เวทีสาธารณะเชื่อถ้ารัฐบาลจริงใจ ประกันสังคมฉบับแรงงานเข้าสภาได้แน่

เวทีสาธารณะไทยพีบีเอส "ผลักดัน พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อ 14,264 รายชื่อของแรงงาน" หน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2555 ทุกฝ่ายเห็นตรงกันประกันสังคมมีปัญหามากต้องปฏิรูป  แก้โครงสร้างอาจใช้เวลานานแต่ยั่งยืน เชื่อหากรัฐบาลจริงใจและการเมืองทุกฝ่ายร่วมมือกฎหมายเข้าชื่อของประชาชนฉบับนี้เข้าสภาทันสมัยประชุมนี้แน่    ฝ่ายแรงงานแจงข้อดีการบริหารงานอิสระ ขยายคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม เพิ่มสิทธิประโยชน์ และผู้ประกันตนมีส่วนร่วมเลือกตั้งบอร์ดโดยตรงสอดคล้องเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 

(รายการออกอากาศในวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2555 เวลา 14.00น.โปรดให้ติดตาม)
 
นางสาวณาตยา แวววีรคุปต์  ผู้ดำเนินรายการ เวทีสาธารณะ ไทยพีบีเอส กล่าวว่า เวทีวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของเสียงที่จะส่งเข้าไปสู่รัฐสภาด้วยเหตุด้วยผลเพื่อให้นักการเมืองได้รับรู้ความต้องการของภาคประชาชน  และให้การสนับสนุนพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อเสนอกฎหมายของแรงงานให้ทันสมัยประชุมสภานิติบัญญัตินี้ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 18 เมษายน  โดยผู้เข้าร่วมก็มีทั้งฝ่ายแรงงาน   ฝ่ายนายจ้าง  ฝ่ายการเมืองทั้งซีกรัฐบาลและฝ่ายค้าน  ฝ่ายราชการ  และนักวิชาการ
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประธานคณะทำงานผลักดัน และเคลื่อนไหวประกันสังคมฯ" ความต้องการของแรงงานก็คือ  อยากให้มีการปฏิรูปประกันสังคมให้ผู้ประกันตนเข้ามามีส่วนร่วมในบริหารการตรวจสอบ  มีการขยายความคุ้มครองสู่ลูกจ้างทุกกลุ่ม  และลดข้อจำกัดในการรักษาพยาบาล" ผู้ใช้แรงงานจึงมีการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายประกันสังคมตั้งแต่ พ.ศ.2553 และก่อนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภา ได้เซ็นรับรองร่างกฎหมายซึ่งผ่านการตรวจสอบรายชื่อแล้ว   เมื่อมีรัฐบาลใหม่ ฝ่ายแรงงานได้ไปยื่นหนังสือต่อพรรคเพื่อไทย  จนในที่สุดผ่าน ครม.ชุด น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  บรรจุเข้าเป็นวาระด่วนในสภาฯ  แต่ก็ถูกแช่แข็งเพื่อรอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม จึงได้มีการเดินสายเพื่อขอการสนับสนุนจากทั้งประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปฝ่ายรัฐบาล) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) ฝ่ายนายจ้าง  แต่ยังไม่ค่อยเห็นความหวัง เพราะฝ่ายการเมืองซีกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน  เสนอร่างพ.ร.บมาประกบ ทั้งที่รัฐนูญก็ไม่ได้กำหนดไว้ว่าร่างกฎหมายมาเสนอประกบ  แต่บอกให้ไปกดดันกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน "ยังมีเวลาอีก 20 กว่าวันที่ทุกฝ่ายจะช่วยกันดำเนินการนำร่างพ.ร.บ.เข้าพิจารณารับหลักการได้ก่อนสงกรานต์  ส่วนฝ่ายแรงงานก็จะต้องลงพื้นที่ เพื่อให้ความรู้วางแผนผลักดันร่วมกันขับเคลื่อนทางสังคมให้ฝ่ายการเมืองนำร่าง พ.ร.บ.เข้าพิจารณาในสภาฯต่อไป"

นางสุนี ไชยรส  รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า หลักของการพิจารณากฎหมายคือ  ถ้ามีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ร่างกฎหมายที่ค้างตกหมดถ้าไม่มีการรับรองจากรัฐบาลใหม่ ซึ่งรัฐบาลใหม่ได้ให้การรับรองร่างกฎหมาย 20 กว่าฉบับ  มี 7ฉบับที่เป็นร่างกฎหมายเข้าชื่อจากภาคประชาชนซึ่งรัฐบาลได้มีการรับรองเมื่อ 28 ก.ย. 2554 ส่วน พ.ร.บ.ประกันสังคมอยู่วาระด่วนลำดับที่ 22 ได้ถูกขยับมาลำดับที่ 9 แล้วปัจจุบันถูกขยับออกไปอยู่ลำดับที่ 15 ซึ่งถ้ารวมวาระที่เร่งด่วนกว่ามาแทรกในปัจจุบันก็อยู่ลำดับที่ประมาณ 20  ขณะนี้ทราบว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของกระทรวงแรงงานฯอยู่ที่เลขาคณะรัฐมนตรี (ครม.)  ซึ่งถ้านายกตัดสินใจสั่งการ ร่างนั้นก็ผ่านมติ ครม.ได้วันอังคารหน้าที่จะถึง  ส่งเข้ากฤษฎีกาพิจารณาโดยเร็วแล้วเข้าสภาฯได้เลย โดยจะเลื่อนขึ้นมาอันดับ 1ก็ยังได้หากรัฐบาลเห็นความสำคัญ แต่ตอนนี้ดูแล้วว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มาไกลกว่าร่างกฎหมายเข้าชื่ออื่นๆ  ถ้าทุกฝ่ายทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจริงใจก็ทำได้เลยไม่จำเป็นต้องรอร่างอื่นๆมาประกบก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ว่าการพิจารณากำหมายต้องมีการรอร่างอื่นๆมาประกบ

นายนคร มาฉิม  ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์  รองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคฝ่ายค้าน กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับประชาชน ถือเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการเงินที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ให้การรับรอง  และรัฐบาลยิ่งลักษณ์เสนอเข้าสภาฯ 28 พฤศจิกายน 2554 ซึ่งให้การเห็นชอบถูกบรรจุเข้าวาระ รัฐบาลต้องจริงใจเสนอร่างฯของกระทรวงแรงงานฯผ่าน ครม.โดยเร็ว  ในความจริงร่างพ.ร.บ.เป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้ว แก้เพียงบางจุดให้ครบถ้วนเท่านั้นหากจะเร่งจริงๆ กฤษฎีกาก็พิจารณาได้ทันที  ฝ่ายแรงงานก็ต้องมีการขับเคลื่อนสนับสนุนด้วย  ส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าชื่อ 20 ส.ส.เสนอร่าง พ.ร.บ.ฯประกบ  วิปทั้ง 2 ฝ่ายหารือกันก็จบ  และอยากให้มีคณะกรรมาธิการจากภาคประชาชน ซึ่งจะทำให้พิจารณาร่างกฎหมายต่อเนื่องได้แม้สภาปิดสมัยประชุม ซึ่งทางพรรคประชาธิปัตย์เห็นความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยผลักดันให้ถึงที่สุด
นายทองดี มนิสสาร ส.ส.พรรคเพื่อไทย  กรรมาธิการการแรงงาน นำเสนอว่า กฎหมายทุกฉบับผ่านสภาฯต้องมีขั้นตอนผ่านกฤษฎีกา  ประกันสังคมถือเป็นกฎหมายหลักที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้สังคมสงบสุขร่มเย็น เกิดสวัสดิการ  ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกัน  วิปทั้ง 2 ฝ่ายต้องคุยกันเพื่อหาทางเลื่อนกฎหมายขึ้นมาพิจารณาเร็วๆ และหาทางช่วยเสนอร่างกฎหมายประกบ
นายโกวิทย์ สัจจวิเศษ  ผอ.กองนิติการ
สำนักงานประกันสังคม กล่าวว่า "เนื่องจากรัฐบาลไม่ยืนยันร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….เดิมที่ค้างการพิจารณาในชั้นวุฒิสภาทำให้ร่างดังกล่าวตกไป ทางกระทรวงแรงงานจึงต้องมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯ เข้ามาให้มีการพิจารณาใหม่" ซึ่งเป็นร่างอันเก่าที่ตกไปมาแก้เพียงเล็กน้อย ซึ่งกระทรวงแรงงานฯได้มีการประชุม 2 นัดก็ผ่านร่างฯ เสนอเข้า ครม.เมื่อ 16 มีนาคม 2555  เป็นร่างฯที่ใกล้เคียงกับของแรงงาน  เหตุที่ต้องมีการเสนอกฎหมายประกบเพราะสำนักงานประกันสังคม(สปส.) เองก็ต้องการปรับปรุงกฎหมายเก่า  ซึ่งถ้าทุกฝ่ายเร่งเต็มที่เพื่อให้ทันสมัยประชุมนี้ก็คงทัน

นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า "ประกันสังคมใช้มากว่า 20 ปี มีความสำคัญที่ต้องขยายไปให้ครอบคลุมแรงงานส่วนอื่นๆทั้งหมด  และต้องให้แรงงานส่วนอื่นๆสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหาร จัดการได้ โดยระบบเลือกตั้ง 1 คน 1 เสียง จากผู้ประกันตนโดยตรง การรักษาพยาบาลก็ต้องทำให้เท่าเทียมกันทั้งในส่วนของมาตรา 33, 39 และ 40  การบริหารจัดการก็ต้องเป็นอิสระและโปร่งใส ตรวจสอบได้"

นายมนัส โกศล  ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า "พ.ร.บ.ฉบับนี้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลก็เห็นตรงกัน  และมีหลายกฎหมายที่สภาฯพิจารณาโดยไม่ต้องรอร่างประกบ  แต่ที่เป็นปัญหาเพราะเงินกองทุนที่มากถึง 9 แสนล้านบาทในปัจจุบันอาจทำให้หลายฝ่ายรู้สึกอยากเป็นเจ้าของ  ฝ่ายลูกจ้างก็รู้สึกไม่มีตัวแทน  ข้อเสนอของแรงงานด้านสิทธิประโยชน์ก็ต้องการให้ขยายทั้งในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33, 39, 40  ส่วนรูปแบบการบริหารของสำนักงานประกันสังคมก็ควรเป็นองค์กรอิสระแบบองค์กรมหาชน  มีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง"

นายสำเร็จ มูระคา  คนขับแท็กซี่ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ นำเสนอว่า ในปัจจุบันผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในกองทุนประกันสังคมน้อย  "กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกันตนมาตรา 40 เช่นคนขับแท็กซี่สามารถมีตัวแทนในบอร์ดประกันสังคมได้จากการเลือกตั้งตรง   ที่ผ่านมาบอร์ดประกันสังคมให้ความสนใจผู้ประกันตนมาตรา 40 น้อยเกินไปจึงยังไม่ได้สิทธิที่ครอบคลุม  ไม่ดึงดูดแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคนทำให้มีคนเข้าระบบประกันสังคมเพียง 7 แสนคน   พ.ร.บ.นี้จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งในส่วนมาตรา 33, 39 และ 40" 

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า "รัฐบาลและรัฐสภาควรเคารพ
 เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งต้องการให้ประชาชนได้ใช้ประชาธิปไตยทางตรง   ถ้ามีการเลือกตั้งตรงการบริหารงานประกันสังคมจะสะท้อนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สามารถเข้าไปกำหนดความต้องการได้"

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ  เครือข่ายปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ นำเสนอว่า "ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติมี 1.9 ล้านคนที่มีพลาสปอร์ต  ทำงานในโรงงานและเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 จำนวน 8 หมื่นคน  พ.ร.บ.นี้จะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสัดส่วนตัวแทนในบอร์ดประกันสังคม" แรงงานข้ามชาตินั้นต้องจ่ายเงินสมทบจึงควรได้สิทธิประโยชน์เท่ากัน  แต่ปัญหาคือคนงานอยู่ได้ 4 ปี ต่ออายุได้ 2 ครั้งแล้วต้องกลับออกไปอยู่บ้านต่างประเทศ 3 ปี  จะทำให้ได้สิทธิชราภาพและประกันการว่างงานได้อย่างไร

นางบุญแต่ง  กาฬภักดี  ลูกจ้างผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโรงงาน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ถูกเลิกจ้างเพราะบริษัทถูกน้ำท่วม  ได้ไปใช้สิทธิประกันการว่างงาน  แต่สำนักงานประกันสังคม จ.อยุธยา แจ้งว่านายจ้างไม่ส่งเงินสมทบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ทำให้เสียสิทธิ์  ซึ่งเจ้าหน้าที่รับเรื่องไว้ดำเนินการแต่ก็ล่าช้ามากยังไม่ได้สิทธิ์  จึงอยากให้มีกฎหมายควบคุมบริษัทอย่างจริงจัง
 
นายเสน่ห์ ชุ่มหฤทัย  ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง กล่าวว่า ในช่วงน้ำท่วม  ลูกจ้างไปใช้สิทธิโรงพยาบาลอื่นที่ไม่ได้เลือกไว้ไม่ได้ ทำให้ต้องใช้เงินตัวเองเป็นค่ารักษาพยาบาล  ในกรณีที่ไปหางานทำโรงงานอื่นชั่วคราวระหว่างน้ำท่วม และถ้ามีการทำประกันสังคมซ้ำซ้อน  จะถูกโรงงานเก่าเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย

นายสมเกียรติ ศรลัมพ์  ส.ส.พรรคเพื่อไทย  ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล กล่าวว่า รัฐบาลยืนยันรับร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับเข้าชื่อของแรงงาน แสดงให้เห็นถึงความจริงใจ  ขณะนี้ก็ให้ข้าราชการประจำรีบพิจารณาเสนอขึ้นมา  เห็นว่าปัญหาที่พูดกัน 70% แก้ได้โดยระดับกรรมมาธิการ ส่วนการรื้อโครงสร้างต้องใช้เวลานานซึ่งก็ต้องทำคู่กันไป   ที่ผ่านมาประชาชนต้องต่อสู้จึงจะได้สิทธิ แต่เรื่องนี้ก็จะต้องช่วยตามขั้นตอนดูว่าติดขัดที่ใดก็จะช่วยผลักดัน   ถ้า ส.ส. หรือ ฝ่ายค้านช่วยกันเสนอกฎหมายประกบก็จะเร็วขึ้นโดยประชาชนอาจไม่ต้องลำบากชุมนุม

นายปรีดา เตียสุวรรณ์  นักธุรกิจอัญมณี  คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ กล่าวว่า "ในฐานะนายจ้างที่ต้องจ่ายเงินสมทบ ถือเป็นหน้าที่ที่ต้องช่วยเรื่องสวัสดิการสังคม และเป็นต้นทุนด้วย  ส่วนนายจ้างกังวลเรื่องความไม่โปร่งใส และแรงงานขาดความมั่นคงจะทำให้ขาดกำลังใจ  เห็นด้วยที่จะต้องรีบผลักดันให้ออกกฎหมายโดยเร็ว" ในฐานะคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ  ได้มีส่วนผลักดันให้เป็นวาระเร่งด่วนตลอดมา

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อรายงาน