เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ คปก.ยื่นจดหมายเปิดผนึก ท้วงสภาไม่ฟังเสียงประชาชน

วันที่ 29 มีนาคม 2556 ณ ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีสาธารณะเรื่อง ร่างประกันสังคมฉบับใหม่ กับจุดเปลี่ยนที่สำคัญ   อิสระครอบคลุม โปร่งใส  คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายโดยคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการสังคม จึงจัดให้มีการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยน และรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับสิทธิด้านสวัสดิการของผู้ประกันตน และประชาชนจำนวนมาก  แต่ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 4 ฉบับมีประเด็นต่างกันในสาระบางประการ

จากนั้น ผู้ร่วมเสวนาซึ่งเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทั้ง 4 ฉบับ ได้นำเสนอประเด็นจุดเด่นของกฎหมายแต่ละฉบับ โดยเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติประกันสังคมฉบับ พ.ศ.2533 ซึ่งแต่ละฉบับมีจุดเด่นที่ต่างกันบ้างบางประการที่สำคัญ

รวม2 รวม1

นายโกวิท สัจจวิเศษ ผู้อำนวยการกองนิติการ สำนักงานประกันสังคม ชี้แจงจุดเด่นของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ว่า ให้ขยายความคุ้มครองจากเดิมที่คุ้มครองเฉพาะลูกจ้างส่วนราชการรายเดือนให้ขยายไปยังลูกจ้างที่ทำงานรายวัน รายชั่วโมงด้วย  ขยายสิทธิไปยังแรงงานนอกระบบที่เป็นลูกจ้างอิสระ โดยจ่ายเงินสมทบให้กับลูกจ้างในมาตรา 40  ด้วย การลงทุนของประกันสังคมในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ตกเป็นของกองทุน  ขยายการส่งเสริมการคุ้มครองป้องกันโรค เช่น การฉีดวัคซีน รวมทั้งขยายความคุ้มครองให้กับลูกจ้างขอรับทุพพลภาพ จากเดิมต้องสูญเสียอวัยวะเกิน50% ได้มีการแก้ไขกรณีที่สูญเสียหรือทุพพลภาพให้เป็นไปตามประกาศของการแพทย์

นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย กล่าวว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับ 14264 รายชื่อมีข้อเด่นหลายประเด็นคือ สำนักงานประกันสังคมต้องเป็นองค์กรอิสระ เนื่องจากสภาพปัญหาที่ถูกแทรกแซงได้ง่าย มีโอกาสคอรัปชั่นสูง เช่น นำเงินประกันสังคมไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ มีการทำงานวิจัยที่ไม่เกิดประโยชน์ การทำประชาสัมพันธ์และการดูงานต่างประเทศโดยใช้งบจำนวนมาก  ส่วนคณะกรรมการประกันสังคมให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อให้ได้มืออาชีพเข้ามาบริหารจัดการ มีความโปร่งใสตรวจสอบได้ เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้คุ้มครองทุกภาคส่วน ฯลฯ

นางสาววิไลวรรณ ยังกล่าวอีกว่า ขอปฏิเสธการเป็นกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ เนื่องจากมองว่าเป็นเสียงข้างน้อยไม่อาจทำอะไรได้ จึงไม่ขอเข้าร่วมเพราะไม่มีประโยชน์อะไรเลย จากสภาพปัญหาที่ผ่านมาพบว่ารัฐบาลยังค้างจ่ายเงินประกันสังคมจำนวนมาก รวมทั้งนายจ้างหลายรายที่ค้างจ่ายเงินสมทบ อยากทราบว่ารัฐบาลจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้อย่างไร

วิไลวรรณ สุนี2

รวม3 รวม 4

นายนคร มาฉิม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. กล่าวว่าได้มีโอกาสได้ร่วมเสวนากับผู้นำแรงงานหลายส่วน และเคยเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎรได้รับรู้ปัญหาหาของพี่น้องทั่วประเทศ จึงมีความเห็นสอดคล้องกับร่างของคุณวิไลวรรณ ถ้ากฎหมายถูกนำเสนอ โดยภาครัฐอย่างเดียวจะไม่สนองตอบต่อผู้ใช้แรงงานแน่นอน รัฐมีความจริงใจกับพี่น้องผู้ประกันตนแค่ไหน มีอะไรแอบแฝงอยู่ในเรื่องการบริหารเงินกองทุนที่ถือว่ามากที่สุดนับล้านๆ บาท ผมและเพื่อเน้นไปในเรื่องการความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม อาจเป็นเหตุหลักที่สภาไม่รับหลักการทำให้ทั้งสองร่างตกไป มีเพียง 80 สส.ที่โหวตให้

นายนคร กล่าวต่อว่า เสียใจกับร่างกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ที่ตกไป เสียงส่วนใหญ่สส.ไม่รับหลักการ เพราะไม่อยากให้ร่างนี้เป็นอิสระ ผู้แทนฝ่ายลูกจ้างได้เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้าไปชี้นำ มีการนำเงินประกันสังคมไปลงทุน หลักทรัพย์ ต้องมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่แน่นอน แต่ถ้าการบริหารงานกองทุนนับล้านๆบาทเชื่อว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาว  แต่พอถึงจุดหนึ่งที่จะต้องจ่ายเงินชราภาพ เงินจะต้องหมดอย่างแน่นอน เคยถามรัฐมนตรี เลขา สปส.ก็ไม่เคยได้รับคำตอบที่ชัดเจน รัฐบาลควรเป็นต้นแบบในการจ่ายสมทบที่ค้างจ่าย เคยถามว่ารัฐบาลค้างจ่ายสมทบเงินประกันสังคมอยู่เท่าไหร่ เท่าที่ทราบ 1 หมื่นกว่าล้าน ในเมื่อผู้รักษากฎหมายไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเสียเองแล้วจะเอาเหตุผลอะไรไปทวงถามจากนายจ้าง เสียใจกับสิ่งที่รัฐบาลควรรับหลักการไปก่อน โดยหลักแล้วก็ต้องให้เกียติร่างฉบับรัฐบาลเป็นหลัก แล้วนำกฎหมายทั้ง 4 ฉบับไปปรับ เพื่อให้หลักการมันอยู่ก่อน ส่วนรัฐบาลจะปรับได้แค่ไหนก็ให้ไปพิจารณากันในคณะกรรมาธิการ

วิชาการ1 นักวิชาการ2

นายกิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะวิจัย สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอทางออกคือ อาจจะต้องต่อสู้ในเรื่องของสัดส่วนกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชือเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด การพิจารณาไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนไม่เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงทำให้กฎหมายไม่ชอบด้วยหลักของรัฐธรรมนูญ

เสนอให้แก้ไขทั้งฉบับ หรือให้เป็นองค์กรมหาชน ซึ่งจากงานวิจัย มีการสำรวจเจ้าหน้าที่ประกันสังคมพบว่าเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่อยากให้เป็นองค์กรมหาชน เหตุผลความเป็นอิสระจึงยอมรับได้ในทางวิชาการ

นายแพทย์ประทีป ธนกิจเจริญ กรรมการการแพทย์ คณะกรรมการประกันสังคม กล่าวว่า กฎหมายประกันสังคมมีมิติทางประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก ต่อสู้มา 20-30 ปี ที่กว่าจะได้กฎหมายฉบับนี้ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีความรู้สึกมีความเป็นเจ้าของ การไม่รับหลักการร่างประกันสังคมจึงถือว่าอยู่ในขั้นหมิ่นเหม่ต่อการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

นายแพทย์ประทีป ได้เสนอว่าจะต้องเปลี่ยนแนวคิดระบบประกันสังคมให้เกิดความเท่าเทียมกัน และต้องเปลี่ยนจุดหมายของประกันสังคมที่เน้นผู้ประกันตนเป็นส่วนใหญ่  เห็นด้วยว่าสำนักงานควรจะเป็นองค์กรอิสระ  มีการขยายครอบคลุมมากขึ้น ควรเพิ่มเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มากขึ้น

นางสุนี  ไชยรส คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และผู้ดำเนินรายการ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการยื่นหนังสือเปิดผนึก  เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร

โดย คปก.มีความเห็นและข้อเสนอแนะต่อการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยประชาชนว่า สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ2540 ที่มีความมุ่งหมายให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2550 ได้ให้ความสำคัญเช่นกัน จึงได้กำหนดให้เป็นหมวด 7 ว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรงของประชาชน โดยได้กำหนดให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติเข้าชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา และเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยและได้กำหนดเงื่อนไขเพียงว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชนต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของชนชาวไทย และหมวด 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐของรัฐธรรมนูญเท่านั้น

คปก. เห็นว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน มีหลักการและสาระสำคัญเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมแก่คนทำงานที่มีการขยายตัวอย่างกว้างขวาง ซึ่งรัฐบาลและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรควรให้การสนับสนุนความริเริ่มสร้างสรรค์ของประชาชนผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่สามารถสะท้อนความต้องการเพื่อให้สถาบันรัฐสภารับรู้และสามารถออกกฎหมายได้ตรงกับสภาพปัญหาที่แท้จริงที่คปก.เห็นว่า แม้ว่าร่างกฎหมายประกันสังคมที่เสนอโดยรัฐบาลร่างกฎหมายที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ด้วยกระบวนพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรที่มีขั้นตอนในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสามารถเปิดโอกาสให้ความเห็นที่แตกต่างกันสามารถถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างสร้างสรรค์และโดยสันติบนพื้นฐานของผลประโยชน์ของประชาชน ถือเป็นวิถีประชาธิปไตยที่ยึดถือปฏิบัติกันเสมอมา  ด้วยเหตุดังกล่าวการมีมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชน จึงเป็นการปิดกั้นโอกาสไม่ให้ผู้แทนประชาชนได้เสนอเหตุผลเพื่อหาข้อสรุปที่ยอมรับกันได้ในการแก้ไขกฎหมายประกันสังคมให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้มากทีสุด

ดังนั้น คปก.จึงเห็นว่า เมื่อรัฐธรรมนูญได้รับรองให้ผู้แทนประชาชนที่เข้าชื่อเสนอกฎหมายเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมด ย่อมแสดงให้เห็นว่าเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในกระบวนการและขั้นตอนการพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยประชาชนของสภาผู้แทนราษฎรอย่างยิ่งยวด ดังนั้นการพิจารณาลงมติไม่รับหลักการร่างกฎหมายที่เข้าชื่อโดยประชาชนที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 163 อาจทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอาจทำให้ประชาชน ขาดความเชื่อถือต่อสถาบันรัฐสภาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน