นายจ้างเจ.เพลส ย้ายสถานประกอบการอ้างกระทบต้นทุน ไม่มีนโยบายเรื่องค่าชดเชย ท้าใครอยากได้ไปฟ้องเอา ในขณะที่ลูกจ้างอ้างผลกระทบต่อการดำรงชีพ
เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 เวลาประมาณ11.00น. ลูกจ้างจากบริษัท ไทยเจ.เพลส จำกัด จำนวน 110 คน ได้เดินทางมากระทรวงแรงงา นเพื่อยื่นแบบคำร้อง คสว.1 ต่อคณะกรรมการสวัสดิการ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ในกรณีที่บริษัทไทยเจ.เพลส จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นใน ยี่ห้อเจ.เพลส ได้ย้ายบริษัทจาก ต.หนองกี่อ.กบินบุรี ไปอยู่ที่ต.บ่อทอง อ.กบินบุรี ซึ่งห่างจากที่เดิมประมาณ 25 กิโลเมตร โดยบริษัทฯได้มีการปิดประกาศแจ้งกับลูกจ้างไว้เมื่อวันที่15 สิงหาคม2557 ซึ่งลูกจ้างจะต้องย้ายไปในวันที่16กันยายน2557 แต่มีลูกจ้างจำนวน 110 คนจากทั้งหมด 273 คน ไม่ต้องการย้ายตามไปทำงาน เพราะอยู่ไกลและได้กระทบต่อความเป็นอยู่ การเดินทางที่สูงขึ้น จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเมื่อวัน25สิงหาคม 2557และในที่1กันยายน 2557 แต่ทางบริษัทฯไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยพิเศษให้กับลูกจ้าง เนื่องจากทางบริษัทฯได้จัดสวัสดิการรถรับ-ส่งไว้ให้แล้ว ลูกจ้างทั้งหมดจึงได้เดินทางมาร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทรวงแรงงานให้ทำการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นายสมหวัง หอมยาดี เจ้าหน้าที่ประนอมข้อพิพาทกระทรวงแรงงานได้ออกมาต้อนรับลูกจ้างจากบริษัทไทยเจ.เพลส จำกัด พร้อมทั้งได้พูดคุยกับทางลูกจ้างว่า ลองไปพูดคุยกับทางบริษัทฯเพื่อหาข้อยุติ ภายใต้กรอบว่าลูกจ้างจะต้องมีงาน และได้รับการเยียวยาจากนายจ้างหรือการเพิ่มสวัสดิการให้ลูกจ้าง ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการยื่นคำร้องตามมาตรา120พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานพ.ศ.2551 จากนั้นได้มอบหมายให้ทางเจ้าหน้าที่กองสวัสดิการชี้แจงเรื่องการเขียนคำร้องและการสอบข้อเท็จจริง
นางดัชนี จันทรชาติ วัย 38ปี กล่าวกับนักสื่อสารแรงงานว่า เธอมีโรคประจำตัวหลายโรคเป็นทั้งโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และโรคไตอักเสบ ต้องทานยาตลอด ซึ่งเป็นมาได้3ปีแล้ว มีภาระที่ต้องส่งลูกไปโรงเรียนและต้องดูแลแม่ที่มาอยู่ด้วยภาระทั้งหมดก็ต้องไปตกที่สามี หากต้องย้ายตามบริษัทจะทำให้เธอต้องตื่นเช้าขึ้นกว่าเดิมเพราะต้องไปรอรถรับส่งของบริษัทฯ ปกติเธอจะไปทำงานพร้อมกับสามี ไม่ได้ขึ้นรถบริษัทฯ แต่ที่ใหม่ไปคนละทางกับที่ทำงานของสามี จึงเพิ่มภาระให้สามีต้องมาส่งที่จุดรอรถของบริษัทฯก่อน เวลากลับถึงบ้านก็ช้าลง พักผ่อนน้อยลง ทำให้ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของเธอ
นายอาคม ทองไทย อายุ 48ปี เป็นอีกคนที่มายื่นคำร้อง กล่าวว่า วันที่บริษัทฯติดประกาศและประกาศเสียงตามสายว่า” ที่บริษัทฯต้องย้ายเพราะค่าใช้จ่ายที่นี่สูงจึงต้องการนำคนงานที่นี่ไปรวมกับทางต.บ่อทอง และทางบริษัทฯไม่มีนโยบายที่จะจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ใดๆ เพราะได้จัดรถรับส่งไว้ให้แล้ว และหากใครมีญาติเป็นเจ้านายก็ไปฟ้องเอาเอง” ฟังแล้วเสียใจเพราะคนงานที่มาในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นคนเก่าแก่ทั้งนั้นมีอายุตั้งแต่30-56ปีทำงานกันมานาน แต่ค่าจ้างยังเป็นรายวัน วันละ 300 บาท ทุกคน โบนัส เงินขึ้นก็ไม่มี แต่อาศัยว่ายังพอสะดวกในการเดินทางบ้าง มีรถรับส่งก็ใช่ว่าจะขึ้นฟรีต้องเสียเป็นรายเดือนให้บริษัทฯ แต่เดิมเสียเดือนละ300 บาท ปรับมาเป็น 500 บาท ดีที่ปัจจุบันเก็บแค่เดือนละ40 บาท หากต้องย้ายไปก็ยังไม่รู้ว่าบริษัทฯจะขึ้นค่ารถหรือไม่ ปกติตนไปทำงานด้วยรถจักรยานยนต์พร้อมภรรยาและลูก หากย้ายตามคงไม่สะดวกไปเพราะลูกอายุเพียง 3 ขวบ กำลังเรียนชั้นอนุบาล ต้องส่งลูกไปโรงเรียน และจ้างคุณครูสอนพิเศษคิดเป็นชั่วโมงละ20บาท จนตนและแฟนเลิกงานมารับ ทางบริษัทฯน่าจะเห็นใจบ้าง
ด้านนายไพฑูรย์ สีตา รองประธานสหภาพแรงงานฮิตาชิแห่งประเทศไทย ได้ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า “ เนื่องจากมีครอบครัวของสมาชิกสหภาพฯทำงานอยู่ในบริษัทฯนี้ จึงได้พอรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งลูกจ้างมีเหตุผลที่สลับซับซ้อนมากกว่าเรื่องแค่ต้องการเงินชดเชย แต่การเดินทางซึ่งที่เดิมก็ไกลอยู่แล้วที่ใหม่ยิ่งไกลไปอีก จนส่งผลกระทบในหลายด้าน เช่นหลายคนมีลูกเล็ก มีลูกที่กำลังเรียน มีพ่อมีแม่ที่ไม่แข็งแรงที่จะต้องดูแลต้องตื่นเช้ามากขึ้น มีภาระค่าใช้จ่ายที่มากขึ้นเช่นอาจจะต้องจ้างรถรับส่งลูกไปโรงเรียน เพราะไม่มีเวลาไปส่งด้วยตนเองเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ทันรถรับส่งของบริษัทที่ไม่ได้เข้าไปรับที่หน้าบ้านล้วนต้องเดินทางมาขึ้นตามจุดที่กำหนดไว้ และบริษัทนี้ก็เคยมีการย้ายมาแล้วแต่ย้ายไปไม่ไกลมากลูกจ้างจึงยอมย้ายตามมาแต่ที่ใหม่นี้ไกลถึง25ก.ม.ลูกจ้างจึงย้ายตามไปไม่ได้”
ทางคณะกรรมการสวัสดิการแรงงาน ได้ให้ทางฝ่ายลูกจ้างแต่งตั้งตัวแทนเพื่อมอบอำนาจให้กระทำการแทนผู้ยื่นคำร้องทุกคนซึ่งทางฝ่ายลูกจ้างได้แต่งตั้งตัวแทนจำนวน 6 คน ดังนี้ 1.น.ส.กันยา ถาวร 2.นางลัดดา คำแหง 3.นางสมใจ เงินลา 4.นางนิด พรมสิทธิ 5.นางประนอม ทองไทย 6.นางเพ็ญนี แพงตา จากนั้นจนเวลาประมาณ17.00น.ลูกจ้างจึงเดินทางกลับ จ.ปราจีนบุรี
สำหรับพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม)พ.ศ.2551มาตรา120วรรคแรกระบุว่า “ในกรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ ที่อื่น อันอาจมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของลูกจ้างหรือครอบครัวนายจ้างต้องแจ้งให้ลูกจ้างทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันย้ายสถานประกอบกิจการนี้ ถ้าลูกจ้างไม่ประสงค์ที่จะไปทำงานด้วย ให้ลูกจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาจ้างภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือวันที่ย้ายสถานประกอบกิจการแล้วแต่กรณี โดยลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยพิเศษไม่น้อยกว่าอัตราค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับตามมาตรา118” ซึ่งในวรรคสี่ ยังระบุว่าหากนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยพิเศษให้ลูกจ้างมายื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสวัสดิการแรงงานภายใน 30 วัน จึงเป็นเหตุให้ลูกจ้างต้องมายื่นคำร้องในครั้งนี้
นักสื่อสารแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก รายงาน