เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ คนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ ประสานเสียงเด็กทุกคนต้องได้เรียนหนังสือ พร้อมเชื่อมร้อยเครือข่ายเพื่อผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า
สำหรับในช่วงบ่ายของเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการในวันนี้ เป็นเวทีเสวนา ทบทวนแนวทางการขับเคลื่อน และข้อเสนอรูปธรรม กรณีศึกษาบทเรียนที่ดี
สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (lpn) กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมา มูลนิธิฯผลักดันเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการศึกษา ประมาณ 30,000 กว่าคน โดยมูลนิธิฯทำงานกับแรงงานข้ามชาติผ่านศูนย์การทำงาน ที่มีรวมทั้งสิ้น 7 แห่งทั่วประเทศ ที่ดำเนินการที่มีทั้งดูแลเด็ก อบรมแรงงานข้ามชาติ และอื่นๆ แต่ละศูนย์มีประมาณ 800 คน โดยค่าใช้จ่ายมาจากแรงงานด้วยกันเอง
ทั้งนี้ สำหรับเด็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติ หากจะเปรียบเทียบกับเด็กไทย เด็กเหล่านี้อาจจะไม่มีสิทธิในหลายๆอย่างเหมือนเด็กไทย เช่น การศึกษา มูลนิธิฯ จะลงพื้นที่ในชุมชนแรงงานข้ามชาติ และดูแลปกป้องไม่ให้เด็กเหล่านี้ถูกทำร้าย เช่นถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกบังคับให้ส่งยา ดังนั้นแนวทางคือ เด็กเล็กที่เป็นลูกแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสาร และไม่มีสิทธิ ภาครัฐจะไม่ได้เข้ามาดูแล มูลนิธิฯจะพยายามให้เด็กเหล่านี้เข้าสู่ระบบการศึกษาไทย โดยการประสานงานโรงเรียน ว่าปีนี้โรงเรียนสามารถรับเด็กได้กี่คน จากนั้น LPN จะไปประสานพ่อแม่หาเอกสารเพื่อให้เด็กเข้าเรียน กรณี ไม่มีเอกสาร ไม่มีสัญชาติ มูลนิธิฯ จะประสานจัดประชุมหาความร่วมมือ โดยของบประมาณจากกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสส.) รายละ 3,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายทางการศึกษา และใช้อาสาสมัครที่เป็นแรงงานข้ามชาติด้วยกันเป็นผู้ดำเนินงาน ซึ่งงานส่วนใหญ่ที่สำเร็จได้ คือ อาสาสมัครของแรงงานข้ามชาติ รวมถึงภาคธุรกิจที่บริจาคเป็นของใช้อุปโภค บริโภค
“ LPN เราจะไม่รอความช่วยเหลือจากรัฐ อะไรสามารถทำได้ เราทำเลย และระดมความช่วยเหลือของคนแต่ละกลุ่ม”
ด้านพนธกร โพธิ์แป้น ผู้บริหารสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงบทบาทของสภาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ สภาเด็กมีสาขาทั่วประเทศ และเรามีบทบาทสำคัญในการผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า 600 บาทและนโยบายบำนาญถ้วนหน้า เพราะเด็กเป็นทรัพยากรสำคัญ การดูแลเด็กจึงเป็นเรื่องที่สำคัญในการสร้างทรัพยากรที่มีคุณภาพของสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม กรณีของเด็กไร้สัญชาติ ทั้งจากพ่อแม่ที่เป็นแรงงานข้ามชาติ คนไทยพลัดถิ่น และเด็กชาติพันธุ์ที่ยังไม่มีสัญชาตินั้น รัฐบาลควรจะต้องดูแลและให้เด็กเหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษา เพราะเด็กทุกคนไม่ว่าจะสัญชาติใด อยู่บนแผ่นดินใดก็ตาม ต้องได้รับการศึกษา