เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเสนอรัฐสร้างความเป็นธรรมต่อเกษตรกร-ผู้บริโภค

นายสุพจน์  แก้วแสนเมือง คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ในวันนี้ (27มิ.ย.55)ว่า พวกเรา  กลุ่มเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาและการผูกขาดของบริษัทอุตสาหกรรมเกษตร  องค์กรพัฒนาเอกชน  นักวิชาการ   และผู้บริโภค  ได้มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และปร ะสบการณ์เกี่ยวกับการทำการเกษตรพันธสัญญา 
 
พวกเรา พบว่าระบบเกษตรพันธสัญญาในสังคมไทยภายใต้การผลักดันของรัฐและทุนตั้งอยู่บนความไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกร ทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเป็นหนี้และถูกดำเนินคดี  ต้องสูญเสียที่ดิน แบกรับความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนการผลิต  แรงงาน  สุขภาพ  และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เช่น น้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ผ่านมา อีกทั้งทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรส่วนรวมและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทั้งยังทำให้วัตถุดิบในการผลิตอาหารปนเปื้อนและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร
 
ด้วยเหตุดังกล่าว  พวกเราจึงขอเรียกร้องต่อสังคมไทย ดังต่อไปนี้  
 
1.  ขอให้ร่วมกันผลักดันให้ทุนอุตสาหกรรมเกษตร ยุติดำเนินธุรกิจระบบเกษตรพันธสัญญา ที่ไม่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร
 
2.  ขอให้ร่วมกันผลักดันให้รัฐดำเนินนโยบายและการปฏิบัติที่สนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญาที่มีความเป็นธรรมต่อเกษตรกร ไม่ทำลายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค และทำให้เกิดความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งให้มีมาตรการในการเยียวยาเกษตรกรที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบเกษตรพันธสัญญาอย่างเร่งด่วน
 
3.  ขอให้ร่วมกันผลักดันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมที่แท้จริง  โดยยุติการทำธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรที่ทำลายสิ่งแวดล้อม ละเมิดกฎหมาย 
ไม่เคารพต่อสิทธิชุมชน และสิทธิมนุษยชน และผลิตสินค้าการเกษตรที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค  
พวกเรา ขอประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่า พวกเราจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและร่วมกันผลักดันให้มีการสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรม ต่อเกษตรกร มีการคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และความมั่นคงทางอาหาร 
 
พวกเรา ขอประกาศร่วมกันว่า  พวกเราจะทำงานกับภาครัฐ เครือข่ายพันธมิตร ผู้บริโภค  นักวิชาการ  และสื่อมวลชน  เพื่อเคลื่อนไหวให้สิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภคได้รับการเคารพ
 
ทั้งนี้ ทางเครือข่ายฯได้มีการยื่นข้อเสนอ ผลจากการสัมมนาเวทีวิชาการเกษตรพันธสัญญาประจำปี 2555 “เกษตรพันธสัญญา: ใครอิ่ม ใคร…อด ?”    ในวันที่ 26 – 27 มิถุนายน 2555 เครือข่ายเกษตรพันธสัญญา นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม ได้มีการระดมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหา ทางเลือก และทางออกของระบบเกษตรพันธสัญญา ต่อตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน และนักวิชาการโดยมีข้อเสนอเชิงนโยบาย ดังนี้ 

 

1. จากการศึกษาวิจัยเรื่องความไม่เป็นธรรมของระบบเกษตรพันธสัญญาของสถาบันวิชาการหลายแห่ง  เช่น ศูนย์การศึกษากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) พบว่า มีเกษตรกรจำนวนมากที่ตกอยู่ในวงจรหนี้สิน  บางกลุ่มอยู่ในขั้นตอนการบังคับคดีอันเนื่องมาจากสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ไม่เท่าทันข้อมูลและสถานการณ์ บางครอบครัวล้มละลาย   ซึ่งจะต้องได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วน จึงมีข้อเสนอ ดังนี้ 
 
1.1 ให้ คณะอนุกรรมการด้านเกษตรพันธะสัญญาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามคำสั่งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ที่ 4/2555 ลงวันที่ 5 มิถุนายน 2555 ลงนามโดย นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี เร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อ สำรวจและขึ้นทะเบียนผู้ที่ได้รับผลกระทบที่จะต้องได้รับการเยียวยา ภายใน 3 เดือน  
 
1.2 ให้แต่งตั้งคณะทำงานกลางเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมและหนี้สิน รวมทั้งการฟ้องร้อง ดำเนินคดี เป็นการเฉพาะ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และดำเนินการช่วยเหลือและเยียวยาขึ้น ภายใน 1 เดือน หลังจากมีการสำรวจและขึ้นทะเบียนเสร็จ  
 
2. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร  จะต้องใช้ความรู้เกี่ยวกับ การจัดการแบบใหม่ องค์ความรู้เฉพาะในการผลิตและการตลาดแนวใหม่ ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรที่อยู่ในระบบและกำลังจะเข้าสู่ระบบ มีข้อมูลองค์ความรู้ในการจัดการการผลิต และการตัดสินในการเข้าสู่ระบบ จึงมีข้อเสนอ ดังนี้
 
2.1 ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  สภาเกษตรกรแห่งชาติ  และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุน และส่งเสริมให้เกษตรกรและผู้บริโภค มีความรู้  ข้อมูลข่าวสารที่ทันการณ์ และเท่าทัน ในเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม การบริหารจัดการและการผลิตที่เน้นมาตรฐานและคุณภาพ และประกอบการตัดสินใจก่อนเข้าสู่ระบบ 
 
2.2 ให้คณะทำงานในข้อ 1.1 เป็นกลไกหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธะสัญญา เพื่อใช้เป็นกรอบในการปฏิบัติในการส่งเสริมและสนับสนุน การเข้าสู่ระบบ และอยู่ในระบบอย่างเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม โดยการมีส่วนร่วมของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง สภาเกษตรกรแห่งชาติ เครือข่ายผู้บริโภค ประชาสังคม และสื่อมวลชน ภายใน 6 เดือน
 
2.3 ให้ สภาเกษตรกรแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา  สื่อมวลชน และภาคประชาสังคม จัดให้มีสมัชชาเพื่อรับฟังความคิดเห็น รวบรวมปัญหาและผลกระทบ และข้อเสนอ เพื่อจัดทำ “ธรรมนูญของเกษตรกร”  และนำผลการจัดทำสมัชชามาจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานตามกรอบแผนยุทธศาสตร์ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง 
 
3. เนื่องจากโครงสร้างของระบบการผลิตทางการเกษตรของไทยในปัจจุบันพัฒนาเข้าสู่โครงสร้างการผลิตแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปฎิรูประบอบกฎหมายที่สามารถอำนวยให้เกิดความเป็นธรรมให้แก่ เกษตรกร ผู้บริโภค ผู้ประกอบการ  สังคม รวมถึงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   
 
คณะทำงานเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา
 
เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา (เครือข่ายเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย)
 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน, มูลนิธิชีววิถี, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สถาบันชุมชนเพื่อเกษตรกรรมยั่งยืน, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////