เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ที่โรงแรมเซ็นจูรี่ปาร์ค กรุงเทพ มูลนิธิฟรีดริคเอแบร็ท ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา เรื่อง “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม”
ผศ.ปกป้อง จันวิทย์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเสนอร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ของโครงการวิจัย เรื่อง “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย และผลกระทบต่อเศรษฐกิจส่วนรวม โดยกล่าวถึงแนวคิดเรื่องอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยว่า ช่วงแรกเริ่มดำเนินการระบบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเมื่อปี 2515 ประเทศไทยกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามแนวทางขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO.) ที่กำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้ลูกจ้างสามารถเลี้ยงดูตนเองและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคนให้ดำรงชีพอยู่ได้ตามปกติวิสัยเช่นเดียวกับคนทั่วไปในสังคม แต่แนวทางดังกล่าวถูกยกเลิกไปในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดเป็นค่าจ้างขั้นต่ำที่ช่วยให้ลูกจ้างคนเดียวสามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามอัตภาพ และตั้งแต่เมษายน 2555 อัตราค่าจ้างขั้นต่ำก็มีการปรับขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นผลพวงจากนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศของพรรคเพื่อไทย ทำให้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคาม 2556 อีก 70 จังหวัด ก็จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ และก็จะไม่มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอีกตลอดปี 2557 และ 2558
ผู้วิจัย ชี้ให้เห็นว่า จากข้อมูลงานวิจัย อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (ซึ่งเป็นอำนาจซื้อที่แท้จริงที่หักค่าเงินเฟ้อแล้ว) อยู่ในระดับคงที่มาโดยตลอดเกือบ 20 ปี สวนทางกับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นมาก และบทบาทความสำคัญของแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำในเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งในปัจจุบันภายหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท มีแรงงานที่ได้ค่าจ้างน้อยกว่าหรือเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำทั้งสิ้นประมาณ 10.7 ล้านคน ซึ่งภาคเกษตรกรรมมีสัดส่วนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำสูงสุดคือ 40% และส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ
ในส่วนของผลกระทบต่อต้นทุนงานที่มี แม้ว่าการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทจะทำให้ต้นทุนแรงงานสูงขึ้น แต่เมื่อเทียบกับผลผลิตก็ไม่ได้สูงมากดังที่กังวลกัน คือสัดส่วนต้นทุนแรงงานค่าจ้างขั้นต่ำต่อผลผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้นประมาณ 10% การเกษตรเพิ่มขึ้นประมาณ 3 % การก่อสร้าง 25% การโรงแรมและภัตตาคาร 9% ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำยังส่งผลกระทบทางบวกไม่เพียงช่วยให้แรงงานค่าจ้างขั้นต่ำมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเท่านั้น ยังช่วยให้ความเหลื่อมล้ำของระดับค่าจ้างแรงงานโดยรวมลดลงในทั่วทั้งประเทศ ส่วนผลกระทบต่อราคาสินค้าพบว่า การขั้นค่าจ้างขั้นต่ำ 1% มีผลกระทบต่อราคาทุกสินค้าประมาณ 0.082 %
ส่วนผลกระทบต่อการจ้างงาน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำส่งผลให้มีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยลดลงบ้าง กลุ่มแรงงานทักษะต่ำจะได้รับผลกระทบมากกว่า และจะมีการย้ายไปสู่แรงงานนอกระบบมากขึ้น
สำหรับอัตราค่าจ้างที่เหมาะสมของประเทศไทย หากโจทย์อยู่ที่การเพิ่มความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ แนวคิดเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำควรต้องให้สอดคล้องกับหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่มีแนวคิดเรื่อง อัตราค่าจ้างเพื่อชีวิต (living wage) คือระดับค่าจ้างที่ทำให้แรงงานสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มีการครองชีพในระดับมาตรฐาน มีเวลาว่างพอที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมในฐานะพลเมืองคนหนึ่งในสังคมไทย ซึ่งงานวิจัยได้เสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ใกล้เคียงกับหลักเกณฑ์ของค่าจ้างเพื่อชีวิต คือ
1.ระดับ 378 บาท สำหรับแรงงานและคู่สมรส
2.ระดับ 483 บาท สำหรับแรงงานคู่สมรสและบุตร 1 คน
3.ระดับ 588 บาท สำหรับแรงงานคู่สมรสและบุตร 2 คน
ทั้งนี้การคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคม ของสังคมนั้น เช่น อำนาจต่อรองของแรงงานและกลุ่มธุรกิจ การให้คุณค่ากับความเท่าเทียมในสังคม และเป้าหมายทางการเมืองของผู้กำหนดนโยบาย
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง กระทรวงแรงงาน นภสร ทุ่งสุกใส กล่าวถึงภาพรวมภายหลังจากการปรับขึ้นค่าจ้าง 6 เดือนว่า การจ้างงานขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อาจมีอาการช็อคบ้างในช่วง 1-2 เดือน ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานประกันสังคมตั้งแต่เดือนพฤษภาคม การจ้างงานขยาย 1% ถึงเดือนกันยายน ขยาย 2.39 % ถือว่าภาวะเลิกจ้างปกติ การว่างงานไม่เพิ่มขึ้น ส่วน SME มีการเลิกจ้างไม่ถึง 200 คน ส่วนใหญ่เป็น SME ขนาดเล็ก ส่วนขนาดกลางมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น
จะเห็นได้ว่าธรรมชาติของการทำธุรกิจสามารถปรับตัวได้ รวมทั้งการที่ภาครัฐก็มีมาตรการที่ช่วยลดต้นทุนด้วย โดยถ้าพิจารณาถึงผลิตภาพแรงงานก็พุ่งสูงขึ้น เฉลี่ย 8% ระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน สถานประกอบการ 90% อยู่รอดได้ มีที่ร่อแร่รัฐต้องเข้าไปดูแล 10% แต่ที่น่าวิตกคือการปรับขึ้นค่าจ้าง 300 บาท อีก 70 จังหวัดในวันที่ 1 มกราคม 2556 เพราะเป็นต่างจังหวัดที่มี SME นอกระบบมาก ซึ่งมีมากกว่าในระบบถึง 2 เท่า
และได้มีการเปิดเผยผลสำรวจเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของกระทรวงแรงงาน พบว่า ค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงาน 1 คน ถ้าจะอยู่ในระดับตามอัตภาพคือ 210.49 บาท ถ้าระดับคุณภาพชีวิตที่ดี คือ 302.27 บาท ส่วนคณะกรรมการค่าจ้างยอมรับที่ 251.07 บาท ทั้งนี้เห็นว่าแนวคิดค่าจ้างสำหรับแรงงาน 1 คน บวกครอบครัวเป็นไปได้ยากในสังคมไทย
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน