วันนี้ (12 มิ.ย.62)เครือข่ายภาคประชาสังคม ประกอบด้วย เครือข่ายคนพิการ คนจนเมือง แรงงานนอกระบบ เครือผู้บริโภค และเครือข่ายอื่นๆได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอ
“ระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้”
โดยตัวแทนจากเครือข่ายคนพิการเป็นผู้แทนได้อ่านประกาศว่า ปัจจุบันประชากรโลกราว 4,200 ล้านคนหรือร้อยละ 55 อาศัยอยู่ในเมือง และจากการคาดการณ์ขององค์การสหประชาชาติ ในอีก 30 ปีข้างหน้า ในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกถึง 2 ใน 3 หรือ ประมาณ6,500 ล้านคนจะอาศัยอยู่ในเขตเมือง การขยายตัวและเติบโตอย่างรวดเร็วของเมืองเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากร และการอพยพย้ายถิ่นเข้าสู่เมือง
ดังนั้น ในหลายเมืองทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ตัวเลขทางการระบุว่า ผู้อาศัยในกรุงเทพมหานครประมาณ 5.6 ล้านคน แต่ถ้านับผู้ที่พำนักอาศัยเพื่อทำงานแล้วน่าจะมากถึง 8 ล้าน เมืองใหญ่ทั่วโลกรวมถึงกรุงเทพมหานครกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายในการบริหารจัดการเมืองที่จะตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายและยั่งยืนระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองเป็นวาระที่มีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากเป็นระบบพื้นฐานที่ทุกคนควรเข้าถึงได้หรือตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการได้ทุกกลุ่ม แต่อย่างไรก็ตามประชาชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลยังคงประสบปัญหาในการเดินทางและการคมนาคมทั้งในด้าน การเข้าถึง(accessibility) ความปลอดภัย ความแออัด โครงข่ายความครอบคลุมทั่วถึง ราคาค่าขนส่งที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรกลุ่มเปราะบางที่อาศัยอยู่ในเมืองซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงและชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น อาทิเช่น ปัญหาสิ่งอำนวยความสะดวก ในระบบขนส่งสาธารณะสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ, โครงข่ายของระบบที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วถึงและมีราคาที่สูงเกินกว่ากลุ่มคนจนเมืองและกลุ่มแรงงานนอกระบบจะใช้บริการได้, ปัญหาการคุกคามทางเพศสำหรับผู้หญิงและเด็กในระหว่างการใช้บริการขนส่งสาธารณะ รวมถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการใช้บริการที่เป็นปัญหาร่วมของทุกกลุ่ม เป็นต้น
ในช่วงที่ผ่านมา ภาคประชาชนและวิชาการได้มีความพยายามขับเคลื่อนให้เกิดการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่การสำรวจข้อมูลสถานการณ์ปัญหา และการจัดทำข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของการออกแบบระบบขนส่งสาธารณะ และราคาค่าโดยสาร, การสร้างอาสาสมัครเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันและแจ้งเหตุการคุกคามทางเพศบนรถโดยสาร, การสื่อสารสังคมให้เกิดความตระหนักถึงการขับขี่ยานพาหนะอย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ,การร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เกิดการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการ เป็นต้น
เราตระหนักว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตเมือง โดยเฉพาะระบบขนส่งสาธารณะเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อการสร้างเสริมสุขภาวะให้เกิดขึ้นแก่คนทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมือง สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) ในข้อที่ 11 ว่าด้วยการทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน มีจุดมุ่งหมายให้คนทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะที่ยั่งยืน ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้โดยคำนึงถึงกลุ่มคนที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็ก คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นพิเศษ
ในวันนี้ภาคีเครือข่ายประชาสังคมหลากหลายกลุ่ม อาทิเช่น ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ (T4A) ,สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย, กลุ่ม forOldy, สมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย,เครือข่ายสลัม 4 ภาค, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค,เครือข่ายเมืองปลอดภัยเพื่อผู้หญิง,กลุ่มปั้นเมือง เป็นต้น ได้ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องระบบขนส่งสาธารณะที่ส่งผลต่อความเหลื่อมล้ำทางสุขภาวะของคนเมือง และร่วมกันขอประกาศเจตนารมณ์และข้อเสนอ เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และร่วมผลักดันการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาใน 3 ประเด็นสำคัญ คือ
1) ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีความความปลอดภัย
2) ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีราคาที่เป็นธรรมและโครงข่ายที่ครอบคลุมทั่วถึง และ
3) ระบบขนส่งสาธารณะต้องมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับทุกคน
โดยมีเป้าหมาย คือ “ระบบขนส่งสาธารณะที่ปลอดภัย ทุกคนเข้าถึงได้”