เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานด้านสุขภาพเสนอเพิ่มเติมร่างพ.ร.บ.เงินทดแทน

วันนี้ (16 กุมภาพันธ์ 2554) เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน เครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจาการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบกทม. และกลุ่มสหภาพแรงงานต่างๆ ราว 20 คน ได้เข้ายื่นหนังสือขอสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่..) พ.ศ. …. ในมาตรา 10 ตามข้อเสนอจากที่ประชุมวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีนายสุกิจ อัถโถปกรณ์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พรบ.เงินทดแทน (ฉบับ …) พ.ศ. …..มารับหนังสือฉบับดังกล่าว

นางสมบุญ  ศรีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากผลการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่..) พ.ศ…. สภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 8 วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2554 ณ ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ หมายเลข 3701 ชั้น 7 อาคารรัฐสภา 3 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯได้มีการพิจารณาในมาตรา 10 (หรือตามมาตรา 28 วรรคสอง ในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537) เรื่องการพิจารณาเกี่ยวกับการจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละ30 ของดอกผลของกองทุนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาและส่งเสริมการฟื้นฟูสรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง และเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมหรือป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมความในมาตราดังกล่าวนี้ใหม่ว่า "คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละ50 ของดอกผลของกองทุนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดรักษาและส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง และเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมหรือป้องกันเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน และกองทุนความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม และไม่เกินร้อยละห้าของดอกผลของกองทุนต่อปีเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา 43"
 
อย่างไรก็ตามที่ประชุมในวันดังกล่าวขอให้นำประเด็นนี้ไปพิจารณาต่อในวันนี้ และทางเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงได้ทำหนังสือขอสนับสนุนข้อเสนอที่ให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม ในเรื่องการจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละ 30 ของดอกผลของกองทุนต่อปี    ที่พิจารณาแก้ไขใหม่เป็นไม่เกินร้อยละ 50 ของดอกผลของกองทุนต่อปี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

(1)  งบประมาณดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของลูกจ้าง ถือเป็นกระบวนการทำงานเชิงรุกที่เน้นการป้องกันมากกว่าการรักษาและเยียวยา เนื่องจากสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างที่ผ่านมา เช่น ในปี 2552 จำนวนการประสบอันตรายของลูกจ้างในระบบภาคอุตสาหกรรม รวมจากทุกกรณีมีจำนวน 149,436 ราย ซึ่งสำนักงานกองทุนเงินทดแทนต้องจ่ายเงินทดแทนเนื่องจากการประสบอันตรายจากการทำงานเป็นจำนวนสูงถึง 1,569 ล้านบาท และอัตราการประสบอันตรายดังกล่าวส่งผลต่อผลิตภาพของงานที่เกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมป้องกันน้อยกว่าการรักษาซึ่งเป็นปลายเหตุของสถานการณ์ดังกล่าว

(2)  ข้อเสนอดังกล่าวยังสอดคล้องต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เรื่อง การนำดอกผลของกองทุนเงินทดแทนมาจัดสรรให้กับกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งกองทุนความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานก็จะจัดสรรงบประมาณมาให้สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานดำเนินงานต่อไป ดังนั้นยิ่งจำนวนดอกผลมีอัตราเพิ่มขึ้นยิ่งส่งผลต่อการส่งเสริม การพัฒนา การศึกษาวิจัย และแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานมากยิ่งขึ้นด้วย ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะได้รับการดำเนินการเพื่อการสร้างคุณภาพชีวิตให้กับแรงงานทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน


บันทึกหลักการและเหตุผล

ประกอบการร่างพระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ..)

พ.ศ. ….

——————————————————————————————

หลักการ

 

               แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ดังต่อไปนี้

               (๑) แก้ไขขอบเขตการใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔)

               (๒) เพิ่มบทนิยามคำว่า “ทุพพลภาพ” (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๕)

               (๓) แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจในการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดี (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๘ วรรคหนึ่ง)

               (๔) แก้ไขให้ผู้ประกอบกิจการอยู่ในฐานะนายจ้างของลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง และตัดหลักการที่ให้นำบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่นายจ้างมาใช้บังคับแก่ผู้ประกอบกิจการและผู้รับเหมาค่าแรงซึ่งมิใช่นายจ้างตามมาตรา ๑๑ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๑ และมาตรา ๕๖)

               (๕) แก้ไขให้กระทรวงแรงงานมีอำนาจประกาศกำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ในการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน และอัตราค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๓ วรรคหนึ่ง มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๗)

               (๖) แก้ไขให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้กำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดจากการทำงาน และเพิ่มบุคคลซึ่งมีสิทธิได้รับค่าทำศพกรณีลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๗)

               (๗) แก้ไขอัตรา หลักเกณฑ์ และวิธีการจ่ายค่าทดแทนรายเดือน การรับค่าทดแทน การจ่ายค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้างซึ่งตายก่อนได้รับค่าทดแทนครบตามสิทธิ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ มาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๔)

               (๘) แก้ไขให้คณะกรรมการมีอำนาจจัดสรรเงินกองทุนไม่เกินร้อยละสามสิบห้าของดอกผลของเงินกองทุน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง ส่งเสริมและป้องกันความปลอดภัยในการทำงาน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๒๘ วรรคสอง) 

               (๙) แก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องตามหลักวิชาการบัญชี รวมทั้งแก้ไขชื่อหน่วยงานให้ถูกต้องเป็นปัจจุบัน (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๐)

               (๑๐) แก้ไของค์ประกอบคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง และแก้ไขการพ้นตำแหน่งของกรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๑ เพิ่มมาตรา ๓๑/๑ และการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๔)

 

               (๑๑) กำหนดให้คณะกรรมการการแพทย์มีอำนาจแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันสังคมเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการการแพทย์มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๓๘ มาตรา ๔๐ (๓) และมาตรา ๔๓)

               (๑๒) แก้ไขหลักเกณฑ์การยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง หลักเกณฑ์การแจ้ง การยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน อำนาจหน้าที่เจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งหรือมีคำวินิจฉัยให้นายจ้างหรือให้สำนักงานจ่ายเงินทดแทนกรณีลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย และแก้ไขหลักเกณฑ์การยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน กรณีเจ็บป่วยภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง

               (๑๓) แก้ไขอัตราเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบจำนวนและให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศงดหรือลดการจ่ายเงินเพิ่มได้ (แก้ไขเพิ่มมาตรา ๔๖)

               (๑๔) แก้ไขบทกำหนดโทษให้เหมาะสม (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๖๒ มาตรา ๖๔และมาตรา ๖๖)

 

เหตุผล

 

               โดยที่พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ที่ใช้บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันมีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และไม่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินเพื่อความคุ้มครองลูกจ้าง เช่น บทบัญญัติเกี่ยวกับขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายการแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อฟ้องคดีหรือแก้ต่างคดี การกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดจากการทำงาน ฐานะและความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการและผู้รับเหมาค่าแรง องค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนและคณะกรรมการการแพทย์ การกำหนดอัตรา หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทำศพ ค่าทดแทน และเงินเพิ่มกรณีนายจ้างไม่จ่ายเงินสมทบหรือจ่ายไม่ครบจำนวน รวมทั้งหลักเกณฑ์การยื่นแบบการยื่นรายการขึ้นทะเบียนนายจ้าง การแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย การยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทน และการพิจารณาคำร้องขอรับเงินทดแทน สมควรแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน และเพื่อคุ้มครองลูกจ้างมีประสิทธิภาพและให้ลูกจ้างได้รับความคุ้มครองมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

ร่าง

พระราชบัญญัติ

เงินทดแทน (ฉบับที่..)

พ.ศ. ….

—————————————-

……………………………………………………………………………………………………….

……………………………………………………………………………………………………….

……………………………………………………………………………………………………….

…………………………………………………………………………………………………………………………………………………………

โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฏหมายว่าด้วยเงินทดแทน

                                พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๔๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฏหมาย

……………………………………………………………………………………………………………………………………………………..

                                มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติเงินทดแทน (ฉบับที่ ….) พ.ศ. …..”

                                มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                                มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่

                                (๑) ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น เฉพาะข้าราชการและลูกจ้างประจำ

                                (๒) รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วนแรงงานรัฐวิสาหกิจแรงสัมพันธ์

                                (๓) นายจ้างซึ่งประกอบธุรกิจโรงเรียนเอกชน ตามกฏหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูหรือครูใหญ่

                                (๔) นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือโรงพยาบาล เฉพาะลูกจ้าง นักเรียนพยาบาล นิสิต นักศึกษา หรือแพทย์ฝึกหัด ซึ่งเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในสถานศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่

                                (๕) องค์กรของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างต่างประเทศ

                                (๖) นายจ้างซึ่งมีสำนักงานในต่างประเทศ และส่งลูกจ้างไปประจำทำงานในต่างประเทศ เฉพาะลูกจ้างซึ่งไปทำงานที่ต่างประเทศ

                                (๗) นายจ้างซึ่งดำเนินกิจกรรมที่มิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหากำไรในทางเศรษฐกิจ

                                (๘) นายจ้างอื่นๆ ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                                มาตรา ๔ ให้เพิ่มบทนิยามคำว่า “ทุพพลภาพ” ระหว่างบทนิยามคำว่า “สูญเสียสมรรถภาพ” และคำว่า “เงินทดแทน” ในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗

                                “ทุพพลภาพ” หมายความว่า การสูญเสียสมรรถภาพตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์ประกาศกำหนด”

                                มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๘ ให้รัฐมนตรีมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เพื่อมีอำนาจสั่งฟ้องคดีและแก้ต่างคดีเกี่ยวกับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐และเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่เสนอแต่งตั้งต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้นแล้ว ก็ให้มีอำนาจกระทำการได้จนถึงคดีถึงที่สุด”

                                มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๑๑ ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการได้ว่าจ้างด้วยวิธีเหมาค่าแรงโดยมอบให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดรับช่วงไปควบคุมดูแลการทำงาน หรือรับผิดชอบจ่ายค่าจ้างให้แก่ลุกจ้างอีกทอดหนึ่ง หรือมอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดหาลูกจ้างมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดหรือทั้งหมดในกระบวนการผลิตหรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการ กรณีเช่นว่านั้นผู้ประกอบกิจการย่อมอยู่ในฐานะนายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

                                ในกรณีที่ผู้รับเหมาค่าแรงตามวรรคหนึ่ง เป็นผู้ยื่นแบบรายการต่อสำนักงานตามาตรา ๔๔ ในฐานะนายจ้าง ให้ผู้รับเหมาค่าแรงมีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้เช่นเดียวกับนายจ้าง ในกรณีเช่นว่านี้ให้ผู้ประกอบกิจการหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้เงินสมทบและเพิ่มเงินเพียงเท่าที่ผู้รับเหมาค่าแรงได้นำส่งสำนักงาน”

                                มาตรา ๗ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๑๓ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๑๓ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนั้น ให้นายจ้างจัดให้ลุกจ้างได้รับการรักษาพยาบาลทันทีตามความเหมาะสมแก่อันตรายหรือความเจ็บป่วยนั้น และให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แต่ไม่เกินอัตรา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด”

                                มาตรา ๘ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๑๔ ให้สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนดชนิดของโรคซึ่งเกิดขึ้นตามลักษณะหรือสภาพของการทำงานหรือเนื่องจากการทำงาน

                                มาตรา ๑๕ กรณีที่ลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานภายหลังการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้นายจ้างจ่ายค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้างตามความจำเป็นแต่ไม่เกินอัตรา หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข ที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด

                                มาตรา ๑๖ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทำศพแก่บุคคลซึ่งลูกจ้างทำหนังสือระบุให้เป็นผู้จัดการศพและได้เป็นผู้จัดการศพของลุกจ้างตามอัตราที่กระทรวงแรงงานประกาศกำหนด ในกรณีที่ไม่มีบุคคลดังกล่าวให้จ่ายแก่บิดมารดา สามีหรือภรรยา หรือบุตรของลุกจ้าง ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของลุกจ้าง หรือบุคคลอื่นซึ่งมีหลักฐานแสดงว่าเป็นผู้จัดการศพของลูกจ้าง

                                มาตรา ๑๗ ในกรณีที่ลุกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตายโดยไม่มีผู้จัดการศพ ให้นายจ้างจัดการศพของลุกจ้างไปพลางก่อน จนกว่าบุคคลตามาตรา ๑๖ จะมาขอเป็นผู้จัดการศพ แต่นายจ้างจะใช้ค่าทำศพเกินหนึ่งในสามของค่าทำศพตามมาตรา ๑๖ ไม่ได้ ถ้าลูกจ้างถึงแก่ความตายและจำเป็นต้องจัดการศพตามประเพณีทางศาสนาก่อนเจ็ดสิบสองชั่วโมงหรือครบเจ็ดสิบสองชั่วโมงแล้วยังไม่มีผู้จัดการศพ ให้นายจ้างจัดการศพของลูกจ้างตามประเพณีทางศาสนาของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายหรือตามประเพณีแห่งท้องถิ่น โดยคำนึงถึงฐานะสังคมของลุกจ้าง ในการนี้ให้นายจ้างใช้ค่าทำศพส่วนที่เหลือได้

                                มาตรา ๑๘ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามาตรา ๒๐ แล้วแต่กรณี ดังต่อไปนี้

                                (๑) ร้อยละเจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างไม่สามรถทำงานตั้งแต่หนึ่งวันขึ้นไป โดยจ่ายตั้งแต่วันแรกที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้ไปจนตลอดระยะเวลาที่ไม่สามารถทำงานได้ แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี

                                (๒) ร้อยละเจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับกรณีที่ลูกจ้างต้องสูญเสียสมรรถภาพโดยจ่ายตามประเภทของการสูญเสียอวัยวะ และร้อยละของการสูญเสียสมรรถภาพในการทำงาน ตามระยะเวลาการจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด แต่ต้องไม่เกิน สิบปี

                                (๓) ร้อยละเจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับลูกจ้างที่ทุพพลภาพ โดยจ่ายตามประเภทของการทุพพลภาพ และตามระยะเวลาที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า สิบห้าปี

                                (๔) ร้อยละเจ็ดสิบของค่าจ้างรายเดือน สำหรับลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหายมีกำหนดสิบสองปี

หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือนให้เป็นไปตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

                             ค่าทดแทนตามวรรคหนึ่งต้องไม่น้อยกว่าค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุด และไม่มากกว่าค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามที่สำนักงานประกันสังคมประกาศกำหนด

มาตรา ๑๙ ในกรณีที่นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘ (๒) หรือ (๓) และต่อมาลูกจ้างได้ถึงแก่ความตายโดยมิใช่เนื่องจากการทำงานและยังรับค่าทดแทนไม่ครบระยะเวลาตามสิทธิดังกล่าว ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ ต่อไปจนครบกำหนดระยะเวลาตามสิทธิ แต่ทั้งนี้ระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนรวมกันต้องไม่เกินสิบสองปี

ในกรณีที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายเนื่องจากการทำงาน ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา  ๑๘ (๔) แก่ผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐  และ ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘ (๒) และ (๓) ต่อไป

มาตรา ๒๐ เมื่อลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจนถึงแก่ความตาย หรือสูญหาย ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากนายจ้าง

(๑) บิดามารดาซึ่งเคยให้อุปการะลูกจ้างหรืออยู่ในความอุปการะของลูกจ้าง

(๒) สามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกกหมาย หรือบุคคลที่มีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าอยู่กินฉันสามีภรรยากับลูกจ้างในกรณีที่ไม่มีสามีหรือภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมาย

(๓) บุตรที่มีอายุต่ำกว่า สิบแปดปี

(๔) บุตรที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีแต่ไม่เกินสามสิบปีและยังศึกษาอยู่ในระดับที่ไม่สูงกว่าปริญญาตรี ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเข้าศึกษาก่อนหรือหลังลุกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

(๕) บุตรที่มีอายุตั้งแต่สิบแปดปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย

ให้บุตรของลูกจ้างซึ่งเกิดภายในสามร้อยสิบวันนับตั้งแต่วันที่ลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือวันที่สูญหายมีสิทธิได้รับค่าทดแทนนับตั้งแต่วันคลอด

ในกรณีที่ไม่มีผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนแก่ผู้ซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนลูกจ้างถึงแก่ความตายหรือสูญหาย แต่ผู้อยู่ในอุปการะดังกล่าวจะต้องได้รับความเดือดร้อนเพราะขาดอุปการะของลุกจ้างที่ตายหรือสูญหาย

เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ให้บุคคลที่แสดงหลักฐานหรือพิสูจน์ได้ว่า เป็นพ่อ แม่ หรือลูกของลูกจ้าง มีสิทธิดังเช่นบิดามารดา หรือบุตรตามวรรคหนึ่งด้วย”

มาตรา ๙ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๒๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๒๔ การจ่ายค่าทดแทนตามมาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ นายจ้างและลูกจ้าง หรือผู้มีสิทธิตามาตรา ๒๐ แล้วแต่รายกรณี จะตกลงกันจ่ายค่าทดแทนนคราวเดียวเต็มจำนวนหรือเป็นระยะเวลาอย่างอื่นก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่เลขาธิการประกาศกำหนด แต่นายจ้างจะหักส่วนลดเกินอัตราที่กำหนดในกฏกระทรวงไม่ได้”

มาตรา ๑๐ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“คณะกรรมการ มีอำนาจจัดสรรเงินกองทุน ไม่เกินร้อยละสามสิบของดอกผลของกองทุนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการบำบัดและการส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานของลูกจ้าง และไม่เกินร้อยละห้าของดอกผลของกองทุนต่อปี เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของสำนักงานกองทุนเงินทดแทนและเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๔๓”

มาตรา ๑๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๓๐ ภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับตั้งแต่วันสิ้นปีปฏิทิน ให้สำนักงานประกันสังคมเสนองบการเงินในปีที่ล่วงมาแล้วต่อสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อตรวจสอบรับรองและเสนอต่อคณะกรรมการ

                                งบการเงินตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการเสนอต่อรัฐมนตรี และให้รัฐมนตรีเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ และจัดให้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

มาตรา ๑๒ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                                “มาตรา ๓๑ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง เรียกว่า “คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน”ประกอบด้วย เลขาธิการสำนักงานประสังคม เป็นประธานกรรมการ และผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกินหกคนกับผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายลูกจ้างฝ่ายละสามคนเป็นกรรมการ และผู้แทนสำนักงานประกันสังคมเป็นกรรมการและเลขานุการ

                             คณะกรรมการกองทุนฯจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

                             การแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในทางแพทย์ศาสตร์นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การคลัง การประกันสังคม หรือการประกันภัย

                             หลักเกณฑ์และวิธีการให้ได้มาซึ่งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายนายจ้างตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา ๑๓ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๓๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“มาตรา ๓๑/๑ กรรมาการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งต้องมีคุณสมบัติและไม่มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้

(๑) มีสัญชาติไทย

(๒) มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบปี

 (๓) เป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์ในด้านแรงงาน                                                           

 (๔) ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

               (๕) ไม่เคยได้รับโทษหรือจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ

                (๖) ไม่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

   (๗) ไม่เคยถูกไล่ออก ปลอดออก หรือเลิกจ้างจากหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนเพราะทุจริตต่อหน้าที่

   (๘) ไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกิจการที่กระทำกับสำนักงาน”

มาตรา ๑๔ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๓๔ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระตามาตรา ๓๓ กรรมการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ

                (๑) ตาย

                (๒) ลาออก

                (๓) รัฐมนตรีให้ออก

                (๔) ขาดคุณสมบัตรหรือมีลักษณะต้องห้ามตามตรา ๓๑/๑

                ในกรณีที่กรรมาการซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งบุคคลในประเภทเดียวกันตามมาตรา ๓๑ เป็นกรรมการแทน และให้ผู้ได้รับการแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมาธิการซึ่งตนแทน

มาตรา ๑๕ ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๓๘ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๓๘ ให้มีคณะกรรมาการแพทย์คณะหนึ่ง ประกอบด้วย ประธานกรรมการ และกรรมการอื่นมีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบห้าคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง

                คณะกรรมการตามวรรคหนึ่ง ให้รัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ

                ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งแต่งตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นเลขานุการและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในสำนักงานประกันสังคมเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน

                ให้นำความในมาตรา ๓๑/๑ (๑) (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) และ(๘) มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔ มาตรา ๓๕ และมาตรา ๓๖ วรรคสองและวรรคสาม มาใช้บังคับโดยอนุโลม”

มาตรา ๑๖ ให้ยกเลิกความใน (๓) ของมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “(๓) ให้ความเห็นต่อกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคมในการดำเนินการตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ และมาตรา ๑๘ (๒) และ (๓)”

มาตรา ๑๗ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๔๓ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๓ กรรมการ กรรมการการแพทย์ อนุกรรมาการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่าที่พัก ค่าใช้จ่ายอย่างอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด”

มาตรา ๑๘ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๔๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๔ ให้กระทรวงแรงงานประกาศกำหนดประเภทและขนาดของกิจการและท้องที่ที่นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ

                ให้นายจ้างซึ่งมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบตามวรรคหนึ่ง ยื่นแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างและจ่ายเงินสมทบตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินสมทบ

                กรณีข้อเท็จจริงในแบบรายการขึ้นทะเบียนนายจ้างและการจ่ายเงินสมทบเปลี่ยนแปลงไป ให้นายจ้างแจ้งการเปลี่ยนแปลงตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในสามสิบวันนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง”

มาตรา ๑๙ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๔๖ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๖ นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายเงินสมทบภายในกำหนดเวลาหรือจ่ายเงินสมทบไม่ครบจำนวนตามที่จะต้องจ่าย ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละสองต่อเดือนของเงินสมทบที่ต้องจ่ายนับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ ทั้งนี้ เงินเพิ่มที่คำนวณได้ต้องไม่เกินจำนวนเงินสมทบที่นายจ้างต้องจ่าย

                ในกรณีที่รัฐมนตรีเห็นว่า ประเทศประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง หรือมีสถานการณ์พิเศษอย่างอื่นอันเป็นเหตุให้นายจ้างไม่อาจจ่ายเงินสมทบได้ตามกำหนดเวลา ให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศงกหรือลดการจ่ายเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดก็ได้”

มาตรา ๒๐ ให้ยกเลิกความใน มาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ และมาตรา ๕๐ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๔๘ เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้นายจ้างจ้างการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่นายจ้างทราบหรือควรจะได้ทราบถึงการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย

                มาตรา ๔๙ เมื่อลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ ยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย แล้วแต่กรณี

                มาตรา ๕๐ เมื่อมีการแจ้งการประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหายตามมาตรา ๔๘ หรือมีการยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนตามมาตรา ๔๙ หรือความปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าลูกจ้างประสบอันตราย เจ็บป่วย หรือสูญหาย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนและออกคำสั่งให้นายจ้างหรือมีคำวินิจฉัยให้สำนักงานจ่ายเงินทดแทน ให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ แล้วแต่กรณี

                ในกรณีที่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยตามวรรคหนึ่งว่า ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดจำนวนเงินทดแทนและระยะเวลาที่ต้องจ่ายเงินทดแทนไว้ด้วย และสั่งให้นายจ้างจ่ายเงินดังกล่าวแก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ โดยไม่ชักช้า ในกรณีที่มีคำสั่งหรือคำวินิจฉัยว่าไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ

                หลักเกณฑ์การวินิจฉัยและการประเมินการสูญเสียสมรรถภาพ และการเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงาน ตลอดจนหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจ่ายเงินทดแทนให้แก่ลูกจ้างหรือผู้มีสิทธิตามมาตรา ๒๐ ให้เป็นไปตามระเบียบที่เลขาธิการกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ”

มาตรา ๒๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “ในกรณีที่การเจ็บป่วยเกิดขึ้นภายหลังการสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง ให้ลูกจ้างยื่นคำร้องขอรับเงินทดแทนภายในสองปีนับแต่วันที่ทราบการเจ็บป่วยตามระเบียบเลขาธิการกำหนด”

มาตรา ๒๒ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๕๖ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๕๖ ให้นำความในมาตรา ๔๖ มาตรา ๔๗ มาตรา ๕๒ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๕ และมาตรา ๖๐ มาบังคับแก่ผู้รับเหมาชั้นต้นและผู้รับเหมาช่วง ซึ่งมิใช่นายจ้างตามมาตรา ๑๐ โดยอนุโลม”

มาตรา ๒๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๒ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖๒ นายจ้างผู้ใดไม่จัดให้ลูกจ้างซึ่งประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยได้รับการรักษาพยาบาลตามมาตรา ๑๓ หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ มาตรา ๔๔ หรือมาตรา ๔๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

มาตรา ๒๔ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๔ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖๔ นายจ้างผู้ใดไม่จ่ายเงินทดแทนตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๕๐ หรือมาตรา ๕๑ โดยมิได้อุทธรณ์ตามาตรา ๕๒ หรือไม่จ่ายเงินทดแทนตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการโดยมิได้นำคดีไปสู่ศาลตามมาตรา ๕๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”               

มาตรา ๒๕ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

                “มาตรา ๖๖ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ถ้าเจ้าพนักงานดังต่อไปนี้เห็นว่า ผู้กระทำความผิดไม่ควรได้รับโทษจำคุกหรือไม่ควรถูกฟ้องร้อง ให้มีอำนาจเปรียบเทียบได้

                (๑) เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาธิการมอบหมาย สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร

                (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัด สำหรับความผิดที่เกิดขึ้นในจังหวัดอื่น

                ในกรณีที่มีการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่า บุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานส่งเรื่องให้เลขาธิการหรือผู้ซึ่งเลขาการมอบหมาย หรือผู้ว่าราชการจังหวัด แล้วแต่กรณี ภายในเจ็ดวันนับแต่บุคคลนั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ

                เมื่อผู้กระทำความผิดได้ชำระค่าปรับตามจำนวนที่เปรียบเทียบภายในสามสิบวันแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความอาญา

                ถ้าผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบหรือเมื่อยินยอมแล้วไม่ชำระเงินค่าปรับภายในกำหนดเวลาตามวรรคสาม ให้ดำเนินคดีต่อไป”

มาตรา ๒๖ ผู้ใดมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากนายจ้างตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.๒๕๓๗ อยู่ก่อนหน้าวันที่พระราชบัญญัตินี้บังคับ ให้คงได้รับเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อไปจนกว่าจะครบถ้วนตามสิทธินั้น เว้นแต่ในกรณีที่ค่าทดแทนรายเดือนต่ำสุดหรือค่าทดแทนรายเดือนสูงสุดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. ๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มโดยพระราชบัญญัตินี้ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็นคุณแก่ลูกจ้างให้ลูกจ้างได้รับค่าทดแทนรายเดือนในอัตราที่เป็นคุณดังกล่าวนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

มาตรา ๒๗ ความในมาตรา ๔๖ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้บังคับนายจ้างซึ่งยังมิได้จ่ายเงินสมทบหรือจ่ายยังไม่ครบจำนวนที่ต้องจ่ายอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย

มาตรา ๒๘ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานรักษาการตมพระราชบัญญัตินี้

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

……………………………………….

นายกรัฐมนตรี