เสียงของคนทำงานบ้าน : เสียงที่พูดได้ แต่ไม่มีใครฟังหรือได้ยิน

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์  ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
กว่า 6 ปีแล้วที่ “น้อย” ก็ยังทำงานอยู่ในบ้านหลังนี้ ทุกๆเช้าน้อยจะต้องตื่นนอนก่อนทุกคน เพื่อมาเตรียมกับข้าวไว้ให้คุณๆทั้งหลายในบ้านก่อนที่จะออกไปทำงานและไปโรงเรียน หลังจากทุกคนออกจากบ้านไปหมดแล้ว น้อยต้องเก็บโต๊ะอาหาร ล้างจานชามให้เรียบร้อย แล้วขึ้นไปชั้นบนเอาเสื้อผ้าคุณๆ
 
ที่อยู่คนละห้องลงมาซัก แม้ว่าจะมีเครื่องซักผ้าแต่เสื้อผ้าคน 4-5 คนในบ้านแต่ละวันมิใช้น้อย เหมือนชื่อของ “น้อย” เลย ผ้าบางส่วนที่แห้งแล้วก็ต้องเตรียมรีด ระหว่างนั้นในช่วงบ่ายก็ต้องกวาดบ้าน ถูบ้าน ล้างห้องน้ำ ทั้งชั้นบนและชั้นล่าง ผ่านไปครึ่งวันบ่ายคุณหนูๆกำลังจะกลับจากโรงเรียน น้อยก็ต้องเตรียมอาหารเย็นไว้รอ กว่าเด็กๆ คุณผู้หญิง คุณผู้ชาย จะรับประทานอาหารเสร็จ เวลาก็ล่วงเลยไปกว่าสองทุ่มแล้ว ไหนจะเก็บล้าง ไหนจะทำความสะอาดครัว โต๊ะอาหาร ยิ่งวันไหนมีปาร์ตี้ของคุณๆด้วยแล้ว เข็มนาฬิกาเดินมาถึงเลข 12 น้อยยังไม่รู้เลยว่าจะมีโอกาสได้เข้านอนเวลาใด พอเข็มสั้นชี้เลข 5 ก็ถึงเวลาปฏิบัติภารกิจวันใหม่ของน้อยอีกแล้ว ! 
 
ช่วงไหนที่ “อาม่า” แม่ของคุณผู้ชายมาอยู่ที่บ้าน น้อยก็ต้องดูแลอาม่าเพิ่มขึ้น อาม่าแก่แล้วเดินเหินไม่ค่อยสะดวก มีโอกาสล้มได้ตลอดเวลา แต่อย่างว่าคนแก่มักไม่ค่อยอยู่นิ่งกับที่นานๆ ทำให้น้อยจะต้องดูแลอาม่าเพิ่มขึ้นไปอีก 
 
บางวันที่พอจะมีเวลาบ้าง น้อยก็ต้องช่วย “พี่ชัย” สามีของน้อย ที่ทำงานเป็นคนขับรถอยู่ในบ้าน ล้างสระว่ายน้ำ เติมคลอรีน เก็บกวาดใบไม้ในสวนด้วย
 
แรกๆที่น้อยมาทำงาน แล้วต้องช่วยพี่ชัยล้างสระว่ายน้ำ น้อยเกือบเอาชีวิตไม่รอดเพราะโดนไฟดูด ในสระว่ายน้ำจะมีไฟเอาไว้ส่องตอนกลางคืน น้อยกับพี่ชัยไม่รู้ ล้างสระโดยที่ไม่ได้ปิดสวิทซ์ไฟ เลยเจ็บแล้วจำมาจนทุกวันนี้
 
บางครั้งน้อยแอบบ่นกับแม่ที่อยู่บ้านนอกว่า “ทำงานบ้านแบบนี้ไม่มีวันหยุดเลย แม้ว่าคุณผู้หญิงผู้ชายจะใจดี ให้เงินเดือนน้อยตั้ง 6,000 บาทต่อเดือน จนทำให้น้อยมีเงินส่งให้แม่ที่บ้านทุกเดือน แต่ก็ต้องทำงานทุกวัน ซื่อสัตย์ ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุดตอบแทน น้อยไม่มีเวลาออกไปไหน มีบ้างบางวันที่ออกไปจ่ายตลาด ไปซื้อของที่ท้อปซุปเปอร์มาร์เก็ต แต่แค่หาซื้อของให้ครบตามที่คุณๆสั่ง ก็หมดเวลาที่จะเถลไถลเรื่องส่วนตัวแล้ว
 
น้อยจบแค่ ป. 6 ก็ต้องจากบ้านที่มหาสารคามมาอยู่ที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนี้น้อยอายุ 19 แล้ว แต่ก็ยังไม่ค่อยรู้หนังสือเลย โชคดีที่คุณผู้ชายยกทีวีเครื่องเล็กมาให้ น้อยเลยได้ดูข่าวบ้าง ได้ดูละครบ้าง
 
แต่นั่นล่ะ! คุณผู้หญิง คุณผู้ชายมักจะมีงานข้างนอก น้อยก็ต้องอยู่เป็นเพื่อนเด็กๆในตอนหัวค่ำแทน อย่าหวังเลยว่าจะได้ดูละครจนจบตอน บางครั้งน้องๆให้น้อยอ่านนิทานให้ฟัง น้อยก็อ่านตะกุกตะกัก เพราะเป็นคำภาษาอังกฤษ คำยากๆ ไม่ใช่ภาษาแถวบ้านน้อย น้อยก็อ่านไม่ออก แม้ว่าคุณผู้หญิงจะซื้อนิยายเล่มละ 20 บาท เป็นตอนๆมาให้น้อยอ่านแทน แต่ก็บอกแล้วว่า น้อยอ่านหนังสือไม่ค่อยเป็น กว่าจะอ่านจบเล่ม ละครก็อวสานไปนานแล้ว”
 
สองปีที่แล้วน้อยกลับไปงานบุญสงกรานต์ที่บ้าน มีเพื่อนๆที่ทำงานโรงงานแถวอยุธยา ชวนน้อยไปทำงานในโรงงานแทน น้อยตัดสินใจอยู่นานว่าจะไปหรือไม่ไปดี แต่สุดท้ายน้อยคิดว่า โลกของน้อยอยู่แต่ในบ้าน มีแต่คุณผู้หญิง ผู้ชาย เด็กๆ และพี่ชัย จะว่าไปแล้วชีวิตแม่บ้านที่บ้านหลังนี้ก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด เพียงแต่ว่าน้อยอยากมีวันหยุด อาทิตย์ละ 1 วันก็ยังดี ให้น้อยมีโอกาสไปเปิดหูเปิดตานอกบ้าน ไปเรียนหนังสือ เห็นเพื่อนๆบอกว่ามี “กศน.” ให้เรียนหนังสือต่อในระดับมัธยมศึกษาได้ หรือมีเวลาให้น้อยกับพี่ชัยได้ไปเที่ยวบ้างตามประสาผัวเมีย แค่นี้น้อยก็พอใจแล้ว
 
น้อยไม่ได้กลับไปเลือกตั้ง เพราะไม่รู้จะไปทำไมและเกี่ยวอะไรกับน้อย น้อยดูข่าว และเห็นคุณๆพูดกันว่า รัฐบาลใหม่จะมีการขึ้นค่าแรงให้แรงงานวันละ 300 บาท แต่คุณๆบอกว่า น้อยไม่ใช่แรงงาน น้อยเป็นคนรับใช้ในบ้าน มีที่พัก มีอาหาร 3 มื้อ เดือนละ 6,000 บาท ก็เกินค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว ดีกว่าพวกแรงงานในโรงงานเสียอีก!  
 
แต่น้อยก็อดสงสัยไม่ได้อยู่ดีว่า น้อยทำงาน คุณๆก็จ่ายเงินเดือนให้น้อยทุกเดือน แล้วน้อยไม่ใช่ “แรงงาน” ตรงไหน หรือ “งานบ้านที่น้อยทำ” ไม่ใช่ “งานเหมือนในโรงงาน” หรืออย่างไร น้อยจึงไม่มีเวลาหยุดพักเลย 
 
น้อยแอบหัวเราะเล่นขึ้นมา แล้วบอกต่อว่า “น่าจะมีหุ่นยนต์แม่บ้านนะคะ คนทำงานบ้านจะได้เป็นคน ไม่เป็นหุ่นยนต์ตามคำสั่ง และเหนื่อยน้อยลงกว่านี้” ประโยคสุดท้ายที่ “น้อย” สนทนากับฉันในซุปเปอร์มาร์เก็ตเจ้าประจำ ที่น้อยต้องออกมาจ่ายตลาดทุกๆอาทิตย์ และทำให้ฉันชะงักงันไปชั่วขณะ 
 
แม้ว่าวันนี้จะเป็นวันที่ 28 สิงหาคม 2554 ซึ่งเป็นวัน “แม่บ้านหรือคนทำงานบ้านสากล” ก็ตาม แต่น้อยก็ยังทำงานเหมือนปกติที่เป็นมา เหมือนกับคนทำงานบ้านอีกกว่า 224,000-248,000 คนทั่วประเทศไทย
 
ปีที่แล้วอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เฉลิมชัย ศรีอ่อน รับปากเป็นมั่นเหมาะว่าปีนี้  (2554) กระทรวงแรงงานจะออกกฎกระทรวงคุ้มครองแม่บ้าน เพื่อศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่อทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล 
 
แต่ปีนี้กระทรวงแรงงานมีรัฐมนตรีคนใหม่ชื่อ เผดิมชัย สะสมทรัพย์ ข่าวคราวก็เงียบหายเหมือนมิเคยมีเรื่องนี้ปรากฏขึ้นมาแม้แต่น้อยในกระทรวงแรงงาน
 
แม้ว่าประเทศไทยจะส่งผู้แทนทั้งภาครัฐ เอกชน เข้าร่วมประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อเดือนมิถุนายน 2554 และที่ประชุมมีมติรับรองอนุสัญญาว่าด้วยคนงานทำงานบ้าน ค.ศ. 2011 เรียบร้อยแล้วก็ตาม
 
หลายปีที่ผ่านมา ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นายจ้าง นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายแรงงานต่างๆทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ต่างก็ยอมรับว่า “งานบ้าน” เป็น “งานที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ” เป็น “งานที่มีคุณค่า” แต่นั่นเองชีวิตคนทำงานบ้านก็ยังเป็นชีวิตที่อยู่ในซอกหลืบ เป็นชีวิตที่มี “ประโยชน์กับทุกฝ่าย” แต่กลับเป็นชีวิตที่ไม่มี “คุณค่า” เหมือน “งานที่ทำ” 
 
บ้านหลายหลังที่มีแม่บ้านเป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน หลายคนที่ฉันได้มีโอกาสสนทนาด้วย พวกเธอไม่ขออะไรมากไปกว่า “ความไม่หวาดกลัวจากการทำงานในบ้าน” บางคนไม่มีบัตร บางคนมีบัตรแต่ถูกนายจ้างยึดเก็บไว้ สื่อสารภาษาถิ่นไม่ได้ ไปไหนมาไหนไม่ได้อย่างอิสระ ถูกจับกุม อีกหลายคนก็ถูกล่วงละเมิดทางเพศ นี้ไม่นับเรื่องของการเข้าไม่ถึงบริการขั้นพื้นฐานของรัฐ โดยเฉพาะบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และคุ้มครองสิทธิแรงงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากเกินใฝ่ฝัน
 
ฉันอดคิดไม่ได้ว่าหรือเพราะ “งานบ้าน” เป็น “งานในซอกหลืบ” เป็น “งานที่มองไม่เห็น” เสียงของคนทำงานบ้าน เสียงของแม่บ้าน จึงไม่เคยสามารถสื่อสารไปยังผู้กำหนดนโยบายได้เลย เสียงของพวกเธอจึงวนเวียนอยู่ในพื้นที่เฉพาะ พื้นที่ส่วนบุคคลที่มีรั้วรอบขอบชิด เป็นพื้นที่เฉพาะที่ใครๆก็ไม่สามารถเข้าถึงหรือมองเห็นได้ เป็นพื้นที่ที่กันเสียงพวกเธอออกจากผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม แม้ว่าพวกเธอจะพูด “ความจริง” แต่ก็เป็น “ความจริงที่ไร้ความหมาย” เป็น “ความจริงที่แตกต่างจากที่สังคมพยายามจะรับรู้” ดังนั้นความจริงของคนทำงานบ้านจึงยากที่จะหาคนรับฟังและเข้าใจได้ เป็นความจริงที่ปราศจากอำนาจต่อรองที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง
แม้ว่าหลายคนจะมีประสบการณ์ร่วมกับเธอในฐานะนายจ้างหรือเป็น “แม่บ้านในบางวัน” ก็ตาม ก็ย่อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก และก็มีสิทธิที่จะทำเช่นนั้นในวิถีทางประชาธิปไตย ไม่ใช่เรื่องผิดปกติหรือน่าตกใจแต่อย่างใด 
 
แต่ในฐานะเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมแล้ว หลายคนกลับไม่ยอมจินตนาการว่าแม่บ้าน/คนทำงานบ้านมีวิถีชีวิตอย่างไร มีโอกาสที่จะเผชิญกับเภทภัยและอุบัติเหตุต่างๆในการทำงานขนาดไหน มิหนำซ้ำบางคนยังมีทัศนคติที่เชื่อว่าคนทำงานบ้านนั้นไม่มีความจำเป็นต้องรู้เรื่องราวต่างๆ ต้องเข้าถึงสิทธิแรงงานต่างๆเหมือนที่ “แรงงานคนหนึ่งพึงได้รับ” ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่อาจเรียนรู้และรับฟังเสียงคนทำงานบ้านได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายต่างๆ ปัญหาแรงงานจึงลดทอนกลายเป็นปัญหา “ส่วนตัว” ไม่ใช่ “ปัญหาสาธารณะของสังคมไทย” ที่ต้องใส่ใจและจัดการแก้ไข
 
เสียงของคนทำงานบ้าน จึงกลายเป็นเสียงที่ “เป็นอื่นของสังคม เพราะคนในสังคมมองไม่เห็นความเกี่ยวข้องของผู้คนในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมโลก/ร่วมสังคมใบเดียวกัน เพิกเฉย/ไม่แยแส/ไม่เอาธุระกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นกับคนที่เรารู้สึกว่าเป็น “คนอื่น” ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดๆก็ตามกับ “คนอื่น” เราจึงนิ่งดูดาย และการนิ่งดูดายนี้เองกลายเป็นการกีดกัน/ผลักไส/เร่งเร้าให้คนอื่นไปไกลกว่าเดิม ไปโดยการถูกผลักจาก “พวกเรา” ให้กลายเป็น “พวกเขา” กลายเป็นคนชายขอบที่แบกรับกับภาวการณ์ต่างๆอย่างโดดเดี่ยวเช่นทุกวันนี้
 
เพราะเหตุนี้เสียงของคนทำงานบ้านจึงกลายเป็นเสียงพูดได้ แต่ไม่มีใครฟังหรือได้ยิน เพราะสังคมที่ห้อมล้อมคนทำงานบ้านนั้น คือ สังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เข้าใจและอคติต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นอุปสรรคโดยตรงของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ความเป็นคนที่มีคุณค่า” ของ “คนทำงานบ้าน” 
///////////////////////////////////////////////