MWRN แถลงสภาพแรงงานข้ามชาติ กับสถานการณ์โควิด – 19

วันที่ 10 ตุลาคม 2564 เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และ มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน
ได้จัดการแถลงข่าว เนื่องในวันที่ 7 ตุลาคม 2021 วันงานที่มีคุณค่าสากล หรือ  Decent work day ความปลอดภัย กับ ชีวิตคนทำงาน ในวันงานที่มีคุณค่าสากล สถานการณ์โควิด – 19 กับสภาพปัญหาแรงงานข้ามชาติ ดังนี้ 

สถานการณ์โควิด19 เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ซึ่งส่งผลกระทบไปทั่ว จนนำไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจและสังคมของหลายหลาหหลยาอาชีพทุกเชื้อชาติที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นระยะเวลายาวนานข้ามปี รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็กขนาดกลางจนถึงอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า อุตสาหกรรมก่อสร้าง คนงานในฟาร์ม อุตสาหกรรมอิเล็กทรนิค คนงานบนแพลกุ้งปลา ภาคบริการต่างๆ ล้วนส่งผลกระทบต่อข้ามชาติแรงงานและทั้งแรงงานไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งปัญหาทางด้านสาธารณสุข ปัญหาด้านเศรษฐกิจ และปัญหาด้านสุขภาพจิต อย่างเช่น การล็อคดาวน์ การปิดแคมป์ก่อสร้าง การห้ามออกเรือประมง การห้ามนั่งร้านอาหาร ห้ามรวมกลุ่มกันเกิน 5 คน มาตรการเหล่านี้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของแรงงาน เพราะทำให้แรงงานขาดรายได้ หรือแรงงานบางคนถูกเลิกจ้าง เนื่องจากนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ นอกจากนี้ยังมีมาตรการบับเบอร์แอนซีล (Bubble & Seal) คือให้แรงงานเข้าไปที่หอพักในโรงงานนอกโรงงาน และส่วนหนึ่งก็พักในห้องเช้าที่ตนเช้าไว้แต่ต้องมีการควบคุมการเดินทางระหว่างที่ทำงานกับที่พักอาศัย มีรถรับ – ส่ง แรงงาน ไม่ให้แวะทำธุระระหว่างเดินทางและเมื่อกลับถึงที่พักต้องอยู่ภายในที่พักเท่านั้น สำหรับแรงงานพักอาศัยในโรงงาน ต้องมีการควบคุมไม่ให้แรงงานออกนอกพื้นที่โรงงาน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด เป็นมาตรการที่แรงงานรู้สึกว่าตนนั้นถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพ ไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติทั่วไป ต้องมีผู้ควบคุมตลอดเวลา ผลกระทบที่กล่าวมานี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อตัวแรงงานเท่านั้น ยังส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัว เพราะรายได้หลักของครอบครัวมาจากตัวแรงงานเอง เมื่อแรงงานไม่สามารถหารายได้ ได้เท่าเดิมหรือมากกว่า จะทำให้ชีวิตของคนในครอบครัวขาดรายได้ในการดำรงค์ชีวิต อีกสถานการณ์ที่พบเจอบ่อยและเข้ามาร้องเรียนต่ององค์กรคือแรงงานข้ามชาติได้รับอุบัติเหตุบ่อยเช่นเครื่องจักรทับมือขาด มือเข้าไปในเครืองจักรบด ลูกเรือประมงอวนพันนิ้วขาก อวกกระชากตกน้ำเสียชีวิต ไฟฟ้าช็อดบนเรือเสียชีวิต 
จากสิ่งที่กล่าวมานี้ ทางมูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน ต้องการสะท้อนให้เห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติไม่ว่าในช่วงสถานการณ์โควิด – 19 หรือไม่โควิด19ก็ตามให้หลายคนได้เห็นชัดขึ้นกับสภาพปัญหาของพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่ทำงานในประเทศไทย

สภาพปัญหา

  1. กรณีค่าจ้างการลดวันทำงาน การไม่ได้รับค่าจ้างหรือได้รับค่าจ้างไม่เต็มจำนวน ในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาพบว่า ลูกจ้างหลายคนถูกลดจำนวนวันทำงาน เช่น ลูกจ้างแพปลา ถูกลดจำนวนวันทำงานจากที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ถูก
    ลดให้ทำงานเพียง 3 วันต่อสัปดาห์ เนื่องจากกิจการของนายจ้างได้รับผลกระทบคือไม่สามารถส่งออกปลาได้ตามปกติ นายจ้างจึงต้องลดจำนวนวันทำงานของลูกจ้าง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของกิจการ หรือลูกจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า ที่นายจ้างบังคับให้ใช้สิทธิลาพักร้อนหรือลาป่วยในกรณีที่ถูกกักตัว และผลักภาระค่าจ้างไปที่ที่ประกันสังคม คือ จ่ายเพียง 50% และให้ลูกจ้างเบิกกับประกันสังคม 50% ปัญหาที่พบคือลูกจ้างบางส่วนไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม หรือบางส่วนยังสมทบไม่ถึงเกณฑ์จึงไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ทำให้ลูกจ้างขาดรายได้
  2. กรณีลูกเรือประมง การทำงานของลูกเรือมีการเปลี่ยนแปลง คือ จากเดิมเรือออกหาปลาออกเย็น – กลับเช้า แพลสมุทรสาคร แต่ทำให้ไม่ได้กลับขึ้นมาที่แพลสมุทรสาครเช่นเดิมต้องเปลี่ยนไปขึ้นแพลที่จังหวัดอื่นหรือบางครั้งก็มีเรืออีกลำไปรับปลาขึ้นแพลยกเว้นลูกเรือที่ไม่ได้ขึ้นฝั่ง และไม่สามารถกลับเข้าฝั่งเดิมที่ตนอยู่เป็นเวลานานถึง 6 เดือน และมีเรือบางประเภทนายจ้างสั่งไม่ให้ออกเรือเลยมา 1 ปีกว่าแล้วทำให้ลูกเรือขาดรายได้ เนื่องจากเป็นมาตรการทางจังหวัดที่กำหนดว่า หากลูกจ้างขึ้นมาที่ฝั่งแล้วจะไม่สามารถออกเรือได้อีกเพราะเกรงว่าในระหว่างที่ขึ้นมาบนฝั่งจะคลุกคลี่กับคนอื่นแล้วจะทำให้ติดเชื้อโควิด19 จึงไม่ให้กลับออกเรือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิดในระหว่างที่ออกเรือ เป็นเหตุให้ลูกเรือต้องไปขึ้นแพลที่จังหวัดอื่นๆ และไม่ได้เจอกับครอบครัว นอกจากนี้ปัญหาที่พบในการระหว่างการออกเรือ คือ ลูกจ้างไม่ได้มีการถูกอบรมเรื่องการใช้อุปกรณ์บนเรือก่อนที่จะลงมือปฏิบัติงาน ทำให้เกิดอุบัติเหตุระหว่างการทำงานอยู่บ่อยครั้ง เช่น เกิดการสูญเสียอวัยวะ นิ้วขาด มือขาด จนถึงขั้นเสียชีวิตบนเรือก็มีเนื่องจากขาดความรู้ในการใช้อุปกรณ์บนเรือ
  3. กรณีปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง คนงานในแคมป์ก่อสร้างถูกนโยบายของรัฐสั่งให้หยุดงานพร้อมให้จ่ายค่าจ้าง50%และไม่ให้ออกนอกบริเวณแคมป์ ในระหว่างที่หยุดงานนายจ้างได้มีการจัดหาอาหารให้ลูกจ้าง แต่พบว่าอาหารที่ได้รับนั้นไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกจ้าง ที่พักอาศัยแออัดมากขึ้น เพราะลูกจ้างทุกคนต้องมาอยู่รวมกันในแคมป์ ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อมากขึ้น และบางแคมป์ก็ไม่ได้จ่ายค่าจ้างตามที่รัฐบาลสั่ง บางแคมป์ก็ไม่ได้ให้แรงงานหยุดการทำงาน
  4. กรณีเข้าไม่ถึงวัคซีน กรมควบคุมโรคของประเทศไทยได้มีแถลงการณ์ว่าจะมีการฉีดวัคซีนโควิดให้แก่ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยรวมถึงแรงงานต่างชาติ โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่ในทางปฏิบัติพบว่าการจองฉีดวัคซีนผ่านแอพพลเคชั่นต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หมอพร้อม ไทยร่วมใจ หรือลงทะเบียนผ่านสถานพยาบาล แรงงานข้ามชาติไม่สามารถลงทะเบียนได้ เพราะต้องมีการกรอกเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก เมื่อติดต่อสอบถามกับหน่วยงานก็ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ดังนั้น แรงงานข้ามชาติที่ได้รับวัคซีนจริง ๆ มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ 1) เป็นแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนตาม ม.33 ที่นายจ้างเป็นผู้ยื่นเข้าระบบ e-service ของสำนักงานประกันสังคม 2) ลงทะเบียนผ่านแอพต่าง ๆ เพื่อจองวัคซีนทางเลือก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการจองวัคซีนค่อนข้างแพง 3) นายจ้างจัดซื้อวัคซีนให้เอง ทำให้เห็นว่าคำแถลงการณ์ของกรมควบคุมโรคกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ไม่สอดคล้องกัน เพราะแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้เข้าถึงวัคซีนเช่นเดียวกับคนไทยเท่าที่ควรเช่นแรงงานภาคบริการ โรงงานขนาดเล็กแรงงานต้องหาซื้อวัคซีนฉีดเอง แรงงานที่ทำงานบ้านที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคมก็ต้องหาซื้อฉีดเอง นายจ้างบางคนก็ซื้อมาฉีดให้กับแรงงานเอง
  5. กรณีเข้าไม่ถึงสิทธิการเยียวยาจากโครงการของรัฐบาล จากการแพร่ระบาดของโควิด – 19 นี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการคนละครึ่ง เราชนะ เรารักกัน ม.33 การเยียวยาในพื้นที่สีแดงโรคระบาดโควิด19 13 จังหวัด ก็ไม่ได้รวมถึงแรงงานข้ามชาติ อย่างไรก็ตามเหมือนว่าการเยียวยาจากรัฐบาลยังไม่สามารถให้การช่วยเหลือและเยียวยาได้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มประชากรที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เพราะการช่วยเหลือยังเน้นที่กลุ่มบุคคลที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นยังไม่ครอบคุมถึงแรงงานข้ามชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย

ดังนั้นจึงมีข้อเสนอดังนี้

  1. ให้รัฐบาลออกนโยบายให้ลูกจ้างได้รับสิทธิ เช่น หากแรงงานติดโควิด – 19 ให้หยุดงานรักษาตัวหรือกักตัวโดยได้รับค่าจ้าง 100% และโดยจะต้องไม่เอามารวมกันกับวันลาป่วยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้เป็นการป่วยกรณีพิเศษด้วยโรคระบาด
  2. ให้มีกฎหมายกำหนดให้มีการอบรมการใช้อุปกรณ์บนเรือรวมถึงการใช้เครื่องจักรอุปกรณ์ต่างๆในโรงงาน ที่ถูกวิธให้ลูกจ้างก่อนลงมือปฏิบัติงาน รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นอันมีอุปกรณ์ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในระหว่างการทำงาน
  3. ให้รัฐบาลมีมาตรการตรวจแคมป์ก่อสร้างแรงงาน เพื่อให้มีความปลอดภัย ซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการจัดสรรพื้นที่ในแคมป์ให้เหมาะสมกับจำนวนผู้ที่พักอาศัยที่ไม่แออัด และสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดโอกาสในการแพร่เชื้อโครระบาด รวมถึงต้องมีเงินชดเชยการขาดรายได้ในอัตราที่เหมาะสมระหว่างที่ถูกปิดแคมป์
  4. รัฐบาลต้องให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงวัคซีนทุกคนเพื่อเป็นการช่วยการระงับเชื้อโรคระบาดและให้มีการปรับเปลี่ยนขั้นตอนในการกรอกข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่น ให้เพิ่มเติมช่องโดยการกรอกเลขประจำตัวอื่น ๆ เช่น เลขประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) หรือกรอกเลขพาสปอร์ต แทนเลขบัตรประจำตัว 13 หลัก เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้เข้าถึงวัคซีนโดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่เสียค่าใช้จ่าย เทียบเท่ากับคนไทยอย่างคำแถลงการณ์ที่ให้ไว้
  5. รัฐบาลต้องให้สิทธิการเยียวยาและการเข้าถึงโครงการการเยียวยาต่าง ๆของรัฐบาลให้กับแรงงานข้ามชาติ เช่น นโยบายคนละครึ่ง เรารักกัน ม. 33 การเยียวยาพื้นที่สีแดง 13 จังหวัด เพื่อให้แรงงานข้ามชาติได้มีความเท่าเทียมกับคนไทย เพราะแรงงานข้ามชาติก็เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทย การเสียภาษีเข้ารัฐไทย การจ่ายค่าธรรมเนียมเข้าไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในระบบประกันสังคมหรือแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม บุคคลทุกกลุ่มมีสิทธิที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาในฐานะมนุษย์คนหนึ่งอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ
  6. ขอให้รัฐมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติ ถือเป็นเรื่องที่สำคัญ ยิ่งในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด – 19 นี้ รัฐจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสื่อสารกับกลุ่มแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น เพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายหรือมาตรการที่รัฐออกมาเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งภาษาที่ใช้จะต้องเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายและต้องเป็นภาษาของแรงงานเองและจะต้องไม่ใช้คำที่ทำให้แรงงานหวาดกลัวจนไม่กล้าเปิดเผยตัวตน แล้วจะเป็นสิ่งที่ดีในการกระจายข่าวให้ทั่วถึงทุกภาคส่วนแก่แรงงาน