วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เครือข่าย We Fair ส่งจดหมายเปิดผนึก “ไม่รับหลักการ พ.ร.บ.งบประมาณ คืนงบสวัสดิการให้ประชาชน”
ด้วยเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (เครือข่าย We Fair) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยมีกรอบงบประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท เห็นว่า การจัดสรรงบประมาณไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ขาดการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ ข้าราชการได้รับอภิสิทธิ์สวัสดิการเพิ่มขึ้น สวนทางกับงบประมาณประเทศที่ปรับลดลง 5.7% และสวัสดิการประชาชนถูกปรับลดลง 10.2% การจัดงบประมาณไม่ตอบสนองต่อการแก้ไขปัญหาครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผลกระทบความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนเรื้อรัง จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลงมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยมีความเห็นประกอบการพิจารณา ดังต่อไปนี้
.
1) งบประมาณสวัสดิการสังคมประชาชนลดลง
งบประมาณสวัสดิการประชาชนในปี 2565 จำนวน 325,490.9 ล้านบาท ถูกปรับลดลงจากงบประมาณในปี 2564 จำนวน 36,913.4 ล้านบาท คิดเป็น 10.2% โดยมีรายละเอียด ดังนี้
.
1.1) งบประมาณสวัสดิการประชาชนลดลง ได้แก่ เงินสมทบประกันสังคม 44,091.0760 ล้านบาท ปรับลด 19,519.824 ล้านบาท คิดเป็น 30.7% เงินกองทุนประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 30,000 ล้านบาท ปรับลด 19,500 ล้านบาท คิดเป็น 39.4% กองทุนการออมแห่งชาติ 300 ล้านบาท ปรับลด 305.7869 คิดเป็น 50.5% การเคหะแห่งชาติ 731.4436 ล้านบาท ปรับลด 829.8282 ล้านบาท คิดเป็น 53.2% กองทุน สปสช. 140,550 ล้านบาท ปรับลดลง 1,814 ล้านบาท คิดเป็น 1.2%
.
1.2) งบประมาณกระทรวงด้านสวัสดิการประชาชนลดลง ได้แก่ กระทรวงแรงงาน 49,742.8223 ล้านบาท ปรับลด 19,977.4946 ล้านบาท คิดเป็น 28.65% จังหวัดและกลุ่มจังหวัด 17,411.0123 ล้านบาท ปรับลด 5,698.5359 ล้านบาท คิดเป็น 24.66% กระทรวงศึกษาธิการ 332,398.6 ล้านบาท ปรับลด 24,051.1 ล้านบาท คิดเป็น 6.7% กรมส่งเสริมปกครองส่วนท้องถิ่น 219,948.5678 ล้านบาท ปรับลด 14,676.7753 ล้านบาท คิดเป็น 6.26% กระทรวงอุดมศึกษาฯ 124,182,839,700 ล้านบาท ปรับลด 3,944,180,800 ล้านบาท คิดเป็น 3.08%. กระทรวงสาธารณสุข 153,940.4742 ล้านบาท ปรับลด 4,338.1296 ล้านบาท คิดเป็น 2.74%
.
1.3) งบประมาณสวัสดิการประชาชนไม่มีการยกระดับเป็นสิทธิสวัสดิการระบบถ้วนหน้า ได้แก่ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และสวัสดิการคนพิการ ซึ่งเป็นสวัสดิการเชิงสงเคราะห์ กล่าวคือ เงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี (600 บาท/เดือน) เป็นเงินอุดหนุนเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ไม่มีการบรรจุงบประมาณเพื่ออุดหนุนเด็กเล็ก 4 ล้านคน แบบถ้วนหน้า ส่วนเบี้ยผู้สูงอายุได้รับเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ โดยรัฐบาลปฏิเสธการพัฒนาเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นระบบบำนาญพื้นฐาน โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจน
.
2) งบประมาณสวัสดิการข้าราชการเพิ่ม
ในขณะที่งบประมาณสวัสดิการประชาชนและงบประมาณประเทศถูกปรับลดลง แต่งบประมาณสวัสดิการข้าราชการในปี 2565 จำนวน 473,447.3268 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,156.7168 คิดเป็น 1.76% ประกอบด้วย (ก) บำเหน็จ/บำนาญ 310,600 ล้านบาท (ข) เงินสำรอง/เงินสมทบ/เงินชดเชยข้าราชการ 72,370 ล้านบาท (ค) เงินสมทบลูกจ้างประจำ 570 ล้านบาท (ง) ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ 74,000 ล้านบาท และ (จ) เงินช่วยเหลือข้าราชการ 4,360 ล้านบาท (ฉ) เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ 11,574.3268 ล้านบาท
.
งบประมาณสวัสดิการข้าราชการ จำนวน 473,447.3268 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 15.27% ของงบประมาณประเทศ และเมื่อรวมกับงบประมาณบุคลากร จำนวน 770,160.0 ล้้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.84% รวมงบประมาณสวัสดิการและเงินเดือนข้าราชการเท่ากับ 1,243,607.3 ล้านบาท คิดเป็น 40.11% หมายความว่า ในงบประมาณ 100 บาท เป็นรวม 40.11 บาท
.
3) งบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงเป็นอันดับ 4
กระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณสูงเป็นอันดับ 4 วงเงิน 203,282 ล้านบาท คิดเป็น 6.6% ของงบประมาณทั้งหมด ซึ่งใกล้เคียงกับสัดส่วนงบประมาณในปี 2564 งบประมาณในส่วนนี้เป็นงบบุคลากรสูงถึง 105,034 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,741 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 51.7 ของงบประมาณกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับงบบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ลดลง 1,549.4 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 1.33 และ งบบุคลากรกระทรวงศึกษาธิการ ลดลง 13,557 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 6 พ.ร.บ.งบประมาณฉบับนี้จึงแสดงถึงการเพิ่มความสำคัญของกำลังพลกองทัพ มากกว่ากำลังคนในภาคสาธารณสุขและการศึกษา
.
นอกจากนี้ กระทรวงกลาโหมมีงบประมาณจัดหาอาวุธอีกจำนวน 62,168 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบงบประมาณกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรงบประมาณมากกว่ากระทรวงแรงงาน 4 เท่า กระทรวงการอุดมศึกษาฯ 1.6 เท่า กองทุน สปสช. 1.44 เท่า กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 8.24 เท่า
.
ดังข้อมูลที่กล่าวมาข้างต้น ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2565 ฉบับนี้ ไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ เพื่อยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ในทางกลับกันนโยบายสวัสดิการสังคมมีลักษณะถดถอย ขาดมิติในการแก้ไขวิกฤติการณ์ปัญหาโควิด-19 การลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางทางสังคม ไม่ปรากฎนโยบายสวัสดิการสังคมที่พรรคการเมืองได้หาเสียงไว้ อาทิ มารดาประชารัฐ เกิดปั๊บรับแสน การปรับเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและคนพิการ ในทางกลับกันยังเป็นสร้างความเหลื่อมล้ำจากระบบสวัสดิการแบบอภิสิทธิชนข้าราชการ อันเป็นการตอกย้ำสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำให้สูงขึ้น
.
ต่อมาในวันที่ 4 มิถุนายน 2564 https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/941738 รายงานว่า เครือข่ายฯได่้เข้ายื่นหนังสือที่รัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ , น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย และ น.ส.วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ฐานะ ฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 สภาผู้แทนราษฎร ซีกฝ่ายค้าน รับยื่นหนังสือจาก นายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม ( We Fair) และคณะ เพื่อขอให้คณะ กมธ.ฯ งบประมาณ จัดลำดับความสำคัญนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ
ทั้งนี้ในข้อเรียกร้องของกลุ่มวีแฟร์ ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณ ปี 2565 ไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพราะขาดการจัดลำดับความสำคัญในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ ดังนั้นเครือข่ายขอให้ กมธ. พิจารณาจัดลำดับความสำคัญของนโยบายสวัสดิการสังคมและสุขภาวะ เช่น สุขภาพ การศึกษา ประกันสังคม แรงงาน ที่อยู่อาศัย เงินอุดหนุนเด็ก ระบบบำนาญประชาชน และเบี้ยความพิการ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายที่พรรคการเมืองได้ให้สัญญาประชาคมกับประชาชน อันจะเป็นการสร้างโอกาสในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำและความเปราะบางทางสังคม เพื่อสร้างสังคมไทยสู่รัฐสวัสดิการ
โดย กลุ่มวีแฟร์ ยังเสนอข้อสังเกตต่อร่าง พ.ร.บ. งบประมาณฯ โดยมีรายละเอียด คือ
1. งบประมาณสวัสดิการสังคมประชาชนถูกปรับลดลง อาทิ งบประมาณกระทรวงที่ดูแลสวัสดิการสังคม และงบประมาณสวัสดิการเงินอุดหนุนที่ไม่มีการปรับเพิ่มและไม่ครอบคลุมระบบถ้วนหน้าทุกประเภท
2. งบประมาณสวัสดิการข้าราชการเพิ่มขึ้น ในขณะที่งบประมาณสวัสดิการประชาชนและงบประมาณประเทศถูกปรับลดลง
3. งบประมาณกระทรวงกลาโหมสูงเป็นอันดับ 4 ซึ่งสะท้อนถึงความผิดพลาดในการจัดลำดับความสำคัญของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดยจัดสรรงบประมาณกระทรวงกลาโหม ด้วยวงเงินงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 6.6 ของงบประมาณประเทศ และเป็นงบบุคลากรที่เพิ่มขึ้นถึง 1,741 ล้านบาท ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับงบบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข ที่ลดลงร้อยละ 1.33 และงบบุคลากรของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ลดลงร้อยละ 6 จึงแสดงว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับกำลังพลกองทัพ มากกว่ากำลังคนภาคสาธารณสุขและการศึกษา
นายพิธา กล่าวว่า จะนำไปหารือในกมธ.ฯ พร้อมสนับสนุนต่อการให้ความสำคัญของรัฐสวัสดิการ และกระจายงบประมาณให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม และนำงบประมาณไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ ทั้งนี้ ยืนยันว่าตัวแทนพรรคฝ่ายค้านในคณะ กมธ. จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุดต่อไป
///////////////