เช็กอาการนิคมหลังน้ำลด เจ็บ-หนัก-เบา ตามสภาพที่ตั้ง กลับมาเดินเครื่องม.ค.ไม่ถึงครึ่ง

โดย ทีมข่าวเศรษฐกิจ (มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 26 ธ.ค.2554)
 
มหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 70 ปีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา สร้างความสูญเสียให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และภาคธุรกิจมหาศาล เพราะเป็นครั้งแรกที่มวลน้ำขนาดใหญ่บุกทำลายแหล่งการผลิตที่สำคัญในเขตนิคมอุตสาหกรรมถึง 7 แห่ง รวมมูลค่าลงทุนทั้งสิ้นเกือบ 6 แสนล้านบาท กระทบการจ้างงานถึง 3 แสนราย ขณะที่ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายครั้งนี้สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท
 
จนถึงวันนี้แม้ว่าจะผ่านพ้นวิกฤตมาแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงของการฟื้นฟู เพื่อให้ทุกภาคส่วนแข็งแรงและกลับมาทำหน้าที่ได้เหมือนเดิม "มติชน" ได้รวบรวมข้อมูลการฟื้นฟู 7 พื้นที่อุตสาหกรรม มีโรงงานตั้งทั้งหมด 838 โรง คือ จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.ปทุมธานี มูลค่าลงทุน 585,300 ล้านบาท และโรงงานอุตสาหกรรมนอกพื้นที่ประมาณ 19,000 โรง
 
รัฐบาลตั้งเป้าหมายว่า เดือนมีนาคม 2555 โรงงานอุตสาหกรรมที่เคยถูกน้ำท่วมตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหมดราว 20,000 โรง มูลค่าลงทุน 620,000 ล้านบาท ใน 29 จังหวัดที่ถูกน้ำท่วมจะสามารถกลับมาเดินเครื่อง 100% 
 
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นไปได้หรือไม่ หรือสภาพโดยรวมยังโคม่า น่าติดตาม…
 
เริ่มที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ซึ่งเป็นแห่งแรกที่ถูกน้ำท่วมวันที่ 4 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการรวม 1,441 ไร่ จำนวนโรงงาน 43 โรง จำนวนแรงงาน 15,000 คน และมีมูลค่าลงทุนรวม 19,000 ล้านบาท โดยนิคมสหรัตนนครสูบน้ำออกจากพื้นที่หมดเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม แต่ยังไม่มีบริษัทใดเริ่มดำเนินการผลิตได้ เพราะยังอยู่ระหว่างฟื้นฟู ทั้งการทำความสะอาด ซ่อมแซมเครื่องจักรซึ่งต้องใช้เวลา และบางส่วนเลือกที่จะซื้อเครื่องจักรใหม่เพราะคุ้มทุนและประหยัดเวลาได้มากกว่า แถมภาพรวมนิคมยังติดปัญหาเรื่องหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ด้วย 
 
นายณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะประธานคณะทำงานฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร กล่าวสรุปความคืบหน้าว่า ยังไม่มีรายใดกลับมาผลิตได้และมี 6 โรงงานที่ย้ายไปผลิตโรงงานในเครือที่ตั้งในพื้นที่อื่นๆ เช่น บริษัท เอคโค่ ผลิตรองเท้า นักลงทุนเดนมาร์กถือหุ้น 100% เงินลงทุน 974 ล้านบาท แรงงาน 1,935 คน ย้ายไปผลิตชั่วคราวที่ จ.สระบุรี บริษัท โยเนะเด็น ผลิตสายไฟและอุปกรณ์ นักลงทุนญี่ปุ่นถือหุ้น 100% เงินลงทุน 133 ล้านบาท แรงงาน 519 คน ย้ายไปผลิตชั่วคราวที่สระบุรี รวมถึงบริษัท เอฟ.ที.เอ็น. ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ นักลงทุนญี่ปุ่นถือหุ้น 100% เงินลงทุน 214 ล้านบาท แรงงาน 166 คน ย้ายไปผลิตชั่วคราวที่สระบุรีเช่นเดียวกัน 
 
อย่างไรก็ตาม ยังมี 6 รายที่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะย้ายหรือไม่ แต่ต้องการรอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อน เช่น บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ บริษัท เอคโค่ เทนเนอร์ ผลิตรองเท้าหนัง บริษัท ท็อปไฮเทค ผลิตแม่พิมพ์โลหะ สำหรับความคืบหน้าการสร้างแนวกั้นถาวร อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 240 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2555
ขณะที่เขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ ที่ถูกน้ำท่วมวันที่ 8 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการ 10,400 ไร่ จำนวนโรงงาน 245 โรง จำนวนแรงงาน 140,000 คน และมีมูลค่าลงทุนรวม 170,000 ล้านบาท ได้สูบน้ำออกจากพื้นที่หมดวันที่ 28 พฤศจิกายน ปัจจุบันโรงงานทั้งหมด 245 โรง เปิดดำเนินการผลิตบางส่วน 2 โรง เพราะต้องรอการซ่อมแซมระบบสาธารณูปโภค ทั้งน้ำ ถนน โดยเฉพาะไฟฟ้า เนื่องจากโรงงานไฟฟ้าโรจนะ เพาเวอร์ เสียหายอย่างหนักจากน้ำท่วม ระบบการจ่ายไฟภายในพื้นที่อุตสาหกรรมจึงต้องใช้เวลา
 
นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า โรงงานภายในเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะจะกลับมาเริ่มผลิตบางส่วนทั้งหมดหลังปีใหม่ จะมีก็เพียงฮอนด้า ที่คาดว่าจะกลับมาเริ่มผลิตในเดือนเมษายน 2555 ถือเป็นข่าวดีที่สามารถกลับมาผลิตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์
 
สำหรับแนวโน้มปิดกิจการ นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในฐานะประธานคณะทำงานฟื้นฟูเขตประกอบการอุตสาหกรรมโรจนะ ยืนยันว่าไม่มีรายใดปิดกิจการ แต่มี 3 รายที่ย้ายไปลงทุนพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทย ประกอบด้วย บริษัท ซันโย บริษัท มินอิก และบริษัท นูเทค โดย 2 บริษัทหลังเป็นของไต้หวัน ด้านความคืบหน้าการสร้างแนวกั้นถาวรนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 2,000 ล้านบาท ก่อสร้างเสร็จภายในเดือนสิงหาคม 2555
 
นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) ถูกน้ำท่วมวันที่ 13 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการรวม 2,446 ไร่ จำนวนโรงงาน 143 โรง จำนวนแรงงาน 64,000 คน และมีมูลค่าลงทุนรวม 65,300 ล้านบาท โดยสูบน้ำออกจากพื้นที่หมดวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีโรงงานเริ่มกลับมาเปิดการผลิตบางส่วน 
 
นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ในฐานะประธานคณะทำงานฟื้นฟูนิคมไฮเทคให้ข้อมูลว่า โรงงานทั้งหมด 143 โรง เปิดดำเนินการบางส่วนแล้ว 15 โรง พนักงาน 3,200 คน เริ่มกลับเข้าทำงาน จำนวนนี้มีบริษัท แคนนอน 1,600 คน และยังไม่มีรายใดปิดกิจการหรือย้ายฐาน แต่มีโรงงานจำนวนหนึ่งย้ายฐานการผลิตชั่วคราว จำนวนนี้มีโรงงาน อาปิโก ไฮเทค บริษัทชิ้นส่วนขนาดใหญ่ที่ป้อนชิ้นส่วนให้กับบริษัทรถยนต์เกือบทุกค่ายในไทย โดยย้ายฐานการผลิตไปโรงงานที่ตั้งใน จ.ระยอง และ จ.ชลบุรี
 
นอกจากนั้น ไฮเทคยังมีบริษัทประกันภัยเข้าพื้นที่เพื่อประเมินความเสียหายแล้วประมาณ 40% ส่วนการสร้างแนวกั้นถาวร วงเงินที่ใช้อยู่ที่ 250-300 ล้านบาท แต่อยู่ระหว่างหารือขอสินเชื่อกับธนาคารออมสิน 
 
ด้านนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ถูกน้ำท่วมวันที่ 15 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการ 1,962 ไร่ จำนวนโรงงาน 90 โรง จำนวนแรงงาน 35,000 คน และมีมูลค่าลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท โดยนิคมได้สูบน้ำออกจากพื้นที่หมดวันที่ 17 พฤศจิกายน ถือเป็นนิคมที่สูบน้ำออกเร็วเพราะเป็นเครือญาติกับบริษัท ช.การช่าง บริษัทก่อสร้างอันดับต้นๆ ของไทย
 
และจากสายสัมพันธ์ดังกล่าว ตรวจสอบแผนการก่อสร้างแนวกั้นของนิคมบางปะอิน พบว่า มีแนวโน้มเป็นนิคมที่ก่อสร้างแนวกั้นเร็วที่สุด เพราะวางแผนก่อสร้างในเดือนมกราคม 2555 จากความพร้อมด้านวิศวกรรม ประกอบกับควักกระเป๋าลงทุนเองไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท 
 
ส่วนสถานะโรงงานในนิคมบางปะอินพบว่า เริ่มเปิดกิจการบางส่วนแล้ว รวม 15 โรง จากทั้งหมด 90 โรง โดยโรงงานอยู่ระหว่างฟื้นฟูเพื่อกลับมาผลิต แต่ติดปัญหาเรื่องการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเว้นภาษีนำเข้าเพื่อชดเชยเครื่องจักรเดิมที่ถูกน้ำท่วม เพราะกระทรวงการคลังยังไม่ออกประกาศในรายละเอียด
 
สำหรับเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อย ถูกน้ำท่วมวันที่ 16 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการรวม 130 ไร่ โรงงาน 99 โรง แรงงาน 8,500 คน และมีมูลค่าการลงทุนรวม 11,000 ล้านบาท สูบน้ำออกจากพื้นที่หมดเดือนพฤศจิกายน และเป็นอีกแห่งที่สูบน้ำเสร็จเร็วที่สุด เพราะพื้นที่ไม่เยอะประกอบกับโรงงานเป็นขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การฟื้นฟูจึงทำได้ง่าย และโรงงานยังเป็นลักษณะห้องแถว 2 ชั้น เครื่องจักรไม่ได้ถูกน้ำท่วม เพราะย้ายหนีทัน ปัจจุบันทั้ง 99 โรงจึงกับมาผลิต คาดว่าจะผลิต 100% ทุกโรงงานภายในเดือนมกราคมแน่นอน 
 
สำหรับแนวกั้น นายชัยยง กฤตผลชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในฐานะประธานคณะทำงานฟื้นฟูเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อย กล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างพิจารณาของผู้พัฒนาพื้นที่และโรงงาน แต่การสร้างจะทำเพียงทิศเหนือกับใต้ เพราะตะวันออกและตะวันตกมีกำแพงสูงกั้นน้ำอยู่แล้ว วงเงินที่ใช้ไม่เกิน 10 ล้านบาท
 
สวนอุตสาหกรรมนวนคร ถูกน้ำท่วมวันที่ 17 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการรวม 6,500 ไร่ โรงงาน 227 โรง จำนวนแรงงาน 170,000 คน มีมูลค่าลงทุนรวม 200,000 ล้านบาท ได้สูบน้ำออกจากพื้นที่หมดวันที่ 9 ธันวาคม 
 
นายนิพิฐ อรุณวงษ์ ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการบริษัท นวนคร จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันมีโรงงานกลับมาผลิตแล้ว 30 โรง จากทั้งหมด 227 โรง และในจำนวนที่กลับมาผลิต มีมากกว่า 10 โรง ที่สามารถผลิตได้เต็มความสามารถ 100% 
 
ผู้บริหารของนวนครยืนยันว่ายังไม่มีโรงงานใดย้ายฐานการผลิต แต่อยู่ระหว่างตัดสินใจว่าจะย้ายฐานการผลิตไปพื้นที่อื่นที่ไม่เสี่ยงถูกน้ำท่วมหรือไม่ เพราะจากการหารือร่วมกับทุกโรงงานพบว่า ต่างตั้งคำถามถึงความชัดเจนของรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่นวนครพยายามทำคือการสร้างแนวกั้นถาวร ป้องกันปัญหาน้ำท่วมในครั้งต่อไป และหวังว่าจะช่วยกันนักลงทุนไม่ให้หนี แต่แนวกั้นยังติดปัญหาเรื่องหลักเกณฑ์การค้ำประกัน เพราะต้องการสินเชื่อจากธนาคารออมสินมากกว่า 600 ล้านบาท จึงอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาล โดยเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันแทนโรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรม
 
ส่วนสวนอุตสาหกรรมบางกะดี เป็นแห่งสุดท้ายที่ถูกน้ำท่วมวันที่ 20 ตุลาคม มีพื้นที่โครงการรวม 1,222 ไร่ โรงงาน 44 โรง แรงงาน 30,000 คน มีมูลค่าลงทุนรวม 60,000 ล้านบาท โดยได้สูบน้ำออกจากพื้นที่หมดวันที่ 3 ธันวาคม โดยนายกนิษฐ์ เมืองกระจ่าง รองประธานบริษัท ไทยโตชิบาอุตสาหกรรม ในฐานะผู้จัดการสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ระบุว่า ฐานะโรงงานทั้ง 44 โรง ครึ่งหนึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ อีกครึ่งเป็นบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยโรงงานเอสเอ็มอีเริ่มเดินหน้าประมาณ 20 โรงแล้ว และเดินเครื่อง 100% ไม่ถึง 10 โรง 
 
ทั้งนี้ จากสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงทำให้มีบริษัทเอสเอ็มอี 2 แห่งต้องปิดกิจการลง โรงงานแรกถูกน้ำท่วมพร้อมกับโรงงานในเครือ จึงต้องปิดกิจการลงชั่วคราวเพื่อรอให้สถานการณ์บริษัทดีขึ้น อีกโรงไม่มีประกันจึงต้องปิดตัวลงชั่วคราว ส่วนความคืบหน้าการลงทุนสร้างแนวกั้นถาวร คาดว่าจะใช้วงเงินประมาณ 300 ล้านบาท แต่ยังติดเงื่อนไขเรื่องการกู้ธนาคารออมสิน แต่จะหารือเพื่อให้ได้ข้อสรุปเร็วๆ นี้
 
สำหรับโรงงานนอกพื้นที่อุตสาหกรรม สำรวจพบว่ากว่า 99% เป็นโรงงานขนาดเล็ก และส่วนใหญ่ฟื้นตัวเร็ว สามารถกลับมาประกอบกิจการได้แล้ว 
 
ทั้งหมดเป็นสถานการณ์ล่าสุดที่ "มติชน" รวบรวมไว้!!