วานนี้ (15ตุลาคม 2554) คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำโดยนายชาลี ลอยสูง ประธานฯ นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์ ยานยนต์ และโลหะแห่งประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาและใกล้เคียงเปิดศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่ อ.บางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ระดมรับบริจาคข้าวของเครื่องใช้ และรับข้อร้องเรียนจากผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยกล่าวว่า ภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งนี้ค่อนข้างร้ายแรงมาก เพราะมีนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบแล้ว 4 แห่ง มีความเสียหายกันทั่วหน้าทั้งนายจ้างลูกจ้าง มูลค่าของนายจ้างอาจเสียหายเกือบแสนล้านบาท และมีผู้ใช้แรงงานที่เดือดร้อนกว่า 3 แสนคน ซึ่งยังไม่ได้รวมความเสียหายของภาคประชาชน ที่ต้องหมดตัวจากน้ำท่วมครั้งนี้ พร้อมทั้งอาจเสียอาชีพการงาน รายได้ที่จะนำมาจุนเจือเลี้ยงดูครอบครัว ตนในฐานะผู้นำแรงงานรู้สึกกังวลใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากนี้ไป เพราะหลังน้ำลดจะเกิดอะไรขึ้นบ้างกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานในอนาคต วันนี้พี่น้องผู้นำแรงงานในกลุ่มสหภาพแรงงานอยุธยาฯได้ขอให้เปิดศูนย์ฯรับประสานงานความช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่ช่วงนี้มีปัญหาเพิ่มขึ้น
การรับเรื่องราวร้องทุกข์ที่มีการร้องเข้ามาตอนนี้ มีในส่วนของของแรงงานที่ทำงานในอุตสาหกรรมโรจนะที่ยังไม่ได้ออกจากพื้นที่ ยังอยู่ในหอพักราว 40 คนขอให้หาน้ำ และยารักษาแผลที่เท้า เพราะน้ำกัด และเพิ่งทราบเพิ่มเติมว่า เรือที่ซื้อมาเพื่อจะได้นำออกไปรับสิ่งของบริจาคหาย ทำให้ลำบากมากที่จะออกมารับของบริจาค และมีแรงงานบางส่วนที่โรงงานไม่ได้อยู่ในพื้นที่น้ำท่วม และไม่ได้ประกาศให้หยุดงาน แต่แรงงานไม่สามารถออกไปทำงานได้ อันนี้ขอความเห็นใจนายจ้างด้วยว่าอย่าได้เอาผิดไล่ออก และอยากขอให้ช่วยจ่ายค่าจ้างให้กับแรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้ด้วย
ในส่วนข้อเสนอต่อรัฐ ตนเห็นว่ารัฐต้องหามาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างด่วน เช่นส่วนนายจ้างรัฐควรช่วยฟื้นฟูให้สามารถทำการผลิตได้โดยเร็ว ทั้งสินเชื่อราคาถูก ส่วนแรงงานไม่มีระบบประกันภัยการขาดรายได้ใดๆ รัฐควรมีการพิจารณาช่วยเหลือด่วน เนื่องจากแรงงานไม่มีทุนสำรองในการดำรงชีวิต เดิมค่าจ้างที่ได้พอกินไปวันๆเท่านั้นหากต้องมีชีวิตที่ไม่มี่ค่าจ้างเป็นเดือนคงแย่ และควรเป็นคนกลางในการประสานคนงานให้มีการรวมกลุ่มเพื่อการประสานงานหลังน้ำลด เพราะวันนี้แรงงานที่ได้รับผล กระทบจากน้ำท่วมส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าจะติดต่อกับทางบริษัทอย่างไร จะช่วยเหลือกันอย่างไรและจะได้ค่าจ้างหรือไม่ทั้งที่ทำงานมา และที่หยุดงาน บางคนถามว่าจะตกงานหรือไม่ ตนเป็นผู้นำแรงงานก็ยังไม่รู้จะตอบอย่างไรได้แต่บอกว่าจะทำการช่วยเหลือให้ดีที่สุด นายจ้างเองก็ต้องเห็นใจลูกจ้างด้วยเขากังวลเครียดไม่แพ้นายจ้าง เพราะโรงงานคือบ้านหลังที่สองของลูกจ้างเหมือนกัน มีแรงงานบางรายเล่าว่า มัวแต่ช่วยกรอกทรายป้องกันโรงงาน บ้านตัวเองไม่ได้ทำ น้ำท่วมทั้งบ้านทั้งโรงงานพร้อมกันหมดตัวเหลือเพียงเสื้อผ้าชุดเดียวด้วยซ้ำ แรงงานไทยพูดง่าย ใจดี หากนายจ้างดี ลูกจ้างก็รักช่วยดูแลโรงงานมากกว่าบ้านตัวเอง เพราะมองว่านี่คือหม้อข้าวหิวก็มีกิน หากหม้อข้าวไม่มีจะกินอะไร นายชาลีกล่าว
นายจำลอง ชะบำรุง นักสื่อสารแรงงานศูนย์ข่าวอยุธยากล่าวว่า วันนี้พี่น้องแรงงานในพื้นที่ลำบากมาก การที่ผู้นำแรงงานลงมาช่วยในพื้นที่เป็นการทำให้ตนและพี่น้องมีกำลังใจมากขึ้น เพราะน้ำท่วมครั้งนี้ โดนกันทั่วหน้าทั้งผู้นำแรงงานในกลุ่ม สมาชิกในกลุ่ม ต้องขอให้พี่น้องแรงงานที่อยู่ทั่วประเทศเข้ามาช่วยเหลือพี่น้องแรงงานในพื้นที่ด้วย ตอนนี้หวั่นใจกันว่าจะตกงาน ไม่มีงานทำจะมีรายได้จากที่ไหนมาเลี้ยงครอบครัว การที่ผู้นำแรงงานเข้ามาเปิดรับประสานงานความช่วยเหลือ รับรู้เรื่องราวของพวกเราเป็นเรื่องที่ดี ความช่วยเหลือแรงงานแม้ไม่มีเงินมีทองขอเพียงมีใจเข้ามาดูแลรับฟังพูดคุยถามไถ่เป็นความรู้สึกที่พี่น้องเข้ามาช่วยกันก็ดีที่สุดแล้ว ตอนนี้ก็มีการหาปลากินกันได้อยู่ แต่คนที่อยู่บ้านเช่าสิคงลำบากหน่อย เพราะมีจำนวนมากที่ไม่ได้ออกมาจากพื้นที่โรงงาน เพราะกลัวว่าหากบริษัทเปิดโรงงานได้จะติดต่อพวกเขาไม่ได้ อาจรับคนใหม่เข้ามาทำงานแทนทำให้ต้องตกงาน
ต่อมาวันนี้ (16 ตุลาคม 2554) เวลา 12.00 น. นายชาลี ลอยสูง ประธานฯ นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานฯได้นำสิ่งของที่ได้รับการบริจาคในพื้นที่กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม เดินทางไปยังศูนย์ช่วยเหลือแรงงานที่บางปะอิน เพื่อรวบรวมลงไปแจกจ่ายให้กับผู้ใช้แรงงานและประชาชนที่ห่างไกล โดยมีการประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต-และใกล้เคียงที่มีรถออฟโรดขนของเข้าพื้นที่ให้ใกล้ที่สุดและประสานรถทหาร และเรือลงแจกในพื้นที่ที่พี่น้องแรงงานประสานขอความช่วยเหลือ
ทั้งนี้ได้ประสานขอโฟมจากไทยพีบีเอส เพื่อทำแพลอยน้ำตั้งเป็นศูนย์ และขอให้ทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอเต็นท์มากาง พร้อมได้เครื่องปั่นไฟมาให้ด้วย หวังว่าจะได้ช่วยแรงงานที่เดือดร้อนได้ทั่วถึงมากขึ้น
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน