วันนี้ (23 มิย. 54) ที่หัวลำโพง กรุงเทพฯสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้มีการจัดงานวันบริการสาธารณะโลก (World Public Service Day) นี้เป็นปีแรกที่เริ่มการรณรงค์เจตนารมณ์ของการรณรงค์การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ก็เพื่อให้ผู้รับบริการ ประชาชน ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ราคาไม่แพง
จากนโยบายของทุนเสรีนิยมใหม่ที่พยายามแสวงหากำไร จนละเลยการใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน การเอารัดเอาเปรียบ ประชาชนไม่ได้รับความเสมอภาคเท่าเทียม ไม่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณะที่ดี และมีคุณภาพได้ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการศึกษา การสาธารณสุข การสาธารณูปโภค การสื่อสารและโทรคมนาคม การบริการคมนาคมขั้นพื้นฐาน เช่น รถไฟ รถเมล์ หลายทศวรรษที่ผ่านมาระบบทุนเสรีนิยมใหม่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด ไม่ได้ตอบสนองความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ การดำเนินการของภาคเอกชนไม่สามารถไว้ใจได้ 100 % การคอรัปชั่นเกิดขึ้นไปทั่วทุกหย่อมหญ้า การแปรรูปกิจการของรัฐไปเป็นของเอกชน ไม่สามารถเป็นประกันถึงการบริการที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และเข้าถึงได้สำหรับประชาชนทุกคน การตัดลดงบประมาณในการสนับสนุนการบริการสาธารณะ การลดบทบาทของรัฐลง ส่งผลถึงปัญหาคุณภาพชีวิตและความมั่นคงในชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะผู้ใช้แรงงาน คนทำงานและคนยากคนจนที่เป็นส่วนใหญ่ของประเทศและของโลก ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นและแผ่ขยายไปทั่วไม่ว่าในประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกำลังพัฒนา อย่างยุโรป อเมริกา หรือแม้แต่ในเอเชีย-แปซิฟิค แอฟริกา และที่อื่นๆ ทั่วโลก
จากเหตุผลดังกล่าวสหพันธ์แรงงานในสาขาวิชาชีพต่างๆ ในระดับสากล ทั้ง 13 องค์กร ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ใช้แรงงาน คนทำงานทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงได้ร่วมมือกันที่จะรณรงค์เรียกร้อง และผลักดันให้มีการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพในทุกประเทศทั่วโลก โดยได้ประชุมร่วมกันไปเมื่อเดือนตุลาคม 2553 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และมีมติร่วมกันให้จัดการรณรงค์เพื่อการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพพร้อมกันทั่วโลก โดยกำหนดให้วันที่ 23 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันบริการสาธารณะโลก (World Public Service Day) โดยปี 2554 นี้เป็นปีแรกที่เริ่มการรณรงค์เจตนารมณ์ของการรณรงค์การบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ ก็เพื่อให้ผู้รับบริการ ประชาชน ได้รับการบริการที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัย ราคาไม่แพง ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ คนงาน/พนักงาน/ผู้ใช้แรงงานเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ได้รับสวัสดิการที่ดี มีความมั่นคงในการทำงาน และเข้าถึงสิทธิแรงงานที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รวมถึงองค์กรที่กำกับดูแลการบริการสาธารณะต่างๆนั้น ต้องมีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อบรรลุเป้าหมายของโลกที่มีสันติภาพ มีความยั่งยืน และความยุติธรรมที่ซึ่งมีความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันเพิ่มมากขึ้น และความยากจนที่ลดน้อยลง เพื่อโอกาสที่เท่าเทียมกันของประชาชนในการเข้าถึงการบริการสาธารณะต่างๆอย่างมีคุณภาพ และผู้ใช้แรงงานหรือบุคลากรที่เป็นผู้ให้บริการเหล่านี้ ได้รับสิทธิอันพึงได้อย่างเต็มที่รวมไปถึงความมั่นคงในการทำงาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐดังนี้
1. รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ ยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และประกาศใช้พระราชบัญญัติพัฒนารัฐวิสาหกิจฉบับใหม่ มีการจัดสรรงบประมาณให้การบริการสาธารณะในทุกด้านอย่างเหมาะสม และปราศจากการทุจริตคอรัปชั่นทุกรูปแบบ
2. รัฐต้องให้ความสำคัญกับการบริการสาธารณะอย่างมีคุณภาพ มีมาตรฐานและประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ คำนึงความปลอดภัยก่อนผลกำไร ตอบสนองความต้องการของประชาชน และประชาชนทุกกลุ่มต้องเข้าถึงการบริการเหล่านี้ได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
3. รัฐต้องประกาศรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองร่วม และ ต้องส่งเสริมสิทธิแรงงานที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานแรงงานสากลที่กำหนดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)
4. รัฐต้องสนับสนุนให้แรงงาน บุคลากรมีความมั่นคงในการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ
5. รัฐต้องมีส่วนร่วมและส่งเสริมให้การบริการสาธารณะมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
องค์กรร่วมรณรงค์ในประเทศไทย ประกอบด้วยสหภาพแรงงานสมาชิกของ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
PSI สหพันธ์แรงงานสาธารณูปโภคระหว่างประเทศ, ITF สหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ, ICEM สหพันธ์แรงงานนานาชาติในกิจการ เคมีภัณฑ์ พลังงาน เหมืองแร่ และแรงงานทั่วไป, IMF สหพันธ์แรงงานเหล็กและโลหะระหว่างประเทศ, UNI เครือข่ายสหภาพแรงงานระหว่างประเทศ, BWI สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและงานไม้ระหว่างประเทศ, EI สหพันธ์แรงงานด้านการศึกษาระหว่างประเทศ
แถลง ณ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง)
23 มิถุนายน 2554