เสียงเล่าขานปัญหาประกันสังคม

ผู้ประกันตนในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลายคนกล่าวถึงการใช้สิทธิประกันสังคมเหมือนๆกันว่า เวลาเข้าไปใช้สิทธิประกันสังคมในโรงพยาบาลของรัฐ มีการบริการที่ล่าช้าและมีขั้นตอนมาก บางครั้งต้องนอนรออยู่ที่เตียงเข็นบริเวณหน้าห้องกันกรองผู้ป่วยเป็นชั่วโมง แม้กระทั่งญาติผู้ป่วยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ก็ไม่ค่อยได้รับความสะดวกเท่าที่ควร ไม่เหมือนกับโรงพยาบาลเอกชน ทั้งที่ผู้ประกันตนเสียเงินให้กับประกันสังคมเท่ากัน แต่มีการบริการที่แตกต่างกัน ผู้ประกันตนไม่เข้าใจว่าเป็นเพราะสาเหตุใด จำลอง ชะบำรุง นักสื่อสารแรงงาน ศูนย์พระนครศรีอยุธยา

“จากประสบการณ์ที่ใช้ประกันสังคม มีความต่างกับการใช้สิทธิประกันชีวิต ประกันสังคมนั่งรอคิวนานกว่าชั่วโมงถึงได้เรียกตัวเข้าไปตรวจ แพทย์ก็คนเดียวกันกับการใช้ระบบอื่นรักษา .. แต่การรักษาระบบประกันสังคม แพทย์ตรวจเดี๋ยวเดียวก็จ่ายยาพารา .. แค่นี้ซื้อกินเองก็ได้ หากไปโรงพยาบาลใช้ประกันชีวิต ได้พบแพทย์เร็วกว่า ได้ยาที่ดีกว่า ซึ่งไม่ใช่พารา ได้ยามากกว่า มันต่างกันมาก” พนักงานบริษัทในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี

สหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมฯ เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปสำนักงานประกันสังคม เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งมากว่า 20 ปี ที่ยังไม่มีการพัฒนาเท่าที่ควร
กรณีการบริหารจัดการองค์กร โดยเฉพาะที่มาของคณะกรรมการประกันสังคมหรือบอร์ดของสำนักงานประกันสังคม ก็ไม่ควรจะมีการเมืองหรือหน่วยงานของรัฐเข้ามาครอบงำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จะต้องเป็นการเลือกตั้งของผู้ประกันตนโดยตรง รวมถึงขยายความคุ้มครองให้มากขึ้น ไปถึงลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน และมีมาตรการตรวจสอบนายจ้างที่หักเงินสมทบของลูกจ้างแล้วไม่นำส่งสำนักงานประกันสังคม กรณีอย่างนี้ทำให้ลูกจ้างเสียสิทธิ เมื่อเกิดการเจ็บป่วยไปใช้สิทธิที่โรงพยาบาลจะถูกปฏิเสธ ไม่ยอมรักษา ทำให้ลูกจ้างต้องจ่ายเงินเอง

ปัญหาต่างๆจะได้รับการแก้ไข ถ้าหากมีการปฏิรูปประกันสังคมให้เป็นองค์กรอิสระ มีการบริหารงานอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพ และตรวจสอบได้ ผู้ประกันตนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน มีตัวแทนบอร์ดอย่างเหมาะสม โดยคำนึงถึงสัดส่วนชายหญิงด้วย พรนาราย ทุยยะค่าย เลขาธิการสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย

“ผู้ประกันตน ม.39 ต้องจ่ายเงินสมทบถึงสองเท่า แต่สิทธิประโยชน์กลับได้ไม่เต็มที่ ขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้ก็ยุ่งยาก ต้องหาพยานกันวุ่นวาย แถมให้ 80 บาทต่อใบรับรองแพทย์ 1 ใบ ถามว่า เราหารายได้แค่วันละ 80 บาทจะพอกินหรือไม่ เจ้าหน้าที่เองก็บริการไม่ดี แทนที่จะให้คำแนะนำอย่างสุภาพ กลับใช้อำนาจพูดจาตะคอกกับผู้ประกันตน อย่างนี้ใครจะไปกล้าถาม” นางสาวกนกวรรณ แย้มบุญมี ผู้ประกันตนตาม มาตรา 39