‘เครือข่ายประกันสังคม’เตรียมยื่นหนังสือขอสิทธิ’ทำฟัน’ประกันสังคมเท่ากองทุนอื่น

http://waymagazine.org

เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) นัดยื่นหนังสือทวงสิทธิทำฟันประกันสังคม สิทธิต่ำแถมจ่ายก่อนเบิก ย้ำสิทธิต้องเท่ากองทุนอื่น

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวว่า วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา ได้ประชุมกับเครือข่ายลูกจ้างต่างๆ เพื่อหารือถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทางด้านทันตกรรม เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ด้อยกว่าสิทธิของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และสวัสดิการข้าราชการซึ่งได้รับสิทธิทำทันตกรรมแทบจะทุกอย่างและไม่ต้องสำรองจ่าย ส่วนผู้ประกันตนได้รับค่าบริการทางทันตกรรมเพียงปีละ 600 บาท โดยต้องสำรองจ่ายไปก่อนอีกด้วย ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าขอให้สำนักงานประกันสังคมเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านทันตกรรมให้เท่าเทียมกับกองทุนอื่นๆ เช่น

1.มีสิทธิในการถอน อุด ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด โดยคิดตามราคาจริง

2.สิทธิในการได้รับฟันเทียมชนิดถอดได้ทั้งข้างบน ข้างล่าง

3.สิทธิในการได้รับบริการตรวจสุขภาพในช่องปากทั้งในคลินิกและบริการทันกรรมเคลื่อนที่ เป็นต้น และทั้งหมดนี้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่าย

นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากขอให้ปรับระบบการจ่ายเงินให้กับสถานพยาบาลเพื่อให้ผู้ประกันตนไม่ต้องสำรองจ่ายไปก่อน ให้สิทธิในการทำทันตกรรมได้ทั้งในสถานบริการภาครัฐและเอกชนเหมือนเดิมตามราคากลาง ซึ่งยังต้องหารือเพื่อหาจุดร่วมที่เหมาะสมกันอีกครั้ง นอกจากนี้ขอให้ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานของสถานบริการตามระยะเวลาที่กำหนดและแบบสุ่ม รวมทั้งสอบถามผู้ประกันตนที่มารับบริการด้วย ทั้งนี้เครือข่ายจะเดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อ ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในวันที่ 8 เมษายนนี้ รวมทั้งขอให้รัฐบาลประกาศการปฏิรูประบบทันตกรรมเพื่อเป็นของขวัญให้ผู้ใช้แรงงานในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม ส่วนกรณีที่สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ระบุว่าขอเวลาในการศึกษาเรื่องนี้ 3 เดือนนั้นก็ขอให้ดำเนินการต่อไป ที่มา: http://www.matichon.co.th/news/85599

ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้มีการแคมเปญรณรงค์ เรื่อง “สำนักงานประกันสังคม ฟังทางนี้!!!”

สิทธิประโยชน์ทันตกรรมต้องเท่าเทียม อุด ขูด ถอน ผ่าตัดฟันคุด และฟันเทียมต้องใช้ได้ตามความจำเป็น ไม่ต้องสำรองจ่าย ไม่ต้องจ่ายเพิ่มส่วนเกินเอง ต้องเข้ารับบริการได้ทั้งคลินิกรัฐและเอกชน โดยให้มีการลงชื่อแคมเปญรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ https://www.change.org ดังนี้

ที่ผ่านมา มีความเดือดร้อนของผู้ประกันตน และได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาการรับบริการทันตกรรมของสิทธิประกันสังคม (สปส.) โดยเฉพาะการบริการพื้นฐาน อย่างอุดฟัน ถอนฟัน และขูดหินปูน เพราะแม้จะเหมือนกับสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) แต่กลับพบว่าผู้ประกันตนมีปัญหาเรื่องนี้มาก เนื่องจากประกันสังคมจะจำกัดวงเงินในการเข้ารับบริการพื้นฐานไม่เกินวงเงิน 600 บาทต่อปี โดยผู้ประกันตนต้องสำรองจ่ายเงินไปก่อน และหากผู้ประกันตนมีปัญหาช่องปากในราคาที่เกินวงเงินกำหนด ก็ต้องจ่ายเอง ซึ่งแตกต่างจากสิทธิบัตรทองที่เมื่อไปอุดฟัน แต่กลับพบปัญหาโรคทางช่องปากอื่นๆ เพิ่ม เช่น โรคเหงือก ก็จะครอบคลุมรักษาให้ทันที โดยไม่ต้องสำรองจ่ายเงิน หรือจ่ายเพิ่มเหมือนผู้ประกันตน

เปรียบเทียบสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมกันชัดๆ ของทั้ง 3 สิทธิ ได้แก่ บัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม แล้วจะรู้ว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการทำฟัน นั้นมีอยู่จริง สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดตามได้จากคลิป ‘ปวดฟัน ประกันสังคม: ผุวันนี้ อุดปีหน้า’ ได้ที่นี่https://www.facebook.com/waymagazine/?ref=hl

ล่าสุดมีกรณีผู้ประกันตนท่านหนึ่งอายุประมาณ 50 ปี มีปัญหาปวดฟันมาก แต่ไม่กล้าไปรับบริการ เพราะกลัวต้องจ่ายเพิ่ม ขณะเดียวกัน ไม่มีเงินสำรองจ่าย เพราะเป็นลูกจ้างมีรายได้วันละ 300 บาท หากสำรองจ่ายไปก่อนจะไม่มีเงินใช้จ่ายรายวันทำให้ต้องทนปวดฟันมาเป็นเวลา 4-5 ปี สุดท้ายป่วยด้วยโรคมะเร็งช่องปากและเสียชีวิตแล้ว

ไม่อุดวันนี้ แถมฟรีอีกหลายโรค … เรื่องไม่เล็กอย่างสุขภาพช่องปากถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมและทันท่วงที โรคเบาหวานและโรคหัวใจอาจถามหา พร้อมคำถามต่างๆ ที่มาจาก ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ทางการทำฟัน เช่น – ถ้าต้องรักษาต่อจริงๆ แต่่ไม่มีเงินจะทำอย่างไร – สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมที่ระบบประกันสังคมควรจะมี มีอะไรบ้าง หาคำตอบทั้งหมดได้จากคลิป ‘ปวดฟัน ประกันสังคม (ตอน 2) : ไม่อุดวันนี้ แถมฟรีอีกหลายโรค’

เราพบว่าผู้ประกันตนที่เข้าถึงบริการทันตกรรมน้อยมาก โดยข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคมพบว่า ปี 2557 มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการอุดฟันจำนวน 668,335 คน ถอนฟันจำนวน 473,719 คน และขูดหินปูนจำนวน 586,984 คน ขณะที่ผู้ประกันตนต้องใส่ฟันปลอมมีจำนวน 40,502 คน คิดอัตราเฉลี่ยผู้ประกันตนที่เข้าถึงบริการทันตกรรมอยู่ที่ร้อยละ 6 ของผู้ประกันตนทั้งหมด 11 ล้านคน สรุปคือ มีผู้ประกันตนประมาณ 1.7 ล้านคนที่เข้าถึงบริการ ขณะที่สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ หรือ IHPP เคยสำรวจการเข้าถึงบริการทันตกรรม และส่วนหนึ่งเคยสอบถามผู้ประกันตนว่า เคยไปรับบริการทันตกรรมและได้เบิกเงินกับทางประกันสังคมหรือไม่ กลับพบว่าร้อยละ 37 ของผู้ประกันตนที่ไปใช้บริการ กลับไม่เคยเบิกเงินที่สำรองจ่ายไปเลย เพราะใช้ประกันสุขภาพจากเอกชน และยอมจ่ายเงินเอง เพราะรู้สึกเสียเวลาต้องไปเบิกเงินเพียง 300-600 บาท ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างแรงงานหากต้องไปเบิกเงินจะทำให้เสียโอกาสการทำงาน และรับค่าจ้างรายวัน

ทั้งนี้มีประชาชนส่วนหนึ่งเข้าร่วมลงชื่อแล้วกว่า 700 รายชื่อ

//////////////////////////////