เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคม แถลงต่อที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 

แถลงการณ์ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมที่เข้าร่วมประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ 

สมัยที่ 67 ถึงคณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

วันที่ 3 กรกฎาคม 2560

ผู้พูดคนที่ 1 นางสาวอัมพร หมาดเด็น ผู้พูดคนที่ 2 นางสาวกัลยา จุฬารัฐกร

กราบขอบคุณท่านประธานที่ให้โอกาสเราได้กล่าวกับคณะกรรมการฯ ในนามขององค์กรภาคประชาสังคมที่อยู่ ณ ที่นี้ เป็นเวลากว่า 32 ปี นับตั้งแต่ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันกับอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ตั้งแต่เวลานั้น เรามีรัฐบาล 14 รัฐบาล ทั้งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนและจากการแต่งตั้งตัวเอง แต่ความคืบหน้าในการยุติการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงก็ยังล่าช้าอยู่มาก ดังนั้นพวกเราอยากจะใช้โอกาสนี้เพื่อเสนอภาพรวมของสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของผู้หญิงและนำเสนอประเด็นเร่งด่วนของเรา

ภาพรวม

แม้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560  และกฎหมายอื่นที่มีอยู่อาจเขียนไว้เพื่อจะให้ความคุ้มครองและผลประโยชน์อย่างเท่าเทียมของผู้หญิง แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงยังคงเผชิญกับอุปสรรคสำคัญต่างๆ ตั้งแต่การรัฐประหารในเดือนพฤษภาคมปี 2557 การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเท่าเทียมกันของผู้หญิงก็ยิ่งยากยิ่งขึ้นเนื่องจากการจำกัดสิทธิเสรีภาพและการเลือกปฏิบัติที่มีมากขึ้น เรามีความกังวลโดยเฉพาะคือสถานการณ์ของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะผู้หญิงที่เรียกร้องสิทธิชุมชนของตนเองในเรื่องที่ดินและทรัพยากร ผู้หญิงที่อยู่ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางอาวุธรุนแรง ผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศ แรงงานข้ามชาติหญิง   พนักงานบริการ ผู้หญิงในเรือนจำ ผู้หญิงพิการ และผู้หญิงที่ระบุว่าเป็น LBTI 

รัฐบาลไทยได้เสนอนโยบายและโครงการที่มุ่งพัฒนาการพัฒนาสตรีเช่นพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตามหลายนโยบายเหล่านี้ถูกลดหย่อนและถูกบดบังด้วยการใช้กฎหมายพิเศษ เช่นกฎอัยการศึก   มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และคำสั่งและประกาศคสช.  ที่ขัดขวางสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้หญิง

ในประเทศไทย ผู้หญิงเป็นผู้ดูแลหลักในเรื่องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญ 2016 มาตรา 77 ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ อย่างไรก็ตามผู้หญิงยังไม่ได้รับการปรึกษาเกี่ยวกับแผนแม่บทป่าไม้ปี 2559 และคำสั่งคสช. ที่  64 และ 66/2557; หรือพระราชบัญญัติการทำเหมืองแร่ 2559 การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตมรดกโลกทางธรรมชาติในประเทศมีผลกระทบร้ายแรงต่อความเป็นอยู่ของชุมชนของชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีบทบาทเป็นแม่ อีกทั้งยังขาดการยอมรับจากรัฐบาลไทยในเรื่องของความเป็นชนพื้นเมืองและการปกป้องจากการเลือกปฏิบัติทางเพศโดยรัฐและผู้ที่มีส่วนได้เสียตที่ไม่ใช่รัฐ สภาวะแวดล้อมปัจจุบันขัดขวางการเข้าถึงความยุติธรรมและเสรีภาพที่ปราศจากการเลือกปฏิบัติ อีกทั้งยังละเมิดพันธกรณีของไทยภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

กลไกระดับชาติเรื่องผู้หญิง 

เพื่อให้เราบรรลุเป้าหมายเรื่องสิทธิสตรีและยุติปัญหาการเลือกปฏิบัติ เราจำเป็นต้องมีกลไกระดับชาติที่เข้มแข็งเพื่อส่งเสริมและตอบสนองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิง ก่อนหน้านี้คณะกรรมการว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบได้ตั้งข้อสังเกตว่าการย้ายสำนักงานคณะกรรมการกิจการผู้หญิงแห่งชาติออกจากสำนักนายกรัฐมนตรีไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์อาจเป็นการลดอำนาจของกลไกระดับชาติ และเราก็ยังไม่เห็นว่าประเทศไทยได้คำนึงถึงข้อกังวลของคณะกรรมการฯ ข้อนี้

ในปี 2556 รัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกลไกระดับชาติและมอบความรับผิดชอบให้แก่กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว ตั้งแต่นั้นมาภาคประชาสังคมได้แสดงความกังวลอย่างมากต่อเรื่องของความสามารถและการปฏิบัติงานของกรมกิจการสตรีฯ และในปี 2558 รัฐบาลได้เพิ่มงบประมาณเป็นสองเท่าและเพิ่มพนักงานจากประมาณ 250 คน ถึง 700 คน แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการบูรณาการเพศสภาพ

กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศนั้น ผู้หญิงไทยไม่สามารถเข้าถึงได้และยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของการจัดการกองทุน เนื่องจากกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวขาดความเชื่อมโยงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงส่งผลให้การบูรณาการเพศสภาพอ่อนแอนลงและทำให้ผู้หญิงมีสถานะคนไร้ตัวตน

การเข้าถึงความยุติธรรม

กลไกระดับชาติที่อ่อนแอทำให้ผู้หญิงมีความเสี่ยงมากขึ้นและสร้างอุปสรรคต่อการเข้าถึงความยุติธรรม ปัญหาเร่งด่วนในปัจจุบันคือนโยบายที่เพิ่มความรุนแรงต่อผู้หญิงทั้งทางตรงและทางอ้อม พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าได้จัดลำดับความสำคัญของการไกล่เกลี่ยในการเผชิญกับความรุนแรงต่อผู้หญิง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัว ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างครอบครัวให้เป็นสถาบัน แต่การปกป้องครอบครัวเชิงสถาบันมักก่อความขัดแย้งโดยตรงต่อการคุ้มครองสมาชิกครอบครัวทุกคนโดยเฉพาะผู้หญิง  พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสำคัญและมีเจตนาที่จะให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและผู้นำชุมชนซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย ในการจะเข้าไปแทรกแซงชีวิตครอบครัวโดยเฉพาะเรื่องของการไกล่เกลี่ย

ระบบยุติธรรมสำหรับผู้หญิงมลายูมุสลิม มีความซับซ้อน เนื่องจากมีการใช้หลักระบบยุติธรรมพหุลักษณ์ทางกฎหมายและระบบความยุติธรรมทางวัฒนธรรมทำให้ขาดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายอิสลามในการเข้าถึงความยุติธรรม ที่เกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวและในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและมรดก ระบบยุติธรรมทางแพ่งในปัจจุบันใช้กระบวนพิจารณาโดยองค์คณะผู้พิพากษาโดยรับฟังความเห็นจากดาโต๊ะยุติธรรมซึ่งหนึ่งในคุณสมบัติต้องเป็นผู้รู้ศาสนาเพศชายเท่านั้น ในระดับจังหวัดคณะกรรมการอิสลามจังหวัดมีส่วนกำหนดระบบกฎหมายจารีตประเพณีทางการซึ่งได้รับการจัดการโดยผู้นำชุมชนที่เป็นชาย   ผู้หญิงมุสลิมในพื้นที่ที่มักถูกเลือกปฏิบัติในทางนิตินัยและพฤตินัยส่งผลต่อสิทธิเท่าเทียมกันและความรับผิดชอบอันเนื่องมาจากการแต่งงาน การหย่าร้าง; และความรุนแรงต่อผู้หญิง รัฐบาลไม่ได้พยายามที่จะปฏิรูปและทบทวนเนื้อหาแม้ว่าจะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้พิพากษาในท้องถิ่นรวมทั้งนักวิชาการเกี่ยวกับการไม่ปฎิรูปกฎหมายอิสลาม ครอบครัวและมรดกที่กำลังถูกปฏิรูปในประเทศมุสลิมอื่นๆ

หญิงพนักงานบริการซึ่งรวมถึงหญิงข้ามเพศ ที่ทำงานบริการต้องเผชิญกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจเช่นการบุกทลาย การควบคุมตัว การล่อซื้อ โดยเฉพาะซึ่งเป็นผลมาจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 การล่อซื้อและการบุกจับเกิดขึ้นมากกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือน ภายในระยะเวลาหกเดือนที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์กว่า 19 เหตุการณ์ ส่งผลกระทบต่อผู้หญิงมากกว่า200 คน

ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะผู้ที่เรียกร้องสิทธิชุมชนของตนเองในเรื่องที่ดินและทรัพยากร ถูกจับกุม 

ถูกฟ้องร้องคดี ถูกการกระทำที่เป็นอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชังและความรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นต่อผู้หญิงบ่อยกว่าผู้ชายที่เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ผู้หญิงพิการและผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์ ยังขาดซึ่งกลไกและกระบวนการที่รับรองการเข้าถึงความยุติธรรม  การเหมารวมและการสร้างภาพพจน์ในแง่ลบต่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์นำไปสู่การลงโทษและการกล่าวหาพวกเธอในอาชญากรรมบางประเภทเช่น การค้ายาเสพติด การค้ามนุษย์ และการบุกรุกที่ดิน รวมทั้งการไม่ยอมรับซึ่งภาษาและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่างจากระบบยุติธรรมปกติ การเลือกปฏิบัติซ้ำซ้อนส่งผลให้จำนวนของผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธ์ถูกควบคุมตัว ถูกตัดสินลงโทษโดยไม่มีการชดเชยเยียวยามากขึ้น และยังมีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์เรื่องสิทธิการจ้างงานของพวกเธอ

ผู้หญิงแรงงานข้ามชาติถูกเลือกปฏิบัติในเรื่องการจ้างงาน การเข้าถึงระบบสาธารณสุขและโอกาสในการได้รับจดทะเบียนการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย พระราชกำหนดการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว พ.ศง 2560 เพิ่มบทลงโทษของการจ้างงานของผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน ความหวาดกลัวเกิดขึ้นจากการที่มีการเลิกจ้างแรงงานข้ามชาติ มีการรายงานว่าผู้หญิงแรงงานข้ามชาติมักเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างเป็นคนแรก ดังนั้นเราคาดการว่าผู้หญิงจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมอันเป็นผลจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ 

เรามีความกังวลอย่างมากว่ารัฐใช้ยุทธศาตร์ด้านความมั่นคงแห่งชาติในการควบคุมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้หญิงและผู้คนในสังคม ประกอบกับวัฒนธรรมไม่นำคนผิดมาลงโทษที่มีอยู่แล้วและระบบที่สนับสนุนให้มีการทุจริตคอรับชั่น โดยวิธีการเหล่านี้นำไปสูการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มีอยู่เดิมให้ขยายวงกว้างมากขึ้น ซึ่งเป็นระบบที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ฝัและงรากลึกอยู่ในสังคมไทย

เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ (WNPP)

มูลนิธิผู้หญิง (FFW)

เครือข่ายสตรีไทยพื้นเมือง (IWNT)

องค์กรชาวพื้นเมืองในเอเชีย (AIPP)

มูลนิธิ Empower

โพรเทคชั่น อินเตอร์เนชั่ลนัล

สหพันธ์เกษตกรภาคใต้ (SPFT)

กลุ่มรักบ้านเกิด ต่อต้านเหมืองทองคำ จังหวัดเลย

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม

Togetherness for Equality and Action (TEA Group)

PATANI Working Group for Monitoring of International Mechanisms