เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555 มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน จัดกิจกรรมเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี การก่อตั้งมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ที่อาคารเอนกประสงค์การประปานครหลวง ถนนประชาชื่น กรุงเทพฯ
การจัดงานครั้งนี้ใช้รูปแบบการขายบัตรเลี้ยงโต๊ะจีน เพื่อเป็นการหารายได้สนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิด้วย โดยมีนายสมชาย ศรีนิเวศน์ ประธานสหภาพแรงงานการประปานครหลวง และ นายสมศักดิ์ ภู่ธงชัยฤทธิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการประปานครหลวง ร่วมกล่าวเป็นเกียรติ
ในงานมีการแสดงดนตรีของวงภราดร ที่เป็นวงของผู้ใช้แรงงาน สร้างสรรค์บทเพลงแรงงานมากมาย และแสดงดนตรีสนับสนุนการต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้ใช้แรงงาน และมีวงคาราวาน วงดนตรีเพื่อชีวิตยุคแรกๆที่ได้รับการยอมรับมากตั้งแต่ยุค 14 ตุลา จนเป็นแม่แบบของวงดนตรีเพื่อชีวิตในยุคหลังๆต่อมา นอกจากนั้นยังมีการเป่าขลุ่ยอ่านบทกวี คนทำทาง โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ กวีรัตนโกสินทร์ และการขับร้องเพลงของ ศุ บุญเลี้ยง ศิลปินซึ่งเป็นคนจังหวัดเดียวกันและเกิดความสนใจอารมณ์จากงานเขียนเรื่อง จากคุกถึงคุก
จุดสำคัญของกิจกรรมครั้งนี้คือการรำลึกถึงคุณูปการของ อารมณ์ พงศ์พงัน โดยมีการฉายวีดีทัศน์ เรื่อง “ชีวิตและงาน อารมณ์ พงศ์พงัน” และมีการเสวนาเรื่อง “เรียนรู้จากการต่อสู้ของ อารมณ์ พงศ์พงัน” โดยมีนางสุนี ไชยรส เป็นผู้ดำเนินรายการ
ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่าอารมณ์ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องราคาข้าว เพราะรัฐบาลขึ้นราคาข้าวสาร แต่ชาวนากลับขายข้าวเปลือกไม่ได้ตามราคาที่รัฐบาลประกัน ซึ่งยุคนี้ไม่เห็นผู้นำแรงงานที่ลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องเหล่านี้แล้ว เห็นว่าอารมณ์เป็นปัญญาชนและเป็นนักประสานที่ดี ดูจากแนวคิดการร่วมงานในลักษณะ 3 ประสาน คือ กรรมกร ชาวไร่ชาวนา และนักศึกษา แสดงให้เห็นว่าขบวนการแรงงานไม่เพียงต้องมีสมาชิกมากๆเท่านั้น แต่ยังต้องประสานงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆในสังคมด้วยจึงจะมีพลังที่เข้มแข็ง
เทิดภูมิ ใจดี อดีตประธานศูนย์ประสานงานกรรมกรแห่งชาติกล่าวว่า อารมณ์เป็นปัญญาชนของแรงงานที่สามารถสะท้อนปัญหาของแรงงานได้อย่างชัดเจน และตอบโต้กับความไม่เป็นธรรมได้อย่างมีพลัง ถ้าอารมณ์ยังอยู่ถึงทุกวันนี้ เชื่อว่าขบวนการแรงงานจะเป็นเอกภาพมากกว่านี้ เข้มแข็งกว่านี้ และประเทศก็คงจะเป็นประชาธิปไตยมากกว่านี้ เพราะประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่มีขบวนการแรงงานที่เข้มแข็ง
วิทยากร เชียงกูล กล่าวว่า ไม่ใช่เพียงเรื่องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่เรื่องภราดรภาพหรือความเป็นพี่น้องก็สำคัญ ขบวนการแรงงานยุคนั้นจึงไม่ใช่เพียงเรียกร้องเรื่องค่าจ้างอย่างเดียว สำหรับอารมณ์ตนเองรู้จักในฐานะนักเขียนมากกว่า ซึ่งเห็นว่าอารมณ์เป็นนักเขียนที่สนใจปัญหาสังคมรอบด้าน เช่น ทุนนิยมที่เข้ามาทำลายธรรมชาติที่บ้านเกิด การเอาเปรียบชาวประมง ข้าราชการฉ้อฉล แรงงานในยุคนั้นจึงต่างจากปัจจุบัน ไม่ได้มองปัญหาแคบ เห็นได้จากการไปต่อสู้เรื่องข้าวกับชาวนา มีจุดยืนเคียงข้างประชาชนชัดเจน ซึ่งทำให้เห็นว่าสหภาพแรงงานก็เป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงได้ ส่วนตัวชอบบทกวีของอารมณ์เรื่อง “คือ..พ่อ” ที่แสดงให้เห็นจุดยืนที่อยู่ข้างคนยากจนในสังคม
กัญญาธร พงศ์พงัน ภรรยาของอารมณ์ พงศ์พงัน พูดถึงอารมณ์สมัยคบหากันแรกๆว่า สนใจอารมณ์เพราะมีความเป็นผู้นำ อ่านหนังสือมากและชอบเขียนบทกลอนส่งให้อ่าน เขียนจดหมายให้อ่านครั้งละหลายหน้า ทั้งเรื่องปรัชญา วรรณกรรมสำคัญของต่างประเทศ เมื่อแต่งงานอยู่กินกันเห็นอารมณ์ทำงานให้แรงงานหนักมากทั้งงานสหภาพและงานสภาแรงงานจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว อารมณ์เคยพูดให้ฟังว่า “ถ้าผมไม่ทำ คนงานก็จะถูกกดขี่มาก จะมีผู้ร้ายมาก ที่กลับมาทำร้ายลูกหลานเรา” แต่อารมณ์ก็เป็นคนประนีประนอม มีแนวคิดว่าการเรียกร้องต่างๆนายจ้างต้องอยู่ได้และลูกจ้างก็ต้องอยู่ได้เช่นกัน
ส่วนเมื่อตอนถูกจับข้อหารุนแรงมาก ทั้งกบฏและคอมมิวนิสต์ ซึ่งเท่าที่อยู่ด้วยกันมาไม่เคยได้ยินอารมณ์พูดถึงเรื่องคอมมิวนิสต์เลย พูดแต่เรื่องความเป็นธรรมทางสังคม เห็นว่าการติดคุกเป็นการปิดกั้นทางความคิด ซึ่งช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลำบากมากรวมทั้งเมื่ออารมณ์เสียชีวิตเพราะต้องเลี้ยงลูกตามลำพังโดยมีอาชีพครูสอนหนังสือ แต่ต่อมาก็มีกำลังใจเมื่อเห็นคนมากมายมาร่วมงานเผาศพจนหนังสือ 3,000 เล่มไม่พอแจก
และเห็นว่า แรงงานทุกวันนี้ยังลำบากอยู่ อยากให้ผู้นำรุ่นใหม่มาสานต่อเจตนารมณ์ของ อารมณ์ พงศ์พงัน เพื่อให้สังคมแรงงานยืนหยัดอยู่ได้โดยไม่ถูกกดขี่
กมล สุสำเภา ผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานการประปานครหลวง เล่าถึงอารมณ์ว่า ทำงานอยู่กองเดียวกัน เป็นผู้ที่ตื่นตัวด้านการเมือง เป็นคนที่มีความรู้หลากหลาย มีประสบการณ์ ตนเองรู้เรื่องสังคมก็เพราะอารมณ์ และยังมีความเป็นผู้ใหญ่ เป็นคนสุขุม เมื่อตอนคนงานประปาสไตรค์อารมณ์ก็เป็นคนพูดคุยเจรจากับผู้ว่าการฯ กรณีคนงานฮาร่าก็เป็นกรรมการอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน อารมณ์ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดสื่อสารทั้งการพูดและการเขียนร้อยแก้วร้อยกรอง
ส่วนเรื่องความคิดอ่านทางการเมือง อารมณ์เป็นคนที่ไม่ไว้ใจเผด็จการทุกประเภท ตนเคยแลกเปลี่ยนทัศนะกันเรื่องลัทธิการเมือง อารมณ์บอกว่า สหภาพแรงงานมีแต่ในประเทศทุนนิยม ประเทศคอมมิวนิสต์ไม่มี ซึ่งอารมณ์มองเรื่องความมั่นคงในชีวิต ความสุขสงบของสังคมมากว่าสังคมอุดมคติ และตนเองก็ได้ยินคำว่า ประกันสังคม จากอารมณ์เป็นคนแรก
ยืนยันว่าสิ่งที่อารมณ์ทำมาเป็นสิ่งที่มีคุณูปการต่อขบวนการแรงงานมาก
คลิป ประมวลภาพ ครบรอบ 30 ปี มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน