เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน ดัน สปส.เป็นหน่วยงานอิสระ

เปิดตัวร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน

ดัน สปส.เป็นหน่วยงานอิสระ-เลือกตั้งตรงผู้แทนลูกจ้างชี้เป็นผลดี เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน

          เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ณ โรงแรมอิสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ เครือข่ายแรงงาน อาทิ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานไทย จัดแถลงข่าว “ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. … (ฉบับบูรณาการแรงงาน) สู่การปฏิรูป สปส.เป็นองค์กรอิสระ”เพื่อเป็นการเปิดตัวร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน ทั้งในส่วนสาระสำคัญของร่าง และประเด็นที่ต่างจาก พ.ร.บ.ฉบับเดิม รวมทั้ง กิจกรรมที่จะดำเนินการต่อเพื่อผลักดันร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน

          น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ …) พ.ศ. … มีสาระสำคัญขยายการคุ้มครองให้รวมถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วย รวมทั้งขยายสิทธิประโยชน์อื่นๆเพิ่มเติมแก่ผู้ประกันตน และเตรียมเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งเครือข่ายแรงงานเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวของรัฐบาลยังขาดสาระสำคัญอีกหลายประการที่จะคุ้มครองผู้ใช้แรงงาน เช่น นิยามของคำว่าลูกจ้าง ที่ยังไม่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ การบริหารจัดการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ที่ส่อว่าอาจจะไม่โปร่งใส เครือข่ายแรงงานจึงได้ยกร่าง พ.ร.บ.ฉบับบูรณาการแรงงาน โดยอิงกับร่างของรัฐบาล แต่ได้ปรับเปลี่ยน และเพิ่มรายละเอียดในบางมาตรา ซึ่งยกร่างแล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553

          นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ ประธานสหพันธ์แรงงานธนาคารและการเงินแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับบูรณาการแรงงาน ว่า สาระสำคัญที่เป็นสิ่งใหม่ในกฎหมายนี้มีหลายประการ เช่น ขยายความคุ้มครองไปถึงลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ แก้ไขนิยามของคำว่า ลูกจ้าง เพื่อให้รวมถึงลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจ และคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน แก้ไของค์ประกอบ กระบวนการได้มา คุณสมบัติ อำนาจหน้าที่และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นตำแหน่งของคณะกรรมการประกันสังคม กำหนดให้ สปส.เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ กำหนดให้มีเลขาธิการสำนักงาน โดยมาจากกระบวนการสรรหา แก้ไขวิธีการคำนวณค่าจ้างรายวันในการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้

          ระบบการตรวจสอบเป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะสภาพปัญหาของการนำเงินประกันสังคมไปลงทุน หรือไปใช้ผิดประเภททำให้ขาดความโปร่งใส ขาดความน่าเชื่อถือ เกิดการตรวจสอบ การแก้กฎหมายใหม่ เราต้องการให้เกิดระบบตรวจสอบง่าย มีการทำรายงาน ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบการทำงาน การลงทุน ซึ่งเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือมากขึ้น

          นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงสร้างที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะเปลี่ยนแปลงการได้มาของกรรมการประกันสังคม ในส่วนของผู้ประกันตน ให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง จากแต่เดิมจะมาจากการเลือกตั้งขององค์กรสหภาพแรงงาน ซึ่งมีเพียง 3 แสนคน คิดเป็น 1-2 % เท่านั้นของผู้ประกันตนทั้งหมดประมาณ 9 ล้านคน ซึ่งดูไม่เหมาะสม หากเลือกตั้งโดยตรงจะเป็นการเปิดกว้างมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อผู้ประกันตน ในเรื่องของการบริหารจัดการและการขับเคลื่อนในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน นอกจากนี้ ในส่วนของเลขาธิการ ก็ให้มาจากการสรรหา จะทำให้การบริหารงานในสำนักงานโปร่งใสและดีขึ้น

นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม.กล่าวว่า การแก้กฎหมายประกันสังคมครั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดความคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม ซึ่งแรงงานนอกระบบเองมีกว่า 23 ล้านคน แม้ว่าขณะนี้มีมาตรา 40ของกฎหมายประกันสังคมให้การคุ้มครองอยู่แต่ไม่ครอบคลุมทางสิทธิประโยชน์ ทำให้ไม่จูงใจในการเข้าไปสมัครเป็นสมาชิก ซึ่งทางเครือข่ายได้มีการเสนอให้มีการแก้ไขปรับปรุงขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุมและมีความจูงใจมากขึ้น

นายชาลี  ลอยสูง ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทยกล่าวว่า ต่อประเด็นการขับเคลื่อนทางกฎหมายของขบวนการแรงงานนั้นจะมีการจัดให้การศึกษากับผู้ใช้แรงงานโดยจะเริ่มทำความเข้าใจกับผู้นำแรงงานในวันที่ 28 ตุลาคม 2553แล้วให้กลับไปทำความเข้าใจกับผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ ซึ่งจะให้เวลาในการขับเคลื่อนประมาณ 1 เดือน พร้อมกับจะมีการล่าลายมือชื่อเพื่อสนับสนุนร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. …. ฉบับบูรณาการจำนวน 20,000ลายชื่อด้วย (สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.https://voicelabour.org/?p=731 )

////////////////////////////////////