เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านรวมกลุ่ม เร่งรัฐประกาศใช้กฎกระทรวงคุ้มครอง

กลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคีภาคประชาสังคม จัดการเสวนา “การคุ้มครองแรงงานลูกจ้างทำงานบ้าน : 1 ปีหลังอนุสัญญาฯ” เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2555 ที่ห้องเจ้าพระยาบอลรูม โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ เพื่อให้สังคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าใจถึงปัญหา และมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพลูกจ้างทำงานบ้าน รวมทั้งเพื่อติดตามความก้าวหน้าจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการผลักดันให้เกิดกลไกการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ตามมาตรฐานแรงงานสากล

นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงความเป็นห่วงพี่น้องแรงงานที่ทำงานบ้าน อยากให้ดูแลเรื่องปัญหาสุขภาพ เพราะอาชีพที่ทำถือเป็นงานที่ดี และอยากเห็นคนทำงานบ้านพัฒนาตัวเองยกระดับงาน ส่วนเรื่องเกี่ยวกับร่างกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านที่พยายามผลักดันอยู่ในขณะนี้ ก็ขอให้รอและรับปากว่าจะให้ความช่วยเหลือ

นางสุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า กลไกการคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านถึงแม้ไม่มีอนุสัญญาหรือยังไม่ได้ให้สัตยาบัน แต่รัฐธรรมนูญไทยพูดถึงศักดิ์ศรีความเป็นคน ความไม่เสมอภาค การเลือกปฏิบัติ ซึ่งเปิดช่องให้นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายได้ ซึ่งรัฐบาลเป็นตัวจักรที่สำคัญในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ส่วนอนุสัญญารัฐบาลก็ควรจะให้สัตยาบัน และยังมีพี่น้องแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานเป็นคนทำงานบ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบมากมาย ทั้งที่กฎหมายไทยก็ให้การคุ้มครองหลายเรื่องเท่ากับคนงานไทย ถ้าไม่เข้าใจประเด็นนี้และไม่ได้ผลักดันต่อนโยบายแรงงานข้ามชาติให้มีศักยภาพร่วมกันไปด้วย มันก็คือการลดทอนอำนาจต่อรองของคนงานที่เป็นคนไทย ซึ่งจำเป็นที่จะต้องสร้างพื้นฐานอำนาจต่อรองและคุณค่าให้เท่าๆกันทางกฎหมาย มันก็จะทำให้คนงานไทยหรือไม่ว่าจะเป็นกลุ่มไหนก็จะสามารถสร้างฐานให้สามารถมีอำนาจต่อรองได้ด้วย ทั้งจะช่วยในเรื่องของการเสนอร่างกฎหมายภาคประชาชนที่เห็นว่าฝ่าด่านสภาฯยากมาก เนื่องจากเจตจำนงทั้งของภาครัฐและพรรคการเมืองไม่ค่อยให้ความสนใจ จะเห็นได้จากขบวนการแรงงานพยายามขับเคลื่อนกฎหมายประกันสังคมที่พยายามขยายการคุ้มครองมายังกลุ่มอื่นด้วย ผลักดันมานานจนตกวาระสมัยประชุมไปแล้ว

  

“ วันนี้กำลังพูดเรื่องประชาคมอาเซียน ยังมีช่องโหว่มากมาย ถ้าเราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดูแลคนงานไทยในประเทศไม่ได้ แล้วเราจะมีอำนาจอะไรไปต่อรองกับรัฐบาลต่างประเทศให้ดูแลคนงานไทยในต่างประเทศได้ การต่อสู้ของคนทำงานบ้านวันนี้แม้ว่าจะมีน้อยแต่ก็ถือว่าเราเป็นกองหน้าที่สำคัญและจำเป็น ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาสู้ก็ไม่มีใครช่วยเราได้นี่คือพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของขบวนการแรงงานทุกระบบทุกกลุ่ม สิ่งที่เราควรจะพัฒนาต่อคือกลไกการร้องทุกข์ ที่จะสามารถติดต่อได้ง่ายมีสายด่วน จำเป็นจะต้องมีช่องทางให้ร้องทุกข์แบบฉุกเฉิน ดูแลเรื่องสัญญาจ้างที่ชัดเจน การรวมกลุ่มที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน ที่สำคัญอีกประการคือรัฐต้องสนับสนุนองค์กรเอ็นจีโอที่เข้าไปช่วยแรงงานทำงานบ้านเพื่อที่จะคอยช่วยเหลือ รัฐจะต้องสนับสนุนงบประมาณและบทบาทของเอ็นจีโอด้วย” นางสุนีกล่าว

สำหรับความพยายามผลักดันจากเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านและภาคประชาสังคม ที่ให้ภาครัฐเร่งร่างและออกกฎกระทรวงเพื่อคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546-2552 แต่กระทรวงแรงานโดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ก็ไม่ประกาศใช้ร่างฯ ฉบับนี้ จนกระทั่ง 14 พฤษภาคม 2555 นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้นำเสนอเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาและอนุมัติในหลักการของกฎกระทรวงฯ ซึ่งมีสาระที่สำคัญ คือ

  

       ขยายความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 เพิ่มเติมคือให้นายจ้างจัดให้มีวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีทำงานและกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างในวันหยุด ค่าจ้างในวันลาป่วย ค่าทำงานในวันหยุดกรณีที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้างหยุดงานไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วน

       ร่างกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับนี้จะต้องถูกส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เมื่อคณะกรรมการคณะกฤษฎีกาให้ข้อเสนอแนะแล้วจะต้องนำกลับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีใหม่เพื่อให้ลงมติและประกาศใช้เป็นกฎกระทรวงต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน