เครือข่ายแรงงานแถลงร่วมค้านขึ้นราคาก๊าซ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ออกแถลง “คัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ด้วยเหตุผล 3 ประการ” 1.ข้อมูล ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์และภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ต้นเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี 2. ประเทศไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้โดยตรง มีโรงแยกก๊าซ แต่ขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ส่วนภาคการผลิตอื่นๆต้องซื้อก๊าซที่นำเข้าจากต่างประเทศแทน 3. การผลักภาระให้กับประชาชน แต่กลับไปช่วยเหลือกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี  

19 ธ.ค. 55 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ออกแถลงค้านเรื่อง “ค่าก๊าซแพง ค่าแรงขึ้น แรงงานตายผ่อนส่ง” เป็นที่แน่นอนแล้วว่าตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2556 เป็นต้นไป กระทรวงพลังงานได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคครัวเรือนและภาคยานยนต์ ทั้งนี้โดยให้เหตุผลว่าภาคการผลิตดังกล่าวมีการใช้พลังงานที่สิ้นเปลืองจนต้องมีการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมามีความพยายามของกระทรวงพลังงานที่จะปรับราคาก๊าซแอลพีจีมานานหลายปี แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองทำให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยยังคงใช้นโยบายตรึงราคา โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเข้าอุดหนุน แต่ในช่วง 5 ปีมานี้ ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นอย่างมากในภาค อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจนต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ และเป็นที่มาของการปรับเพิ่มราคาก๊าซแอลพีจีในปี 2556 แต่สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับไม่มีการระบุในเรื่องการจ่ายราคาค่าก๊าซเพิ่มขึ้นในครั้งนี้แต่อย่างใด

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยในฐานะองค์กรแรงงานที่มีจุดยืนสนับสนุนและผลักดันการเข้าถึงความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทยอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขอคัดค้านการขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี ด้วยเหตุผล 3 ประการ ดังต่อไปนี้

(1)   จากข้อมูลของกระทรวงพลังงานโดยตรง ระบุว่า ในปี 2554 ประเทศไทยมีการใช้ก๊าซแอลพีจีทั้งประเทศรวมจำนวน 6.9 ล้านตัน ใน 4 กลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน (ก๊าซหุงต้ม) เป็นภาคที่ใช้มากที่สุดคือ 2.6 ล้านตัน (39 %) รองมาเป็นภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (วัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 2.4 ล้านตัน (35 %) ภาคยานยนต์ (เชื้อเพลิงรถยนต์) 0.9 ล้านตัน (13 %) และภาคอุตสาหกรรม (เชื้อเพลิงอุตสาหกรรม) 0.7 ล้านตัน (10 %) ทั้งนี้พบว่า ราคาก๊าซแอลพีจีที่หน้าโรงกลั่น เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2555 มีราคาเท่ากันคือ 10.26 บาทต่อกิโลกรัม แต่กระทรวงพลังงานกลับมีการขายก๊าซให้กับกลุ่มผู้ใช้ในราคาที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ภาคครัวเรือน 18.13 บาท ภาคยานยนต์ 21.38 บาท และภาคอุตสาหกรรม (ที่ไม่รวมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี) 30.13 บาท แต่กลับภาคปิโตรเคมีที่มีสัดส่วนการใช้ค่อนข้างสูงเป็นลำดับ 2 กลับได้ใช้ก๊าซในราคาที่ถูกมาก คือ 16.20 บาทเท่านั้น ซึ่งถูกกว่ากลุ่มผู้ใช้กลุ่มอื่นๆทั้งสิ้น

คำถามที่สำคัญ คือ กระทรวงพลังงานใช้หลักการและเหตุผลใดในการกำหนดราคาที่แตกต่างกัน ทั้งๆที่สัดส่วนการใช้มีความใกล้เคียงกัน รวมทั้งยังมีข้อมูลที่ชัดเจนว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นถึง 34 % ต่อปี ในขณะที่ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นปีละ 9% เท่านั้น จากข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์และภาคอุตสาหกรรมไม่ใช่ต้นเหตุหลักที่ทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพราะต้นเหตุที่แท้จริงมาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

(2)   ประเทศไทยผลิตก๊าซแอลพีจีได้โดยตรงจำนวน 5.5 ล้านตัน และมีการนำเข้าอีก 1.4 ล้านตัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทที่ทำอุตสาหกรรมปิโตรเคมีทั้งหมดเป็นบริษัทในเครือของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) โดยใช้ก๊าซแอลพีจี ถึง 2.1 ล้านตัน/ปี ดังนั้นจนเป็นเหตุให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศ ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแล้วประเทศไทยมีโรงแยกก๊าซหน่วยที่ 6 (มาบตาพุด จ.ระยอง) ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่กลับไม่มีการขายก๊าซที่แหล่งผลิตแห่งนี้ให้กับภาคครัวเรือน/ยานยนต์/อุตสาหกรรม แต่เป็นการขายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.) เพียงแห่งเดียวเท่านั้น แต่ภาคการผลิตอื่นๆต้องซื้อก๊าซที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศแทน มีข้อมูลแสดงชัดเจนว่า ในช่วงปี 2551-2554 ผู้ใช้น้ำมันต้องแบกรับภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีประมาณ 23,300 ล้านบาท ในขณะที่ประชาชนใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อความจำเป็นในการดำเนินชีวิต (หุงหาอาหารและขนส่ง) แต่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลับใช้ก๊าซแอลพีจีเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในกิจการของตัวเอง

(3)   นโยบายนี้เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน แต่กลับไปช่วยเหลือกลุ่มทุนหรือกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแทน ตัวอย่างรูปธรรมที่ชัดเจนสำหรับกลุ่มแรงงาน คือ แม้ว่าวันที่ 1 มกราคม 2556 จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ แต่ค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจะไร้ความหมายทันที เพราะการขึ้นราคาก๊าซอีกกิโลกรัมละ 50 สตางค์ (ปกติก๊าซถังละ 15 กิโลกรัม ราคาอยู่ที่ประมาณ 280-290 บาทต่อถัง ) เท่ากับขึ้นมาถังละ 7.50 บาทต่อเดือน  โดยในปี 2556 ราคาจะเพิ่มขึ้นอีกถังละ 100 บาท และในปี 2557 ก็เพิ่มขึ้นอีกถังละ 200 บาท นั้นแปลว่า ก๊าซหุงต้มถังละ 15 กิโลกรัม จะมีราคาสูงถึงถังละ 400-500 บาท ในอนาคตอย่างแน่นอน นี้ยังไม่รวมค่าโดยสาร ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา หรือค่าครองชีพอื่นๆที่เพิ่มขึ้นติดตามมา จนทำให้ค่าแรง 300 บาทไร้มูลค่าตามจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้น

เพื่อสร้างให้เกิดความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน โดยรัฐบาลต้องยุติการปรับขึ้นราคาแก๊สแอลพีจีในภาคครัวเรือนกับภาคยานยนต์ในปี 2556 และรวมทั้งจำเป็นต้องทบทวนการแบ่งสรรสัดส่วนการใช้ก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะในกลุ่มภาคครัวเรือน ภาคยานยนต์ และภาคอุตสาหกรรม ที่ควรต้องได้รับการจัดสรรจากแหล่งผลิตภายในประเทศไทยเป็นลำดับแรก ส่วนภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีความสามารถในการเข้าถึงทรัพยากรอยู่แล้ว จึงควรเป็นภาคส่วนที่ต้องใช้ก๊าซนำเข้าแทน เนื่องจากก๊าซแอลพีจีที่ใช้ทั้งหมดในประเทศไทยมาจากแหล่งภายในประเทศถึง 55 % หรือประมาณ 3.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งเพียงพออยู่แล้วต่อการใช้สำหรับภาคครัวเรือนและภาคขนส่งที่ใช้ก๊าซ ปีละ 2.6 ล้านตัน และ 9 แสนตัน ตามลำดับ

///////////////////////////////////////////////