เครือข่ายแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้าง เพื่อความเป็นธรรมในสังคม แถลง หนุนเพื่อไทยปรับค่าจ้างตามนโยบาย อย่าให้เป็นเพียงประเด็นการหาเสียง เพื่อชนะเลือกตั้ง ย้ำเป็นสัญญาประชาคม ต้องทำจริง ส่วนนายจ้าง เสนอให้เห็นแก่ลูกจ้าง บอกรัฐร่วมกันหาทางออก
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้แถลงข่าวในนาม เครือข่ายองค์กรแรงงานเพื่อการปฏิรูประบบค่าจ้างเพื่อความเป็นธรรม ประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง สหพันธ์แรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานในย่านอุตสาหกรรมต่างๆ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้ร่วมแถลงว่า ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ได้มีการรณรงค์หาเสียง เสนอเรื่องการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายโดนใจผู้ใช้แรงงานจำนวนมาก และเชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งจนนำมาสู่การเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
นโยบายดังกล่าวถือเป็นความคลาดหวังในการที่จะนำมาปฏิบัติ แต่วันนี้ผู้ใช้แรงงานเริ่มเกิดความไม่เชื่อมั่นในความไม่ชัดเจนในการที่จะมีการปฏิบัติได้จริงของรัฐบาลชุดใหม่ มีความคลุมเครือเนื่องจากเสียงคัดค้านและการแสดงท่าที่ของนายจ้าง ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าที่พยายามออกมาให้ข้อมูลว่าไม่สนับสนุนในการที่จะนำนโยบายดังกล่าว เพราะจะเกิดผลเสียต่ออุตสาหกรรม ผู้ประกอบดาร และภาวะเงินเฟ้อมากขึ้น สร้างความสับสนให้กับสังคม
เครือข่ายแรงงานฯ ขอแถลงการณ์แสดงจุดยืน ดังนี้
1. ขอสนับสนุนและเรียกร้องให้พรรคเพื่อไทยยืนหยัดในนโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาทต่อวันตามที่หาเสียงไว้เพราะเชื่อว่าทางพรรคได้มีการจัดทำการศึกษาหาข้อมูลความเป็นไปได้มาแล้วเป็นอย่างดีก่อนมีการกำหนดเป็นนโยบาย และนโยบายดังกล่าวถือเป็นสัญญาประชาคม เป็นความรับผิดชอบของพรรคที่สัญญาไว้ต้องทำให้เป็นจริง
2. เราเข้าใจในความกังวลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น กับอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายชองพรรคเพื่อไทย ซึ่งควรมีการหาแนวทางร่วมกันในการช่วยเหลือเยียวยา หาทางออกให้กับสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบเป็นรายกรณีไป และองค์กรทั้งสองไม่ควรมองข้ามความทุกข์ยากของผู้ใช้แรงงาน ที่มีชีวิตอยู่อย่างยากลำบากในสังคมมานานหลายสิบปี กับการใช้นโยบายกดค่าจ้างขั้นต่ำ ทำให้ผู้ใช้แรงงานต้องอยู่ในภาวะคุณภาพชีวิตที่ต่ำ
3. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการพัฒนาประเทศที่เคยมุงเน้นการเจริญเติบโตด้วยการส่งเสริม ปกป้องอุตสาหกรรมส่งออกที่อยู่อาศัยการใช้แรงงานเข้มข้นราคาถูกมาสู่นโยบายการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยใช้ค่าจ้างที่เป็นธรรมเป็นเครื่องมือ อันจะทำให้เราสามารถสร้างอำนาจซื้อสร้างตลาดภายในให้เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพมากขึ้น พร้อมกับจะทำให้เกิดการกระจายรายได้และความเป็นธรรมทางสังคม
4. เพื่อให้การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำและการกำหนดค่าจ้างแรงงานในสถานประกอบการโดยทั่วไปในประเทศเป็นไปอย่างมีเหตุผล และสามารถสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม เราขอเรียกร้องให้มีการปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และการกำหนดค่าจ้างแรงงานในสถานประกอบดารต่างๆอย่างจริงจังโดยมีข้อเสนอดังนี้
1. ให้เปลี่ยนนิยามของคำว่าค่าจ้างขั้นต่ำเสียใหม่ คือ ให้หมายถึงค่าจ้างสำหรับลูกจ้างไร้ฝีมือแรกเข้าทำงาน 1 ปีแรก ซึ่งสามารถใช้ค่าครองชีพได้เพียงพอสำหรับตนเอง และครอบครัวสองคน
2. ให้ยกเลิกอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความไม่เป็นธรรมในสังคม
3. ในอนาคตควรจัดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเปอร์เซ็นต์อัตราเดียวเท่ากันทั่วประเทศ หรือตามกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นประจำทุกปี
4. ให้ปฏิรูประบบการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และลูกจ้างให้โปร่งใส และสะท้อนความเป็นตัวแทนของคนงาน เพื่อให้สะท้อนความจริงของการเป็นตัวแทน องค์กรที่มีสมาชิกมากกว่าควรจะมีสิทธิมีเสียงมากว่าองค์กรที่มีสมาชิกน้อยกว่า และเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดตั้งสหภาพเล็กๆ เพื่อเป็นฐานเสียงการเลือกตั้ง
5. ให้มีการตกลงร่วมกันให้ชัดเจนว่า จะใช้ตัวเลขอะไรจากแหล่งไหน? เป็นตัวชี้ขาดว่า ควรต้องขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่าไร เช่นดัชนีราคาผู้บริโภคของผู้มีรายได้น้อย ตัวเลขอัตราการขยายตัวของรายได้ประชาชาติ อัตราเงินเฟ้อของกระทรวงพาณิชย์ ฯลฯ ถ้าดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่ม 3% ค่าจ้างขั้นต่ำต้องมีการประกาศเพิ่ม 3% ของอัตราเดิม โยไม่ต้องมาพิจารณาต่อรองกัน
6. ให้ปรับปรุงโครงสร้างบริหารการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประจำ เพื่อศึกษาพิจารณาข้อมูลประกอบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องชัดเจนประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิหรือบุคคลที่เหมาะสม โดยมาจากการสรรหาของคณะกรรมการค่าจ้าง (ระบบไตรภาคี) และคณะกรรมการค่าจ้างทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา และผู้สนับสนุนข้อมูลข้อคิดเห็นเท่านั้น
5. ประเด็นการปรับค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการ คือ
1. ให้รัฐบาลออกกฎหมาย กำหนดให้สถานประกอบการต้องมีการปรับค่าจ้างเป็นประจำทุกปี โดยรัฐต้องเร่งส่งเสริมระบบการเจรจาต่อรองทำข้อตกลงร่วมระหว่างฝ่ายผู้ใช้แรงงาน โดยสหภาพแรงงาน กับฝ่ายนายจ้าง หรือองค์กรนายจ้าง อย่างมีเหตุมีผลบนฐานของข้อมูลที่เป็นจริง สถานประกอบการที่มีการจ้างงานจำนวนมาก อาจจะต้องมีการกำหนดให้มีการจัดทำโครงสร้างเงินเดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการวางแผนเกี่ยวกับรายจ่าย และรายได้ของทั้งฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้างในอนาคต
2. ให้ยกเลิกการจ้างงานที่จ่ายค่าจ้างเป็นรายวัน รายชั่วโมง และรายผลงานผลิต
3. ให้รัฐเร่งให้มีสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรองร่วม และปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ใหม่ เพื่อให้มีการยอมรับ และคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเจรจาต่อรองร่วมของสหภาพแรงงาน และนายจ้าง จัดวางกรอบให้องค์กรแรงงาน และองค์กรนายจ้างสามารถพูดคุยปรึกษา ต่อรอง ด้วยข้อมูลโปร่งใส สามารถตัดสินใจร่วมกันด้วยเหตุผลทั้งในระดับสถานประกอบการ และระดับอุตสาหกรรม
5. รัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมกรอันประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนอุตสาหกรรม ผู้แทนฝ่ายแรงงาน นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันทำงาน เพื่อหาทางดำเนินการให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันเป็นจริง และช่วยกันคิดค้น เพื่อนำสู่การปฏิรูประบบการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ และการกำหนดค่าจ้างแรงงานให้มีประสิทธิภาพ และความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ข้อเสนอในครั้งนี้ขององค์กรเครือข่ายแรงงานฯ หวังว่า จะได้รับการพิจารณา และสนองตอบจากรัฐบาล และฝ่ายต่างๆอย่างจริงจัง
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน