเหล่านี้ เช่นไปเยี่ยมเพื่อน ไปซื้อของโดยไม่มีเอกสารประจำตัวที่จะแสดงต่อเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ย่อมเสี่ยงต่อการถูกจับและถูกกล่าวหาว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
 
จริงอยู่โรงงานบางแห่งอาจอ้างว่า คนงานสามารถมาขอคืนหนังสือเดินทางที่เก็บไว้กับนายจ้างได้เป็นครั้งคราว แต่ข้อเท็จจริงคือ บางโรงงานยังตั้งกฎเรียกเก็บเงินค่าไถ่ถอนอีกคนละ 1,000-1,500 บาท หรือหามาตรการที่เข้มงวดเพื่อให้มั่นใจว่าคนงานจะกลับมาทำงานต่อและชดใช้หนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆที่มีเงินเป็นตัวกำหนดทำให้คนงานยิ่งล้า และอ่อนแรงเกินกว่าจะขวนขวายหาเงินมาไถ่ถอนหนังสือเดินทาง การยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้ยังหมายความด้วยว่า หากคนงานไม่มีความสุขที่จะทำงานณ ที่นั้น ก็ขาดโอกาสที่จะใช้หนังสือเดินทางไปหางานและสมัครงานกับนายจ้างรายใหม่ 
 
คนงานกัมพูชากลุ่มหนึ่งที่เข้ามาถูกต้องตามกฎหมาย และได้งานในโรงงานที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เคยเล่าว่า แม้ว่าโรงงานจะใหญ่โตและมีภาพลักษณ์ที่ดูดี แต่เนื่องจากที่แผนกไม่ค่อยมีงานล่วงเวลา รายได้ที่มีแต่ค่าแรงขั้นต่ำจึงอยู่ได้ยาก เพราะไหนจะต้องออกค่าเช่าที่พักเอง ค่าอาหาร และถูกหักเงินค่าหัว จึงแทบจะไม่มีเงินเหลือส่งทางบ้านตามที่ตั้งใจ ทุกข์ที่ทับซ้อนเข้ามายังอยู่ที่ไม่สามารถขยับขยายไปไหนได้เพราะนายจ้างเก็บหนังสือเดินทางไว้ หากหนีไปและถูกจับได้ก็จะกลายเป็นแรงงานเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทันที 
 
หญิงชาวลาววัยกลางคนอีกรายทำงานในโรงงานทางภาคอีสานของไทย ประสบปัญหาไม่แตกต่างกัน เมื่อพบว่าสภาพและเงื่อนไขการทำงานต่างจากที่นายหน้าสร้างภาพไว้นัก ประกอบกับ เธอคิดถึงลูกอีก 4 คนที่ฝั่งโน้นและอยากกลับบ้านแทบใจจะขาด แต่ก็ไม่อาจขอกลับได้ก่อนครบกำหนดสัญญาจ้างด้วยสาเหตุอย่างเดียวกัน 
 
คำถามคือ วิธีปฏิบัติเช่นนี้เป็นธรรมหรือไม่ การยึดหนังสือเดินทางของคนงานไว้ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานของคนงานใช่หรือไม่ คำตอบคือ ใช่ การยึดหนังสือเดินทางของคนงานข้ามชาติไว้เท่ากับนายจ้างจงใจกักกัน หน่วงเหนี่ยว ทำให้คนงานปราศจากเสรี ภาพในการเคลื่อนไหว (freedom of movement) และสิทธิในการแสวงหางานทำ (rights to employment)  และที่สำคัญ นี่เท่ากับเป็นการใช้แรงงานบังคับ (forced labour) รูปแบบหนึ่ง
 
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้ความหมายของแรงงานบังคับว่ามีคุณลักษณะของการที่ผู้ถูกบังคับนั้นรู้สึกฝืนใจที่ต้องปฏิบัติตาม หรือหากไม่ปฏิบัติก็ต้องแลกกับการถูกลงโทษ  ILO ยอมรับว่าการยึดเอกสารประจำตัวของคนงานเช่นนี้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้แรงงานบังคับในมิติของการค้าและการพัฒนาร่วมสมัย เป็นสภาพการจ้างที่ลูกจ้างขาดความสมัครใจที่จะปฏิบัติ แต่ยากจะขัดขืนเพราะอาจส่งผลในทางลบต่อการทำงานของลูกจ้าง 
 
การลงนามความร่วมมือเมื่อเร็วๆนี้ระหว่างกระทรวงแรงงานและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ว่าด้วยแนวทางปฏิบัติด้านการจัดหางานและคุ้มครองแรงงานจากการถูกกดขี่และแสวงหาประโยชน์ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ทั้งสองฝ่ายจะหารือเพื่อทบทวนกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติที่มีอยู่ และค้นหาทางออกใหม่ๆ ที่จะทำให้รัฐบาลไทยพ้นจากข้อกล่าวหาว่าปล่อยให้มีการกดขี่ แสวงหาประโยชน์จากแรงงานข้ามชาติรวมถึงใช้เป็นแรงงานบังคับ  ซึ่งผู้เขียนขอเสนอข้อควรพิจารณา ดังนี้
 
1. หารือถึงความเป็นไปได้ในการกำหนด และควบคุมค่าบริการจัดหานำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติให้ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริง และออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบ หรือร่วมรับผิดชอบคนละครึ่งกับแรงงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายดังกล่าว (ข้อเสนอนี้อยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อนายจ้างจำเป็นต้องว่าจ้างแรงงานข้ามชาติ ก็ควรจะยอมลงทุนออกค่าใช้จ่ายนี้ด้วย)
 
2. ปรับแก้กฎหมายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันไว้กับอนุสัญญาแรงงานระหว่างประเทศลำดับที่ 29 และ 105 ว่าด้วยเรื่องแรงงานบังคับ และการยกเลิกการใช้แรงงานบังคับตามลำดับ ไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2512 
 
3. การปรับแก้กฎหมายภายใน อาจเริ่มจากการออกข้อกำหนด หรือกฎกระทรวงว่าด้วยการห้ามยึดหรือเก็บเอกสารประจำตัวของคนงานไว้กับผู้เป็นนายจ้าง ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด ปัจจุบันพระราช บัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2540 ไม่มีบทบัญญัติที่ชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามนี้
 
4. แก้ไขเอกสาร/แผ่นพับที่เกี่ยวข้อง ที่มีข้อความคลุมเครือ เช่น ในเอกสารคำแนะนำนายจ้าง/สถานประกอบการ ในการจดทะเบียนการจ้างแรงงาน “ต่างด้าว” และการขออนุญาตทำงาน ระบุให้คนงาน “ต้องมีใบอนุญาตทำงานอยู่กับตัว หรืออยู่ ณ สถานที่ทำงาน ในระหว่างเวลาทำงาน เพื่อแสดงต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือนายทะเบียน” ข้อความเช่นนี้อาจเปิดช่องให้นายจ้างอ้างความชอบธรรมในการยึดเอกสารของคนงานไว้
 
5. ส่งเสริมให้มีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ที่บังคับใช้กฎหมาย เช่น ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติด รวมถึงเจ้าหน้าที่ตรวจแรงงานให้มีความรู้ความเข้าใจในสิทธิพื้นฐานของแรงงานข้ามชาติ รูปแบบการบังคับใช้แรงงาน และรู้ได้ด้วยตนเองได้ว่า การยึดหนังสือเดินทางของแรงงานข้ามชาติไว้กับนายจ้างเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง
—————————————————–