เสวนาโต๊ะกลม “เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตำรวจ” 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย การปฏิรูปตำรวจ (รอบที่ 1) โดย  ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งไดมีการแถลงในงานเสวนาโต๊ะกลม “เสียงผู้หญิงต่อการปฏิรูปตำรวจ” วันเสาร์ที่ 9 กันยายน 2560 ณ ห้องประชุม 14 ตุลา อาคารสำนักงานมูลนิธิ 14 ตุลา ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ

เป้าหมาย

เพื่อให้สถาบันตำรวจไทยได้รับความน่าเชื่อถือ ความเชื่อมั่นจากสังคม มีศักยภาพและประสิทธิภาพในการทำงาน มีความเที่ยงตรง เป็นกลาง มีความรับผิดชอบ โปร่งใส เคารพสิทธิมนุษยชนและตระหนักในมิติเพศสภาพ (Gender sensitive) คุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิด เช่น ผู้หญิง  เด็ก แรงงาน  กลุ่มชายขอบ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มหลากหลายทางเพศ แรงงานข้ามชาติ และนักต่อสู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน   เป็นต้น

สถานการณ์ของปัญหา 
ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย(WeMove) สรุปประเด็นที่เป็นสาเหตุของปัญหาในการทำงานของตำรวจสำคัญๆ ดังนี้

1. โครงสร้างองค์กรสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.)มีการบังคับบัญชาแบบรวมศูนย์ มีการบริหารแบบทหาร มีการบังคับบัญชาด้วยชั้นยศ ไม่เหมาะกับการบริการประชาชนในสายงานกระบวนการยุติธรรมทางอาญา  ซึ่งควรเป็นพลเรือน

2. สตช.ขาดความเป็นอิสระในการทำงาน  ที่ผ่านมาการแต่งตั้งผู้บังคับบัญชาระดับสูงที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของผู้มีอำนาจ เช่น ฝ่ายการเมือง ส่งผลกระทบทำให้งานสอบสวนขาดความเป็นอิสระ เป็นเหตุให้ในบางกรณีการรวบรวมหลักฐาน การทำสำนวนคดี รวมทั้งการสั่งฟ้องคดีไม่เที่ยงตรง ไม่โปร่งใส เกิดปรากฏการณ์ปล่อยคนผิดลอยนวลและนำคนบริสุทธิ์มารับโทษจำนวนไม่น้อย

3. นโยบายทางคดีอาญามีการเลือกปฏิบัติและล่าช้า  เช่น การลดจำนวนคดี หรือเลือกรับคดีเฉพาะที่ให้คุณให้โทษ มีหลายคดีทางเพศที่ไม่รับฟ้อง หรือมีความล่าช้าในการดำเนินการทางกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้รับความยุติธรรม   เช่น  กรณีอุ้มหายนักสิทธิมนุษยชน

4. การขาดประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมืออาชีพ ย่อหย่อนต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมทั้งขาดความละเอียดอ่อนในมิติหญิง-ชาย ทำให้ผู้เสียหายที่เป็นหญิงหรือกลุ่มหลากหลายทางเพศในคดีทางเพศจำนวนมากไม่กล้าเข้ามาขอรับความช่วยเหลือในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และบางกรณีผู้เสียหายไม่ให้ความร่วมมือ   หรือขาดความเชี่ยวชาญงานด้านสังคมอื่นๆ เช่น งานไกล่เกลี่ยความรุนแรงในครอบครัว เป็นต้น

5. ปริมาณงานและมีภารกิจบริการมากเกินไปในขณะที่บุคลากรและทรัพยากรมีไม่เพียงพอ มีทั้งงานที่เป็นการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา รวมถึงงานทะเบียน ฯลฯ

6. เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น ไม่แจ้งสิทธิ กระทำการจับกุมด้วยความรุนแรง ทั้งยังขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น กรณีแรงงาน การเคลื่อนไหวของชุมชนเรื่องสิ่งแวดล้อม  บางกรณีตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่รอบคอบก่อนตั้งข้อหาหรือออกหมายเรียกหมายจับทำให้เป็นภาระต่อประชาชน  หรือบางกรณีดำเนินการล่าช้า โดยเฉพาะเมื่อคู่กรณีอีกฝ่ายของประชาชนเป็นผู้มีอิทธิพล

7. ขาดกลไกตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างหน่วยงานภายในองค์กรกันเองและจากสาธารณะ จากผู้รับบริการ และจากกลไกภายนอกที่มีประสิทธิภาพ มักพบว่า มีการปกป้องกันเองเมื่อมีการกระทำผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น การวิสามัญฆาตกรรมหรือฆ่านอกระบบ ดังเช่น กรณีมีการฆาตกรรมมากกว่าสองพันกรณีในช่วงสงครามยาเสพติด

ข้อเสนอเชิงหลักการ

โครงสร้างองค์กรและการแบ่งภารกิจภายในองค์กร

 โอนย้ายภารกิจงานที่มีลักษณะเฉพาะที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง เช่น งานกลุ่มท่องเที่ยว คมนาคม ป่าไม้ ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ตรวจคนเข้าเมือง รถไฟ และอื่นๆ ออกไปให้หน่วยงานที่เหมาะสมพร้อมมอบอำนาจในการสืบสวนสอบสวนด้วย

 แยกงานสอบสวนซึ่งเป็นงานที่เป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรมทางอาญาออกเป็นอิสระ โดยให้ออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดำเนินงานภายใต้กรรมการกำกับระดับชาติ ไม่ต้องมีชั้นยศ สร้างความเชี่ยวชาญและใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ร่วมมือกับอัยการในการสั่งฟ้องคดี และต้องมีกฎหมายที่จัดทำขึ้นมาใหม่สำหรับงานสอบสวน พร้อมเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงให้มากขึ้น ***ภายใต้องค์กรใหม่นี้ให้มีหน่วยงานสืบสวนสอบสวนเฉพาะคดีทางเพศ ที่มีความเชี่ยวชาญ และสามารถปฏิบัติภารกิจครอบคลุมทุกเขตอำนาจศาล

 แยกงานนิติวิทยาศาสตร์ออกเป็นอิสระ

 กระจายอำนาจของตำรวจ (ที่เหลือหลังจากย้ายโอนและแยกงานสอบสวนและนิติวิทยาศาสตร์แล้ว) ออกไปสู่ระดับจังหวัด ให้มีกระจายการบริหารงานและโยกย้ายในระดับจังหวัด

เพิ่มประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลในการปฏิบัติงาน

 คณะกรรมการนโยบายระดับชาติ ทั้ง กตช. และกตร. ต้องมีองค์ประกอบจากหลายภาคส่วน อาทิ ฝ่ายวิชาการ ฝ่ายการเมือง ฝ่ายตำรวจ และภาคประชาสังคม มีสัดส่วนผู้หญิงที่เหมาะสม โดยคณะกรรมการนี้ต้องกำกับดูแลการสอบเข้า แต่งตั้ง เลื่อนขั้น โยกย้าย ให้มีความโปร่งใสตามระบบคุณธรรม

 ลดจำนวนชั้นยศลงและยกเลิกการแบ่งชั้นวรรณะระหว่างสัญญาบัตรและประทวน จัดให้มีสายการบังคับบัญชาแบบพลเรือน

 พัฒนาสถาบันเพื่อการผลิตและพัฒนาความรู้ความเชี่ยวชาญของตำรวจทั้งระบบ เปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรีสาขาต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้วเข้าอบรมวิชาชีพตำรวจ ปรับโรงเรียนนายร้อยตำรวจให้เป็นสถาบันฝึกฝนตำรวจที่จบปริญญาเหล่านี้ด้วย

 เพิ่มสัดส่วนผู้หญิงในทุกภารกิจงาน

 การปฏิบัติงานต้องเคารพหลักนิติรัฐและหลักสิทธิมนุษยชน ไม่ทำเกินหรือน้อยกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ ยึดแนวทางมาตรฐานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในการให้ความคุ้มครองเด็กและผู้หญิง จึงต้องมีการอบรมเรื่องสิทธิมนุษยชนและมิติหญิง-ชายในสถาบันอบรมของตำรวจทุกสถาบัน

 จัดให้มีฐานข้อมูลเชิงคดีที่ครอบคลุมระดับชาติและประชาชนเข้าถึงได้ รวมทั้งสถิติที่เข้าถึงยากแต่อยู่ในความสนใจของประชาชน เช่น สถิติการละเมิดทางเพศ ค้ามนุษย์ การละเมิดสิทธิมนุษยชน (เช่น อุ้มหาย ซ้อมทรมาน หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำผิด)

การตรวจสอบภายในและจากสาธารณะ

 พัฒนาตัวชี้วัดเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของหน่วยงานตำรวจ เช่น ความพึงพอใจในการให้บริการ ความปลอดภัย ความสามารถในการติดตามการกระทำความผิด โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาตัวชี้วัดและร่วมประเมินผลด้วย

 ปรับปรุงให้หน่วยงานจเรตำรวจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในส่วนงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับงานรับเรื่องราวร้องเรียนหรือร้องทุกข์มีความเป็นอิสระในการตรวจสอบมากขึ้น มีรูปแบบคณะกรรมการและมีองค์ประกอบของภาคส่วนอื่นๆ และองค์กรภาคประชาสังคมร่วมการตรวจสอบด้วย

 ปรับปรุงให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ (กต.ตร.) มีอำนาจมากขึ้นในการตรวจสอบสถานีตำรวจ ให้มีสัดส่วนกรรมการของภาคประชาชนทั้งหญิง-ชายมากกว่าฝ่ายตำรวจ และให้ผู้แทนภาคประชาชนเป็นประธาน มีการคัดสรรกรรมการด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่นั้นๆ มีการอบรมและงบประมาณสนับสนุนให้กต.ตร.สามารถทำงานตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น

ความเป็นมา “ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย”

(Thai Women’s Movement for Reform ชื่อย่อ WeMove)

เป็นการขับเคลื่อนของกลุ่มองค์กรผู้หญิงทั่วทุกภาคมากกว่า ๒๕ องค์กร รวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ และ ๒๕๕๐  จนถึงการรณรงค์และการทำประชาพิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เพื่อยืนยันหลักการความเสมอภาคและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะสิทธิสตรี   หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐ WeMove ยังคงเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องเพื่อมีส่วนร่วมในการปฏิรูปประเทศในทุกมิติ ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตยที่ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อย่างแท้จริง นอกจากการจัดอบรมวิทยากรแกนนำในระดับชุมชนแล้ว ยังได้จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายที่มีมิติหญิง-ชายต่อการจัดทำร่างกฎหมายและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ พรป. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พรป.พรรคการเมือง และคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พรป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิก สส. และ สว. เป็นต้น