เจ้าหน้าที่สนธิกำลังช่วยชาวโรฮิงยาถูกขบวนการค้าแรงงานเถื่อนขังในสวนยาง

 

เจ้าหน้าที่สนธิกำลังช่วยชาวโรฮิงยาถูกขบวนการค้าแรงงานเถื่อนขังในสวนยาง

 

 

Thu, 10/01/2013 – 15:24

เจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าฝ่ายปกครองและตำรวจเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญา 400 คนได้จากสวนยางพาราบริเวณตำบลปาดังเปซาร์อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลาเขตรอยต่อกับประเทศมาเลเซียหลังถูกนำมากักขังนานกว่า 3 เดือนระหว่างรอขบวนการค้าแรงงานเถื่อนส่งข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านและเป็นแรงงานในเรือประมง

เจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการข่าวเชิงรุกและภัยแทรกซ้อนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้าร่วมกับฝ่ายปกครองอำเภอสะเดาตำรวจภูธรปาดังเปซาร์สนธิกำลังเข้าช่วยเหลือชาวโรฮิงญาประมาณ 400 คนในจำนวนนี้มีเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี 5 คนและเด็กชายอายุต่ำกว่า 15 ปี 61 คนที่ถูกกักขังอยู่ภายในบ้านพักชั่วคราวในสวนยางพารารอยตะเข็บชายแดนไทย-มาเลเซียพื้นที่บ้านชายควนทุ่งไม้ด้วนหมู่ 4 ตำบลปาดังเปซาร์อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลาพร้อมควบคุมชายชาวโรฮิงญา 5 คนที่มีหน้าที่ดูแลพร้อมปืนลูกซองยาว 1 กระบอกปืนชนิดไทยประดิษฐ์ 1 กระบอกโทรศัพท์มือถืออีก 10 เครื่องจากการสอบ

จากการสวนทราบว่าชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ถูกนำมากังขังไว้นานกว่า 3 เดือนแล้วเพื่อรอส่งไปยังประเทศมาเลเซียและขายเป็นแรงงานเรือประมงรายละ 60,000 บาทโดยมีขบวนการค้าแรงงานเถื่อนเป็นผู้ควบคุมชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ลักลอบมาจังหวัดระนองก่อนถูกนำมากักขัง

ตม.สงขลาพบขบวนการค้ามนุษย์มีผู้มีอิทธิพลนักการเมืองท้องถิ่นเกี่ยวข้อง

Fri, 11/01/2013 – 19:59

ความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนทำให้ชาวโรงฮิงยาพยายามหลบหนีออกจากประเทศพม่าเพื่อหาที่พักพิงใหม่จึงมักถูกขบวนการค้ามนุษย์หลอกไปเป็นแรงงานทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านข้อมูลของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลาพบว่าขบวนการค้ามนุษย์ส่วนใหญ่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลนักการเมืองท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้อง

ชาวมุสลิมสัญชาติพม่าหรือชาวโรฮิงญาทั้งเด็กและผู้ใหญ่เกือบ 700 คนยังอยู่ในการดูแลของเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดาจังหวัดสงขลาโดยหลายคนอยู่ในสภาพอิดโรยเนื่องจากในระหว่างที่อยู่ในการควบคุมของขบวนการค้ามนุษย์นั้นขาดแคลนทั้งเรื่องอาหารและสภาพที่อยู่ซึ่งแออัด

ชาวโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ในประเทศพม่าความขัดแย้งด้านเชื้อชาติและการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างหนักทำให้พวกเขาตัดสินใจหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อหาที่พักพิงใหม่แต่ท้ายสุดกลับตกไปอยู่ในเงื้อมมือขบวนการค้ามนุษย์

ขบวนการค้ามนุษย์จะนำชาวโรฮิงญาออกจากประเทศพม่าผ่าน 2 เส้นหลักคือนำไปลงเรือที่ประเทศบังกลาเทศและการเดินทางลงเรือที่รัฐยะไข่โดยตรงจากนั้นจะนั่งเรือมายังหมู่เกาะในทะเลอันดามันของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดระนองซึ่งถือเป็นศูนย์กลางขบวนการค้ามนุษย์ก่อนที่จะส่งชาวโรฮิงญาเหล่านี้ไปเป็นแรงงานทั้งในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในแถบภูมิภาคอาเซียน  

 

สำหรับขบวนการค้ามนุษย์ในอำเภอสะเดาจังหวัดสงขลามีด้วยกัน 4 กลุ่มใหญ่ซึ่งประกอบด้วยผู้มีอิทธิพลซึ่งเป็นเจ้าของบ่อนการพนันนักการเมืองท้องถิ่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐทั้งสีเขียวและสีกากีเข้าไปอยู่เบื้องหลังส่วนการดูแลชาวโรฮิงญากลุ่มนี้ซึ่งถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เจ้าหน้าที่ระบุว่าจะช่วยเหลือไปตามหลักมนุษยธรรมพร้อมทั้งมีการฟื้นฟูสภาพจิตใจก่อนผลักดันออกนอกประเทศ

การที่รัฐบาลไทยไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องปัญหาผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับชาวโรฮิงญาจึงทำให้ไทยกลายเป็นประเทศทางผ่านของขบวนการค้ามนุษย์ซึ่งนักวิชาการด้านกฎหมายเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่ไทยและนานาชาติควรร่วมมือกันปัญหาเรื่องชาวโรฮิงญาอย่างเร่งด่วน

เมื่อมีชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายประเทศไทยจะแก้ปัญหาแบบเฉพาะหน้าโดยเน้นการผลักดันออกนอกประเทศในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกลับมีความร่วมมือกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) ให้ที่พักพิงในประเทศมาเลเซียเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและเมื่ออยู่ในประเทศมาเลเซียครบ 2 เดือนก็จะออกบัตรของยูเอ็นเอชซีอาร์เพื่อให้ผู้ลี้ภัยเหล่านี้สามารถพักพิงและหางานทำในประเทศมาเลเซียได้