ถอดบทเรียนการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เน้นย้ำ สร้าง 3 ประสาน พม.มหาดไทย สาธารณสุข
เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ เวทีเครือข่ายขับเคลื่อนติดตามนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ณ โรงแรม Gallery Lake view จังหวัดขอนแก่น ในช่วงของการถอดบทเรียนจากเครือข่ายฯ ที่ขับเคลื่อนในพื้นที่ภาคอิสาน ได้ร่วมกันนำเสนอการถอดบทเรียน เพื่อเป็นแนวทางขับเคลื่อนต่อไป
มีนา ดวงราษี แกนประสานงานพื้นที่นำร่อง จังหวัดสุรินทร์ กล่าวในการถอดบทเรียนการขับเคลื่อนสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ว่า แนวทางในการเลือกพื้นที่เพื่อขับเคลื่อนประเด็นฯ ดังกล่าวนั้น มีการมองหาภาคีเครือข่ายที่จะสามารถส่งต่อประเด็นและขับเคลื่อนต่อไปได้ จากนั้นตั้งคณะทำงานเด็กโดยกำหนดเป้าหมายในการประสาน 3 กระทรวงใหญ่ที่มีอำนาจ หน้าที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อที่จะผลักดันนโยบายได้
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาว่าสวัสดิการเด็กที่รัฐจัดให้เพียงพอหรือไม่ คณะทำงานฯ จะต้องพิจารณากำหนดเป็นนโยบาย จากนั้นผลักดันด้วยกระบวนการต่าง ๆ อาทิ ทำ MOU จัดเวทีขับเคลื่อนเพื่อสร้างเครือข่ายในกลุ่มต่าง ๆ ใช้ความเป็นเครือข่าย ทำงานผ่านเครือข่าย กลุ่มงาน จะทำให้ขับเคลื่อนงานได้มากขึ้น พลังจากรัฐเป็นส่วนเสริมปลายทางจากนั้นจัดทำข้อมูล ลงพื้นที่เก็บรายละเอียด กรณีที่มีเด็กตกหล่นเข้าไม่ถึงสวัสดิการเด็ก ซึ่งเด็กที่ตกหล่นจะอยู่ชายแดนพื้นที่ห่างไกล
“ระเบียบ กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ที่ท้องถิ่นรับผิดชอบ เพื่อให้ 3 กระทรวงหลักหันมาให้ความ
สำคัญ มีกลไกมารองรับ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ การขยับจำนวนเงินให้เหมาะสมกับคุณภาพชีวิต
พรทิพย์ มังกร สมาชิกสภาเทศบาลตำบลสังขะ จ.สุรินทร์ ทิพย์ เล่าถึงแนวทางการดำเนินงานผลักดันนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า ว่า เทศบาลตำบลสังขะทำงานโดยเชื่อมโยงกับโรงพยาบาล โดยอาศัยข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลจะประสานกับ อสม. แนะนำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล สวัสดิการต่าง ๆ เพื่อผู้ปกครองและเด็กจะสามารถเข้าถึงสวัสดิการได้
ป้าพรทิพย์ ยังเล่าด้วยว่า นอกจากการประสานข้อมูลความร่วมมือกับโรงพยาบาลและ อสม.แล้ว งานเอกสารถือเป็นเรื่องสำคัญ โดยป้าจะจัดทำเรื่องเอกสารต่างๆให้ผู้ปกครอง ตั้งแต่การกรอก ช่วยเตรียมเอกสาร กรณีอยู่กับตายาย เราจะขอเบอร์โทรเพื่อคุยกับพ่อแม่
นอกจากนี้ ป้าพรทิพย์ ยังสร้างเครือข่ายพยาบาลในการช่วยเรื่องแนะนำสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับเทศบาลข้างเคียงด้วยโดยการให้คำแนะนำ สำหรับเงินสวัสดิการจำนวน 600 บาทนั้น ถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมากสำหรับพื้นที่อำเภอชายแดน และสิ่งที่สำคัญต่อเด็กเงินจำนวนนี้ต้องเข้าบัญชีผู้ปกครองที่ดูแลเด็กโดยตรง
ด้านพยาบาลวิชาชีพอย่าง จิรภิญญา สุขล้น พยาบาลวิชาชีพชำนาญการโรงพยาบาลสังขะ จ.สุรินทร์ กล่าวถึงบทบาทของโรงพยาบาลในการช่วยขับเคลื่อนนโยบาย ว่า โรงพยาบาลจะช่วยในส่วนของการดูแลเด็กแบบองค์รวม ประเด็นสำคัญในการดูแลสุขภาพเด็กในพื้นที่ชายแดน ซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวโยงกันระหว่างภาวะเศรษฐกิจและสุขภาพ คือ หากครอบครัวมีภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดี การดูแลสุขภาพของสมาชิกในครอบครัวจะถูกลดลำดับความสำคัญรองลงมา ดังนั้น จึงเป็นที่มาของปัญหาเด็กขาดการฉีดวัคซีน โภชนาการไม่ดี หรือการดูแลสุขภาพในด้านต่าง ๆ
ส่วนการเข้าถึงนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า เด็กในพื้นที่ได้รับเงินอุดหนุนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งผู้ปกครองจะรับรู้มาจากเพื่อนบ้าน และ อสม. สะท้อนให้เห็นว่าเพื่อนบ้านมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้ผู้ปกครองตัดสินใจรับเงิน ซึ่งเงิน 600 บาท ผู้ปกครองจะใช้ซื้อนมเป็นหลักและรองลงมาเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ค่ารถ ค่าเดินทางเด็กไปโรงเรียน อาหาร ขนม
อย่างไรก็ตาม ปัญหาเด็กที่ต้องดูแลต่อ คือข้อมูลจากครอบครัว เด็กส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับปู่ย่าตายาย หรือเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว แต่ละครอบครัวจะเป็นครอบครัวใหญ่มีสมาชิกหลายคน และเงินในส่วนนี้จะถูกใช้ไปกับเรื่องอื่น ๆในครอบครัวด้วย ส่วนข้อกังวลจากพื้นที่ คือความปลอดภัยในการเดินทางของเด็กไปที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่อาจจะไม่สะดวกนัก การเสริมพัฒนาการเด็ก และอยากให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กมีกล้องวงจรปิด
“การขับเคลื่อนกลไก ต้องมีผู้ประสานงานหลักที่มองเห็นถึงความสำคัญและมีใจ สนับสนุนคีย์แมนให้ทำงานให้ได้”
ลักขณา แต่งภูเขียว ผู้จัดการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กปฐมวัยและครอบครัว ตำบลนาหนองทุ่ม จังหวัดขอนแก่น เล่าถึงความเป็นมาของศูนย์การเรียนรู้เพื่อเด็กปฐมวัยและครอบครัว โดยเริ่มมาจาก การเป็นอสม. และได้ร่วมประชุมกับแกนนำที่ขับเคลื่อนเรื่องสวัสดิการเด็ก เมื่อได้เข้าร่วมประชุมจึงรู้ว่ายังมีเด็กในชุมชนที่ประสบปัญหานี้ และจะช่วยเด็กได้อย่างไร ซึ่งในพื้นที่มีพี่เลี้ยงที่คอยแนะนำจากกลไกตำบล ช่วยขับเคลื่อนเรื่องเด็กปฐมวัย
ผู้จัดการศูนย์ฯ เล่าอีกว่า จากที่เรียนรู้ข้อมูลจึงได้ลงพื้นที่ในชุมชน และสังเกตว่าเด็กส่วนใหญ่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เอาแต่ใจ จึงเกิดแนวคิดจะแก้ปัญหาช่วยเด็กๆ และได้สละพื้นที่สร้างเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ ขึ้นในตำบล จัดหาพี่เลี้ยงดูแลเด็ก ที่ศูนย์ฯจะมีกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง พาเด็กเล่นการละเล่นพื้นบ้าน มีพื้นที่ที่สร้างและดูแลเด็ก พี่เลี้ยงที่ศูนย์ฯ เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ปกครองกับ อบต. ให้เด็กได้สวัสดิการ การขับเคลื่อนงานในอนาคต คือกลไกของคนในชุมชน หารือกัน ชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหา เด็กของเรามีแต่ผู้สูงอายุดูแล ถ้าหากจะทำให้เด็กมีพัฒนาการมากขึ้น เราต้องขยายองค์ความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง
ด้านนิตติยาพร คำใบ ผู้แทนจากศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนทุ่งทอง ริมรางรถไฟขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น กล่าวสรุปถึงผลการขับเคลื่อนการนโยบายสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้าว่า ในส่วนของตนเอง การทำงานที่สำเร็จคือ ไม่มีเด็กตกหล่นได้รับสวัสดิการครบทุกคน สิ่งที่ไม่สำเร็จ คือ จำนวนเงินสวัสดิการที่ได้ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ราคาของทุกอย่างที่แพงขึ้น
“การดำเนินการที่สำคัญ คือการสื่อสารกับพี่น้องให้เข้าใจ และใช้ตัวเองลงไปทำงานในส่วนที่มีอำนาจตัดสินใจ”