เยือนไทยพีบีเอสจุดประกายนักสื่อสารแรงงาน

นักสื่อสารแรงงานศึกษาดูงาน ไทยพีบีเอส  ประทับใจระบบการทำงานแบบมืออาชีพ  ตระหนักว่าเป็นนักข่าวนักสื่อสารมีคุณค่าช่วยสังคมได้มาก  เกิดแรงงานบันดาลใจหวังทำให้แรงงานมีศูนย์กลางสื่อสารที่มั่นคง  มีเครือข่ายมีระบบการทำงานที่แบ่งหน้าที่ชัดเจนรับผิดชอบจริงจัง  และอาจต้องมีการจัดหาระดมทุนช่วยตัวเองเหมือน ไทยพีบีเอส  เพื่อไม่ให้งานสื่อสารแรงงานขาดหายไป

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2555  ภายหลังกิจกรรมเสวนาถอดบทเรียนโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน  ที่ห้องประชุม Briefing  อาคารอำนวยการ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส   มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้จัดกิจกรรมพานักสื่อสารแรงงานจำนวน 20 คน  พร้อมกับแกนนำแรงงาน  ตัวแทนแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน  และเจ้าหน้าที่ผู้บริหารโครงการฯ  เข้าศึกษาดูงานไทยพีบีเอส  โดยมีนายธนภูมิ ชาญประไพ  หัวหน้างานการมีส่วนร่วม  เป็นผู้นำคณะเดินชมส่วนปฏิบัตงานต่างๆ   โดยอธิบายว่าการทำงานจะแบ่ง 2 ส่วนเรียกง่ายๆ คือ ส่วนหน้าจอ และ หลังจอ

ส่วนหน้าจอ  ก็จะมีทั้งส่วนของข่าวและรายการ  ซึ่งก็จะเริ่มจากการหาข่าว หาข้อมูล หาภาพทั้งภาพถ่ายและภาพวิดีโอ  ส่วนของรายการก็จะมีการสร้างเนื้อหาเองโดยพัฒนาจากเครือข่ายภาคส่วนต่างๆในสังคม  จากนั้นก็เข้าสู่ส่วนสำนักข่าวซึ่งเป็นกองบรรณาธิการ(บก.)  มีงานเขียนสคริปต์  สรุปข่าวเสนอ บก.เพื่อคัดกรองคัดแยกข่าว  ส่วนภาพก็จะส่งไปห้องตัดต่อเพื่องานตัดต่อข่าวหรือรายการ และส่งไปห้องกราฟฟิกเพื่อจัดการภาพหรือออกแบบทำงานกราฟฟิกต่างๆสำหรับข่าวและรายการ หรืออาจขอใช้ภาพจากแฟ้มภาพ  ต่อไปก็ส่งสคริปต์ไปให้ผู้ประกาศหรือผู้ดำเนินรายการเตรียมตัว  ส่วนภาพข่าวหรือรายการที่ตัดต่อและทำกราฟฟิกเสร็จก็จะไปสู่ขั้นตอนการตรวจคุณภาพความคมชัดทั้งภาพและเสียง ประสานกับห้องควบคุมหลัก (MCR) ก่อนออกอากาศต่อไป
 
ส่วนหลังจอ  เป็นส่วนงานพัฒนาเนื้อหาที่ผ่านการมีส่วนร่วม  ประกอบไปด้วย  1.สถาบันวิชาการสื่อสาธารณะ  ทำงานด้านค้นคว้าวิจัยเพื่อใช้ข้อมูลสำหรับสนับสนุนการผลิตภายใน  รวมทั้งร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกในเรื่องการฝึกอบรม  2.สำนักพัฒนาทุนทางสังคม ทำงานร่วมมือกับภายนอกเพื่อพัฒนาต้นทุนเนื้อหาสาระทางสังคมมาผลิตรายการ  รวมทั้งการระดมทุน  3.สำนักรับฟังและการมีส่วนร่วม  ทำหน้าที่รับฟังความคิดเห็นโดยมีสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการเป็นกลไกสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนารายการให้ตอบสนองเสียงของประชาชน  และ 4.สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง  ทำงานเสริมสร้างศักยภาพของชุมชนและสังคมส่วนต่างๆให้สามารถสื่อสารได้หลายช่องทางโดยผ่านการฝึกอบรมทักษะในการผลิตข่าว
 
นายอรรถพล พรมหา  นักสื่อสารแรงงานศูนย์ฉะเชิงเทรา กล่าวว่า  ประทับใจกับการต้อนรับที่เป็นกันเอง  สนใจงานกราฟฟิกที่ช่วยให้เกิดความน่าสนใจในงานข่าวหรือรายการต่างๆ  อยากให้แรงงานมีศูนย์สื่อสารของแรงงานที่มีการทำงานเป็นเครือข่ายร่วมกันอย่างเป็นระบบ  และมีความตระหนักในหน้าที่รับผิดชอบทำงานให้ทันต่อสถานการณ์
 
นางสาวนงนุช ไกรศาสตร์  นักสื่อสารแรงงานศูนย์สระบุรี กล่าวว่า  ได้เห็นการทำงานที่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้มากอย่างเช่นรายการสถานีประชาชนแล้วรู้สึกภาคภูมิใจ  ทำให้นึกถึง voicelabour ที่สามารถช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานได้เช่นกัน  และได้เห็นถึงความสำคัญในการทำงานแบบเป็นทีม ซึ่งทำให้การทำงานราบรื่น  รวมทั้งมีส่วนการระดมทุนเสริมก็จะทำให้งานบรรลุเป้าหมายได้  ซึ่งนักสื่อสารแรงงานก็อาจจะทำเสื้อขายหารายได้มาสนับสนุนการทำงานสื่อของแรงงาน
 
นายกระมนต์ ทองออน  นักสื่อสารแรงงานศูนย์ชลบุรี กล่าวว่า      ได้เห็นระบบการทำงานที่มีการแบ่งหน้าที่ชัดเจนและมีความรับผิดชอบจริงจังแบบมืออาชีพจึงทำให้งานสำเร็จได้  เพราะหากส่วนใดส่วนหนึ่งหยุดชะงักส่วนอื่นๆก็ขยับต่อไม่ได้ทำให้งานล่มทั้งหมด  การระดมหาทุนเพื่อช่วยในการทำงานก็เป็นเรื่องที่กลุ่มนักสื่อสารแรงงานต้องคิดทำอย่างจริงจังหากเห็นคุณค่าและไม่อยากเห็นงานสื่อสารของแรงงานต้องสูญหายไป
 
นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน