“เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต”

เศรษฐกิจกับแรงงานปี 2560 “เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคตมุมมองนักวิชาการ จากTDRI ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังมีความผันผวนเนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ การพัฒนาอุตสาหกรรมยังขาดกำลังแรงงานฝีมือ พร้อมทั้งสังคมไทยยังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุด้วย ส่วนมุมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่า ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีใหม่ ที่จะเข้ามาอาจมีทั้งอาชีพใหม่เกิดขึ้น และคนที่ตกงานแต่ยืนยันไม่ได้ว่าจะกระทบเท่าไร เสนอรัฐต้องดูประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อรับมือคนตกงาน นักวิชาการอิสระเสนอว่า การปรับค่าจ้างกับนโยบายการพัฒนเศรษฐกิจของรัฐบาลยังมองเรื่องค่าจ้างเป็นอุปสรรค์ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยากให้สังคมมองข้อเท็จจริงว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่ปัญหาที่นักลงทุนไม่มาลงทุนแต่เป็นปัญหาทางการเมือง

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพฯ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) จัดสัมมนาวิชาการ เศรษฐกิจกับแรงงานปี 2560 เศรษฐกิจไทยกำลังจะดี แรงงานก็มีอนาคต โดยมีการจัดอภิปราย เรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจและแรงงานปี 2560รศ.ดร.ยงยุทธ์ แฉล้มวงษ์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)กล่าวว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2560 ยังมีความผันผวนเนื่องจากปัจจัยภายนอกเป็นส่วนใหญ่ เช่นการปรับเปลี่ยนประธานาธิบดีสหรัฐ เศรษฐกิจมีการชะลอตัวอันส่งผลให้ทั่วโลกหันมาใช้นโยบายปกป้องทางการค้า คาดว่า แนวโน้มการขยายตัวใกล้เคียงกับปี 2559 ด้านการส่งออกคาดว่า จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องจากน้ำมัน โดย IMF คาดการณ์ว่า นำมันในตลาดโลกเฉลี่ยปี 2560 ปรับขึ้นจากเดิมซึ่งส่งผลดีต่อสินค้าที่มีความต่อเนื่องอย่างเช่นน้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์และยางพารา การเปลี่ยนโครงสร้างของเศรษฐกิจ คือภาคบริการ เริ่มมีบทบาทที่สำคัญซึ่งพบใน 3 ปีที่ผ่านมาเพิ่มถึงร้อยละ 50 ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมและบริการที่เน้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีจะเริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเศรษฐกิจมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจึงจำเป็นต้องยกระดับแรงงานเพื่อสร้างความเปลี่ยนผ่านโดยเร็ว ซึ่งนโยบายรัฐบาลในการยกระดับขีดความสามารถอย่างThailand 4.0 เป็นยุคนวัตกรรมสร้างสรรค์ หรือSmart Thailand ที่ให้ความสำคัญกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (The New Growth Engine) ให้การสนับสนุนความหลากหลายเชิงชีวภาพ และวัฒนธรรมของประเทศให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน เติมเต็มด้วย Creative Thinking, Technology และR&D

สถานการณ์แรงงาน ยังมีข้อจำกัดด้านทักษะฝีมือ ด้านไอที เทคโนโลยี ซึ่งเพียงไม่ถึง 20 ปีโครงสร้างประชากรได้เปลี่ยนแปลงส่งสัญญาณเตือนว่า เริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอีก และการจ้างงานในระยะสั้นอาจมีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่จะมีแนวโน้มลดลงในอนาคต ซึ่งในช่วง 25 ปีที่ผ่านมาการจ้างงานในภาคเกษตรมีความผันผวนเป็นอย่างมาก มีการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างสาขาการผลิตเห็นได้ชัดเจน ตลาดแรงงานยังไม่สอดคล้อง การพัฒนาทางด้านการศึกษายังไม่สอดคล้องกับอุปสงค์ อุปทาน ที่ภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตกำลังแรงงานที่ตรงต่อความต้องการได้  ในอนาคตที่จะเป็นและแหล่งงานที่สำคัญ คือแรงงานทักษะความต้องการทางเทคโนโลยี  ต้องการแรงงานที่มีทักษะเรื่องไอทีมากขึ้น เน้นการเตรียมคนที่มีคุณภาพตั้งแต่ระบบการศึกษา โดยเน้นให้ความสำคัญกับการศึกษาแบบ STEMs เป็นการจัดการศึกษาแบบบูรณาการ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เป็นพิเศษ และขยายโอกาส ช่องทางการเข้าถึงการ re-skill แก่แรงงาน เพื่อให้แรงงานได้มีโอกาส Modify Skill อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีแรงงานบางส่วนที่ไม่สามารถพัฒนาได้ ก็ต้องส่งเสริมให้การพัฒนาระบบเกษตรพอเพียง โดยรัฐต้องดูแลเรื่องแหล่งน้ำที่มีปัญหาเพื่อเติมเต็มให้ระบบเกษตรกรรมเดินต่อได้

รศ.ดร.ยงยุทธ์ ยังเสนอว่า ปัจจุบันอัตราการเกิดมีน้อย และประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมคนสูงอายุ ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความยืดหยุ่นและได้รับประโยชน์ทดแทนที่ดีในระหว่างทำงาน และเมื่อเกษียณอายุมีเงินบำนาญชราภาพต่อเดือนไม่น้อยกว่าเส้นความยากจน รัฐต้องสนับสนุนแรงงานสามารถทำงานให้ได้อย่างน้อย 60 ปี เพื่อบรรเทาปัญหาแนวโน้มกำลังแรงงานลดลงและขาดแคลนแรงงาน ปฏิรูปกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่นควรเปลี่ยนจาก “ค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็น “ค่าจ้างเป็นธรรม” เพื่อให้สามารถนำเอาปัจจัยอื่นๆ เช่น family zize มาร่วมพิจารณาด้วย และควรบังคับให้สถานประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่มีโครงสร้างเงินเดือนภาคบังคับ ควรสร้างวินัยการออมเสียตั้งแต่เริ่มทำงาน โดยอาจจะบังคับให้ทุกสถานประกอบการต้องมีกองทุน Provident Funds เพื่อเก็บออมเอาไว้ใช้เป็นเงินบำนาญ และเร่งรัดพัฒนาแรงงานเชิงคุณภาพ หรือเชิงสมรรถนะที่สอดคล้องกับแนวโน้มใหม่ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจ 20 ปี แผนแรงงาน 20 ปี และแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 ด้านแรงงานนอกระบบ เป็นคนทำงานที่รอความหวังที่จะได้รับสวัสดิการที่เป็นธรรม คือรายได้ไม่แน่นอน ไม่เพียงพอ ไม่มีเงินออมที่เพียงพอและไม่ยั่งยืนต้องได้รับการดูแลจากภาครัฐ ยกเลิกข้อยกเว้นอันพึงได้จากประกันสังคมภาคบังคับและกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้เป็นสวัสดิการถ้วนหน้า และพวกที่อยู่ในวัยทำงานต้องหาวิธีประกันรายได้ให้อย่างน้อยไม่ตำกว่าเส้นความยากจน คือ 2,450 บาทต่อคนต่อเดือน ผู้สูงอายุที่มีรายได้จากทุกแหล่งน้อยไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี หรือ 2,500 บาทต่อเดือน ต้องได้รับการสนับสนุนเพิ่มรายได้ให้ถึง 2,500 บาททุกคน เพื่อไม่ให้ต่ำกว่าเส้นความยากจน และผู้สูงอายุ 0-15 ปี ต้องได้รับการดูแลจากรัฐ และครอบครัวให้เติบโตและได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทุกคน

ด้านรศ.ดร. กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เริ่มโดยการผลิตในอุตสาหกรรม 4.0  การปฏิวัติอุตสาหกรรมมีมา 4 ครั้งแล้ว ซึ่งยุคแรกก็เป็นอุตสาหกรรมทอผ้าที่นำเครื่องจักรมาแทนการทอผ้าด้วยมือ แล้วอุตสาหกรรมที่อังกฤษเกิดขึ้นเมื่อ 200 ปี ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ ก่อนหน้านี้ก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไร เมื่อมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้นทั้งเครื่องจักรระบบไอน้ำมาถึงน้ำมัน การขนส่งสิ่งของ สินค้า การเดินทางไปได้ไกลมากขึ้น และเมื่อมีการผลิต 2.0 ก็มีการผลิตแบบเครื่องจักรใช้ระบบไฟฟ้า และยุค 3.0 ผ่านมาไม่นานในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นและเข้าสู่ยุค 4.0 ที่จะเป็นระบบไอที มีการใช้หุ่นยนต์ที่ฉลาดมากขึ้น ตอนนี้มีการพัฒนาการรับอารมณ์ งานศิลปะ อุตสาหกรรม 4.0 นำเทคโนโลยีที่เป็นระบบไอทีที่เข้ามาเพื่อทดแทนแรงงานมนุษย์ แต่ในความจริงคือเครื่องจักรเข้ามาก็เกิดการสร้างงานใหม่ๆขึ้นมา ซึ่งมนุษย์ก็ต้องพัฒนาตัวเอง สร้างงานใหม่ๆขึ้นมา งานที่หุ่นยนต์จะสามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ประกอบด้วย งานออฟฟิศซึ่งที่เป็นงานซ้ำซากจำเจ พนักงานขายทางโทรศัพท์ การจัดคลังสินค้า พนักงานขายตามห้างร้านก็ใช้หุ่นยนต์ได้ งานการเงินระบบธนาคาร งานทนายความ เป็นการทำหน้าที่ในการรู้กฎหมาย วิเคราะห์โรคพื้นฐานแทนแพทย์ อุตสาหกรรม 4.0 มีหุ่นยนต์อัตโนมัติ เช่นข้อความที่โพสต์ใน facebook  ข้อมูลทุกอย่างที่โพสต์ใช้เป็นข้อมูลหมด มีการนำมาทำนายผล และจำประเด็นได้เลย นักวิทยาสาสตร์ข้อมูล คนที่จะเข้าใจข้อมูล ประมวลข้อมูลเห็นออกมาใช้ ในออนไลน์มีการทิ้งรอยเท้าไว้หมดทุกอย่างถูกเก็บเป็นข้อมูลไว้หมดส่งผลกับชีวิตของมนุษย์มาก ในอนาคตสิ่งของจะมีการผลิตแบบ 3 มิติ มีการสร้างก่อสร้างและใช้ปริ้นเตอร์ปริ้นออกมา การผลิตโดยระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่จะมีความฉลาดมากขึ้น มีการบูรณาการเข้าด้วยกัน ธุรกิจออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทางการเงินออนไลน์ และหุ่นยนต์กับมนุษย์แรงงาน หุ่นยนต์ไม่มีเรียกร้องไม่ต้องจัดสวัสดิการไม่มีการรวมตัวเป็นสหภาพแรงงาน และให้ทำงานได้ตลอดเวลาไม่ต้องพักไม่ต้องนอน

รศ.ดร.กิริยากล่าวอีกว่า โลกใหม่ภายใต้อุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งเขย่าวงการการใช้แรงงานแม้แต่ธนาคาร เป็นการปฏิวัติสังคม ด้วยการสร้างระบบ มีคนพัฒนาระบบบล็อกเซนขึ้นมา ซึ่งการซื้อขายจะผ่านระบบนี้ไม่ต้องมีธนาคาร และเงินจะถูกจ่ายเมื่อของถึงมือผู้ซื้อ จะมีการตัดคนกลางอย่างธนาคารออกไป เป็นระบบที่ไว้วางใจได้ มีการซื้อขาย ฝากเงินกัน มีระบบที่โกงไม่ได้ Blockchain นี้ไม่มีใครรู้ว่าใครเป็นผู้สร้าง มีบ้านที่เวลาเราไม่อยู่ก็ให้คนมาเช่าได้ รถอูเบิล(Uber)เป็นรถบ้านที่เรียกมารับได้เป็นอาชีพใหม่ของคนมีรถและต้องการหารายได้ คนเรียกก็แค่กดแอพพิเคชั่น ไม่ต้องออกไปยืนเรียกแท็กซี่ และในอนาคตรถไม่ต้องมีคนขับแล้วใช้ระบบไอทีคำสั่ง  ยุคสมัยจะเป็นการบริการที่ไม่มีนายจ้าง ลูกจ้าง เป็นคนทำงานอยู่บ้านเป็นยุคงานบริการ มีคนหางานมาให้ทำงานอยู่บ้าน แต่มีการเจรจากันตกลงกันเรื่องค่าจ้าง ซึ่งคนรับจ้างอาจไม่ทราบว่าใครเป็นคนจ้างแต่จะผ่านระบบ Blockchain เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานแน่ๆ และรูปแบบการจ้างงานก็จะเปลี่ยนแปลงไป มีการทำงานอิสระมากขึ้น แต่ว่า ประเทศอื่นๆที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแล้วรัฐบาลจะมีการจัดสวัสดิการให้กับแรงงานที่ต้องตกงาน ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีมาตรการตรงนี้ ซึ่งหากเข้าสู่ยุค 4.0 ประเทศไทยอาจต้องดูตัวอย่างการพัฒนาอุตสาหกรรมจากประเทศต้นแบบอย่างอังกฤษก็ได้ว่า ปัจจุบันสภาพสังคมหลังเข้ายุคพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 เป็นอย่างไร

นายศิโรฒน์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ มองสถานการณ์แรงงานไทยในยุคปัจจุบันว่า สิ่งที่น่าสนใจ 2-3 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ของผู้ใช้แรงงานและประชาชนชั้นล่างอยู่ในสถานการณ์ที่แย่ที่สุดเท่าที่ผ่านมาในรอบหลายปีพอมองสถานการณ์แรงงานแล้วพบว่า หลายเรื่องเป็นโจทย์ที่ไม่ได้เปลี่ยนไปในแง่ภาพใหญ่ๆภาพเดิมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการของผู้ใช้แรงงาน เรื่องค่าจ้างที่เป็นธรรม และอำนาจต่อรองเพื่อการพัฒนาสวัสดิการในการทำงาน ที่ผ่านมาผู้ใช้แรงงานอยู่ในสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นผู้นำประเทศ นักวิชาการ นายทุนเลือกที่จะให้ผู้ใช้แรงงานต้องเผชิญกับกลไกตลาดโดยลำพัง สังคมไทย และผู้นำประเทศ นายทุนคุยกันอย่างไรซึ่งโจทย์ก็คือว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ สะเทือนต่อเศรษฐกิจ และการส่งออกของประเทศ สะเทือนถึงความสามารถในการลงทุน และความสามารถในการแข่งขัน พอขึ้นค่าจ้างแล้วก็มีโจทย์ให้แรงงานต้องแก้ต่อคือ ปรับค่าจ้างแล้วแรงงานต้องขยันทำงานมากขึ้น พัฒนาประสิทธิภาพตนเองให้มากขึ้นซึ่งโจทย์นี้รุนแรงมากขึ้นหลังปี 2557 เป็นต้นมา ซึ่งตนอยากให้เห็นภาพเพื่อทำความเข้าใจ เรื่องแรกคือการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทำให้คนไม่ต้องการมาลงทุนนั้นจริงหรือไม่ ตนคิดว่าไม่จริง ซึ่งขณะนี้มีการประชุมผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลกเวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่​ม เป็นการประชุมที่จะมีผู้นำภาครัฐ ผู้นำภาคเอกชน และผู้นำภาคประชาสังคมซึ่งมีการประชุมกันทุกปีที่จะนำเรื่องสำคัญต่างๆมาประชุมกัน ซึ่งมีการสำรวจความคิดเห็นผู้นำโลก ผู้นำเศรษฐกิจต่างๆหนึ่งในคำถามในการสำรวจคืออยากลงทุน หรือไม่อยากทำธุรกิจในประเทศต่างๆเพราะอะไร ผลการสำรวจล่าสุด คำตอบผู้นำโลก ผู้นำเศรษฐกิจที่ไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยคือ ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลจากสถานการรัฐประหาร หากดูหัวข้อ 10 กว่าข้อที่ถามว่าทำไม่ไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทยไม่มีประเด็นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ อันดับหนึ่งที่คนไม่อยากมาลงทุนคือการรัฐประหาร อันดับสองคือคอรัปชั่น อันดับสามระบบราชการไร้ประสิทธิภาพ อันดับสี่นโยบายรัฐเปลี่ยนไปมา อันดับห้าระบบโครงสร้างพื้นฐานไม่ดี อันดับที่หกความสามารถในการปรับตัวต่ำ อันดับเจ็ดระบบราชการต่างๆมีความซับซ้อน อันดับแปดเป็นเรื่องของความไม่มีจริยธรรมของแรงงาน อันดับเก้าการเข้าถึงแหล่งทุน และอันดับสิบเรื่องภาษีค่าใช้จ่ายและการเข้ามาแล้วภาครัฐมีความเข้มงวด  อัตราแลกเปลี่ยนเงินเฟ้อ อาชญากรรม โจรกรรม สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่โจทย์ที่คุยกันว่าทำให้คนไม่อยากมาลงทุนในประเทศไทย มีแต่เพียงสังคม และภาครัฐที่พูดว่าคนไม่มาลงทุนเพราะค่าแรง เป็นเพราะผู้ใช้แรงงานผิด

“ข้อมูลปี 2557-2558 เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นโจทย์สำคัญหรือไม่ในเซาท์อีสเอเชีย คำตอบต่อการที่ไม่มาลงทุนในแถบนี้คือไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนามและอินโดนีเซีย ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ใช่โจทย์ใหญ่ เพราะค่าจ้างในแถบนี้ถูกมาก โจทย์ใหญ่ในภูมิภาคนี้คือรัฐบาล คือเรื่อง โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่ดี เรื่องนโยบายที่เปลี่ยนแปลงไปมา เรื่องมาตรการภาครัฐมีความซับซ้อน คำตอบคล้ายกันตามลำดับ ประเทศไทยมีรัฐประหาร วนอยู่กับเรื่องสีและเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน วนอยู่ในเรื่องการไม่ปรับตัว วนอยู่กับความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ข้อมูลเวอร์แบงค์ หรือธนาคารโลก ได้สำรวจเรื่องการจัดอันดับ การอยากทำธุรกิจหรือไม่อยากทำธุรกิจเป็นตัวเลขของปี2557-2558 สำรวจในแถบเซาท์อีสเอเชียเหมือนกัน ก็คงยังเป็นเรื่องภาษี เขตการค้าระบบสัญญาต่างๆเรื่องความไม่ชัดเจนทรัพย์สินทางปัญญา ค่าแรงก็ไม่ใช่โจทย์สำคัญ ซึ่งเมื่อมาดูสรุปการจัดอันดับการแข่งขันในประเทศไทยแม้แต่การจัดเรื่องประสิทธิภาพในการแข่งขันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่ใช่เรื่องที่ถือว่ามีนัยสำคัญ” นายศิโรฒน์ กล่าว

นายศิโรฒน์ ยังกล่าวอีกว่า ในช่วง 2-3 ปีไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นเวลานาน ช่วงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเรื่องความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรเป็นการสำรวจเมื่อ ปี 2559 เรื่องเศรษฐกิจครัวเรือนไทยที่มีการสอบถามประชาชนเพื่อมองว่าเศรษฐกิจในครอบครัวเป็นอย่างไรประมาณปลายปี2558 ปรากฏว่า มีความเชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในภายหลังปี 2560 คนเชื่อว่าอีก 2 ปีเศรษฐกิจจะดีขึ้นช่วงที่สำรวจเวลานั้นยังไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะทำให้เศรษฐกิจตกต่ำตลอดเวลา ที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี เรื่องการส่งออกตกต่ำมากที่สุด การส่งออกอุตสาหกรรมลดลงการส่งออก เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการลดลง ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ขึ้นเศรษฐกิจก็ยังตกต่ำ ฉะนั้นไม่ควรมองว่าเศรษฐกิจตกต่ำเพราะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมที่คนชอบพูดว่าคนไม่เชื่อมั่นเพราะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ มาดูเรื่องความเชื่อมั่นของSME ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อม หากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำแล้วกลุ่มSMEจะเดือดร้อน ซึ่งก็มีภาพว่า ช่วงที่ไม่มีการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำภาคการลงทุนของSMEก็ลดลง และการถกถียงเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำปรับขึ้นหรือไม่ปรับขึ้น หากปรับแล้วมีปัญหาโดยถูกโยนปัญหานั้นมาที่ผู้ใช้แรงงาน ทั้งเรื่องทำให้คนไม่มาลงทุน ความไม่เชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความไม่เชื่อมั่นในภาคอุตสาหกรรมความไม่เชื่อมั่นของSME ทุกอย่างถูกโยนมาที่ผู้ใช้  ตัวเลขนี้ผู้ใช้แรงงานคงรับรู้อยู่แล้วว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพออย่างไร ที่มีคนนำมาเสนอจำนวนมากคือตัวเลขของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเสนอปรับ 360 บาทกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง 420 บาท ซึ่งเป็นตัวเลขของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งคนอาจบอกว่าเพราะผู้ใช้แรงงานต้องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจึงไม่น่าเชื่อถือ แต่มีตัวเลขของกระทรวงแรงงานโดยสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ช่วงปี 2558 หรือ2559  ได้มีการสำรวจ บอกว่าค่าใช้จ่ายที่คนงานจำเป็นต่อวันภายใต้ค่าจ้างที่ทำงานรวมรายได้อื่นๆอยู่ที่ 361 บาท ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นประจำวันอยู่ที่ 370 บาท แต่ค่าแรงปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 300 บาท แปลว่าเพื่อที่จะมีชีวิตอยู่รอดได้คนที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายประมาณวันละ 61 บาทต่อวัน นี่คือตัวเลขทางการ ตอนนี้เราอยู่ในประเทศซึ่งรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐรู้ว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่เพียงพอในการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของแรงงานที่จำเป็นต้องใช้ซึ่งประเทศนี้มีหน่วยงานรัฐที่รู้ว่าผู้ใช้แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีรายได้ต่อคนละ 361 หรือ370 บาท ในขณะที่ภาครัฐก็มาบอกว่าค่าแรงของผู้ใช้แรงงานเอาไปแค่ 305 บาทก็พอแปลว่าอะไร เป็นความจงใจที่รัฐใช้นโยบายให้แรงงานได้รายได้ที่ไม่พอกิน ซึ่งผู้ใช้แรงงานอยู่กันอย่างประหยัดมาก มีค่าอาหารร้อยละ 25 ที่อยู่อาศัยร้อยละ 16 ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและยานพาหนะรวมๆกันกัน 3 กองนี้ก็ร้อยละ 40 กว่าแล้ว แต่ที่ได้ยินคือค่าจ้างไม่พอเพราะแรงงานใช้เงินฟุ่มเฟือยหรือไม่ มุมมองที่สังคมมองผู้ใช้แรงงานเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำไม่ตรงกับความเป็นจริงแม้แต่เรื่องเดียว มาดูตัวเลขของภาคเกษตร ปี 2558และคงเป็นตัวเลขที่คงอยู่ในปี 2559 ก็มีตัวเลขรายได้ของเกษตรกรเพิ่มต่ำสุดในรอบ 7 ปี เรากำลังเผชิญภาวะที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคต่างๆปล่อยในคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้เผชิญกับกลไกตลาดแล้วอยู่ในภาวะแบบนี้ไม่ว่าจะเป็นภาคแรงงานหรือเกษตรกรก็ตาม

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน