แรงงานนอกระบบเตรียมจัดสมัชชาพัฒนาคุณภาพชีวิต

   เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2555  เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ร่วมกับแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.  จัดประชุมคณะทำงานการจัดสัมมนากลุ่มย่อย “นโยบายเพื่อการคุ้มครองและการสร้างหลักประกันทางสังคม อาชีพ และรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบ” เพื่อเตรียมการจัดทำข้อเสนอและจัดเวทีสมัชชาแรงงานนอกระบบในวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ
   ทั้งนี้แม้ที่ผ่านมารัฐบาล รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553,  พระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทนตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 (มาตรา 40) พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533,  และพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554  แต่ยังพบว่าไม่บรรลุผลในการนำกฎหมายหรือนโยบายดังกล่าวไปปฏิบัติ  กลไกการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐยังขาดการมีส่วนร่วม ทำให้กลุ่มแรงงานนอกระบบไม่อาจเข้าถึงสิทธิและการคุ้มครองได้  รวมทั้งในระยะยาวยังคงต้องคำนึงถึงเรื่องความมั่นคงในการดำรงชีวิตในบั้นปลายของแรงงานนอกระบบที่ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็กหรือนอกสถานประกอบการ มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ และมีหนี้สินมาก
 
   โดยในส่วนของ พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้านฯ มีผลบังคับใช้ไปตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2554  ซึ่งกระทรวงแรงงานฯต้องออกกฎหมายรอง 14 ฉบับ แต่ขณะนี้ประกาศใช้ได้เพียง 6 ฉบับซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของคำสั่งและกฎระเบียบต่างๆ  ส่วนกฎหมายรองอีก 8 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของแรงงานผู้รับงานไปทำที่บ้านยังไม่มีวี่แววว่าจะประกาศใช้ได้เมื่อใด
   ในด้าน พ.ร.ฎ.เงินสมทบและประโยชน์ทดแทน มาตรา 40 ฯ หรือโครงการประชาวิวัฒน์  ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ 1 พฤษภาคม 2554  โดยมีการขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ 2 ทางเลือกคือ  1.จ่ายเงินสมทบ 70 บาทต่อเดือนรัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณีคือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย  กรณีทุพพลภาพ  และกรณีเสียชีวิต  2.จ่าย 100 บาทรัฐบาลสมทบ 50 บาท ได้ประโยชน์ 3 กรณีและบำเหน็จชราภาพ  ซึ่งขณะนี้มีแรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นสมาชิกราว 840,000 คน  มีปัญหาใหญ่เรื่องการจ่ายเงินสมทบที่มีภาระยุ่งยากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และยังไม่ครอบคลุมกรณีชราภาพซึ่งแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่อยากได้บำนาญ รวมทั้งยังไม่มีหลักประกันที่รัฐร่วมจ่ายตลอดไป
   สำหรับ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 (กอช.) ซึ่งรับสมาชิกสัญชาติไทยอายุระหว่าง 15-60 ปี จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนไม่ต่ำกว่า 50 บาท ไม่เกิน 1,100 บาทต่อเดือน โดยรัฐจ่ายเงินสมทบให้ตามระดับอายุตามอัตราส่วนจำนวนเงินที่สมาชิกจ่าย  มีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่ 12 พฤษภาคม 2554  แต่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็ถูกปรับลดงบประมาณจาก 1,000 ล้านบาทเหลือ 225 ล้านบาท และอยู่ระหว่างศึกษาการโอนย้ายกองทุนและเตรียมการบังคับใช้ พ.ร.บ.  ซึ่งข้อจำกัดคือไม่ใช่การออมภาคบังคับ และแรงงานนอกระบบส่วนมากก็ยังไม่เข้าใจเรื่องความซ้ำซ้อนของสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพในประกันสังคม มาตรา40 กับ กอช.
 
   ปัญหาดังกล่าวข้างต้น มีข้อเสนอจากที่ประชุมซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือข่ายแรงงานนอกระบบ คือ
ในประเด็นพ.ร.บ.ผู้รับงานฯ ให้ประสานองค์กรที่เป็นหลักอยู่เพื่อร่วมขับเคลื่อนการออกกฎหมายรองที่เป็นประโยชน์ต่อคนงานโดยเร็ว และเสนอว่าให้มีกองทุนพัฒนาแรงงานนอกระบบ เพื่อพัฒนาศักยภาพตอบสนองแรงงานนอกระบบได้ทุกกลุ่ม
ส่วนเรื่องประกันสังคมมาตรา40  เสนอให้มีรูปแบบการเก็บเงินที่เหมาะสม สะดวกไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายโดยให้องค์กรของชุมชนมีส่วนร่วม ให้มีการผ่อนผันกรณีขาดส่งเงินสมทบ  ให้ได้ค่าชดเชยขาดรายได้โดยไม่จำกัดว่าต้องนอนโรงพยาบาล 2 วัน  และให้ร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับ 14,624 ชื่อของแรงงานเพื่อเป็นหลักประกันเรื่องรัฐร่วมจ่าย
   สำหรับ กอช. เสนอให้ติดตามผลักดันให้รัฐบาลปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ที่เกิดขึ้นแล้ว  โดยต้องให้ความรู้เพื่อสร้างความชัดเจนเรื่องความซ้ำซ้อนกรณีบำนาญชราภาพ  และต้องผลักดันให้มีการรวมกองทุนในระยะต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้พิจารณาแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 2555-2559  ที่กระทรวงแรงงานโดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคงทางสังคม  2.เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ และ 3.เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ  ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่กำหนดให้มีการหารือร่วมกันต่อไปคือเรื่ององค์กรของแรงงานนอกระบบ และอาสาสมัครแรงงาน (อสร.)
  
   ทั้งนี้จะมีการจัดสมัชชาแรงงานนอกระบบในวันที่ 4 ตุลาคม 2555  เพื่อรณรงค์ให้เห็นคุณค่าและสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆในการผลักดันให้เกิดนโยบายและการปฏิบัติเพื่อหลักประกันชีวิตที่ดีของแรงงานนอกระบบ โดยได้เชิญนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นผู้เปิดงานและกล่าวปาฐกถาพิเศษด้วย   และในวันที่ 3 ตุลาคม 2555 จะมีการจัดงานสมัชชาเชิงประเด็น “นโยบายเพื่อการคุ้มครองและการสร้างหลักประกันทางสังคม อาชีพและรายได้ให้กับแรงงานนอกระบบ” เพื่อร่วมกันจัดทำข้อเสนอต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในงานสมัชชาแรงงานนอกระบบ  
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน