เครือข่ายสตรีล่าลายมือชื่อยื่นบริษัทยัมฯ ทบทวนการเลิกจ้างประธานสหภาพหญิง

เครือข่ายสตรี ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ ทั้งเยาวชน แรงงาน สื่อมวลชน ยื่นหนังสือ พร้อมลายมือชื่อกว่า 100 ชื่อ และกว่า 50 องค์กร กับตัวแทนบริษัทยัมฯ ให้รับนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน

วันที่ 19 ธันวาคม 2560 ตัวแทนเครือข่ายสตรี เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายเยาวชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึก กรณี…เลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิงซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ โดยทางบริษัทได้มอบหมายให้ ตัวแทนฝ่ายบุคคลมารับหนังสือข้อเสนอและรายชื่อผู้ที่ร่วมลงลายมือชื่อกว่า 100 คนและ กว่า 50 องค์กร

นางสาวนิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี กล่าวว่า ทางเครือข่ายได้มีการร่วมรวมลายมือชื่อเพื่อยื่นต่อผู้บริหาร บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) ให้ทบทวนกรณีการเลิกจ้าง นางอภันตรี เจริญศักดิ์ ซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานฯ และอยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง และมีข้อพิพาทแรงงานกันอยู่ด้วยมองว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จึงอยากให้ทบทวนเพื่อการสร้างกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ด้านแรงงานที่ดีต่อกัน โดยการเข้ากระบวนการเจรจาต่อรอง การเลิกจ้างด้วยเหตุที่ไม่มีงานให้ทำแต่เพียงผู้เดียวนั้นดูไม่เป็นธรรมจริง ซึ่งคุณอภันตรี นั้นถือว่าเป็นผู้นำแรงงานหญิงที่ได้ออกมาทำงานขับเคลื่อนด้านความไม่เป็นธรรม เพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับผู้หญิงในสังคมร่วมกับหลายเครือข่ายที่ทำงานด้านสตรี และบทบาทภายในองค์กรก็ถือว่า เป็นผู้หญิงที่ทำงานทุ่มเททั้งในหน้าที่การทำงานเพื่อบริษัทฯและองค์กรสหภาพแรงงานด้านสิทธิสวัสดิการ การทำงานของคุณอภันตรี ทั้งด้านสังคมภายนอกและกับองค์กรก็ถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรด้วย จึงอยากให้ทบทวนใหม่ ทั้งนี้ทางเครือข่ายยังมอบดอกไม้เพื่อเป็นกำลังใจให้กับนางอภันตรี เจริญศักดิ์ ประธานสหภาพแรงงานฯด้วย

โดยหนังสือที่ยื่นต่อบริษัทยัมฯมีเนื้อหาดังนี้

ตามที่บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นเนล (ประเทศไทย) ได้เลิกจ้างนางอภันตรี  เจริญศักดิ์  ตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานผู้ปรุงอาหารและให้บริการ และมีตำแหน่งเป็น รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ฝ่ายสตรีและเยาวชน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ซึ่งก่อนหน้านี้นางอภันตรีฯได้เคยถูกบริษัทฯเลิกจ้างมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2554 นางอภันตรีฯได้ต่อสู้ในชั้นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส) และรวมทั้งในชั้นศาลจนชนะคดีมีคำสั่งให้บริษัทฯรับกลับเข้ามาทำงาน ในตำแหน่งเดิม หน้าที่เดิม แต่ถูกกดดันหลากหลายวิธีมาตลอด 5 ปี

ครั้งนี้เป็นครั้งที่สอง และการถูกเลิกจ้างครั้งนี้ในฐานะที่ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ อยู่ในระหว่างรอคำพิพากษาชั้นฎีกา กรณีถูกเลิกจ้างในการจัดตั้งสหภาพแรงงานตั้งแต่ปี 2554 และขณะนี้อยู่ในช่วงของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทข้อเรียกร้องเจรจาต่อรอง ที่ทางสหภาพฯยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2560  แต่ยังหาข้อยุติไม่ได้ จนเกิดข้อพิพาทแรงงานซึ่งทางเจ้าหน้าที่ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทได้นัดเจรจาอีกครั้งที่ 4  ในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 

เครือข่ายแรงงานสตรี ขบวนการแรงงาน นักวิชาการ นักกฎหมาย นักสิทธิมนุษยชน เห็นร่วมกันว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิแรงงานของนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างของ   นางอภันตรีฯ และเกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงแรงงานดังนี้

1) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เมื่อพิจารณาจากกระบวนการแล้วชี้ให้เห็นถึงเจตนาที่ไม่ต้องการให้นางอภันตรีฯทำงานอยู่ต่อไปซึ่งแน่นอนว่าเกี่ยวข้องกับบทบาทของนางอภันตรีฯซึ่งเป็นประธานสหภาพแรงงานฯ ที่ได้เรียกร้องสิทธิ สวัสดิการให้แก่พนักงานและสมาชิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้ได้ส่งผลให้คณะกรรมการและสมาชิกสหภาพ เกิดข้อวิตกกังวลและหวั่นไหวในเหตุการณ์ครั้งนี้  และนางอภันตรีฯเป็นผู้นำแรงงานสตรี ที่ดูแลในเรื่องสิทธิและความเสมอภาคให้กับสตรีและเยาวชน ได้มีบทบาทในสังคมให้ยุติความรุนแรงและสร้างเสริมความเสมอภาค ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม ได้พยายามสร้างแรงงานสัมพันธ์ที่ดีให้องค์กร ซึ่งถือเป็นการเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน ซึ่งก็คือการละเมิดต่อปฏิญญาสากลขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ละเมิดต่อเจตจำนงและหลักการอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่าง(ILO) 

2) การเลิกจ้างนางอภันตรี เจริญศักดิ์ เป็นการเลิกจ้างที่จงใจและไม่ได้สนใจต่อกฎหมายกล่าวคือ การเลิกจ้างในครั้งนี้เป็นการเลิกจ้างที่อยู่ระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องและอยู่ในขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงาน ซึ่งตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 มาตรา 31 บัญญัติไว้ว่า “เมื่อได้มีการแจ้งข้อเรียกร้องตามแล้ว ถ้าข้อเรียกร้องนั้นยังอยู่ในระหว่างการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานตามมาตรา ห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการ อนุกรรมการ หรือ สมาชิกสหภาพแรงงาน หรือกรรมการหรืออนุกรรมการสหพันธ์แรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องฯ”ซึ่งในประเด็นนี้ย่อมเกี่ยวข้องกับภารกิจ หน้าที่ ของรัฐคือกระทรวงแรงงานที่จะต้องเข้าไปดำเนินการให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายหากไม่ดำเนินการใดๆหรือเพิกเฉยก็ “ถือเป็นการละเว้นไม่ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ”มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

3. บริษัทควรคำนึงถึงหลักจริยธรรมองค์กรในการทำธุรกิจข้ามชาติ ซึ่งจะต้องไม่ละเมิดสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของพนักงาน ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่กีดกันการรวมตัวซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต้องปฏิบัติต่อพนักงานโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเสมอภาคเท่าเทียมกันและเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายแรงงานสตรีและเยาวชนทุกภาคส่วน จะพยายามแสวงหาแนวทางที่ดีที่สุดเพื่อปกป้องสิทธิแรงงานทั้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันบนพื้นฐานระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ดี และจะประสานความร่วมมือไปยังองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศและจะสื่อสารกับสังคมผ่านสื่อมวลชนและสื่อสาธารณะทุกรูปแบบเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยและร่วมกันแก้ไขประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชน ตามกติกาสากลที่ประเทศไทยเป็นภาคี ซึ่งคาดหวังว่าเจตนารมณ์ของการปกป้องสิทธิของ นางอภันตรี เจริญศักดิ์ และกรณีอื่นๆจะได้รับการตอบรับที่ดีในการแก้ไขปัญหาจากนายจ้าง จากกระทรวงแรงงานและรัฐบาลดัง“คำประกาศวาระแห่งชาติ : สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อน Thailand 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2560

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน