แรงงานนอกระบบ ร้องรัฐมนตรีแรงงาน แก้ปัญหา บรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ

6 องค์กรแรงงานนอกระบบยื่น 5 ข้อเรียกร้อง ให้รัฐมนตรีแรงงานแก้ปัญหาเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และช่วยสงเสริมอาชีพ

วันที่ 25 มีนาคม 2567 เครือข่ายแรงงานนอกระบบ โดย สมาพันธ์แรงงานนอกระบบ ประเทศไทย สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย สหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงาน และอาชีพ ได้เข้ายื่นหนังสือ เพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้แทนมาจากภูมิภาคต่างๆทั่วประเทศเป็นตัวแทนในการยื่นหนังสือ และหารือครั้งนี้

โดยเป็นข้อเสนอจากแรงงานนอกระบบกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วงของการแพร่ระบาดของโควิค –19 เป็นต้นมา ซึ่งมีสภาพปัญหา ดังนี้

1. ภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งสูงส่งผลต่อค่าครองชีพและรายได้ของแรงงานนอกระบบ หลายคนต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และพยายามไม่ก่อหนี้เพิ่ม

2. แรงงานมีรายจ่ายด้านอาหารโยเฉลี่ยถึงร้อยละ 56 ของรายได้ เมื่อเทียบกับต้นปี 2566 และในช่วงกลางปี 2566 พบว่า แรงงาน 7 ใน 10 คน มีรายจ่ายด้านอาหารเพิ่มขึ้น และ 1 ใน 3 (ร้อยละ 33) มีรายจ่ายด้านอาหารเกินร้อยละ 75 ของรายได้ ส่งผลให้ต้องลดปริมาณการบริโภคลงทั้งระดับบุคคล และครัวเรือน ซี่งอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารและการโภชนาการในระยะยาว

3. แรงงานมีความเครียด และกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าอาหาร ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน และค่าเดินทาง

4. แรงงานมีการกู้เงินเพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆเพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการประกอบอาชีพ ค่าเช่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าเล่าเรียนบุตรหลาน และค่าสาธารณูปโภค โดยมีวงเงินกูยืมต่อราย 3,000-200,000 บาท

5. กลุ่มแรงงานผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง และผู้ค้าขายหาบเร่แผงลอยต้องเผชิญกับการแข่งขันจากบริการออนไลน์ อาทิ แอปพลิเคชั่นเรียกรถ และร้านค้าปลีกออนไลน์ ในขณะที่แรงงาน โดยเฉพาะแรงงานสูงอายุไม่สามารถปรับตัวในยุคดิจิตอลได้ จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถปรับตัวได้

จากสถานการณ์ปัญหาข้างต้น แรงงานนอกระบบต้องการมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการสร้างอาชีพ รวมทั้งนโยบายคุ้มครองทางสังคมที่สร้างหลักประกันความเท่าเทียม และส่งเสริมให้ตัวแทนของแรงงานนอกระบบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และกระบวนการเจรจาทางสังคม ดังนี้

1. การสนับสนุนการประกอบอาชีพ

            1.1 รัฐบาลต้องตรึงราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ค่าสาธารณูปโภค และค่าขนส่ง

            1.2 ต้องปรับหลักเกณฑ์ของกองทุนผู้รับงานมาทำที่บ้าน เพื่อให้ตอบสนองต่อการพัฒนาอาชีพของแรงงานนอกระบบทุกอาชีพ

            1.3 ให้หน่วยงานรัฐบาลจัดซื้อจัดจ้างสินค้า และบริการจากแรงงานนอกระบบอย่างน้อยร้อยละ 30 ของงบประมาณ

            1.4 พัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรม ด้านการพัฒนาอาชีพ การตลาด การบริหารจัดการให้สอดคล้องกับแรงงานนอกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานหญิง และแรงงานสูงอายุ

2. การพัฒนาการคุ้มครองทางสังคม

            2.1 ปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมมาตรา 40 โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีว่างงาน และขยายสิทธิประโยชน์ด้านการสงเคราะห์บุตรให้ครอบคลุมผู้ประกันตนทุกคน รวมถึงให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกที่จะรับบำเหน็จ หรือบำนาญได้

            2.2 ทำให้ระบบประกันสังคมมีความโปร่งใสและแรงงานนอกระบบสะดวกในการเข้ารับบริการ โดยแจ้งข้อมูลข้อมูลเงินสมทบ ข้อมูลการลงทุน การบริหารกองทุนให้กับผู้ประกันตนทราบอย่างสม่ำเสมอ ลดขั้นตอนการขอรับสิทธิประโยชน์ และให้องค์กรแรงงานมีส่วนร่วมในการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์และกระบวนการต่างๆของกองทุน

            2.3 เพิ่มศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กในชุมชนให้ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ และขยายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า และเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

3. สร้างหลักประกันในการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะ

            3.1 ให้กระทรวงแรงงานประสานงานกับกรุงเทพมหานคร และองค์กกรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อคืนสิทธิ์ในการประกอบอาชีพบนพื้นที่ทางเท้าแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างพร้อมทั้งจัดสาธารณูปโภคที่ปลอดภัยและเหมาะสมในการประกอบอาชีพให้

4. การมีส่วนร่วมของแรงงานนอกระบบในกระบวนการตัดสินใจ

            4.1 รัฐต้องกำหนดให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมของแรงงานนอกระบบในคณะกรรมการต่างๆที่จัดตั้งขึ้น

            4.2 กระทรวงแรงงาน ต้องดำเนินการให้มีกลไก และเวทีร่วมระหว่างกระทรวงแรงงาน และองค์กรเครือข่ายแรงงานนอกระบบเพื่อรับฟังข้อเสนอ และติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเรียกร้อง และข้อเสนอของเครือข่ายแรงงานนอกระบบอย่างต่อเนื่อง

5. กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้อง

            5.1 ต้องดำเนินการให้มีการบังคับใช้พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. 2553 อย่างจริงจัง

            5.2 ดำเนินการให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 14 โดยเร่งด่วน เพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกับแรงงานกลุ่มอื่นๆ

            5.3 ดำเนินการให้ลูกจ้างทำงานบ้านเข้าถึงสิทธิประกันสังคม มาตรา 33

            5.4 ยืนยันการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับพ.ศ. 2558

            5.5 ทบทวนพ.ร.บ.แรงงานอิสระ… ตามข้อเสนอของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพที่เสนอต่อกรรมการกฤษฎีกา