เปิดร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อลงมติ : ที่ทางของ “ผู้ใช้แรงงาน” ในร่าง รธน.ฉบับนี้
บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ 24 สิงหาคม 2558
เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2558 ถือได้ว่าเป็นวัน “ดีเดย์” สำคัญวันหนึ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่าง รัฐธรรมนูญ ได้ส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวนี้ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน 2558 ทั้งนี้ถ้าสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เสียงส่วนใหญ่ให้การเห็นชอบ ขั้นตอนต่อไป คือ การลงประชามติ แต่ถ้า สปช. ส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบรัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง
จากการทบทวนสาระสำคัญที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พบว่า มีประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ใช้แรงงาน” โดยตรง ถึง 16 มาตรา ซึ่งบางมาตราพบว่ามีความคล้ายคลึงกับรัฐธรรมนูญปี 2550 อีกทั้งยังมีประเด็นใหม่ๆปรากฏเพิ่มเติมเข้ามาบ้างเช่นเดียวกัน ดังนี้
(1) มาตรา 45
บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย จะมีสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมเพียงใด ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติหรือตามที่รัฐจัดให้
พบว่า รธน.ฉบับ 2540 และ ฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
(2) มาตรา 46 วรรค 2
มารดาย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครองเป็นพิเศษและได้รับสวัสดิการตามควรจากรัฐและนายจ้างก่อนและหลังการให้กำเนิดบุตร ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
พบว่า รธน.ฉบับ 2540 และ ฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
(3) มาตรา 53
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการรักษามั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ความปลอดภัยด้านการสาธารณสุข หรือการคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ แต่ฉบับสิงหาคม 2558 มีการปรับแก้ไขถ้อยคำในวรรค 2
ทั้งนี้ฉบับเดิมระบุไว้ในมาตรา 44 ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ
การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะการสงคราม หรือในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก
(4) มาตรา 54 วรรคแรก
บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็น สมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การภาคเอกชน องค์การภาคประชาสังคม หรือหมู่คณะอื่น
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ ยกเว้นเพียงไม่มีคำว่า “องค์การภาคประชาสังคม” ปรากฏเหมือนในร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558
(5) มาตรา 57
บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม มีหลักประกันความปลอดภัย อาชีวอนามัย สวัสดิภาพ และสวัสดิการในการทำงาน ที่เหมาะสมและเป็นธรรม รวมทั้งมีหลักประกันในการดำรงชีวิต ทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
รธน. ฉบับ 2540 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
ส่วน รธน. ฉบับ 2550 ระบุไว้ในมาตรา 44 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับหลักประกันความปลอดภัยและสวัสดิภาพในการทำงาน รวมทั้งหลักประกันในการดำรงชีพทั้งในระหว่างการทำงานและเมื่อพ้นภาวะการทำงาน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
สำหรับร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 ได้เพิ่มเติมเรื่อง “การได้รับค่าจ้างที่เป็นธรรม” เข้ามา อย่างไรก็ตามจะถือว่าเป็นประเด็นใหม่คงกล่าวเช่นนั้นไม่ได้ เพราะใน รธน. ฉบับ 2550 ก็ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 84 (7) ตอนหนึ่งว่า “….คุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
(6) มาตรา 66
บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ย่อมมีสิทธิร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายตามภาค 1 หมวด 2 ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล และภาค 2 หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามรัฐธรรมนูญนี้ต่อรัฐสภา ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการพิจารณาร่างกฎหมายตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นชี้แจงหลักการของร่างกฎหมาย และคณะกรรมาธิการวิสามัญหรือคณะกรรมาธิการร่วมกันที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการด้วย
รธน.ฉบับ 2540 ระบุไว้ในมาตรา 170 แต่กำหนด “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณากฎหมายตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้”
รธน.ฉบับ 2550 ระบุไว้ในมาตรา 163 โดยแก้ไขเป็น “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนด ในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้”
สำหรับร่าง รธน. ฉบับสิงหาคม 2558 ได้เพิ่มเรื่อง “หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจพิจารณาร่างกฎหมายมีหน้าที่สนับสนุนการจัดทำและเสนอร่างกฎหมายของบุคคลตามที่กฎหมายบัญญัติ” เข้ามา ซึ่งในปี 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
(7) มาตรา 70
หน่วยงานของรัฐ องค์การภาคเอกชน องค์การภาคประชาสังคม หรือองค์กรใดที่ดำเนินกิจกรรมโดยใช้เงินแผ่นดิน มีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าวต่อสาธารณะ เพื่อให้บุคคลได้ติดตามและตรวจสอบ ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ เว้นแต่เป็นข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นข้อมูลที่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้เปิดเผย
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
(8) มาตรา 80
รัฐต้องส่งเสริมสัมพันธไมตรีและความร่วมมือมือกับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ และปฏิบัติตามสนธิสัญญาและพันธกรณีที่ทำไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนบนพื้นฐานของการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน ความเสมอภาค ผลประโยชน์ร่วมกัน และเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของประเทศในประชาคมโลก
มีการระบุประเด็นนี้ไว้ใน รธน. ฉบับ 2540 ในมาตรา 74 และ รธน.ฉบับ 2550 ในมาตรา 82 แต่ฉบับร่าง รธน.สิงหาคม 2558 มีการขยายถ้อยคำเพิ่มเติมในช่วงท้ายเข้ามา ตั้งแต่คำว่า “เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ……”
(9) มาตรา 81 วงเล็บ 2
รัฐต้องจัดระบบการบริหารราชการแผ่นดินและการบริหารงานของรัฐอย่างอื่น ดังต่อไปนี้
(2) พัฒนาและสร้างโอกาสเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างยั่งยืน
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุในประเด็นนี้ไว้
(10) มาตรา 86 วรรคแรกและวรรคสอง
รัฐต้องจัดให้มีการพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่สร้างภาระและขั้นตอนที่ไม่จำเป็น ทำให้กลไกของรัฐสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง เท่าเทียม สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม จัดให้มีการประเมินผลกระทบของร่างกฎหมายที่เสนอ รวมทั้งจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในการตรากฎหมายและกฎ
รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัด รวดเร็ว และเป็นธรรม คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคล มิให้เกิดการล่วงละเมิดทั้งโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือโดยบุคคลอื่น
รธน.ฉบับ 2540 ไม่มีการระบุไว้โดยตรง (ดูมาตรา 75 เพิ่มเติม)
รธน. ฉบับ 2550 มีคาบเกี่ยวบ้างในวงเล็บ 1 ที่ระบุว่า “ดูแลให้มีการปฏิบัติและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างถูกต้อง รวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง ส่งเสริมการให้ความช่วยเหลือและให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน และจัดระบบงานราชการและงานของรัฐอย่างอื่นในกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โดยให้ประชาชนและองค์กรวิชาชีพมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม และการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย” (ดูมาตรา 81 เพิ่มเติม)
ถ้อยคำที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 คือ “การพัฒนากฎหมายให้ทันสมัย ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม”
(11) มาตรา 87 วรรค 2
รัฐต้องส่งเสริมระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด พัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน และนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการประกอบกิจการ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์การภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในทางเศรษฐกิจของประเทศ คุ้มครอง ส่งเสริม และขยายโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน รวมทั้งต้องป้องกันการผูกขาดและการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
รธน.ฉบับ 2540 ระบุไว้ในมาตรา 87 และฉบับ 2550 ระบุไว้ในมาตรา 84 แต่ใช้ถ้อยคำที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้มีการเพิ่มเติมบางถ้อยคำเข้ามาใหม่ในร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 คือ “พัฒนาเศรษฐกิจฐานความรู้ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม”
(12) มาตรา 89
รัฐต้องส่งเสริมให้ประชาชนวัยทำงานและสูงวัยมีงานทำที่เหมาะสม คุ้มครองแรงงาน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ และแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน มีหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคี ผู้ที่ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน การประกันสังคม การพัฒนาสมรรถนะของแรงงาน รวมทั้งต้องให้ผู้ทำงานได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
รัฐต้องจัดให้มีระบบบำนาญแห่งชาติที่มีความยั่งยืน เพื่อให้ครอบคลุมประชาชนทุกภาคส่วน โดยจัดให้มีระบบการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทุกระดับมีความรู้ทางการเงินและสามารถบริหารการเงินของครัวเรือนได้อย่างเหมาะสม
รธน.ฉบับ 2540 ระบุไว้ในมาตรา 86 ว่า “รัฐต้องส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานโดยเฉพาะแรงงานเด็กและแรงงานหญิง จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ การประกันสังคม รวมทั้งค่าตอบแทนแรงงานให้เป็นธรรม”
รธน.ฉบับ 2550 ระบุในมาตรา 84 วงเล็บ 4 และวงเล็บ 7 ว่า “(4) จัดให้มีการออมเพื่อการดำรงชีพในยามชราแก่ประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างทั่วถึง (7) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์และระบบไตรภาคีที่ผู้ทำงานมีสิทธิเลือกผู้แทนของตน จัดระบบประกันสังคม รวมทั้งคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ”
สำหรับร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 มีการเพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมายเฉพาะเข้ามา คือ “ผู้สูงอายุ ผู้พิการหรือทุพพลภาพ แรงงานซึ่งเป็นผู้ป่วยด้วยโรคต่างๆ และแรงงานที่มีปัญหาอื่นทำนองเดียวกัน มีหลักประกันความปลอดภัยในการทำงาน” และยังเพิ่มเรื่อง “การพัฒนาสมรรถนะของแรงงาน”
(13) มาตรา 118 วงเล็บ 3
วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด 1 คน และมาจากการสรรหาเท่ากับจำนวนรวมข้างต้น หักด้วยจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้
(3) ผู้แทนองค์กรที่เป็นนิติบุคคลหรือจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย ด้านเกษตรกรรม ด้านแรงงาน ด้านวิชาการและการศึกษา ด้านชุมชน และด้านท้องถิ่น ซึ่งมาจากการสรรหา จำนวนด้านละไม่เกิน 6 คน
หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงือนไขในการเลือกตั้งและการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งองค์ประกอบและที่มาของคณะกรรมการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาปู่แทนราษฎร
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องดังกล่าวนี้ไว้
(14) มาตรา 142 วรรค 5 และวรรค 7
ร่างพระราชบัญญัติจะเสนอได้ก็แต่โดย
วรรค 5 ระบุไว้ว่า (4) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายตามมาตรา 66 วรรคหนึ่ง
วรรค 7 ในกรณีที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เสนอร่างพระราชบัญญัติใดตาม (4) แล้ว ให้สภาผู้แทนราษฎรเริ่มพิจารณาภายในเวลาไม่เกิน 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้น หรือวันที่นายกรัฐมนตรีส่งคำรับรองกลับคืนมา….
สาระสำคัญในมาตรานี้มีความคล้ายคลึงกับ รธน.ฉบับ 2550 แต่ได้มีการเพิ่มเติมเรื่องระยะเวลาที่ชัดเจนขึ้นมาว่า รัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายใน 180 วัน ซึ่งฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
(15) มาตรา 183 วรรค 4
ก่อนการดำเนินการเพื่อจัดทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การแรงงานระหว่างประเทศตามวรรค 2 คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญานั้น โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้นต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตามถ้อยคำในวรรค 4 นี้ ต้องย้อนกลับไปอ่านถ้อยคำในวรรค 2 ซึ่งระบุว่า “ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา” ไว้อย่างชัดเจนร่วมด้วย
พบว่า มีความคล้ายคลึงกับถ้อยคำใน รธน.ฉบับ 2550 มาตรา 190 แต่ในร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 ได้เพิ่มถ้อยคำดังกล่าวนี้เข้ามา คือ “โดยให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาที่เป็นเนื้อหาสาระอันจะนำไปสู่การจัดทำหนังสือสัญญานั้น ต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย ในการนี้คณะกรรมาธิการดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้ทรงวุฒิ ซึ่งมิได้เป็นสมาชิกรัฐสภาด้วย และจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว”
(16) มาตรา 265 วงเล็บ 3
ให้มีการปฏิรูปการศึกษา สาธารณสุข สังคม ศิลปวัฒนธรรม และการคุ้มครองผู้บริโภคตามแนวทางดังนี้
(3) จัดให้มีกลไกซึ่งทำหน้าที่ศึกษา รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนะและกฎหมายต่างๆ เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปด้านสังคมและชุมชน ระบบสวัสดิการ ระบบการออม เพื่อการดำรงชีพในยามสูงอายุ ระบบบำนาญและระบบการดูแลอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ด้อยโอกาส และผู้พิการหรือทุพพลภาพ รวมทั้งให้มีกฎหมายและกลไกสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนหรือธนาคารแรงงาน เพื่อส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง และจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้อง กับมาตรฐานระหว่างประเทศ
รธน.ฉบับ 2540 และฉบับ 2550 ไม่มีการระบุเรื่องนี้ไว้
โดยสรุปจากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ “ผู้ใช้แรงงาน” โดยตรงแทบจะไม่มีอะไรใหม่หรือแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ที่น่าสนใจมีเพียงมาตรา 46 วรรค 2, มาตรา 118 วงเล็บ 3 และมาตรา 265 วงเล็บ 3 ที่ปรากฏขึ้นมาใหม่ในร่าง รธน.ฉบับสิงหาคม 2558 เท่านั้น อย่างไรก็ตามนี้เป็นเพียงหลักการที่ระบุไว้ ซึ่งจำเป็นต้องพิจารณาในกฎหมายลูกประกอบการบังคับใช้แต่ละมาตราต่อไป โดยเฉพาะการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ซึ่งระบุไว้ในมาตรา 153
ทั้งนี้จากการพิจารณาเอกสารประกอบการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ พ.ศ… (ณ วันที่ 7 สิงหาคม 2558) ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ได้มีการขยายความประเด็น “แรงงาน” ไว้ในส่วนที่ 7 การปฏิรูปด้านแรงงาน มาตรา 20 โดยระบุว่า ให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีทักษะที่สามารถแข่งขันได้ในระดับสากลได้ ตามแนวทางดังต่อไปนี้
(1) ตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และนายจ้างในการสมาคม การรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลระหว่างประเทศ
(2) สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานหรือกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นกองทุนสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออมและการพัฒนาตนเอง อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านแรงงานเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้แรงงานและผู้จ้างงานให้สามารถเข้าถึงแรงงานได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม
(3) ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในศาลแรงงาน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีต่อลูกจ้าง และควรมีตุลาการศาลแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงมากขึ้น
(4) สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบศูนย์ครบวงจร ณ จุดเดียว ในท้องที่ติดกับบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
(5) ส่งเสริมทักษะและการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยทุกระดับในทุกสาขาเพื่อยกระดับรายได้และให้สามารถแข่งขันในตลาดแรงงานสากลได้ และให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมทักษะและการพัฒนาฝีมือแรงงาน
(6) ปรับแนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานของประเทศให้ถูกต้องและสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแยกเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างประจำปีออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดและวิธีปฏิบัติ ซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในอดีตส่งผลกระทบต่อระบบการจ้างงานและภาวะเศรษฐกิจของประเทศตลอดมา
(7) ขจัดเงื่อนไจและกฎเกณฑ์การปฏิบัติทางด้านแรงงานที่มีลักษณะเข้าข่ายการค้ามนุษย์ รวมทั้งปรับปรุงระบบและกลไกการแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ
(8) ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้สอดคล้องกับประเทศไทยในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบ
เหล่านี้ทั้งหมดคือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่มในประเทศไทยที่ต้องติดตามกันต่อไป
/////////////////////////////////////