เครือข่ายแรงงาน 14 องค์กร ร่วมแถลง พร้อมประกาศเจตนารมณ์ 4หลักการปฏิรูประบบประกันสังคม

20141017_132307
เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน รวม 14 องค์กรแรงงานประกาศเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ให้ “ถ้วนหน้า เท่าเทียม
วันที่ 17 ตุลาคม 2557เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ไดจัดการเสวนา ปฏิรูปประกันสังคม : ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายฯได้ร่วมกัน ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมแถลงข่าว เพื่อขอมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่

วันที่ 17 ตุลาคม 2557เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ไดจัดการเสวนา ปฏิรูปประกันสังคม : ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ ซึ่งเครือข่ายฯได้ร่วมกัน ประกาศเจตนารมณ์ พร้อมแถลงข่าว เพื่อขอมีส่วนร่วมร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่ ให้เหตุผลว่าเป็นเจ้าของเงินและผู้รับผลประโยชน์ย่อมมีสิทธิรับรู้การบริหารกองทุน ประกาศหากรัฐบาล ยังเฉย เตรียมตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแรงงาน 41 ล้านคนทั่วประเทศ เพื่อดัน 4 หลักการสำคัญบรรจุใน พ.ร.บ.ใหม่

PA170121PA170129

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน ซึ่งเป็นการรวมตัวขององค์กรด้านแรงงาน 14 องค์กร นำโดย นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์คนทำงานเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ให้ “ถ้วนหน้า เท่าเทียม และเป็นธรรม” โดยมี นายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงาน รับฟังด้วย

นายมนัส โกศล ประธานองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนี้ เป็นการแสดงออกของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงานทั้ง 14 องค์กร เพื่อให้รัฐบาล และกระทรวงแรงงาน รับรู้ถึงเจตนาของผู้ประกันตน ว่าต้องการกฎหมายประกันสังคมที่มีคุณประโยชน์ต่อผู้ประกันตนอย่างแท้จริง อย่างเช่น บุคคลที่ทำงานและมีรายได้ ที่มีอายุ 15 ปี สมควรให้บุคคลนั้นเข้าถึงการประกันตน หรือกรณีเสียชีวิตและ ไม่มีทายาท ผู้ประกันตนสามารถทำหนังสือแสดงความจำนงมอบสิทธิประโยชน์ให้ผู้อื่นได้

นายมนัส กล่าวต่อไปว่า ความจริงแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมของกระทรวงแรงงาน มีประเด็นที่ดีและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกันตนหลายประการ แต่เครือข่ายฯ ต้องการให้ครอบคลุมในเรื่องที่สำคัญ โดยเฉพาะหลักการสำคัญ 4 ประการ คือ 1. ความครอบคลุม ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและพื้นที่ รวมถึงครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พึงจะได้รับด้วย 2. หลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหาร 3. หลักความโปร่งใสและมีส่วนร่วม ของผู้ประกันตน และ 4. หลักยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ต้องมีอยู่ใน พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับนี้

“หากความเคลื่อนไหวของเราในครั้งนี้ถูกปฏิเสธ เราคงต้องตั้งโต๊ะ ให้ผู้ประกันตนเข้าชื่อกันเรียกร้อง ไปยังรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ให้พิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายผู้ประกันตนคนทำงานต่อไป” นายมนัส กล่าวและย้ำว่า การปฏิรูประบบประกันสังคม จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเท่าเทียมทางสังคม และก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงเชื่อว่า ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะเห็นสำคัญในความมุ่งมั่น และร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนของพวกเราอย่างเต็มที่ จนสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย

PA170118PA170163

ขณะที่ น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวถึงแนวทาง การขับเคลื่อนของเครือข่ายแรงงาน กว่า 20 ปี ที่ผ่านมา กองทุนประกันสังคมบริหารโดยคณะกรรมการที่มาจาก การจัดตั้งของหน่วยงานภาครัฐ ทำให้แรงงานที่จ่ายเงินประกันสังคมอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้สิทธิประโยชน์ของตน ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจในการบริหารกองทุน และไม่สามารถตรวจสอบการใช้เงินกองทุนให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง และไม่มีการใช้เงินที่เบียดบังเงินบำนาญที่ควรจะได้ในอนาคตของผู้ประกันตน ตัวอย่างเช่น การนำเงินกองทุนมาใช้โฆษณาประชาสัมพันธ์ทำวารสารจำนวนมาก

ส่วน น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน ควรจะพิสูจน์ความจริงใจต่อการปฏิรูปกฎหมายประกันสังคมตามหลักการธรรมาภิบาล ที่ควรจะให้เป็นไปตาม ความต้องการของผู้ประกันตน หากผู้เกี่ยวข้องยังคงเพิกเฉยคงจะนำไปสู่การเคลื่อนไหวร่วมกัน เพื่อส่งเสียงให้ผู้ที่ จะได้รับประโยชน์จากกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ ซึ่งหมายถึง แรงงานทั่วประเทศกว่า 41 ล้านคน เข้าร่วมผลักดันขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดใหม่ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยต้องมุ่งให้กฎหมายประกันสังคมตอบสนองต่อความต้องการของแรงงานได้อย่างแท้จริง

โดย เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) ขอแสดงเจตจำนงที่จะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูประบบประกันสังคมของประเทศไทย ให้เป็นหลักประกันทางสังคมเพื่อการคุ้มครองและเป็นหลักประกันให้กับคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน ที่อยู่บนพื้นแผ่นดินไทย ซึ่งจะนำไปสู่การคุ้มครองคนทำงานกว่า 41 ล้านคน

PA170106PA170111

ด้วยเห็นพ้องว่า ต้องมีการปฏิรูประบบประกันสังคม เพื่อ

1) คุ้มครองคนทำงานที่มีรายได้ทุกคน

2) ป้องกัน หรือลดการทุจริต ที่อาจเกิดจากการบริหารจัดการกองทุนที่ขาดการมีส่วนร่วมและความโปร่งใส

3) ลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม ในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และสิทธิ ที่ควรพึงได้รับจากการร่วมจ่ายในระบบสวัสดิการต่างๆ

4) ลดภาระการเงินการคลังที่รัฐจะต้องแบกรับในอนาคต จากการที่ประเทศไทยจะต้อง เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในปี 2558

โดยขอเสนอ หลักการเพื่อการปฏิรูปประกันสังคม 4 ประการ ดังนี้

1) หลักความครอบคลุม ผู้ทำงานทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จะได้รับประโยชน์ทดแทนเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องได้เท่ากันหรือแบบเดียวกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถ ในการจ่ายสมทบ

2) หลักความเป็นอิสระ ในการบริหารจัดการแบบกระจายอำนาจ และยึดหลัก ธรรมาภิบาล โดยต้องบูรณาการเพื่อประสานสิทธิประโยชน์และการบริหารจัดการที่เชื่อมโยงร่วมกับระบบสวัสดิการอื่นๆ เช่น ระบบสุขภาพ และระบบประกันชราภาพ รวมทั้งการเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ระบบการชำระเงิน ระบบฐานสมาชิก ระบบภาษี ระบบมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ และการเข้าถึงหน่วยบริการ

3) หลักความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน ผู้ประกันตนทุกระบบมีส่วนร่วม ในการบริหารจัดการกองทุนทุกระดับ เช่น มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและใช้สิทธิเลือกตั้งกรรมการประกันสังคมโดยตรง มีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนกรรมการประกันสังคม รวมทั้งมีระบบตรวจสอบ เพื่อความโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการบริหารจัดการกองทุน

4) หลักยืดหยุ่น เป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสามารถออกแบบและปรับปรุงให้เหมาะสม เช่น การจ่ายเงินสมทบที่สัมพันธ์กับฐานรายได้ การปรับปรุงเกณฑ์เงื่อนไขอัตราเงินสมทบและการบริการ ระยะเวลาได้รับสิทธิประโยชน์เร็วขึ้น ประโยชน์ทดแทนสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมและมีทางเลือกที่หลากหลาย ประเภทของผู้ประกันตนมี 2 ระบบ คือ ระบบบังคับและสมัครใจ

 

PA170153PA170132

ทั้งนี้ทางเครือข่ายฯยืนยันว่า การปฏิรูประบบประกันสังคม นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และเท่าเทียมทางสังคม และก่อประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม ดังนั้นจึงเชื่อว่า ภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเห็นสำคัญในความมุ่งมั่น และร่วมสนับสนุนการขับเคลื่อนของพวกเรา อย่างเต็มที่ จนสำเร็จและบรรลุเป้าหมาย

ส่วนนายอารักษ์ พรหมมณี รองปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ในส่วนของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..)พ.ศ. …. นั้นอาจจะมีการนำมารับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วม กฏหมายประกันสังคมมีการบังคับใช้มาเป็นเวลานาน ซึ่งจากข้อเสนอที่เครือข่ายเสนอกฎหมายปัจจุบันก็มี แต่เป็นปัญเรื่องคนที่ยังคับใช้กฏหมาย ความล่าช้าในการเข้าถึง หรือใช้สิทธิ ความซ้ำซ้อนเรื่อวกิงทุนที่มี ซึ่งตามจริวป่วยต้องรักษาไม่ใช่มาซักถามว่ากองทุนไหน ใช้ระบบอะไร มีดบาด เป็นการบาดเจ็บช่วงทำงานหรือว่าที่บ้าน กว่าจะรักษาได้นานทำให้เกิดความไม่พอใจของผู้ประกันตน การบริการต้องรวดเร็วทันต่อเหตุการ การปรับแก้ ออกแบบกฎหมายในปัจจุบันต้องดูเรื่องความเชื่อมโยงกองทุน การให้บริการ ต้อวออกแบบให้รอบคอบ เมื่อเข้าสู่ระบบประกันสังคม ต้องรอจนเกิดสิทธิไม่สามารถใช้สิทธิกรณีเจ็บป่วยได้ ทั้งจริงควรใช้สิทธิได้ในส่วนของกฏหมายหลักประกันสุขภาพ ( สปสช.) ต้องมีการทำงานเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ ช่วยกันออกแบบกฏหมายให้ดูแลด้านสิทธิที่มีอยู่และคุ้มครองสิทธิในอนาคต

ทั้งนี้ เครือข่ายได้มีการยื่นข้อเสนอ 4หลักการต่อรองปลัดกระทรวงแรงงาน เพื่อให้มีการพิจารณาและนำไปเสนอให้ร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ. ….

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน