สปส. รวบรวมข้อมูลกรณี ชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติที่บาดเจ็บจากการทำงาน เตรียมเรียกค่าทดเเทนจากนายจ้าง นักสิทธิเเย้งกองทุนเงินทดเเทนจ่ายให้เเรงงานก่อนได้
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ นางสมบุญ สีคำดอกเเค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เเละมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนา (มสพ.) ได้เข้าพบเพื่อยื่นหนังสือต่อนายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เรื่อง ขอให้ดำเนินการสอบสวนเเละเยียวยาความเสียหายเเก่นายชาลี ดีอยู่ เเรงงานข้ามชาติที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน ตามพระราชบัญญัติเงินทดเเทน พ.ศ. 2537 นั้น นายปั้น วรรณพินิจได้รับหนังสือร้องเรียนด้วยตนเอง เเละชี้เเจ้งว่า ได้ตรวจสอบเเล้วว่านายชาลี ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน สปส. จะวินิจฉัยตามมาตรา 50 พรบ. เงินทดเเทน เพื่อเรียกเก็บเงินทดแทนนายจ้างขั้นสูงสุด เเละได้สั่งสำนักงานประกันสังคมจังหวัดปทุมธานี ส่งเจ้าหน้าที่ไปที่โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อหาข้อมูล เเละได้ให้เข้าไปสอบสภาพอาการของนายชาลี เรื่องการติดตามนายจ้างนั้นจะดำเนินการต่อไป อย่างน้อยนายจ้างบนสุดจะได้ระวังในการจ้างเหมาช่วงจากนายจ้างถัดมาจ้างเเรงงานข้ามชาติโดยไม่รับผิดชอบ
นายปั้น กล่าวว่า เเรงงานไทยเเละเเรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเท่าเทียมกัน การวินิจฉัยเรื่องเงินทดเเทนใช้มาตรฐานเดียวกัน เเต่จำนวนเงินทดเเทนที่ได้รับที่ไม่เท่ากันในทางปฏิบัติ เพราะเเรงงานข้ามชาติต้องมีคำสั่งจากสำนักงานประกันสังคมให้นายจ้างจ่ายเงินทดแทนให้ เมื่อถึงเวลานายจ้างไม่มีเงินจ่าย ก็หาทางไล่เเรงงานข้ามชาติกลับ เเจ้งตำรวจจับ เพื่อไม่ต้องจ่ายเงินทดเเทน บางรายจ่ายน้อยกว่าที่สำนักงานประกันสังคมมีคำสั่ง เนื่องจากไม่มีกองทุนใดรองรับแรงงานข้ามชาติ จึงเสนอให้เเก้ปัญหาด้วยการให้เเรงงานที่พิสูจน์สัญชาติได้เข้ากองทุนประกันสังคม ส่วนเเรงงานที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ เช่นคุณชาลี น่าจะให้มีกองทุนรองรับในระยะเปลี่ยนผ่าน ก่อนที่จะได้รับการพิสูจน์สัญชาติ เเละเข้าสู่ระบบประกันสังคมต่อไป
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นางสมบุญ สีคำดอกเเค เสนอว่า สวัสดิการเเรงงานข้ามชาติน่าจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีช่องว่างระหว่างไทยกับต่างชาติ นายจ้างเลี่ยงจ้างเเรงงานข้ามชาติ เพราะเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ดังนั้นควรได้สวัสดิการคุ้มครองเเบบเดียวกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ หรือเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่ม
นางสาวญาดา หัตถธรรมนูญ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนเเละการพัฒนากล่าวว่า "แม้ยังไม่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ นายชาลีมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง โดยเมื่อกองทุนจ่ายแล้ว ก็ไปไล่เบี้ยเอากับนายจ้างได้ แต่คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนได้กีดกันแรงงานเหล่านี้ออกไปจากความรับผิดชอบของกองทุน เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมต่อแรงงานข้ามชาตินับล้านคน ที่อยู่ระหว่างรอพิสูจน์สัญชาติ และเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎฆมาย"
////////////////////////////