เสียงคนมักกะสัน

เสียงคนมักกะสัน ต่อ “มักกะสันคอมเพล็กซ์”

GreenNewsTV-21 พ.ค. 2013

ท่ามกลางเสียงหลากหลายต่อโครงการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพฯ ในนามมักกะสันคอมเพล็กซ์ ทั้งสนับสนุนและต่อต้าน รวมถึงข้อเสนอให้เปลี่ยนพื้นที่นี้เป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่่แทน หนึ่งเสียงที่ยังไม่ค่อยได้ยินออกสู่สาธารณะคือ เสียงคนจากชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยปัจจุบัน มีสภาพการใช้งานแบ่งออกเป็นพื้นที่ซ่อมบำรุงรถไฟ พื้นที่เส้นทางแอร์พอร์ตลิงค์ พื้นที่ว่างที่มีต้นไม้ปกคลุมจำนวนมาก และ 205 ไร่เป็นพื้นที่ชุมชนซึ่งรวมถึงที่อยู่อาศัย ตลาดและพิพิธภัณฑ์

snapshot11tlm

snapshot8snapshot2

ชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กว่าหนึ่งในสี่ของที่ดินการรถไฟบริเวณมักกะสันนี้ สามารถแบ่งออกเป็น3 กลุ่ม คือ กลุ่มพนักงานซ่อมบำรุงของการรถไฟแห่งประเทศไทย กลุ่มผู้อยู่อาศัย และกลุ่มผู้ใช้พื้นที่มักกะสันทำมาหากิน ภายใต้ชื่อชุมชนอย่างเป็นทางการ 5 ชุมชน คือชุมชนริมทางรถไฟ ชุมชนนิคมมักกะสัน ชุมชนหลังวัด ชุมชนโรงเจ และชุมชนหมอเหล็ง รวมจำนวนกว่า 1,300 คน

จากนี้คือ ส่วนหนึ่งของเสียงคนจากชุมชนเหล่านั้น ซึ่งสำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNewsTV ได้สุ่มสำรวจรับฟังความเห็น ว่าพวกเขารับรู้และคิดอย่างไรต่อโครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ โครงการซึ่งอาจทำให้ชุมชนของพวกเขาต้องอพยพออกไปจากพื้นที่อย่างถาวร

รับรู้การเข้ามาของโครงการ และไม่อยากถูกอพยพไปอ. แก่งคอย จ. สระบุรี ตามข้อมูลที่ได้รับมา เป็นเสียงสะท้อนจากส่วนหนึ่งของพนักงานซ่อมบำรุงรถไฟ

“(อยู่กันมากี่ปีแล้ว) ประมาณ 30 ปีแล้วครับ (เพราะเป็นสวัสดิการของพนักงาน รฟท.) ใช่ครับ (เคยได้ยินไหม) ได้ยินครับ (ได้ยินจากไหน) พวกผู้ใหญ่เขาคุยต่อ ๆ กันมา

(เห็นด้วยไหม) ไม่ครับ (เพราะ) ถ้าย้ายไปไกลก็ไม่สะดวกต่อครอบครัวของเราด้วย (รู้ไหมว่าถ้ามีการสร้าง จะต้องถูกย้ายไปที่ไหน) เห็นเขาคุยว่าประมาณแก่งคอย (หมายถึงให้ไปซ่อมอยู่ที่นู่นเลย) ใช่ครับ เขาจะไปสร้างโรงงานให้ใหม่

(จริง ๆ แล้วพี่อยากให้พื้นที่มักกะสันเป็นแบบไหน หรือเป็นแบบใหม่ก็ได้ แต่ขอให้จัดให้เรายังได้อยู่ตรงนี้) ใช่ครับ เป็นอย่างสุดท้ายนี่แหละครับ” วิชาญ โล่กิม ช่างซ่อมบำรุงรถไฟ รฟท. กล่าว

snapshot1snapshot9

สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่นี้มานาน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ยอมรับว่าการอยู่ในพื้นที่นี้ อาจไม่ได้มีสัญญาเช่า หรือการอนุญาตตามกฎหมายจากการรถไฟฯ เจ้าของที่ แต่ก็อยากมีส่วน ในการกำหนดอนาคตพื้นที่นี้ ด้วยความผูกพันกับพื้นที่ ที่มีมายาวนาน

“พี่อยู่แบบไม่ได้เช่า มาตั้งแต่เกิดมาคือ พ.ศ. 2511 ตอนนี้ 40 กว่าแล้ว ก็บุกรุกเขามาตลอด (ถ้าเขาจะมาเอาที่ไป) ก็ต้องฟังเสียงชาวบ้าน เราคนเดียวคงเป็นไปไม่ได้

นาน พี่ได้ยินมานานแล้ว แต่แบบเฉย ๆ (ถ้าวันหนึ่งเขามาบอกให้ไป) ก็ต้องให้ชาวบ้านมาประชุมกัน เพราะบางคนเขาไม่มีที่ เอาตังค์ไปเดี๋ยวก็หมด ก็ต้องไปเช่าเขาไม่ใช่น้อย ๆ” สุนันท์ สมบูรณ์ยิ่ง เลขาฯ ชุมชนริมทางรถไฟ กล่าว

ด้านกลุ่มผู้ที่อาศัยที่ดินผืนนี้ เป็นที่อยู่อาศัยซึ่งส่วนใหญ่ อยู่ในฐานะ “ผู้เช่า”เสียงส่วนหนึ่งยอมรับว่า สัญญาเช่าบ้านของเขา อาจถูกยกเลิกได้ทุกเวลา ซึ่งคงจำเป็นต้องยอมรับ และหาทางออกเป็นรายบุคคลไป

“ผมอยู่มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 42-43 โดยประมาณ มาเช่าอยู่ ได้ยินแต่เปรย ๆ เฉย ๆ เห็นด้วย ผมจะได้ไปอยู่บ้านสักที บ้านผมอยู่หนองคาย ผมมาทำงาน เลยมาเช่าที่อยู่ตรงนี้ ถ้างานยังทำอยู่ ก็จะเช่าอยู่ตลอดแต่ที่อื่น ถ้าที่นี่ไม่มีที่เช่า” อนุพงศ์ จันทร์เขียว ผู้เช่าบ้านในพื้นที่ของ รฟท. กล่าว

snapshot5snapshot6

ในขณะที่กลุ่มที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ เป็นที่ทำมาหากินมายาวนาน การรับรู้เรื่องโครงการค่อนข้างแตกต่างหลากหลาย แต่ล้วนกังวลต่อความเดือดร้อน ที่กำลังจะเข้ามา และไม่เห็นทาง ที่จะสามารถต่อรองอะไรได้ แม้จะอยากอยู่เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่นี้ต่อไป

“ไม่เห็นนะ ไม่เคยได้ยินข่าว มีแต่ฝั่งโน้น ตรงนี้ไม่น่าจะโดน” สมพงศ์ ทองหล่อ พ่อค้าขายขนมกุ้ยช่าย กล่าว

“ได้ยิน ก็กลัว ทำไงได้เขาไล่เราก็ต้องไป ไม่เห็นด้วย แต่ก็ไม่รู้จะทำไงครับ ในเมื่อรัฐเขามีอำนาจ ที่จริงก็เป็นเหมือนเดิมก็ดีแล้วนะ ถ้าเกิดมาปรับปรุงใหม่ ไม่มีปัญญาไปเช่าเขาหรอก อย่างร้านอาหารข้างในเดือนละ 3-4 หมื่น ไหนจะรายปีอีก ไม่มีปัญญาไปเช่าหรอก แต่ก่อนอยู่ตรงนี้ แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่แล้ว อยู่ตรงนี้มา 4-5 ปี แต่ญาติอยู่มานาน อยู่กันเยอะ ตั้งแต่เป็นหนุ่มเป็นสาว จนมีลูกหลาน” ชัชวาลย์ สวนศรี พ่อค้าขายผลไม้ กล่าว

“ถ้าถามพี่ก็อย่างว่าเนอะ จะเห็นด้วยไหม ก็พี่ไม่มีที่ขายของอะเนอะ แต่ถ้ามันมีประโยชน์ เป็นความสำคัญ เราก็ต้องแล้วแต่เขาอ่ะ เพราะว่ามันเป็นสถานที่รถไฟ เจ้าของเขาจะให้ทำไงก็ต้องเป็นไปตามนั้น เราไม่มีสิทธิ์จะไปว่าเขา แต่ถามว่าถ้าอยากให้มีไหม ก็อย่างว่าถ้ามันมีประโยชน์ต่อประเทศก็ต้องเป็นไปตามนั้น ก็ต้องกลับบ้าน ไปหางานที่บ้านทำ” มณเฑียร สันทัดนาวี พ่อค้าขายผัก กล่าว

แม้จะเป็นการอยู่ในพื้นที่นี้แบบบุกรุก ไม่มีการอนุญาตตามกฎหมาย แต่การดำรงอยู่ของกลุ่มคนกว่า 1,300 คนในพื้นที่นี้กว่าครึ่งชีวิต น่าจะถูกนิยาม ว่าเป็นเจ้าของพื้นที่มักกะสันทางพฤตินัยหรือไม่ เป็นหนึ่งในคำถามสำคัญ ก่อนการตัดสินใจ โครงการมักกะสันคอมเพล็กซ์ และที่สำคัญ เสียงของพวกเขา จะถูกรับฟังหรือไม่อย่างไร เป็นอีกคำถามตามมา และผู้ตอบอาจไม่ใช่แค่เจ้าของพื้นที่ อย่างการรถไฟฯ เท่านั้น

snapshot10snapshot4

…ขวัญชนก เดชเสน่ห์ ถ่ายภาพ

…วรัญญา จันทราทิพย์ สำนักข่าวสิ่งแวดล้อม GreenNewsTV รายงาน

 

Business Talk : รฟท.จะพัฒนาที่เก่าแก่ เนื้อที่ 500 ไร่ ย่านประตูน้ำ ราชดำริ เป็นศูนย์กลางครบวงจร ท่ามกลางเสียงคัดค้านของคนกทม. ( กรุงเทพธุรกิจ TV 18 มี.ค.56)

businesstalk

pongpomsupinprapat