“เมื่อแรงงานวัดใจรัฐบาลอีกครั้ง กับการเร่งร่างประกันสังคมเข้าสภาฯ”

โดย บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

ในอุณหภูมิสถานการณ์อันร้อนแรงของการเมืองที่มุ่งไปกับเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการสับขาหลอกประเด็นนำอดีตนายกฯทักษิณกลับประเทศ ทำให้กลายเป็นเรื่องสำคัญและบดบังความเดือดร้อนอื่นๆของภาคประชาสังคมไปในหลายเรื่อง โดยเฉพาะร่างกฎหมายของภาคประชาชน ที่เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว ตั้งแต่สมัยประชุมที่ผ่านมา และมีการพิจารณาอยู่ในขั้นตอนของสภาผู้แทนฯ และวุฒิสภา ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันร่างกฎหมายแล้ว 7 ฉบับ และใน 7 ฉบับนั้นมีร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม(ฉบับผู้ใช้แรงงาน และภาคประชาชน) พ.ศ. …ที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอรวมอยู่ด้วย ปัจจุบันร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับ 14,264 ชื่อ ได้มีการบรรจุเป็นระเบียบวาระเพื่อพิจารณาเร่งด่วนของการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลำดับที่ 9 ที่รอคิวเข้าอย่างใจจดใจจ่อ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่ได้ถูกนำเข้าพิจารณาวาระ 1 สักทีหนึ่ง เพราะเมื่อถึงเวลาก็มักจะถูกลัดแรงแซงคิวจากร่างกฎหมายอื่นที่รัฐบาลเห็นว่าสำคัญกว่าเข้าสภาไปก่อน มีการคาดการณ์ว่า รัฐบาลจะมีการนำร่างกฎหมายประกันสังคม ที่นำมาปรับโดยกระทรวงแรงงาน นำเสนอเพื่อประกบกับร่างกฎหมายประกันสังคม ฉบับ 14,264 ชื่อ เข้าสู่การพิจารณาให้ทันในสมัยประชุมนี้ คือประมาณปลายเดือนมีนาคม 2555  ในขณะที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติจะปิดตัวลงในวันที่ 18 เมษายน 2555 ฉะนั้นจึงมีเวลาการนำร่างกฎหมายเข้าสภาวาระ 1 ไม่ถึง 30 วัน  และถ้าเข้าไม่ทันก็อาจจะต้องรอเข้าประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ในเดือนสิงหาคม หรือไม่ก็รอเปิดสภาอีกรอบในเดือนธันวาคม 2555

มีข้อสังเกตว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ อาจจะถูกดองต่อไปให้อยู่ในสมัยการประชุมครั้งหน้า โดยดูจากการให้สัมภาษณ์ผ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2555 ของนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) กล่าวภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า “ที่ประชุมได้ หารือถึงร่าง พ.ร.บ.ที่จะเข้าสู่สภา ในวันที่ 21 – 22 มีนาคม 2555  จะมีร่างกฎหมายเข้าสู่สภา อาทิ ร่าง พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกการขนส่งทางชายแดน ,ร่างพ.ร.บ.การขึ้นเงินเดือนให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ทำให้เห็นได้ว่ารัฐบาล และท่านสส.ทั้งหลายได้ให้ความสำคัญ และจริงใจ จริงจังกับแรงงาน ลุภาคประชาชนมากแค่ไหน แม้นการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นของภาคประชาสังคม และแรงงาน ในการเร่งให้รัฐบาล และรัฐสภาเสนอร่างกฎหมายฯเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงกลางมีนาคม 2555 อาทิ การจัด

สัมมนา การเปิดแถลงข่าว การเข้าพบยื่นหนังสือทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ประธานวิปทั้งสองพรรค รวมไปถึงการจัดเวทีของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายด้านสวัสดิการสังคม(คปก.) ที่จัดการเสวนา เรื่อง”หลักเกณฑ์ผลักดันร่างกฎหมายเข้าชื่อภาคประชาชนให้ทันการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญนิติบัญญัติ” แต่ก็เป็นอาจจะเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ทำให้รัฐบาลตั้งท่าเร่งเสนอร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับกระทรวงแรงงาน พ.ศ. …ที่ต้องเป็นร่างหลัก และประกบด้วยร่างของภาคประชาชน (ประกันสังคม ฉบับ 14,260 ชื่อ)รีบเสนอเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภาในการพิจารณาร่างกฎหมาย  ดังนั้นการบรรจุระเบียบการพิจารณา ของรัฐบาล และรัฐสภาในร่ากฎหมายประกันสังคม ฉบับ 14,260  ชื่อ และอยู่ในเรื่องเร่งด่วนลำดับที่ 9  และการนำร่างประกันสังคม ฉบับแก้ไขปรับปรุงโดยกระทรวงแรงงาน ที่จะเป็นร่างของรัฐบาลในการเสนอเพื่อประกบร่างกฎหมายของภาคส่วนอื่นๆที่ถูกบรรจุเข้าระเบียบไปแล้ว รัฐบาลจะเป็นเพียงการทำภาพว่าให้ความสนใจต่อกฎหมายประกันสังคม ที่สำคัญในการกำหนดชะตาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน หรือ รัฐบาลจะคิดจริงจังว่าอย่างไรแล้วก็จะต้องมีการนำร่างกฎหมายเข้าเร่งด่วนโดยไม่มีวาระซ่อนเร้นนำร่างกฎหมายอื่นเข้ามาแทรกแซง

ดังนั้นเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย  นักวิชาการด้านแรงงาน และแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่มีข้อเสนอเพื่อให้เกิดความเป็นไปได้ที่รัฐบาล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาล ในการนำร่างกฎหมายประกันสังคมเข้าสู่การพิจารณา ของสภาผู้แทนฯ อีกทั้งจะเป็นบทพิสูจน์ความจริงใจในการเสนอร่างกฎหมายประวัติศาสตร์ของผู้ใช้แรงงาน ในสมัยของท่านฯนายกรัฐมนตรี และผู้แทนราษฎร ในรัฐสภาชุดนี้ โดยมีข้อเสนอสี่ประการ คือ ประการที่หนึ่ง กรณีที่ต้องทำให้เป็นประเด็นเร่งด่วน ต้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คนใดคนหนึ่งไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายรัฐบาล หรือพรรคฝ่ายค้าน ได้ขออนุญาตพรรค และประธานวิปทั้งสองฝ่ายทำเป็นข้อปรึกษาหารือ ที่จะใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที หยิบประเด็นสำคัญ และเสนอนำร่างกฎหมายเข้าลำดับการพิจารณาอย่างเร่งด่วน ประการที่สอง ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายรัฐบาล ขออนุญาตพรรค ตั้งกระทู้สดเพื่อถามต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้เร่งร่างกฎหมายฯเข้าพิจารณาโดยด่วน ซึ่งมาตรการนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อมีสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อประชาชน และประเทศชาติจริงๆ ประการที่สาม คือรัฐบาลต้องส่งร่างกฎหมายของรัฐบาลมาเสนอเข้าสภาเร่งด่วน จากนั้นจึงประกบร่างกฎหมายของภาคประชาชน หรือ ร่างกฎหมายจากพรรคการเมืองที่มี สส.20 รายชื่อเสนอร่างกฎหมายประกบได้ และประการที่สี่ คือ ประธานรัฐสภาเร่งนำร่างกฎหมายที่รัฐสภาได้บรรจุวาระแล้วลัดลำดับ และเสนอเข้าพิจารณาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้ทันสมัยประชุม เข้าวาระ 1 จากนั้นจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายต่อไป  

จากสถานการณ์ข้อสังเกต พร้อมข้อเสนอที่เป็นทางออก และคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรี ท่านประธานรัฐสภา ท่านประธานวิปฝ่ายรัฐบาล – ฝ่ายค้าน และท่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งจากพรรคการเมืองทั้งหลาย ที่รู้กระบวนการการเสนอกฎหมายของรัฐสภาเป็นอย่างดี น่าจะรับฟังข้อเสนอทั้ง สี่ประการที่แรงงาน และภาคประชาชนได้นำเสนอมา เพื่อหาทางออก สร้างประวัติศาสตร์แห่งความดีร่วมกัน เป็นโอกาสแล้วครับ เพราะตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม 2555 เป็นต้นไป การขับเคลื่อนของภาคแรงงาน และภาคประชาชน ต่อเรื่องการผลักดันร่างกฎหมายที่ผ่านการบรรจุวาระ แต่ยังไม่ถูกยกระดับเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาจะมีการเคลื่อนไหวหาคำตอบที่มีความหนักหน่วงยิ่งขึ้น และเมื่อมองกันให้ดี รัฐบาล และฝ่ายค้าน มีเวลาเพียงแค่ 2 ปีกว่า ก็จะสู่การเลือกตั้งใหญ่ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเสียงของผู้ใช้แรงงาน 36 ล้านเสียง ทั้งในระบบ และนอกระบบ กับการเสนอเร่งนำร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่เข้าชื่อ 10,000 รายชื่อ เช่นร่างพ.ร.บ. ประกันสังคม 14.260 ชื่อ จะเป็นการวัดใจรัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐสภาไทยอีกครั้งในประวัติศาสตร์แรงงานไทย ก่อนหมดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ 18 มีนาคม 2555 พวกเขาเฝ้าวัดใจอยู่ครับท่าน 

***************************************