เบื้องหลัง “ฉุกเฉิน”ระบบเดียว ; มาตรการลดเหลื่อมล้ำยังมีข้อกังขา

เบื้องหลัง “ฉุกเฉิน”ระบบเดียวความล่าช้าที่ซ้ำรอยของ”ปชป.”

คอลัมน์ แกะรอย : กรุงเทพธุรกิจ 2 เมษายน 2555
สิรินาฏ ศิริสุนทร : uam_ok@yahoo.com:
 
   เริ่มต้นให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน 3 กองทุนสุขภาพ ทั้ง กองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม และ กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไปได้เพียง 1 วัน หลังจากเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 ที่ผ่านมา
   แม้จะเริ่มต้นภายใต้คำถามความพร้อมในการให้บริการของทั้งโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลรัฐบาล แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเริ่มต้นพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระบบสุขภาพของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เรียกเสียงตบมือ
   ว่ากันว่า ก่อนที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะตัดสินใจตอบรับการดำเนินการพัฒนาระบบบริการฉุกเฉินระบบเดียว เริ่มจากความวุ่นวายของแผนบันได 4 ขั้นล้มระบบหลักประกันสุขภาพ และความพยายามของแพทย์และกลุ่มการเมืองในก๊วนเดิม สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่พยายามจะเข้ามานั่งตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แทนนายแพทย์วินัย สวัสดิวร เลขาฯคนปัจจุบัน
   เสียงกระหึ่ม ที่ฟากการเมืองของเพื่อไทยจะเข้ามาแทรกแซงการทำงานของสปสช.ทำให้ร้อนถึง หมอมิ้ง-นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย ต้องลงมาลุยเอง โดยโยนโจทย์ใหม่การพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทั้ง 3 กองทุนสุขภาพให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
   ไม่เพียง เป็นการตอกย้ำแบรนด์ 30 บาทเดิมให้หนักแน่นมากขึ้น แต่เพื่อกลบกระแสการเมืองเข้าควบคุมบอร์ด สปสช. ไม่ให้บานปลาย และฉุดนโยบายที่ดีอยู่แล้วถอยหลังลงคลองไม่เกิดประโยชน์ สูญเสียคะแนนเสียงที่ครองใจคนเสียเปล่าๆ
   เรียกว่าครั้งนี้ หมอมิ้งลงทุนระดมประสานหน่วยงานของกองทุนสุขภาพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น กรมบัญชีกลาง กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข มาร่วมกันจัดประชุมเวิร์คช็อป กับนายกรัฐมนตรี โดยการประชุมเวิร์คช็อปทั้ง 3 กองทุน มี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นั่งหัวโต๊ะทุกครั้ง ไม่ว่าจะติดภารกิจที่ไหน แต่นายกรัฐมนตรีไม่เคยขาดประชุมแม้แต่ครั้งเดียว
   ส่วนเบื้องหลังโจทย์ใหม่ต่อยอด 30 บาท ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนนั้น เป็นที่รับรู้กันดีว่า นักวิชาการเศรษฐศาสตร์สุขภาพ อย่างนพ.พงศธร พอกเพิ่มดี และ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ออกมาเคลื่อนไหวให้ลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ ตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี
   การเคลื่อนไหวดังกล่าวนำมาสู่การตั้ง ชมรมพิทักษ์สิทธิ์ผู้ประกันตน และข้อเรียกร้องไม่ให้ผู้ประกันตนที่ใช้สิทธิบัตรประกันสังคมต้องออกค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ โดยขอให้รัฐจ่ายให้เช่นเดียวกับกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนบัตรทอง
   ไม่เพียงการเคลื่อนไหวหน้าฉากเท่านั้น หากหลังฉาก นักวิชาการและเอ็นจีโอกลุ่มนี้ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในการดูแลสุขภาพ โดยขอพรรคประชาธิปัตย์ต่อยอดพัฒนาระบบ 30 บาท นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสุขภาพ
   นายอภิสิทธิ์ คิดนาน ไม่เริ่มดำเนินการ และไม่มีท่าทีว่าจะสนใจ กระทั่งเข้าสู่ยุคของเพื่อไทย ซึ่งครั้งนี้ หมอมิ้ง รับรู้ผ่านสื่อสารมวลชนและมีการพูดคุยกับผู้บริหาร สปสช. ที่สนิทสนมกันไม่กี่ครั้ง ก็ตอบรับแนวคิดและจัดเวิร์คช็อปลดความเหลื่อมล้ำ จนเป็นที่มาของการให้บริการระบบฉุกเฉินมาตรฐานเดียว ฟรี ไม่ต้องถามสิทธิ
 
 
 
ประกันสุขภาพถ้วนหน้า 3 กองทุน 1 มาตรฐานบริการ ที่ยังมีข้อกังขา
 
กอง บก.ฐานเศรษฐกิจ ข่าวหน้า1 คอลัมน์ : วิเคราะห์  6 เมษายน 2012 
 
   การรักษาอาการเจ็บป่วยของประชาชนในโรงพยาบาลต่างๆ สมัยนี้แตกต่างจากในอดีตอย่างมาก  โดยเฉพาะคนยากจนตามสถิติของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่สำรวจไว้ในปี 2553 มีจำนวนถึง 5 ล้านคน จากประชากรกว่า 65.9 ล้านคน พบว่าโอกาสที่จะเข้าถึงระบบการรักษาลำบากมาก ขณะที่ข้าราชการสามารถเบิกจ่ายการรักษาได้หมด ทำให้ที่ผ่านมาระบบสวัสดิการด้านสุขภาพภาครัฐของประเทศไทย  ถูกแบ่งแยกออกเป็น 3 กองทุนสุขภาพ คือกองทุนสวัสดิการข้าราชการ กองทุนประกันสังคม(สปส.)  และกองทุนประกันสุขภาพ 30 บาท(สปสช.)  โดยสัดส่วนที่มีการใช้บริการ ปี 2554  
     บัตรประกันสุขภาพคิดเป็น   98.0% ที่คุ้มครองประชาชนส่วนใหญ่กว่า 48 ล้านคน  
     บัตรประกันสังคม 79.2% จากผู้ประกันตน 10ล้านคน และกองทุนเงินทดแทน 11.6 %
     และประเภทข้าราชการ/ รัฐวิสาหกิจ  8.8% จำนวนประมาณ 5 ล้านคน
 
     หากย้อนไปถึงที่มาของการรวมกองทุนทั้ง 3 แห่งนี้ คือช่วงสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ  เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี มีความต้องการลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ โดยเฉพาะด้านการรักษาพยาบาลที่มีความแตกต่างทั้งการรักษา ประเภทของโรคที่คุ้มครองและไม่คุ้มครอง จนถึงประเภทของยา  จึงมีนโยบายให้ศึกษาการควบรวม 3 กองทุนสุขภาพ  แต่ทว่าช่วงที่ผ่านมาการศึกษาไม่มีความคืบหน้า  เหตุเพราะแต่ละกองทุนไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลกับทีมศึกษา ด้วยการให้เหตุผลว่าวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งแต่ละกองทุนแตกต่างกันจึงไม่สามารถควบรวมกันได้   แต่ประเด็นสำคัญน่าจะอยู่ที่ "เงินของแต่ละกองทุน" ที่มีจำนวนมหาศาล
     อย่างงบของสปสช.ที่ได้รับคือ งบเหมาจ่ายรายหัว ปี 2555 จำนวน 2,755.60 บาทต่อประชากร ได้เพิ่มจากปี 2554 ที่ได้รับที่ 2,546.48 บาทต่อประชากร  รวมงบเหมาจ่ายรายหัว 1 แสนล้านบาท สำหรับประชากร 48.3 ล้านคน  
     ส่วนของสปส.มีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมกว่า 10.4 ล้านคน มีสถานประกอบการที่ต้องส่งเงินสมทบกว่า 4 แสนแห่ง มียอดเงินกองทุนประกันสังคมรวมทั้งสิ้น 846,544 ล้านบาท แต่มักจะถูกร้องเรียนอยู่เสมอถึงสิทธิการรักษาให้กับผู้ประกันตน  
     ขณะที่ระบบสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณปีละกว่า 6 หมื่นล้านบาท ดูแลผู้ใช้สิทธิเพียง 5 ล้านคน
   
     จะเห็นเม็ดเงินแต่ละกองทุนล้วนมหาศาล และเคยมีความพยายามในการแก้ปัญหาเรื่องสิทธิการรักษา ด้วยการโยกผู้ประกันตนมารักษาระบบเดียวกับ สปสช. โดยทาง สปส.จะต้องจ่ายให้กับ สปสช.ปีละกว่า 20,000 ล้านบาท  จึงทำให้การลดความเหลื่อมล้ำทางการรักษาของ 2 กองทุนนี้ต้องชะงักไป
 
-สุขภาพ : จุดขายประชานิยม
     ยุคพรรคไทยรักไทยได้บุกเบิกนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" ที่ครองใจคนจนทั้งประเทศ  สมัยพรรคประชาธิปัตย์ใช้ระบบรักษาฟรี  เมื่อพรรคเพื่อไทยได้กลับมาครองอำนาจการเมืองเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง  นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายเร่งด่วนพัฒนาระบบประกันสุขภาพด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาท รักษาทุกโรค เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ สะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม  ได้รับการรักษาจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด โดยใช้ความร่วมมือของ 3 กองทุนมาเป็นตัวช่วยแก้ปัญหา  จนเป็นที่มาของโครงการ "เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ช่วยเหลือทุกคน" 
     นายกฯยิ่งลักษณ์ให้เหตุผลของการผนึกกำลังว่า "เพราะการรักษาประชาชนมีค่าใช้จ่าย บางคนได้รับบริการที่ไม่เท่าเทียมกัน สิทธิต่างกัน และการดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินที่ต้องมีการถามสิทธิก่อนการรักษาอาจไม่ทันการ จึงต้องการให้ผู้ที่เจ็บป่วยฉุกเฉินเข้ารับการรักษาได้ทุกที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ เข้าถึงทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน และไม่มีค่าใช้จ่ายล่วงหน้า เมื่อรักษาไปได้สักระยะ ผู้ป่วยทุเลาก็ส่งกลับยังโรงพยาบาลที่กองทุนดูแล โดยให้จ่ายเงินได้ภายหลังตามสิทธิที่ได้รับการคุ้มครอง " 
 
-ต้องแจงโรคฉุกเฉินให้ชัดกันสับสน 
     ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมานั้น  รัฐบาลได้เริ่มให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินในทุกสิทธิการรักษาพยาบาล น.พ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังคงมีความกังวล เพราะจำเป็นต้องคำนึงถึง "นิยาม"ของคำว่า "ฉุกเฉินวิกฤติถึงชีวิต" ว่าจะตีความอย่างไร และกรณีนี้ส่วนใหญ่มักมุ่งประเด็นมาที่โรงพยาบาลเอกชนเป็นหลัก และเรื่องคำนิยาม ผู้ป่วยฉุกเฉินยังมีความคลุมเครืออยู่ โดยในส่วนของผู้ป่วยภาวะวิกฤติหรือสีแดง ทราบดีว่าโรงพยาบาลต้องช่วยเหลือตามกฎหมาย มาตรา 36 พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541 อยู่แล้วปฏิเสธไม่ได้  แต่ที่ยังคลุมเครือ คือ ผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งฉุกเฉินเร่งด่วน เช่นกันแต่ยังสามารถรอได้ในระดับหนึ่ง จึงอยากให้แจกแจงเป็นรายการของกลุ่มโรคที่ชัดเจนว่า มีโรคใดบ้าง ที่จำเป็นต้องให้บริการโรงพยาบาลเอกชน 
     ทาง สปสช.ได้วางแนวทางกว้างๆว่าให้ยึดตามแนวทางสถาบัน การแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) ที่จำแนกผู้ป่วยฉุกเฉินออกเป็น 3 ระดับ คือ
     1.ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติ หรือสีแดง คือ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหันซึ่งมีภาวะคุกคามต่อชีวิตหาก ไม่ได้รับการรักษามีโอกาสเสียชีวิตสูง อาทิ ภาวะหัวใจหยุดเต้น ภาวะหยุดหายใจ ภาวะช็อกจากการเสียเลือดรุนแรง มีอาการชักตลอดเวลาหรือชักจนตัวเขียว เลือดออกมากอย่างรวดเร็วตลอดเวลา เป็นภาวะที่คุกคามที่ต้องรีบช่วยเหลือได้รับการวินิจฉัยและรักษาทันที
      2.ผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนหรือสีเหลืองคือ บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันมาก หากไม่ได้รับการรักษาอาการเหล่านั้นจะรุนแรงขึ้นจนส่งผลให้เสียชีวิตหรือ พิการได้ อาทิ หายใจลำบากหรือเหนื่อยหอบชีพจรช้ากว่า 40 หรือเร็วกว่า 150 ครั้ง/นาที ไม่รู้สึกตัว ชัก อัมพาต ตกเลือด ความดันโลหิตตัวบนต่ำกว่า 90 มิลลิเมตรปรอท หรือตัวล่างสูงกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 35 องศา หรือสูงกว่า 40 องศา หรือกระทั่งภาวะจิตเวชฉุกเฉิน เป็นต้น
      3.ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว)ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยซึ่งมีภาวะเฉียบพลันไม่รุนแรง อาจรอรับปฏิบัติการแพทย์ได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งหรือเดินทางไปรับบริการ สาธารณสุขด้วยตนเองได้
 
ต้องพร้อมรับกลับเครือข่าย
     นอกจากข้อดีแล้ว  สิ่งที่เป็นข้อกังวลสำหรับโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เห็นว่าหากกรณีฉุกเฉินวิกฤติคนไข้เข้ามารับการรักษาส่วนใหญ่มักไม่ปฏิเสธการรักษา สิ่งที่สำคัญ สปสช.ในฐานะคนกลางควรมีการเก็บสถิติที่แน่นอนว่า ประชากรที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ มีเท่าใด และเชื่ออย่างยิ่งว่าเรื่องของการเช็กหมายเลขประจำตัวประชาชนยังเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งแน่นอนว่า คนไทยใน 3 สิทธิการรักษาพยาบาลนั้นมีสิทธิในการรับบริการกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ต้องการฝากให้รัฐบาลทราบว่า ยังมีคนไทยอีกมากที่ไม่อยู่ใน 3 สิทธิดังกล่าวเป็นจำนวนหลายแสนคน เช่น พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างตามองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ส่วนนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลยังบริการไม่ทั่วถึง 
     บริการอื่นอาจจะมีปัญหาเรื่องเงินแต่ที่นี่เงินไม่ใช่ปัญหา    เพราะส่วนใหญ่แต่ละกองทุนจะมีเงินสำรองการเจ็บป่วยฉุกเฉินอยู่แล้ว และเบิกจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดอยู่ เช่นของ สปส.จะมีงบประมาณ 400 ล้านบาท เป็นต้น อีกทั้งนายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้ น.พ. วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.หารือข้อสรุปการบริหารค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินร่วมกันของ 3 กองทุนให้เสมอภาคและเท่าเทียมกัน  พร้อมทั้งเตรียมพร้อมในการเริ่มระบบบริการนั้น โดย สปสช.จะทำหน้าที่ 2 ประการ คือ จัดทำโปรแกรมรองรับการเบิกจ่ายหรือทำหน้าที่เป็นหน่วยระบบจ่ายกลาง (Clearing house) ในการจ่ายค่าชดเชยบริการ และทำให้หน่วยบริการทั้ง 3 กองทุน เข้าใจวิธีการเบิกจ่าย หากระบบต่างๆ มีความพร้อมจะดำเนินการทั้งโรงพยาบาลสังกัดภาครัฐและเอกชนทุกแห่งทั่วประเทศ ขณะเดียวกัน เตรียมจัดทำฐานข้อมูลเพื่อบันทึกข้อมูลของ 3 กองทุนลงฐานข้อมูล 1330 และให้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลเพื่อจะตอบข้อสงสัยให้กับผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ทั้งผู้บริการและผู้รับบริการมีข้อสงสัยจะใช้โทร.สายด่วน1669 ขอคำปรึกษาและบริการช่วยเหลือ
     "สิ่งที่น่ากลัวคือเมื่อมีการรับตัวไว้รักษาแล้ว  ประเด็นสำคัญที่โรงพยาบาลเอกชนกลัวคือการส่งต่อผู้ป่วยกลับสู่โรงพยาบาลเครือข่าย ที่ผ่านมามักพบว่าโรงพยาบาลเครือข่ายจะปฏิเสธการรับตัวกลับไปรักษาโดยอ้างว่าเตียงเต็ม จึงอยากฝากให้ สปสช.กำชับโรงพยาบาลในเครือข่ายให้รับคนไข้กลับไปรักษาต่อ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่โรงพยาบาลยังคงต้องรับไว้  ดังนั้น เมื่อประกาศเป็นนโยบายแล้วควรมีการประชุมกับสมาคมอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และศึกษาต้นทุนที่แท้จริงเพื่อให้ระบบงานเดินไปได้อย่างเรียบร้อย เพราะทางโรงพยาบาลเอกชนเองต้นทุนแต่ละแห่งจะแตกต่างไปตามขนาดของโรงพยาบาล ทำให้บางแห่งอาจจะไม่คุ้มเพราะต้นทุนสูงกว่า " น.พ.เฉลิมกล่าว
     แม้ว่าในช่วงภาวะฉุกเฉินวิกฤติเช่นนั้น รัฐบาลจะมีแนวทางที่จะทำให้ผู้รับบริการมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้รับมาตรฐานยาไปในแนวทางเดียวกัน  และจะยึดเกณฑ์การใช้ยาของกองทุนใด เพราะแต่ละกองทุนต่างมีมาตรฐานยาที่แตกต่างกัน และจะมีการล็อกสเปคยาอีกหรือไม่ รวมถึงระยะเวลาในการจ่ายเงินคืนให้กับแต่ละกองทุนจะล่าช้าตามระบบราชการไทยหรือไม่ เชื่อว่าการดำเนินการแบบนี้เป็นข้อดีที่จะทำให้คนเข้าถึงการรักษาแต่ข้อกังขาที่เกิดขึ้น ล้วนเป็นโจทย์ที่ สปสช.ต้องรีบมีคำตอบ!!