เครือข่ายบำนาญ ระดมคนค้านคลัง ออกกม.ยุบกองทุนออมฯ 22 ส.ค.นี้

บำนาญ(โลโก้)

เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน (คบช.) คัดค้าน ร่าง พรบ.ยุบกองทุนการออมแห่งชาติ พร้อมรวมกลุ่มองค์กรเครือข่ายพันธมิตร จะดำเนินการคัดค้านการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. … ในทุกรูปแบบ  นัดรวมพลคัดค้าน หน้าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  22 ส.ค. 56  เวลา  10.00 – 12.00 น. จัดระดมแคมเปญรณรงค์ ประชาชนกดไลน์ความเห็นผ่าน http://www.change.org  ถึงกระทรวงการคลังให้หยุดการเสนอร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ (ร่วมได้ที่ http://chn.ge/1dpsQAE)

สุนี

สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  (คปก.) กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่าเศร้า ที่รัฐบาลชุดนี้ไม่ยอมบังคับใช้ผ่านมาแล้วปีกว่า ทำให้ต้องศาลปกครอง และแทนที่รัฐบาล กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการแก้ไขกลับพยยายามผลักดันให้เข้าสู่ประกันสังคมมาตรา 40ในทางเลือกที่ 3 ซึ่งก็ยังไม่ได้ดำเนินการ ล่าสุดทางกระทรวงการคลังก็มีการร่างกฎหมายเพื่อขึ้นมาเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นเรื่องที่สร้างความมึนงงเหมือนกัน เพราะว่าไม่เคยมีในประวัติสาสตร์เรื่องการออกกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายที่ประชาชนส่งเสียงเรียกร้องให้มีการบังคับใช้ เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งกฎหมาย กอช. ฉบับนี้มีความเป็นอิสระ และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุน ซึ่งต่างจากกองทุนประกันสังคมที่ใช้ระบบไตรภาคี และรัฐเป็นผุ้บริหารจัดการ ที่ไม่เป็นอิสระ และยังมีความไม่ชัดเจนรอการพิจารณาร่างกฎหมายใหม่ แม้ว่าทางกระทรวงการคลังจะแจงว่า การไปอยู่ในระบบประกันสังคมมาตรา 40 เมนู 3 ดีกว่าเดิมด้วยหลักการรัฐร่วมจ่าย แต่ในความต้องการของประชาชนคือความเป็นองค์กรอิสระ และการมีส่วนร่วม ความโปรงใส ตรวจสอบได้ ซึ่งระบบประกันสังคมยังไม่มี เท่าที่รู้กันว่าร่างกฎหมายประกันสังคมของภาคประชาชนที่สภาผู้แทนราษฎรได้ใช้เสียงข้างมากของรัฐบาลโหวตไม่รับร่างและตกไป

การที่มีการร่างกฎหมายเพื่อยกเลิกกำหมายกอช. โดยใช้เวลาไม่ถึงอาทิตย์ พร้อมส่งให้ใครก็ไม่รู้ตอบแบบสอบถามว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกกฎหมายกอช.  มีอย่างน้อยสามประเด็นที่น่าสนใจคือ

1 . กฎหมายแต่ละฉบับกว่าจะผ่านรัฐสภามีผลใช้ ยากลำบากมาก และกฎหมายฉบับนี้ประชาชนให้การสนับสนุนและผลักดันมาหลายปีกว่าจะออกมา รัฐสภาจะมีประโยชน์อะไรในการร่างกฎหมาย แสดงว่ารัฐสภาร่างกฎหมายไม่ดี จนต้องยกเลิกทั้งที่ยังไม่ได้ใช้ใช่หรือไม่

2. การนำไปไว้กับกองทุนประกันสังคม ที่คณะกรรมการบอร์ดไม่มีตัวแทนแรงงานนอกระบบ และอีกหลากหลายที่ออกแบบไว้ในกรรมการกองทุนกอช. และกองทุนประกันสังคมก็ใหญ่โต มีปัญหาถูกวิจารณ์เรื่องบริหารไม่มีประสิทธิภาพและความโปร่งใสอยู่แล้ว กม.ประกันสังคมก็ไม่ยอมรับหลักการการแก้ไขโดยร่างฉบับประชาชน จึงมีปัญหาในตัวอยู่แล้ว จึงไม่ชอบธรรมที่จะยุบกอช.ไปอยู่กับสำนักงานประกันสังคม ( สปส.)
3. เรื่องนี้มีการฟ้องศาลปกครองอยู่ ไม่ควรรีบยกเลิกกฎหมายหนีการตรวจสอบของศาล แต่ควรรีบดำเนินการตามกฎหมายกอช.จะดีกว่า..ฯลฯ

P7290125P7290089

ทั้งนี้ เครือข่ายบำนาญภาคประชาชน องค์กรภาคประชาชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชนเพื่อการพัฒนา สมาคมวิถีทางเลือกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน มูลนิธิเพื่อนหญิง และมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มีมติร่วมกันในการติดตามหนังสือที่ยื่นเพื่อคัดค้านการทำประชาพิจารณ์ ร่าง พระราชบัญญัติยุบกองทุนการออมแห่งชาติฯ ต่อกระทรวงการคลัง ในวันที่ 22 สิงหาคม 2556  เวลา 10.00- 12.00 น. ณ หน้าสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง  พร้อมทั้งแบบสำรวจความคิดเห็นที่ไม่เห็นชอบต่อ ร่าง พระราชบัญญัติดังกล่าว จากเครือข่ายบำนาญภาคประชาชนในแต่ละภูมิภาค เพื่อให้รัฐบาลหยุดการกระทำดังกล่าว

ตามที่ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.2556 สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดทำประชาพิจารณ์เกี่ยวกับ การยกเลิกพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 (พ.ร.บ. กอช.) ผ่านเว็บไซต์  http://www.fpo.go.th มีกำหนดให้ประชาชนและผู้ส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมแสดงความคิดเห็นภายในวันที่ 21 ส.ค. 2556 หรือเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ช่วงเช้าวันที่ 16 ส.ค.2556 แบบสอบถามเรื่องการยกเลิก พ.ร.บ.กอช.ถูกถอดออกจากเว็บไซต์ และเมื่อสอบถามไปยังสำนักนโยบายและการลงทุนของ สศค. ได้รับคำตอบว่ามีความผิดพลาดทางเทคนิค และเตรียมที่จะนำแบบสอบถามขึ้นเว็บไซต์อีกครั้งในเร็วๆ นี้ โดยจะชดเชยเวลาการทำแบบสอบถามให้ครบ 1 สัปดาห์ตามกำหนดเดิมที่วางไว้

4P1121128

รายงานข่าวระบุว่า การยกเลิก พ.ร.บ.กอช. เป็นแนวคิดของ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ที่เห็นว่า พ.ร.บ.กอช.นั้น เป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน พ.ร.บ.ประกันสังคม มาตรา 40 โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2556 ได้เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงิน สมทบประเทศของประโยชน์ทด แทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิ์ในการรับประ โยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตนไปแล้ว

ทั้งนี้ พ.ร.บ.กอช. ถูกผลักดันโดยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ซึ่งหลังจากมีผลบังคับใช้แล้ว จะต้องจัดตั้งกองทุนและเปิดให้ประชาชนมาออมภายใน 1 ปี ตามกำหนดคือช่วงกลางปี 2555 แต่เมื่อรัฐบาลเพื่อไทยเข้ามา ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และสั่งการให้ สศค.ไปดำเนินการยกเลิก ซึ่งในการยกเลิกกฎหมายทำได้หลายวิธี แต่ สศค.เห็นว่าควรจะทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน ซึ่งข้อสรุปจากการจัดทำประชาพิจารณ์ จะเสนอไปยังฝ่ายการเมือง เพื่อนำเสนอไปยัง ครม.ให้เสนอยกเลิก พ.ร.บ.กอช.ไปยังรัฐสภาตามขั้นต่อไป (ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 19 สิงหาคม 2556)

หมายเหตุ: 

ร่าง

พระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ

พ.ศ. ….

—————

                   โดยที่เป็นการสมควรยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ    

…………………………………………………………………………………….

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ….”

มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554

มาตรา 4 กองทุนการออมแห่งชาติซึ่งได้ถูกยุบเลิกตามมาตรา 3 ให้ถือว่ายังคงอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแต่งตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งจำนวนไม่เกินเจ็ดคน  เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของกองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน

มาตรา 6 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด โดยจ่ายจากทรัพย์สินของกองทุนการออมแห่งชาติ

มาตรา 7 ให้นำบทบัญญัติหมวด 5 ลักษณะ 22 ในบรรพ 3 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้บังคับแก่อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการชำระบัญชีของกองทุนการออมแห่งชาติ โดยอนุโลม

มาตรา 8 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีมีอำนาจดำเนินคดีแทนกองทุนการออมแห่งชาติสำหรับคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้โอนสิทธิและความรับผิดของกองทุน การออมแห่งชาติที่เกิดจากคดีดังกล่าวไปเป็นของคณะกรรมการชำระบัญชี

มาตรา 9 เมื่อเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ให้คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีปฏิบัติดังต่อไปนี้

(1)    เสนอรายงานการชำระบัญชีภายในสิบสี่วันนับแต่วันที่เสร็จการชำระบัญชีต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเพื่อพิจารณาอนุมัติและเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบแล้วประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป  ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี

(2)    โอนทรัพย์สินที่ยังคงเหลือให้แก่กระทรวงการคลัง ส่วนเงินที่ยังคงเหลือให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยไม่ชักช้า

(3)    มอบสมุด บัญชี และเอกสารทั้งหมดของกองทุนการออมแห่งชาติให้แก่กระทรวงการคลังภายในสิบสี่วันนับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชีและให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้สิบปีนับแต่วันดังกล่าว

สมุด บัญชี และเอกสารที่มอบให้แก่กระทรวงการคลังตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียดูได้โดยไม่ต้องเรียกค่าธรรมเนียม

มาตรา 10 พนักงานและลูกจ้างของกองทุนการออมแห่งชาติ หากสมัครใจจะโอนไปปฏิบัติงาน

กับสำนักงานประกันสังคม และได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือต่อผู้บังคับบัญชาภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนพนักงานผู้นั้นไปเป็นพนักงานของสำนักงานประกันสังคม

การโอนพนักงานตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าเป็นการให้ออกจากงานเพราะเลิกหรือยุบตำแหน่งโดยให้มีสิทธิได้รับเงินชดเชย และผลประโยชน์ตามข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติว่าด้วยการพนักงาน

พ.ศ. 2555 และข้อบังคับคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติว่าด้วยลูกจ้าง พ.ศ. 2555

มาตรา 11 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

………………………………………..

นายกรัฐมนตรี

สาระสำคัญร่างพระราชบัญญัติยุบเลิกกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. ….

 

  1. มาตรา 3 ให้ยุบเลิก กอช.
  2. มาตรา 4 กอช. จะยังคงอยู่เท่าที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชี
  3. มาตรา 5 รมว.กค. แต่งตั้งคณะกรรมการชำระบัญชีไม่เกิน 7 คน อย่างน้อยประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
  4. มาตรา 6 คณะกรรมการชำระบัญชีได้รับเงินตอบแทนตามที่ รมว.กค. กำหนด และจ่ายจากทรัพย์สินของ กอช.
  5. มาตรา 7 ให้ใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องการชำระบัญชีกับอำนาจหน้าที่ผู้ชำระบัญชี กอช.
  6. มาตรา 8 ให้คณะกรรมการชำระบัญชีมีอำนาจดำเนินคดีทั้งที่ค้างอยู่ก่อนและเกิดขึ้นจากการยุบเลิกแทน กอช.
  7. มาตรา 9 เมื่อชำระบัญชีเสร็จแล้วให้

(1)    เสนอรายงานการชำระบัญชีต่อ รมว.กค. เพื่อพิจารณาอนุมัติ และเสนอ ครม. เพื่อทราบ และประกาศราชกิจจานุเบกษา

(2)    โอนทรัพย์สินคงเหลือให้กระทรวงการคลัง เงินที่เหลือส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

(3)    มอบสมุด บัญชี เอกสารทั้งหมดให้กระทรวงการคลังรักษาไว้ 10

       8. มาตรา 10 พนักงานลูกจ้างของ กอช. จะโอนไปปฏิบัติงานที่สำนักงานประกันสังคมก็ได้ โดยแจ้ง      ความจำนงภายใน 15 วันนับจาก พรบ.ยุบเลิกฯ มีผลใช้บังคับ โดยการโอนถือว่าให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับชดเชยตามข้อบังคับที่ กอช. กำหนด

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน