วันที่ 26 -27 มิถุนายน 2555 ศูนย์ประสานงานคณะทำงานเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา ได้จัดเวทีสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง เกษตรกรพันธสัญญา ใครอดใครอิ่มในห้องประชุมจุมภฎ –พันทิพย์ อาคารประชาธิปก – รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยในการจัดสัมมนาในครั้งนี้มีหลายหน่วยงานที่เข้าร่วมสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ได้แก่ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาประกอบด้วย เกษตรกรผู้เลี้ยงหมู,เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ ฯลฯ เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มูลนิธิชีววิถี สถาบันชุมชนเพื่อการเกษตรยั่งยืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ฯลฯ
โดยหัวข้อหลักในการสัมมนาฯสรุปได้ดังนี้ เกี่ยวเนื่องกับความเดือดร้อนของกลุ่มเกษตรกรผู้ที่ทำการเกษตรกรรมแบบพันธสัญญาตามนโยบายของรัฐที่โดนเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนที่เข้ามาร่วมทุนแล้วฉวยโอกาสกอบโกยผลประโยชน์กับเกษตรกรผู้ร่วมลงทุนอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของเกษตรกร
ระบบเกษตรกรพันธสัญญาคือ การชักชวนให้เกษตรกรรายย่อยให้เข้ามาร่วมทำการผลิตโดยมีข้อผูกพันกับทางบริษัทผู้ประกอบการ เพื่อการพัฒนาสู่ความเป็นอุตสาหกรรมของประเทศไทยในด้านเกษตรกรรมที่มุ่งเน้นสู่แบบแผนการผลิตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยนายทุนใช้ได้ใช้ระบบนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการลงทุนที่ครอบคลุมหลายสาขาการผลิตทางการเกษตร นับตั้งแต่การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผักเลี้ยงปลาเป็นต้น
นายสันต์ ละครพล เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังลุ่มน้ำชี จังหวัดมหาสารคาม และเป็นผู้ที่เข้าร่วมเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเล่าว่า ตนเองนั้นตกลงเข้าร่วมเป็นเกษตรกรพันธสัญญาเนื่องจากมีตัวแทนของบริษัทแห่งหนึ่งมาติดต่อให้ร่วมลงทุน โดยพาไปดูงานในที่ต่าง ๆ และบอกถึงรายได้ที่เราจะได้รับ เนื่องจากตนดูแล้วคิดว่าน่าจะทำให้ชีวิตมีความอยู่ดีกินดีขึ้น และต้องการที่จะมีรายได้ที่มั่นคงจึงตัดสินใจลงทุนดังกล่าว ด้วยการเซ็นสัญญากับทางตัวแทนของบริษัทที่มาติดต่อโดยมีเงื่อนไขว่าต้องทำตามข้อตกลงของทางบริษัทเท่านั้น พอทำแรก ๆก็ได้ กำไรดี พอทำไปได้สักพักตนจึงได้ขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้น พอเราเพิ่มผลผลิตมากขึ้นพอถึงเวลาขายทางบริษัทก็มารับซื้อไม่ตรงเวลาบ้าง เลือกขนาดบ้าง อ้างเงื่อนไขต่าง ๆ นาๆในเมื่อปลาที่เลี้ยงไว้ขายไม่ได้ตามเป้าตามจำนวนตนจึงแบกรับภาระหนี้สินดังกล่าวมาจนถึงทุกวันนี้และบริษัทก็ไม่ยื่นมือเข้ามาผิดชอบและช่วยเหลือใดๆ เลย
นอกจากพ่อสันต์ แล้วยังมีเกษตรกรอีกหลายๆรายที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันนี้เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือจะด้วยเหตุผลประการณ์ใดไม่อาจทราบได้จนทำให้เกษตรกรมีภาระหนี้สินเป็นพันธผูกพันมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อมูลจากการศึกษาของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาพบว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาภายใต้การผลักดันของรัฐและทุนตั้งอยู่บนความไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกรทำให้เกษตรกรจำนวนมากต้องเป็นหนี้และถูกดำเนินคดีความต้องสูญเสียที่ดินทำกินแบกรับความเสี่ยงทั้งทางด้านต้นทุนการผลิต แรงงาน สุขภาพ และความเสี่ยงจากภัยพิบัติ อีกทั้งทำให้เกิดการทำลายทรัพยากรส่วนรวมและความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม ทั้งยังทำให้วัตถุดิบในการผลิตอาหารปนเปื้อนและส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคและทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบว่ายังมีเกษตรกรที่อยู่ภายใต้การผลิตแบบพันธสัญญาจำนวนมากที่ได้รับความไม่เป็นธรรม แต่ไม่ปรากฏว่ามีเกษตรกรนำข้อสัญญาเกี่ยวกับการผลิตในระบบพันธสัญญาไปสู่กระบวนการยุติธรรมเลยแต่ในทางกลับกันกลับพบว่าบริษัทธุรกิจอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหารใช้ช่องทางต่าง ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยอาศัยอิทธิพลเหนืออำนาจรัฐในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติจนถึงระดับท้องถิ่นให้ส่วนราชการต่าง ๆใช้กฎระเบียบในการดำเนินการต่อเกษตรกรที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมให้กับตัวเอง
จากการที่กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาได้ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ได้มีการประกาศเจตนารมต่อสังคมว่าพวกเราจะร่วมมือกันอย่างแข็งขันเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรและร่วมกันผลักดันให้มีการสนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นธรรมต่อเกษตรกรมีการคุ้มครองทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางอาหาร และจะทำงานร่วมกับภาครัฐ เครือข่ายพันธมิตร ผู้บริโภค นักวิชาการ และสื่อมวลชนเพื่อเคลื่อนไหวให้สิทธิของเกษตรกรและผู้บริโภคให้ได้รับการเคารพสิทธิต่อไป และในเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกแทรกแซงจากกลุ่มทุน เกษตรกรจะลุกขึ้นมาเรียกร้องหาความเป็นธรรมกับใคร ชะตากรรมของเกษตรกรจะเป็นอย่างไร
กระมนต์ ทองออน นักสื่อสารแรงงาน รายงาน