แกนนำสหภาพมิชลิน ขึ้นศาลฟังคำพิพากษา 8 ธ.ค.54

 

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างบริษัทสยามมิชลิน(แหลมฉบัง)จำกัดและสหภาพแรงงานมิชลินประเทศไทยเมื่อต้นปี 2552 และเหตุการณ์ยุติลงบนโต๊ะเจรจาเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2552 บริษัทตกลงไม่เอาความทั้งทางแพ่งและอาญาแต่ยังมีหัวหน้างานกลุ่มหนึ่งยังแจ้งความที่ สภ.แหลมฉบัง  ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มแกนนำ 21 คนข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวทำให้สูญเสียอิสรภาพ แกนนำทั้งหมดได้มอบตัวและรับทราบพร้อมปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ต่อมาคดีได้ถูกนำส่งอัยการศาลพัทยาและนัดพิจารณาคดีดังกล่าว ในวันที่ 8 ธันวาคม 2554  เวลา 9.00 น.

จากวิกฤติเศรษฐกิจแฮมเบอร์เกอร์ปี 2550 บริษัทสยามมิชลิน(แหลมฉบัง)จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง  เลขที่ 97/11 ม.2 ต.ทุ่งศุขลา อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี มีนโยบายตัดค่าจ้างคนงาน 13.04 % เฉพาะคนงานระดับปฏิบัติการ คนงานจึงรวมตัวจัดตั้งสหภาพแรงงานเพื่อเรียกร้องให้บริษัทยุติการตัดค่าจ้าง เป็นเหตุให้เกิดกรณีพิพาทแรงงาน คนงานรวมตัวชุมนุมประท้วงบริเวณหน้าประตูโรงงาน บริษัทและหัวหน้างานแจ้งความดำเนินคดีกับแกนนำ

นาย สมหมาย ประไว  หนึ่งในผู้ที่ถูกแจ้งความและดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหภาพแรงงาน เปิดเผยว่า ความจริงแล้วไม่เคยคิดเลยว่าเหตุการณ์เช่นนี้มันจะเกิด เพราะพวกเราทำงานกับบริษัทมานานมากกว่า 10 ปี ทุกคนตั้งใจทำงานตามที่ได้รับมอบหมายมาตลอด สาเหตุเดียวที่เกิดก็คือบริษัทอ้างว่ายอดคำสั่งซื้อลดลงและใช้มาตรการตัดค่าจ้างและตัดเฉพาะคนงานระดับปฏิบัติการ  คนงานคัดค้านก็ไม่ฟัง ทั้งที่ความจริงมีกำไร 1,000 กว่าล้าน มิหนำซ้ำพอคนงานจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเรียกร้อง บริษัทกลับจะตัดค่าจ้างกลุ่มที่เรียกร้อง(383คน)เป็น 35% ของเงินเดือนอีกและใช้สิทธิปิดงาน เป็นเหตุให้คนงานไม่มีทางเลือก จึงรวมตัวชุมนุมกันที่หน้าโรงงานระหว่างที่อยู่หน้าโรงงานกว่า 30 วัน คนงานไม่ได้รับค่าจ้างแต่บริษัทกลับดำเนินการผลิตได้ตามปกติและเจรจาไปเรื่อยๆไม่ยอมยุติเหมือนกับจะให้คนงานเหือดแห้งตายและยอมรับข้อเสนอตามที่บริษัทต้องการ สุดท้ายคนงานเห็นว่าสู้ไม่ไหว ควรจะยกเลิกการนัดหยุดงานและยุติการชุมนุมเพื่อจะได้กลับเข้าไปทำงานตามปกติ แต่เหตุการณ์ไม่เป็นเช่นนั้นพอคนงานยอมตัวแทนเจรจาของบริษัทกลับบอกว่าบริษัทต้องการตัดค่าจ้าง 35%  ตามความต้องการของบริษัท หลังจากคนงานที่ชุมนุมทราบเช่นนั้นพวกเขาจึงพากันยืนและนำสิ่งของกีดขวางที่ประตูโรงงาน

นาย สมหมาย เล่าต่อว่า หลังจากที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีพวกเราได้รับความลำบากมากไม่ว่าจะต้องหาหลักทรัพย์มาประกันตัวเองคนละ 100,000 (หนึ่งแสนบาท) เงินโบนัสที่บริษัทจ่ายก็ได้ไม่เท่าคนอื่น เงินปรับประจำปีก็น้อยกว่า หนี้สินก็ไม่มีจ่าย เพราะไม่ได้ค่าจ้าง อีกทั้งบางส่วนกว่าจะได้กลับเข้าทำงานก็ต้องถูกส่งไปอยู่วัดครึ่งเดือน ส่งไปฝึกช่างเชื่อมที่ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.ชลบุรีอีก 6 เดือนจบแล้วกลับต้องมาทำงานที่โรงงานร้างอีกกว่า 212 วัน อยากจะเรียกร้องให้บริษัทและหัวหน้างานผู้ที่แจ้งความให้เห็นใจพวกเราด้วย พวกเราทำเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้กับคนงานทุกคน พวกเราคือคนที่ถูกเลือก เงินเดือนพวกเราก็น้อยนิด ไหนจะต้องมีภาระรับผิดชอบเลี้ยงดูครอบครัวอีกสารพัด ลำพังเงินจะกินข้าวแต่ละเดือนก็แทบจะไม่พออยู่แล้ว นี่เรากลับต้องมามาถูกดำเนินคดีและแบกภาระค่าใช้จ่ายอีก

แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องขอขอบคุณบริษัทและหัวหน้างานทุกคนที่พูดคุยกับพวกเราว่า เราจะเลิกแล้วต่อกันหันมาจับมือสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน พัฒนาบริษัท พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงานพร้อมกับไปแถลงต่อศาล ว่าไม่ติดใจเอาความใดๆทั้งสิ้น นำมาซึ่งการตัดสินใจยอมรับสารภาพของพวกเรา ถึงแม้ว่าพวกเราจะไม่มั่นใจว่าในวันที่ 8ธันวาคม 2554 นี้ศาลท่านจะพิจารณาพิพากษาว่าอย่างไร เราก็คงต้องยอมรับ แต่ในใจก็ยังมีความหวังว่าผู้พิพากษาท่านจะเห็นใจชีวิตของคนงานอย่างเราๆ    นาย สมหมาย กล่าวเสริม

                                                                          นักสื่อสารแรงงาน voicelabour ศูนย์แรงงานภาคตะวันออก  รายงาน