เปิดปมสิทธิประกันสังคมแรงงานข้ามชาติยุค MOU

โดย บัณฑิตย์  ธนชัยเศรษฐวุฒิ /230355

          ข้อมูล ณ สิ้นปี 2554  พบว่า  มีแรงงานต่างด้าวที่พิสูจน์สัญชาติและได้รับพาสปอร์ตกับใบอนุญาตทำงานแล้ว 505,238 คน  นำเข้าตาม MOU อีก 72,356 คน  และอยู่ระหว่างผ่อนผันอนุญาตให้ทำงานเพื่อรอพิสูจน์สัญชาติอีกราว 1,248,064 คน  เมื่อเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนจะพบว่า  อัตราการใช้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติต่อจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมดจะอยู่ที่ 4.04%  หรือทุก 100 คนจะเป็นแรงงานสัญชาติพม่า  ลาว กัมพูชา  ประมาณ 4 คน(1)

            แรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองสัญชาติ พม่า  กัมพูชา  และลาวที่มีเอกสารแสดงตัวและใบอนุญาตทำงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ  จะเปลี่ยนสถานะเป็นผู้เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมาย  ผลที่ตามมา  คือ  นายจ้างมีหน้าที่ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติแล้วเป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537  และเป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533  ภายใน 30 วันที่ลูกจ้างนั้นมีหลักฐานครบถ้วน  ได้แก่

                    1.  ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit)

                    2.  หนังสือเดินทาง (Passport) หรือเอกสารแสดงตัวแทนหนังสือเดินทาง

        ตามประกาศสำนักงานประกันสังคมเรื่อง  การขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว  กัมพูชาและพม่าที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติลงวันที่ 8 ตุลาคม 2553  กำหนดว่าจะยกเว้นไม่ขึ้นทะเบียนกรณีเป็นลูกจ้างของกิจการดังนี้

                    1.  กิจการเพาะปลูก  ประมง  ป่าไม้และเลี้ยงสัตว์  ซึ่งมิได้ใช้ลูกจ้างตลอดปีและไม่มีงานลักษณะอื่นรวมอยู่ด้วย

                    2.  กิจการนายจ้างจ้างลูกจ้างไว้เพิ่งทำงานอันมีลักษณะครั้งคราว  เป็นการจร  หรืองานตามฤดูกาล

                   3.  นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมดา  ซึ่งงานที่ลูกจ้างทำนั้นมิได้มีการประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

                   4.  เป็นลูกจ้างที่ประกอบการค้าเร่  หรือ  แผงลอย

                   5.  เป็นลูกจ้างที่ทำงานเกี่ยวกับงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย

          แรงงานต่างด้าวที่ประกอบอาชีพอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมและงานก่อสร้างที่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติเรียบร้อยแล้ว  จะเข้าสู่ระบบประกันสังคมเช่นเดียวกับแรงงานคนไทย  และไม่ต้องทำประกันสุขภาพ

          ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมและงานก่อสร้าง เช่นอาชีพคนรับใช้ในบ้าน  หรืองานเกษตรกรรมและแรงงานที่ยื่นขอพิสูจน์สัญชาติแล้วแต่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สัญชาติจากประเทศต้นทาง  จึงต้องขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานอยู่เช่นเดิมโดยต้องได้รับการตรวจสุขภาพและทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุขก่อนที่จะต่อใบอนุญาตทำงาน(2)

นโยบายรัฐบาล

          คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี  ที่แถลงต่อรัฐสภา  เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554  มีข้อความน่าพิจารณา ดังนี้

          นโยบายความมั่นคงแห่งรัฐข้อ 2.5 ว่า

          เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติด  องค์กรอาชญากรรมการค้ามนุษย์  ผู้หลบหนีเข้าเมือง  แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายและบุคคลที่ไม่มีสถานะชัดเจน  โดยการปรับปรุงระบบป้องกันและบังคับใช้กฎหมาย  รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินอย่างเข้มงวด  ดูแลความเป็นธรรมและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคง  และความสงบสุขภายในประเทศ  ควบคู่ไปกับการจัดการแก้ไขสถานะและสิทธิของบุคคล  ภายใต้ความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของชาติกับการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐาน

      นโยบายความมั่นคงของชีวิตและสังคม  ข้อ 4.5.2  ระบุว่า

          “สร้างหลักประกันความมั่นคงในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกรูปแบบ  ปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ให้หมดสิ้นไป …………………………”

         นโยบายแรงงาน ข้อ 4.2.7

          “กำหนดมาตรการที่เหมาะสมในการควบคุมการเข้ามาทำงานของแรงงานต่างด้าว  โดยคำนึงถึงความต้องการแรงงานของภาคเอกชนและการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในประเทศ”

เลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงาน

          มุ่งให้นายจ้างซื้อประกันภัยเอกชน  ไม่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน

          พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

กองทุนเงินทดแทนจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537  เพื่อจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างแทนนายจ้างเมื่อลูกจ้างประสบอันตราย  เจ็บป่วยถึงแก่ความตาย  หรือสูญหายเนื่องจากการทำงานหรือป้องกันรักษาผลประโยชน์ให้นายจ้าง  โดยไม่คำนึงถึงวัน  เวลา  และ  สถานที่  แต่จะดูสาเหตุที่ทำให้ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย 

นายจ้างเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนเพียงฝ่ายเดียว  ปีละ 1 ครั้ง  และเมื่อลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้างแล้วเกิดประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกิดจากการทำงาน  ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิจะได้รับเงินทดแทน  ซึ่งประกอบด้วย  ค่ารักษาพยาบาล  ค่าทดแทนรายเดือนแล้วแต่กรณี  ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานและค่าทำศพ

    หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

              มาตรา 13  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

              ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามวรรคหนึ่งโดยไม่ชักช้าเมื่อฝ่ายลูกจ้างแจ้งให้นายจ้างทราบ

              มาตรา 15  กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามความจำเป็นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง

              มาตรา 18  เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยหรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 แล้วแต่กรณี

          แนวปฏิบัติตามหนังสือสำนักงานประกันสังคมที่รส.1711/ว751 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2544  ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดและสำนักงานประกันสังคมทั้งประเทศ  กำหนดว่า

          1.  แรงงานต่างด้าวที่มาทำงานเป็นลูกจ้างในประเทศไทย  มีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537

          2.  กรณีที่แรงงานต่างด้าวจะมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทนต้องมีหลักฐานดังนี้

               2.1  มีการจดทะเบียนและมีใบอนุญาตให้ทำงาน (Work Permit) ที่ทางราชการออกให้มาแสดงประกอบกับหนังสือเดินทาง (Passport)  หรือใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว

               2.2  นายจ้างจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทนในอัตราไม่ต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ  ทั้งนี้แรงงานต่างด้าวที่จดทะเบียนต้องยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับประเทศไทย

          3.  กรณีแรงงานต่างด้าวที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้าง  แต่ไม่มีหลักฐานตามข้อ 2 มาแสดง  นายจ้างต้องเป็นผู้รับผิตชอบจ่ายเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินทดแทน พ.ศ.2537 ให้แก่ลูกจ้างเอง

          มติคณะรัฐมนตรี (นรม.อภิสิทธิ์  เวชชาชีวะ)  วันที่ 14 มิถุนายน 2554  เห็นชอบเรื่องการคุ้มครองแรงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงานตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ  มีสาระสำคัญคือ  ให้บริษัทประกันภัยเอกชนเข้ามาดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองเหมือนกับระบบกองทุนเงินทดแทน ดังนี้

          1.  การกำหนดสิทธิประโยชน์ 
          ให้มีการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่จดทะเบียนผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงาน  ที่ประสบอันตรายจากการทำงาน  โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกองทุนเงินทดแทนที่ให้กับคนไทยทุกประการ

          2.  การบังคับใช้

          ใช้กับแรงงานต่างด้าวหลบหนเข้าเมืองที่จดทะเบียนผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงาน

          3.  วิธีการดำเนินการ 
          ใช้วิธีการประกันภัยโดยให้บริษัทประกันภัยเอกชนดำเนินการโดยให้นายจ้างซื้อประกันให้แก่แรงงานต่างด้าวกับบริษัทประกันภัย  และนำมาแสดงในการรับใบอนุญาตทำงาน  และให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าทดแทนโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทน  ให้กับบริษัทประกันภัยเป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ

          4.  อัตราค่าเบี้ยประกัน 
          ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าเบี้ยประกันให้แก่แรงงานด่างด้าวเพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน  เพื่อให้การคุ้มครองลูกจ้างกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันให้กำหนดเป็นจำนวนเงินต่อคนต่อปีในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ

       5.  การคัดเลือกบริษัทประกันภัย 
          เห็นควรให้กำหนดคุณสมบัติบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการโดยคำนึงถึงความมั่นคงแก่ผู้รับประกันและมีจำนวนไม่มากรายเกินไป  เพื่อให้มีจำนวนผู้เอาประกันมากเพียงพอต่อการกระจายความเสี่ยง

          แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนประกันสังคมได้  ต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งจะได้รับการรักษาพยาบาลกรณีเจ็บป่วยทั่วไป  หากประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน  สำนักงานประกันสังคมจะวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างของคนต่างด้าวเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนโดยตรงให้กับคนต่างด้าว

          แรงงานข้ามชาติกับการเข้าไม่ถึงกองทุนประกันสังคม

          เอกสารประกอบการประชุมกลุ่มย่อย  เรื่อง  สถานการณ์และข้อเสนอแรงงานข้ามชาติกับปฏิรูปประกันสังคมในระบบที่เหมาะสมเสนอในงานสมัชชาปฏิรูปประกันสังคมเมื่อต้นเดือนปี 2554 มีข้อสรุปว่า (3)

            กฎหมายประกันสังคมเป็นการออกแบบการประกันสังคมระยะยาว  สำหรับผู้ประกันตนที่เป็นคนไทย  โดยไม่ได้คำนึงถึงความเปลี่ยนแปลงตามข้อจำกัดของผู้ประกันตน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานย้ายถิ่นข้ามชาติที่มีข้อจำกัดอยู่อาศัยได้เพียงแค่ไม่เกิน 4 ปีในประเทศไทยและนายจ้างต้องไม่ยึดหนังสือเดินทางและบัตรประกันสังคม  เพื่อให้แรงงานเข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้จริง

การเข้าไม่ถึงประโยชน์ทดแทนตามกฎหมายประกันสังคม 7 กรณีของแรงงานข้ามชาติ  สรุปได้ดังนี้

ประโยชน์ทดแทน

ข้อสังเกต

1.  กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน

˜  ผู้ประกันตนไม่ว่าสัญชาติใดควรเข้าถึงการรักษาพยาบาลโดยทันที  ไม่ต้องมีเงื่อนเวลากำกับว่า  ต้องส่งเงินสมทบมาแล้ว 3 เดือน  เพราะสิทธิสุขภาพเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้รับการรักษาพยาบาลทันทีและมีคุณภาพมาตรฐาน

2.  กรณีคลอดบุตร

˜  แรงงานข้ามชาติที่มีทะเบียนสมรสจากประเทศต้นทาง  ย่อมเข้าถึงนี้ได้และการอยู่กินฉันท์สามีภรรยา  โดยเปิดเผยมิได้จดทะเบียนสมรส  ย่อมเข้าถึงสิทธินี้ได้เช่นกัน

3.  กรณีทุพพลภาพ

˜  แรงงานข้ามชาติจะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ตลอดชีวิตได้อย่างไร ?

˜  หากโอนเข้าบัญชีธนาคาร  คนที่เข้าไม่ถึงบริการเงินฝากหรือธนาคารจะมีวิธีจัดการอย่างไร ?  เพราะที่มาของแรงงานข้ามชาติบางคนมาจากท้องถิ่นห่างไกล  หรือบนพื้นที่สูง  เป็นต้น

4.  กรณีตาย

1.  ทายาทของแรงงานข้ามชาติจะเข้าถึงเงินสงเคราะห์ตามระยะเวลาการที่ส่งเงินสมทบได้อย่างไร ?  โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติผ่านระบบนายหน้า

2.  แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้แค่ 4 ปี  มีโอกาสได้รับเงินสงเคราะห์เท่ากับค่าจ้างเฉลี่ย 1 เดือนครึ่ง  เพราะทำงานส่งเงินสมทบได้ตั้งแต่ 3 ปีไม่ถึง 10 ปีแน่นอน

5.  กรณีสงเคราะห์บุตร

˜  แรงงานข้ามชาติอยู่ในประเทศไทยได้แค่ 4 ปี  แต่บุตรมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์จนถึง 6 ปี  เมื่อต้องสิ้นสุดการเป็นผู้ประกันตน  แรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิรับเงินสงเคราะห์บุตรต่อเนื่องได้หรือไม่ ?  ถ้าต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง

6.  กรณีชราภาพ

˜  เงื่อนไขที่แรงงานจะได้บำนาญชราภาพต้องเข้า 3 องค์ประกอบ คือ (1) ส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 180 เดือนหรือ 15 ปี (2) อายุขั้นต่ำ 55 ปีและ (3) ออกจากงาน

     ปัญหาคือ  แรงงานข้ามชาติทำงานได้แค่ 4 ปีและต้องออกจากงานจะได้บำเหน็จชราภาพเท่านั้นโดยต้องรอถึงอายุ 55 ปี จะมีแรงงานกี่คนที่จะได้รับบำเหน็จ ?

7.  กรณีว่างงาน

˜  แรงงานข้ามชาติที่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง  ต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง  หรือต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 7-15 วันถ้านายจ้างเลิกจ้างเพราะไม่ใช่ความผิดของลูกจ้าง  แรงงานจะเข้าถึงบริการจัดหางาน  การพัฒนาฝีมือแรงงาน  หรือเงินทดแทนการขาดรายได้ได้อย่างไร ?  ถ้าต้องรีบหานายจ้างใหม่โดยเร็วหรือต้องถูกส่งกลับ

8.  ประโยชน์ทดแทนต่อเนื่อง 6 เดือนภายหลังสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

˜  แรงงานข้ามชาติเมื่อสิ้นสุดการจ้างไม่เกิน 4 ปีต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางไม่มีทางใช้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องเหมือนแรงงานไทยได้

ข้อเสนอ

          (1)  ทบทวนอัตราเงินสมทบและประโยชน์ทดแทนที่เหมาะสมกับการจ้างแรงงานข้ามชาติ  จัดตั้งกองทุนการออมของแรงงานข้ามชาติ

          เพราะมีข้อจำกัดระยะเวลาการจ้างในประเทศไทยไม่เกิน 4 ปีตามข้อตกลงทวิภาคีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่า  ลาว  และกัมพูชา (MOU) และควรทบทวนการคุ้มครองประโยชน์ทดแทน 7 กรณี  โดยเฉพาะประกันชราภาพและประกันการว่างงาน

          ข้อเสนอคือ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกประกาศกฎกระทรวงตั้งกองทุนการออมแรงงานข้ามชาติ  โดยนำเงินสมทบจาก 2 กรณีดังกล่าวมาตั้งกองทุนฯ

          (2)  แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องกฎหมาย  ต้องได้รับการคุ้มครองตามระบบกฎหมายประกันสังคมเท่านั้น  ไม่ใช่ให้ระบบประกันสังคมภัยเอกชนดูแล  เพราะจะทำให้แรงงานข้ามชาติถูกขูดรีดเอาเปรียบมากขึ้น

          (3)  จัดให้มีสายด่วนประกันสังคมและสิ่งสื่อรณรงค์ที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ  มีล่าม  และสถานที่อำนวยความสะดวกที่แรงงานข้ามชาติเข้าถึง  ขอความช่วยเหลือได้จริง  เผยแพร่เรื่องประกันสังคมเป็นภาษาแรงงานเหมือนเช่นที่รณรงค์ให้ไปพิสูจน์สัญชาติในสื่อหนังสือพิมพ์กระแสหลัก

            สาระสำคัญ

บันทึก MOU (Memorandum of Understanding) ระหว่างไทยกับพม่า  ลาว  กัมพูชา

          รัฐบาลไทยได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างงาน (MOU)   กับรัฐบาลลาวเมื่อเดือนตุลาคม 2545  ไทยกับกัมพูชา  เมื่อพฤษภาคม 2546  และไทยกับพม่าเมื่อมิถุนายน 2546  เพื่อให้เกิดการจัดระบบสู่การจ้างแรงงานตามกฎหมายระหว่างรัฐต่อรัฐ  สาระสำคัญของบันทึกความเข้าใจ  สรุปได้ดังนี้

          วัตถุประสงค์และขอบเขต

          กำหนดให้ภาคีจะดำเนินมาตรการที่จำเป็นทั้งปวงเพื่อให้มี 4 ประการ  คือ

          1)  ขั้นตอนการดำเนินการที่เหมาะสมในการจ้างแรงงาน

          2)  มาตรการที่มีประสิทธิภาพในการส่งกลับแรงงานที่ครบวาระการจ้างหรือเงื่อนไขการจ้างสิ้นสุดลง  หรือถูกเนรเทศโดยเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งไปยังภูมิลำเนาเดิม

          3)  การคุ้มครองอันสมควรแก่แรงงานทั้งสองฝ่าย

          4)  การป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย  การค้าแรงงานผิดกฎหมาย  และการจ้างงานผิดกฎหมาย

          ระยะเวลาการจ้างงาน  จะกำหนดไม่เกิน 2 ปี  หากจำเป็นอาจอนุญาตให้ทำงานต่อไปอีก 2 ปี ไม่ว่ากรณีใด  ระยะเวลาการจ้างงานของแต่ละคนจะไม่เกิน 4 ปี

          แรงงานซึ่งสิ้นสุดวาระการจ้างแล้ว  จะสมัครเข้าทำงานใหม่ได้เมื่อได้เว้นระยะ 3 ปีภายหลังสิ้นสุดการจ้างงานครั้งก่อน

          หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันกำหนดขั้นตอนหลักเกณฑ์ดำเนินการสำหรับแรงงานที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในเรื่องต่อไปนี้

          1)  การตรวจลงตรา  หรือการอนุญาตให้เข้าเมืองในรูปแบบอื่น

          2)  ใบอนุญาตทำงาน

          3)  การประกันสุขภาพ  หรือบริการด้านสุขภาพ

          4)  การชำระเงินเข้ากองทุนสะสมตามที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ของแต่ละประเทศกำหนด

          5)  ภาษีหรืออื่นๆตามที่ภาคีกำหนด

สาระสำคัญ

อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ  ฉบับที่ 97 ว่าด้วยการอพยพเพื่อการมีงานทำ (แก้ไข) พ.ศ.2492  (Convention concerning  Migration  for  Employment (Revised) 1949)

และ

อนุสัญญาฉบับที่ 143  ว่าด้วยการอพยพในสภาพที่ถูกกดขี่และการส่งเสริมการมีโอกาสเท่าเทียมและการปฏิบัติต่อคนงานอพยพ พ.ศ. 2518 (Convention concerning  Migration in Abusive Conditions and the Promotion of Equality of Opportunity and Treatment of Migrant Workers 1975)

          อนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว  ประเทศไทยยังไม่ให้สัตตาบัน  มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองแรงานย้ายถิ่นหรือข้ามชาติ  โดยครอบคลุมถึงก่อนเดินทาง (ประเทศต้นทางหรือผู้ส่ง) ในระหว่างทำงานและการส่งตัวกลับ (ประเทศผู้รับ) สรุปได้ดังนี้ä

1.      ค่าตอบแทน

          ð ควรทัดเทียมกับค่าตอบดทนที่แรงงานของประเทศได้รับ  และสามารถมีผู้แทนเข้าร่วมในการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำได้  ถ้าหากมีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าจ้างและสวัสดิการอื่นๆ เช่นอาหาร  เครื่องนุ่งห่ม  โดยหักออกจากค่าจ้าง  เจ้าหน้าที่ของรัฐพึงตรวจสอบว่าสัดส่วนระหว่างค่าจ้างและสวัสดิการนั้นเหมาะสม  และเงื่อนไขอื่นในการจ้างงานเช่นจำนวนวันลา  ชั่วโมงการทำงาน ฯลฯ เป็นไปตามกฎหมายแรงงานของประเทศ

          2.  สภาพการทำงาน

          ð ควรเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่คุ้มครองแรงงานของประเทศ

          3.  ความมั่นคงในงาน

          ð ควรเป็นไปตามมาตรฐานของประเทศที่คุ้มครองแรงงานของประเทศ

          4.  ความก้าวหน้าในการทำงาน

          ð แรงงานข้ามชาติพึงมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเช่นเดียวกันที่แรงงานของประเทศได้รับ

          5.  สุขอนามัยและความปลอดภัย

          ð แรงงานข้ามชาติมีความต้องการพิเศษเกี่ยวกับสุขอนามัยและความปลอดภัย  ดังนั้นจึงควรมีมาตรการพิเศษสำหรับคุ้มครองพวกเขาจากโรคภัยไข้เจ็บและรวมถึงภาวะความเครียดที่เกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมใหม่  ควรมีการจัดการอบรมด้านอาชีวอนามัยและให้ความรู้เกี่ยวกับระบบระวังภัยในที่ทำงานให้กับแรงงานข้ามชาติเป็นพิเศษ

          6.  สิทธิด้านสหภาพแรงงาน

          ð อนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ประกันสิทธินี้ให้กับผู้ทำงานทุกคน  แม้ว่าประเทศนั้นจะไม่ได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาทั้งสองก็ตาม  แรงงานข้ามชาติพึงมีสิทธิเช่นเดียวกับแรงงานของประเทศ  โดยเฉพาะสิทธิในการต่อรองร่วม  เลือกผู้แทนของตน  ใช้กลไกการไกล่เกลี่ยพิพาทแรงงาน  และได้รับการหารือจากฝ่ายบริหารในสถานประกอบการเรื่องที่มีผลต่อสภาพการทำงานและเงื่อนไขการจ้างงาน

          7.  การเข้าถึงศาลยุติธรรม

          ð แรงงานข้ามชาติต้องสามารถเข้าถึงกลไกศาลยุติธรรมได้เช่นเดียวกับแรงงานของประเทศ  เมื่อเห็นว่าตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับสภาพการทำงาน  สิทธิด้านสหภาพแรงงานและความมั่นคงทางสังคม

          8.  การเข้าถึงการจ้างงานและการฝึกฝีมือ

          ð แรงงานข้ามชาติที่มีคุณสมบัติเหมาะสมพึงได้รับการจ้างงานใดๆ  ก็ได้  และแรงงานเหล่านี้ควรเข้าถึงการฝึกฝีมือแรงงานเช่นเดียวกับแรงงานของประเทศ  อย่างไรก็ตามรัฐบาลสามารถกำหนดเงื่อนไขให้แรงานข้ามชาติต้องอยู่ทำงานในงานหนึ่งๆ  ครบสองปีก่อนจึงสามารถเลือกไปทำงานอื่นได้  และรัฐบาลสามารถกำหนดห้ามการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในงานที่รัฐเห็นว่าการสงวนสิทธินั้นจำเป็น  เช่น  การรับราชการ

          9.  เสรีภาพการเดินทาง

ð แรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศอย่างถูกกฎหมาย  ควรมีเสรีภาพจะเดินทางไปในที่ต่างๆ  ภายในประเทศที่ตนทำงานอยู่  จะยกเว้นแต่เฉพาะสถานที่ที่จำกัดสิทธิของแรงงานของประเทศเช่นกัน

10.  การส่งเงินกลับบ้าน

ð แรงงานข้ามชาติพึงมีสิทธิที่จะส่งเงินกลับบ้าน (ภายในจำนวนที่กฎหมายอนุญาต) และเก็บเงินได้

11.  การเยี่ยมบ้านและครอบครัวมาเยี่ยม

ð มาตรฐานแรงงานสากลแนะนำให้รัฐบาลพิจารณากำหนดสิทธิที่เหมาะสม  ในระหว่างพักผ่อนประจำปีแรงงานข้ามชาติควรได้รับอนุญาตให้กลับไปเยี่ยมบ้านได้หลังจากที่ทำงานครบหนึ่งปีแล้ว  และในกรณีที่ไม่มีครอบครัวติดตามมา  ควรอนุญาตให้ครอบครัวเข้าประเทศมาเยี่ยมได้

12.  บริการให้คำปรึกษาต่างๆ

ð เพื่อช่วยแรงงานข้ามชาติปรับตัว  หน่วยงานของรัฐพึงจัดให้มีบริการให้คำแนะนำแก่แรงงานข้ามชาติ  โดยเฉพาะในเรื่องการดำรงชีวิต  การได้รับสวัสดิการต่างๆ  โดยที่หน่วยงานให้คำปรึกษาเล่านี้  จัดให้บริการโดยบุคคลที่สามารถสื่อสารในภาษาของแรงงานข้ามชาติได้  และเมื่อจำเป็นต้องมีบริการแปลให้ด้วย  บริการเหล่านี้ต้องเป็นบริการที่ไม่เก็บค่าธรรมเนียมใดๆ


(1) มติชน  คอลัมน์ตนแรงงานเรื่อง “หมดยุค ‘ต่างด้าว’ผิดกฎหมาย การจ้างงานต้องเท่าเทียม”  19 มีนาคม 2555 น.10

(2) หนังสือสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณะสุข  เรื่อง  การเตรียมการเพื่อตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า  ลาว  และกัมพูชาประจำปี 2554  เรียนนายแพทย์สาธารณะสุขจังหวัดลงวันที่ 14 กันยายน 2553

(3) เอกสารประกอบสมัชชาแรงงาน : ปฏิรูปประกันสังคมกับคุณภาพชีวิตแรงงาน , 13 มกราคม 2554  ณ  ห้องคอนแวนชั่นโรงแรมรามาการ์เดนส์  กรุงเทพมหานคร  จัดโดยแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ,มูลนิธิอารมณ์  พงศ์พงัน และเครือข่ายแรงงานต่าง

ä พริศรา  ลิ่วเกียรติ, เจ้าหน้าที่ ILO เอกสารเรื่อง “สิทธิแรงงานข้ามชาติ” ประกอบการอภิปรายวิจารณ์รายงานการศึกษานโยบายและกฎหมายด้านแรงงานข้ามชาติ, 15 มกราคม 2547 ณ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ