แพทย์อนุญาต ชาลี เหยื่ออุบัติเหตุจากการทำงานกลับบ้านได้

เมื่อเวลา 11.00 น. ของวันที่ 18 เมษายน 2554 คณะเเพทย์โรงพยาบาลตำรวจอนุญาตให้ นายชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติเหยื่ออุบัติเหตุจากการทำงาน ได้รับบาดเจ็บสาหัสลำใส้ใหญ่เเตกและกระดูกสะโพกซ้ายหัก ออกจากโรงพยาบาลได้ หลังต้องเข้ารับการรักษาตัวเป็นเวลากว่า 3 เดือน เเม้อาการทั่วไปจะดีขึ้น แต่ลำใส้ใหญ่ของนายชาลียังอยู่นอกช่องท้อง โดยเเพทย์ได้นัดกลับมารับการผ่าตัดเพื่อนำลำใส้ใหญ่กลับเข้าช่องท้องอีกในอีก 2 สัปดาห์

ก่อนหน้านี้ในวันที่ 9 มกราคม 2554 นายชาลี ถูกผนังปูนหล่นทับระหว่างทำงานให้กับผู้รับเหมาต่อเติมอาคารสำนักงานบริษัท ซีพี ค้าปลีกและการตลาด จำกัด ต่อมาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลปทุมธานี จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2554 โรงพยาบาลเเจ้งตำรวจให้เข้าควบคุมตัวนายชาลีด้วยข้อหาเข้าเมืองผิดกฎหมายและเกือบถูกส่งกลับประเทศพม่าทั้งที่ยังป่วยหนัก แต่โดยการเรียกร้องของมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาและเครื่อข่ายแรงงานข้ามชาติอื่นๆ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 นายชาลีถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลตำรวจที่ซึ่งนายชาลีถูกล่ามโซ่ไว้กับเตียงในสถานะผู้ป่วยต้องกัก ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554ศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวนายนาชาลีเและให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองชดเชยค่าเสียหายจากการควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะใบอนุญาติทำงานของนายชาลียังไม่หมดอายุ

ตลอดระยะเวลาที่รับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ เเม้นายชาลีจะได้รับการปล่อยตัวและได้รับการดูเเลเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลตำรวจ ตลอดจนสำนักงานประกันสังคมที่ได้มีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยให้เเก่นายชาลีเป็นเงิน 9,167 บาท แต่นายชาลีก็ไม่สามารถเข้าถึงการเยียวยาของกองทุนเงินทดแทนได้ แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเยียวยาเเรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานการเลือกปฏิบัติ หรือการใช้สองมาตรฐานต่อแรงงานข้ามชาติและการขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐ ทั้งกระทรวงเเรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงงานประกันสังคม อันเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข โดยต่อประเด็นดังกล่าวนี้ มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนามีความเห็นและข้อเรียกร้องดังนี้

1.      กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรเข้ามามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูเเรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน ดังเช่นกรณีนายชาลีซึ่งเเม้เเพทย์อนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ แต่เนื่องจากนายชาลี ที่ไม่มีญาติพี่น้อง ไม่มีบ้าน ทั้งอาการบาดเจ็บที่ยังไม่หายดีและยังไม่สามารถทำงานได้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่นายชาลีจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้เพียงลำพัง และจึงต้องได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2.      สำนักงานประกันสังคมต้องทบทวนเเนวปฏิบัติตามหนังสือเวียนที่ รส. 0711/ว.751 ซึ่งกีดกันเเรงงานข้ามชาติออกจากระบบกองทุนเงินทดเเทนและทำให้สำนักงานประกันสังคมปฏิเสธไม่จ่ายค่ารักษาพยาบาลและเงินทดเเทนกรณีประสบอุบัติเหตุจากการทำงานให้กับเเรงงานข้ามชาติ ดังเช่นกรณีนายชาลี ซึ่งแทนที่จะให้กองทุนจ่ายเงินทดแทนและค่ารักษาพยาบาลต่อนายชาลีและลงโทษนายจ้างเช่นเดียวกับกรณีที่ลูกจ้างคนไทย กลับมีคำสั่งให้นายจ้างเป็นผู้จ่ายเสียเอง ซึ่งนอกจากจะเป็นการผลักภาระไปยังโรงพยาบาลที่ไม่สามารถปฏิเสธการรักษาจึงต้องเเบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่นายจ้างอาจจ่ายล่าช้าหรือไม่มีเงินจ่าย ยังเป็นการผลักความเสี่ยงและภาระไปที่นายจ้าง ลูกจ้าง อันเป็นเเนวปฏิบัติที่ขัดต่อพระราชบัญญัตเงินทดเเทน พ.ศ. 2537 และขัดกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับการเยียวยากรณีประสบอุบัตเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงานโดยไม่เลือกปฏิบัติ และยังขัดต่ออนุสัญญาเเรงงานระหว่างประเทศซึ่งห้ามเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับการเยียวยาจากอุบัติเหตุการทำงานและอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติซึ่งประเทศไทยมีพันธรกรณีต้องปฏิบัติตามในฐานรัฐภาคี ซึ่งองค์การเเรงงานระหว่างประเทศและผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของเเรงงานย้ายถิ่นได้เคยมีความเห็นเเนะนำให้รัฐบาลทบทวนเเนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว

3.      กระทรวงเเรงงานควรเข้ามามีบทบาทและจัดให้มีระบบในการให้ความช่วยเหลือเเรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน เช่นเดียวกับกรณีนายชาลีที่ถูกเลิกจ้างและไม่สามารถกลับไปทำงานก่อสร้างอย่างเดิมได้เนื่องจากสภาพร่างกายที่อ่อนเเอจากการบาดเจ็บ โดยที่นายชาลีเองก็ยังไม่ทราบอนาคตตนเองว่าจะสามารถหางานทำได้หรือไม่ และเนื่องจากกระทรวงเเรงงานไม่มีระบบรองรับเพื่อให้ความช่วยเหลือเรื่องที่พักฟื้น การจัดหางานหรือต่อใบอนุญาตทำงานให้กับเเรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตจากการทำงานและอยู่ระหว่างรอดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นในกรณีนี้ มูลนิธิฯจึงต้องรับภาระดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานให้นายชาลีและเข้าเป็นนายจ้างเสียเองรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วย เพื่อให้นายชาลีสามารถมีสิทธิอาศัยต่อในประเทศไทยเพื่อใช้สิทธิเรียกร้องการเยียวยาชดเชยตามกฎหมายได้

4.      กระทรวงเเรงงานและกระทรวงสาธารณสุขควรกำหนดเเนวทางที่ชัดเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพและการต่อใบอนุญาตการทำงานสำหรับเเรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงานและอยู่ระหว่างการเรียกร้องสิทธิ ซึ่งเเม้นายชาลีจะได้รับการต่อใบอนุญาตการทำงานแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าเป็นผู้ประกันตนตามหลักประกันสุขภาพของเเรงงานข้ามชาติได้ เนื่องจากในช่วงที่เปิดให้มีการต่อใบอนุญาตการทำงานนั้น นายชาลีไม่สามารถเดินทางไปตรวจสุขภาพได้ ซึ่งมูลนิธิฯได้มีหนังสือไปยังกระทรวงสาธารณสุขเพื่อสอบถามเเนวปฏิบัติต่อกรณีนี้แล้วแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับเเต่อย่างใด

กรณีนายชาลี เป็นเพียงหนึ่งตัวอย่างของเเรงงานข้ามชาติอีกจำนวนมากที่ได้รับบาดเจ็บ ทุพลภาพ หรือเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการทำงาน และมักตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิซ้ำซ้อน และเป็นบทสะท้อนที่ชัดเจนถึงการเลือกปฏิบัติและความไร้ประสิทธิภาพของระบบการเยียวยาลูกจ้างที่ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรมสำหรับผู้ใช้เเรงงาน ทั้งเเรงงานไทยและเเรงงานข้ามชาติ

///////////////////////////////////////////////