เส้นทางกรรมกร 1 พฤษภาคม 54

กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ ได้ร่วมรณรงค์วันแรงงานแห่งชาติ นำผู้ใช้แรงงานเข้าร่วมประมาณ 150 คน โดยเข้าร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์   ร่วมกับองค์กรเครือข่ายผู้ใช้แรงงานประมาณ 10,000 กว่าคน     

เมื่อวันที่  1  พฤษภาคม  2554   ตั้งริ้วขบวนที่หน้าอาคารรัฐสภา  และเปิดเวทีปราศรัยเชิญผู้นำแรงงานจากกลุ่มเครือข่ายทุกองค์กรขึ้นเวทีเพื่อแสดงพลังในการขับเคลื่อน  เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน    มีการแสดงละครสะท้อนปัญหา  ชีวิตของคนงานยากจนในสังคมที่ได้รับความเหลื่อมล้ำขาดการเหลียวแลจากรัฐ  ในยุคข้าวของแพง  ค่าแรงต่ำ  กับนโยบายของรัฐที่จับต้องไม่ได้  ( ดีแต่พูด )  ของกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่   และเคลื่อนขบวนมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนและอุดมการณ์ของชนชั้นกรรมมาชีพ ร่วมกันผลักดันให้รัฐดำเนินการ ตามข้อเสนอในวันกรรมกรสากล ปี 2554 โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 13 ข้อ

1.  รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ( ILO )  ฉบับที่  87  และ  98  เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในเรื่องการรวมตัวและเจรจาต่อรอง

2.  รัฐต้องประกาศใช้  พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์  ตามข้อเสนอของขบวนการแรงงาน  เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้ใช้

แรงงานทุกภาคส่วน

3.  รัฐต้องปฏิรูประบบประกันสังคมเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม  และปฏิรูปโครงสร้างการบริหารงานระบบประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ  ผู้ประกันตนมีส่วนร่วม  โปร่งใสตรวจสอบได้

4.  รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรม  และกำหนดโครงสร้างค่าจ้างให้ครอบคลุมทุกประเภทอุตสาหกรรม

5.  รัฐต้องยกเลิกการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ  และพัฒนารัฐวิสาหกิจให้มีศักยภาพในการให้บริการประชาชน  โดยการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ  และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารงานขบองผู้แทนคนงานในทุกระดับ

6.  รัฐต้องดำเนินการให้คนงานมีสิทธิเลือกตั้งในเขตพื้นที่สถานประกอบการของคนงานเพื่อให้เป็นไปตามสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่

7.  รัฐต้องเร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย  อาชีวอนามัย  และสภาพแวดล้อมในการทำงาน

8.  รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจาการลงทุน  เพื่อคุ้มครองสิทธิคนงานให้ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากเจ้าของสถานประกอบการ  กรณีการถูกเลิกจ้าง

9.  รัฐต้องจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนงานในเขตย่านอุตสาหกรรม

10.  รัฐต้องคุ้มครองสิทธิแรงงานนอกระบบ  และสิทธิแรงงานข้ามชาติ

11.  รัฐต้องยกเลิก  พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ  เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน

12.  ให้ยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้ของลูกจ้างในกรณีเงินค่าชดเชย  และเงินรายได้อื่นๆ  ซึ่งเป็นเงินงวดสุดท้าย

13.  ให้แก้ไข  พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน  พ.ศ. 2541 มาตรา  118  โดยให้เพิ่มค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างที่ทำงาน  10  ปีขึ้นไปเพิ่มอีกปีละ  30  วัน

 ดาวเรือง   ชานก  นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน