แรงงานกับวันแรงงานแห่งชาติ

แรงงานกับวันแรงงานแห่งชาติ
โพสต์ทูเดย์  25 เมษายน 2555  เปิดบ้านสถิติ
 
ทุกวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงานแห่งชาติ ผู้ใช้แรงงานมักจะยื่นข้อเสนอเพื่อเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่แรงงานควรจะได้รับ แต่จะได้ผลเพียงไรเป็นเรื่องของกระบวนการผลักดันของทั้งฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้างและภาครัฐ
     นายวิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์  ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ถือโอกาสใกล้วันแรงงานแห่งชาติเสนอสถานการณ์ด้านแรงงานที่ได้จากการสำรวจเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงผลพวงจากการเรียกร้องที่ผ่านมาว่าเกิดผลเป็นไปในทางทิศใด
     ในปี 2554 ประเทศไทยมีคนที่อยู่ในวัยแรงงานหรือผู้ทีมีอายุตั้งแต่  15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 54.0 ล้านคน เป็นผู้ที่ทำงาน 38.46 ล้านคน เป็นชาย 20.81 ล้านคน และหญิง 17.65 ล้านคน ส่วนผู้ที่ไม่ได้ทำงานมี 15.54 ล้านคน 
     แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและต่ำกว่า (ร้อยละ 52.8) จบมัธยม ร้อยละ 30.1 และจบอุดมศึกษาเพียงร้อยละ 16.8
     แรงงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ (ร้อยละ 62.6) คือไม่ได้รับความคุ้มครอง ไม่มีสวัสดิการ และหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือแม้ถูกเลิกจ้างก็ไม่ได้รับสิทธิใดๆ
     ผลสำรวจที่ผ่านมายังพบว่ามีแรงงานไม่น้อยที่ประสบอุบัติเหตุและได้รับการบาดเจ็บจากการทำงาน แม้จะลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 15.8 ในปี 2552 เหลือร้อยละ 12.3 ในปี 2554 ก็ตาม แต่ก็อาจประมาณได้ว่าในทุกนาทีมีแรงงานเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บประมาณนาทีละ 9 คน  ส่วนใหญ่บาดเจ็บจากการถูกของมีคม (ร้อยละ 65) เป็นที่น่าสังเกตว่าแรงงานที่บาดเจ็บเพราะได้รับสารเคมีเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวร้อยละ 2.5 ในปี 2554
     เมื่อแรงงานประสบภัยและได้รับบาดเจ็บจากการทำงานส่วนใหญ่จะใช้สิทธิการรักษาพยาบาลจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามากที่สุด อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิฯ จากการประกันสังคม/กองทุนเงินทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 17.5 ในปี 2552 เป็นร้อยละ 27.9 ในปี 2554
     สำหรับแรงงานที่เป็นลูกจ้างเอกชนทั้งประเทศได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนเพิ่มสูงขึ้นจาก 7,173 บาทในปี 2552 เป็น 8,121 บาทในปี 2554 โดยกลุ่มคนที่อยู่ในตำแหน่งผู้จัดการมีรายได้มากที่สุด ส่วนผู้ที่มีรายได้ต่ำที่สุดจะเป็นกรรมกรหรือคนงานทั่วไป อย่างไรก็ตามค่าจ้างของคนกลุ่มนี้ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน จาก 4,081 บาทในปี 2552 เป็น 4,691 บาทในปี 2554 
     ข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า แม้สังคมจะยกย่องว่าแรงงานเป็นผู้สร้างประเทศ และหล่อเลี้ยงให้สังคมและเศรษฐกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้า แต่หากหวนกลับมาดู จะเห็นได้ว่าแรงงานในวันนี้ส่วนใหญ่ยังมีการศึกษาไม่สูงนัก สวัสดิการที่ควรจะได้รับจากการทำงานก็มีไม่มากอีกทั้งยังสุ่มเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการทำงานเป็นจำนวนไม่น้อยนอกจากนี้รายได้ที่ได้รับก็ยังค่อนข้างต่ำเช่นกัน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่แรงงานเหล่านี้จะได้รับการดูแลให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น???