เกษตรกรขอนแก่นเสนอ เกษตรพันธสัญญาที่ปลอดภัย- เป็นธรรม

 

                นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 6 (พ.ศ.2530-2534) เป็นต้นมา รัฐบาลได้มีนโยบายส่งเสริม “ระบบเกษตรครบวงจร” หรือ “เกษตรพันธสัญญา” โดยการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการตลาด จากการศึกษาวิจัยของโครงการพัฒนาเครือข่ายวิชาการเพื่อความเป็นธรรมในระบบเกษตรพันธสัญญา และการดำเนินงานของเครือข่ายเกษตรพันธสัญญาในจังหวัดขอนแก่นที่ผ่านมา

                นายสุวิทย์ อินนามมา ผู้ประสานงานโครงการการจัดการองค์ความรู้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ผลจากการวิจัยพบว่า การผลิตในระบบเกษตรพันธสัญญายังมีข้อจำกัด ส่งผลผลักดันให้เกษตรกร เปลี่ยนสภาพจากเกษตรกรรายย่อยเป็นแรงงานรับจ้างในที่ดินทำกินของตนเองและการแบกรับภาระต้นทุนความเสี่ยงด้านธุรกิจ ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญกับปัญหาการใช้แรงงานที่หนักขึ้น มีปัญหาสุขภาพที่เกิดจากการใช้หรือสัมผัสสารเคมี ปัญหาสัญญาที่ไม่เป็นธรรม มีความเสี่ยงในการผลิต และความไม่แน่นอนของเวลา ราคาการรับซื้อ ตลอดทั้งเกิดการสูญเสียเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน จนก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

 

                ฉะนั้น เพื่อหาทางเลือก ทางออกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ ได้รับการดูแล คุ้มครอง สุขภาพ สิ่งแวดล้อมให้มีความปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพ และการจัดการอาชีพที่ดี มั่นคง รวมทั้งสามารถเข้าถึงระบบบริการด้านสุขภาพที่มีคุณภาพ มีระบบการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การจัดให้มีเวทีเสวนาเกษตรพันธสัญญาจังหวัดขอนแก่น เพื่อนำเสนอสถานการณ์ ข้อจำกัด และหารือแนวทางการดำเนินงานเพื่อสร้างความร่วมมือในการทำงานกับภาคีในระดับพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐที่ทำงานด้านสุขภาพ พัฒนาชุมชน เพื่อการดูแลเกษตรกรพันธสัญญาในระดับพื้นที่ต่อไป

                นายทรงพล จำปาพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า ทิศทางเกษตรพันธสัญญาที่ปลอดภัยในจังหวัดขอนแก่นนั้น การพัฒนานั้นถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 6 ในการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตร ในปีเดียวมีเกิดการส่งเสริมให้เกษตรกร เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา ปลูกอ้อย ข้าวโพดและเมล็ดพันธุ์ ซึ่งรัฐมองว่าการมีการกำหนดกฎระเบียบเพื่อการส่งเสริมการผลิตด้านการเกษตร เป็นความหวังดีเพื่อการที่จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ และอาชีพ เพื่อความมั่นคงในการมีงานทำ แต่ในทางปฏิบัติเกษตรกรต้องแบกรับภาระความเสี่ยง เมื่อเกิดวาตะภัย อุทกภัย บริษัทไม่ได้มารับผิดชอบ ซึ่งรัฐก็ได้แต่มองไม่รู้ว่าจะช่วยอย่างไร

                การเริ่มต้นจากการเลี้ยงไก่ หลังจากที่เกษตรกรสร้างอาคารทำโรงเลี้ยงไก่   1 โรง  เลี้ยงไก่ บริษัทได้มีการทำสัญญาจ้างเลี้ยง โดยสัญญาว่าจะเอาไก่มาให้ เอาอุปกรณ์ ส่งอาหารเป็นระยะและหยอดยาให้ไก่เป็นระยะ   พอเลี้ยงได้ 45 วัน บริษัทจะมาซื้อ เมื่อทุกคนเห็นว่า ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นช่องทางสร้างรายได้ที่แน่นอน ทำให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบทำกันจำนวนมาก โดยบอกว่าเลี้ยงเพียง 3 ครั้ง ได้ค่าโรงเรือนที่ลงทุนทำให้อยากเลี้ยงอยากรวย ค่าสร้างโรงเรือนหนึ่งแสนบาทหากเลี้ยงแล้วรวยแน่นอน แต่พอเลี้ยงไปพักหนึ่ง เห็นแต่โรงเรือนว่างเปล่าจำนวนมาก ถามว่าทำไมเกษตรกรเลิกเลี้ยง มีสิ่งแปลกชาวบ้านกินข้าวต้องกางมุ้งครอบ เนื่องจากมีแมลงวันจำนวนมาก ซึ่งพบหลังจากที่มีการเลี้ยงไก่ในหมู่บ้าน ซึ่งตนมองว่า ถูกต้องที่เลี้ยงแล้วมีตลาด สร้างรายได้ แต่ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นใครจะดูแล และรู้สึกว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่เสี่ยงมาก แต่พวกบริษัทที่เอาไก่มาให้เลี้ยงไม่ได้แบกรับความเสี่ยงการสร้างโรงเรือน แรงงาน และสิ่งแวดล้อมเลย ไม้ต้องแบกรับความเสี้ยงความสูญเสียจากเหตุภาวะอากาศที่เหลวร้าย เช่น ฟ้าร้องไก่ก็ตาย ชาวบ้านเกษตรกรพากันแบกภาระความเสี่ยง จากวาตภัยไก่ตาย เล้าพัง ทางจังหวัดอยากจะช่วยก็ไม่มีมาตรการ ผู้ประกอบการเมื่อมาชั่งไก่ก็หักเงินทุก “ค่า” อะไร?เท่าไร? เกษตรกรเหลือเท่าไร? เมื่อเกิดวาตภัยสิ่งที่เกษตรกรหวังจบ

                เห็นว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไปบอกบริษัทให้ช่วย เพราะเกษตรกรไม่มีหลักประกันในเรื่องนี้ มันเหมือนบริษัทหัวหมอ เพราะเกษตรกรจะเอาไก่ไปขายที่อื่นเพราะบริษัทไม่มาจับก็ถูกจับ ตำรวจไม่เข้าใจเป็นถือเป็นคดีลักทรัพย์ เพราะสัญญาที่บริษัททำกับเกษตรกรเป็นฝากของ ฝากเลี้ยง ไก่ยังถือเป็นของบริษัท

 

                จังหวัดหนองคาย มีเรื่องเดียวคือ การปลูกมะเขือเทศ ปัญหามีจำนวนมากบริษัทก็ไม่มาซื้อ เกษตรกรต้องรดน้ำ เสียค่าใช้จ่าย การเร่งผลผลิตให้มีเนื้อแดง เหมือนกับผู้ดำเนินการทำตามบริษัทกำหนดหากไม่ทำตามไม่ได้ เพราะบริษัทจะไม่ซื้อ

                รัฐบาลมีเจตนาดีในการส่งเสริม ต้องการให้ชาวบ้านมีรายได้ชัดเจน เมื่อมาถึงวินาทีนี้คงต้องมานั่งคุยกันว่า  มีอะไรในระบบนี้ที่ยุติธรรมบ้างหรือไม่ ภาระที่ต้องแบกรับอยู่ของเกษตรกรพันธสัญญา เรื่องสุขภาพ โรค  และสังคมที่ต้องแบกรับภาระด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาราคา อัตราเสี่ยงที่เลี้ยงปลาไก่ หมู ให้บริษัทควรต้องมีการประกันความเสี่ยงให้ด้วย คนที่ได้กำไรคือบริษัท ต้องมีความรับผิดชอบมาดูแล ต้องการเห็นความยุติธรรม เช่น จังหวัดขอนแก่นเมื่อปลาตายผู้เลี้ยงปลา ชี้ไปที่โรงงานที่ปล่อยน้ำเสีย แต่ก็มีการออกมาบอกว่าชาวบ้านเลี้ยงปลามากเกินไป ที่จังหวัดชลบุรีมีเรื่องกุ้ง หอย เมื่อตายทุกคนชี้ไปที่นิคมอุตสาหกรรมโรงงานที่มีราว 500 โรง ปล่อยน้ำเสียลงมา

                การเห็นปัญหาร่วมกันโดยมีนักวิชาการคอยเสนอปัญหาแนวคิด ท้ายสุดจะแก้ไขปัญหานี้ได้ คนที่รู้ปัญหาคือ เกษตรกรพันธสัญญา สุดท้าย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร  และนักวิชาการ ต้องมาร่วมกันหาทางออกกัน

                นายสุวิทย์ อินนามมา สรุปสถานการณ์การเกษตรพันธสัญญา จังหวัดขอนแก่น ว่า จากการสำรวจและศึกษาข้อมูลการเกษตรพันธสัญญาเบื้องต้นของศูนย์ประสานการพัฒนาท้องถิ่นฯ จังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายแรงงานในพื้นที่ใน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอน้ำพอง (ทต.ลำน้ำพอง)  อำเภอเมืองขอนแก่น (ต.สาวะถี/โนนท่อน) อำเภอบ้านฝาง (ต.ป่ามะนาว) และอำเภอหนองเรือ (ต.หนองเรือ ต.โนนทอง ต.โนนทัน ต.บ้านกง และ ต.บ้านเม็ง) โดยการสำรวจข้อมูลในเกษตรกร และการจัดเวทีเสวนาย่อยในพื้นที่ต่างๆ พบว่า ในทุกพื้นที่มีกิจกรรมการเกษตรพันธสัญญาทั้งด้านพืช และสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก อาจมีความแตกต่างๆ กันตามชนิดของกิจกรรมการเกษตร ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านต่างๆ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ หรือความสะดวกต่อการคมนาคม กล่าวคือหากพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ ก็จะมีการส่งเสริมกิจกรรมการปลูกพืชพันธสัญญาต่างๆ เช่น พืชเมล็ดพันธุ์ อ้อย  ส่วนพื้นที่ที่มีการคมนาคมสะดวกก็จะมีการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา ซึ่งจำเป็นต้องมีการขนส่งอาหารหรือปัจจัยการเลี้ยงอยู่เกือบทุกวัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเหมือนๆ กันในทุกกิจกรรมคือ ผลกระทบด้านสุขภาพ ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของเกษตรกรและชุมชน รวมทั้งปัญหาการเอารัดเอาเปรียบจากนายทุนฯ หรือบรรษัทที่เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ให้ ซึ่งสถานการณ์และรายละเอียดของกิจกรรมเกษตรพันธสัญญา และปัญหาในแต่ละพื้นที่ สรุปได้ดังนี้

                การเลี้ยงไก่ หมู ปลา แบบพันธสัญญา พื้นที่ที่มีการเลี้ยงเป็นจำนวนมาก คือ ต.โนนท่อน และตำบลอื่นในเขตอำเภอเมืองของแก่น รวมทั้ง ต.บ้านกง ต.โนนทัน ต.บ้านเม็ง อ.หนองเรือ และ ต.ลำน้ำพอง อ.น้ำพอง  โดยเฉพาะ ต.โนนท่อน จะเป็นพื้นที่เลี้ยงไก่รุ่นพันธุ์ไข่ ส่งแก่พื้นที่อื่นๆ ส่วนพื้นที่ ต.ลำน้ำพองและบ้านกง บ้านเม็งก็จะเลี้ยงไก่ไข่  โดยในพื้นที่ดังกล่าว จะมีเกษตรกรที่อยู่ในระบบดังกล่าวกว่า 100 ราย และมีจำนวนไก่ รวมกว่า 1 ล้านตัว  ซึ่งจำนวนเกษตรกรและปริมาณการเลี้ยงก็นับวันจะมีเพิ่มมากขึ้น และหมุนเวียนในสู่เกษตรกรในพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากระบบดังกล่าว แม้จะสร้างรายได้แก่บริษัทหรือเกษตรกรบ้าง แต่ก็ได้สร้างผลกระทบต่อเกษตรกรและชุมชน ทั้งด้านการขาดทุน ภาวะสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

                1. การแบกรับต้นทุนทั้งด้านอาคาร สถานที่ และอุปกรณ์การเลี้ยงของเกษตรกร ทั้งในช่วงเริ่มต้น และระหว่างการเลี้ยงซึ่งจะมีต้องมีการปรับปรุงและลงทุนเพื่อให้ได้มาตรฐานตามความต้องการของบรรษัทหรือระเบียบต่างๆ รวมทั้งค่าไฟ ค่าน้ำที่ต้องดำเนินการแบบโรงงานอุตสาหกรรมฯซึ่งเกษตรกรต้องนำผลกำไรที่ได้ รวมทั้งกู้ยืมหนี้สินทั้งในระบบและนอกระบบมาลงทุนกับการเลี้ยงไก่ของตนเองอยู่ตลอดเวลา

                2. การเอารัดเอาเปรียบในการจัดหาพันธุ์ไก่ อาหารเลี้ยง ยาและอุปกรณ์ต่างๆ จากบรรษัทหรือนายทุน เช่น การนำลูกไก่ หรือไก่ที่ไม่มีคุณภาพหรือยังไม่พร้อมเลี้ยงมาให้เกษตรกรดูแลก่อนที่จะได้ผลผลิต แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านอาหาร แรงงาน น้ำ ไฟ และอื่นๆ ด้วยตนเอง รวมทั้งอาหาร ยา และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ต้องรับจากบรรษัทในราคาที่สูงกว่าที่เป็นจริง และบางครั้งยังไม่มั่นใจว่าคุณภาพตรงตามที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นรูปแบบและวิธีการบีบรัดเกษตรกรของบรรษัทหรือนายทุนจากทุกแห่ง

                3. ขาดหลักประกันด้านอาชีพ ทั้งการประกันความเสี่ยงที่เกษตรกรต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากการเลี้ยงทั้งหมดด้วยตนเองทั้งก่อนการเลี้ยง เช่น ค่าพันธุ์ไก่ หรือความเสียหายจากการเลี้ยง  รวมทั้งขาดบทบาทและการมีส่วนร่วมในการกำหนดราคาหรือจัดการผลผลิตของตนเอง

                4. ภาวะสุขภาพและสังคมของเกษตรกรที่ต้องอยู่กับการเลี้ยงและดูแลไก่ของตนเองตลอดเวลา ทำให้มีปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น  นอกจากนั้นยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของตนเองและชุมชนด้วย

                ปัญหาการเลี้ยงไก่แบบมีพันธสัญญากับบริษัทหรือนายทุนดังกล่าว ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไม่มีโอกาสในการคืนทุนหรือมีกำไรจากอาชีพ และประสบกับการขาดทุนและเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวจนล้มละลายไปในที่สุด ซึ่งก็จะมีเกษตรกรรายใหม่เข้าสู่ระบบอยู่เรื่อยๆ

                การเพาะปลูกพืชเมล็ดพันธุ์ พืชเมล็ดพันธุ์ เช่น แตงโม แตงแคนตาลูป มะเขือเทศ พริก ข้าวโพด พันธุ์ข้าว หรือไม้ประดับต่างๆ  นับเป็นพืชที่บริษัทเมล็ดพันธุ์ได้นำมาส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่ 5 ตำบล ได้แก่ ตำบลป่ามะนาว อำเภอบ้านฝาง ต.หนองเรือ ต.โนนทอง อำเภอหนองเรือ ต.สาวะถี ต.โนนท่อน อำเภอเมืองขอนแก่น ซึ่งมีเกษตรกรในระบบดังกล่าว มากกว่า 500 ราย โดยมีบริษัทเมล็ดพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 10 บริษัท เข้ามาส่งเสริมการปลูกฯ  โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.ป่ามะนาว ซึ่งมีการเพาะปลูกกันทุกหมู่บ้าน และมีเกษตรกรกว่า 200 ราย  แม้การเพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ได้สร้างรายได้จำนวนมาก (เมื่อทราบราคาขาย) แก่เกษตรกร แต่หากพิจารณาดูรูปแบบการส่งเสริมและการบริหารจัดการต่างๆ รวมทั้งต้นทุน เช่น ปุ๋ย ยา วัสดุ  แรงงาน รวมทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรและชุมชนแล้ว อาจจะประเมินได้ว่า กิจกรรมการเกษตรดังกล่าวได้สร้างผลกระทบแต่เกษตรกรและชุมชน ดังนี้

                1. การจัดหาและสนับสนุนปัจจัยการปลูกทั้งปุ๋ยเคมี สารเคมี และวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นจำนวนมาก จากบรรษัทหรือนายทุน ซึ่งบางครั้งก็เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและมีอันตรายต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม โดยส่วนใหญ่แล้วเกษตรกรก็จะไม่มีความรู้ถึงอันตรายจากสารเคมีดังกล่าว ไม่เข้าใจวิธีการดูแลแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองและชุมชน นอกจากนั้นสารเคมี วัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ยังมีราคาที่สูงกว่าท้องตลาดมาก ซึ่งเป็นวิธีการเอารัดเอาเปรียบเกษตรกรจำนวนมากด้วย

                2. การกำหนดมาตรฐานการปลูก การดูแล รวมทั้งผลผลิตที่ไม่เป็นธรรมแก่เกษตรกร ด้วยกลไกการส่งเสริมของบรรษัท ทำให้เกษตรกรต้องเปลี่ยนระบบการเพาะปลูกพืชผลต่างๆ ตามวิถีของชุมชน ลด เลิก หรือจำกัดการเพาะปลูกต่างๆ ไม่ให้มีผลต่อพืชเมล็ดพันธุ์ มีการกำหนดกระบวนการฉีดพ่นเคมี รวมทั้งการดูแลพิเศษต่างๆ โดยไม่สนใจความเสี่ยงหรือการดูแลและป้องกันตนเองของเกษตรกร  นอกจากนั้นยังมีปัญหาการกดราคาผลผลิต หรือการกำหนดคุณภาพผลผลิต (เช่น ค่าความชื้น และอัตราการงอกของเมล็ดพันธุ์) ที่ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบในหลายๆ ด้าน จนหลายคนท้อแท้ และขาดทุนทั้งเงินทองและแรงงานฯ

                นอกจากนั้นผลกระทบที่สำคัญอีกประการที่สำคัญคือ ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรในพื้นที่การเกษตรดังกล่าว ส่วนใหญ่จะมีความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และสัตว์ต่างๆ ก็จะได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกดังกล่าวด้วย เกิดการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และสัตว์ที่เป็นแหล่งอาหารของประชาชนในพื้นที่ด้วย

                อ้อย พืชเศรษฐกิจและพันธสัญญาหลัก การส่งเสริมการปลูกอ้อย นับเป็นพืชพันธสัญญาที่นับวันจะมีเกษตรกรเข้าสู่ระบบดังกล่าวเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่ของจังหวัดขอนแก่น เนื่องจากมีโรงงานน้ำตาลตั้งอยู่ในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงหลายแห่ง โดยเฉพาะในเขตอำเภอหนองเรือ และอำเภอน้ำพอง ซึ่งมีเกษตรกรทุกหมู่บ้านทำการเกษตรแบบดังกล่าว การปลูกอ้อยแม้จะสร้างรายได้หรือผลผลิตแก่เกษตรกรอย่างเป็นกอบเป็นกำ  แต่หากพิจารณาเรื่องการลงทุนและการจัดการต่างๆ ที่เกษตรกรจะต้องแบกรับภาระด้วยตนเอง รวมทั้งความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากราคาผลผลิตของตนเองแล้ว ก็จะต้องมีทางเลือกให้เกษตรกรได้หาแนวทางแก้ไขปัญหาของตนเอง ดังนี้

                1. การลงทุนในปัจจัยการผลิตและการเตรียมความพร้อมในการเพาะปลูกในต้นทุนที่สูง จนต้องขอรับสินเชื่อจากบรรษัทหรือโรงงาน หรือนายทุนในพื้นที่ ทำให้โอกาสที่เกษตรกรจะเป็นหนี้สิน หรือมีกำไรจากการเพาะปลูกอ้อยไม่มากนัก และมีความเสี่ยงในการขาดทุนหากผลผลิตไม่ได้ผลตามเป้าหมายที่ตกลงกับบรรษัทหรือโรงงาน หรือนายทุน

                2. ขาดอำนาจในการบริหารจัดการ หรือกลไกการต่อรองด้านคุณภาพ (ค่าน้ำตาล) ปริมาณ(การชั่ง) ราคาผลผลิต และการจัดโควตาเพื่อดำเนินการต่างๆ โดยโรงงานจะบีบหรือกำหนดมาตรการให้เกษตรกรต้องรับภาระเพิ่มมากขึ้นอยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นระบบการควบคุมกำกับ ยังมีการจัดการจากบรรษัทหรือนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เกษตรกรรายเล็กรายน้อยไม่มีโอกาสพัฒนาตนเองได้

                3. การทำลายทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่เพาะปลูก ทั้งด้านการทำลายต้นไม้ การใช้สารเคมี หรือสารบำรุงดินต่างๆ ที่เป็นทำลายระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของดิน น้ำ และพืช พันธุ์สัตว์ต่างๆ โดยเฉพาะในพื้นที่ต้นต้น เช่น ภูเขา ป่าต้นน้ำต่างๆ รวมทั้งระบบอาหาร พืชผักต่างๆ ก็มีการเพาะปลูกน้อยลง เนื่องจากเกษตรกรบางส่วนหรือนายทุนมองเห็นเพียงมูลค่าจากผลผลิตอ้อย ซึ่งจะทำให้ระบบอาหารและดิน ฟ้า อากาศ มีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตได้

                จากปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรพันธสัญญาในจังหวัดขอนแก่น พบว่านอกจากจะเกิดผลกระทบทั้งด้านอาชีพ สุขภาพความปลอดภัย ทั้งต่อเกษตรกรและชุมชนแล้ว การจัดการต่างๆ ที่ควรมีขึ้นในกลุ่มเกษตรกร ชุมชน และหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่มีหน่วยงานและองค์กรใดเข้ามารับผิดชอบแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน  ไม่ว่าจะเป็นกลไกการดูแลด้านอาชีพ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านความเป็นธรรมในด้านต่างๆ แก่เกษตรกรและชุมชนจากกิจกรรมเกษตรพันธสัญญา ซึ่งเป็นบทบาทและหน้าที่ของทุกหน่วยงาน และองค์กรระดับท้องถิ่น ท้องที่ จนถึงภาครัฐทุกระดับ ดังนั้น การสร้างเครือข่ายเพื่อการเรียนรู้และพัฒนาระบบการส่งเสริม ดูแล และสร้างความเป็นธรรมแก่เกษตรกรระบบพันธสัญญาในจังหวัดขอนแก่น จึงเป็นรูปแบบและแนวทางที่ควรจะได้รับการหนุนเสริมและพัฒนาร่วมกันของทุกหน่วยงานและองค์กร รวมทั้งบริษัท เพื่อร่วมกันสร้างกลไกการทำงานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกร  ผู้บริโภคและทุกภาคส่วนในสังคม

                นางศิวาพร วันทา ตัวแทนผู้เลี้ยงไก่ ต. น้ำพอง อ. น้ำพอง กล่าวว่า ได้เข้าสู่ระบบการเลี้ยงไก่พันธสัญญา ไม่มีเงินก็สามารถกูธกส.ได้ ซึ่งตนก็กู้มาเดิมการเลี้ยงไก่ไม่เป็นระบบมากคือใช้เล้าไม้ไผ่ก็ได้ และเมื่อลงไก่รุ่นที่ 2 ก็ต้องมีการจัดการระบบมากขึ้น ก็มีการกำหนดให้สร้างเล้าตามระเบียบบริษัท มีเรื่องไข้หวัดนกเข้ามาผลกระทบก็เกิดขึ้น ใช้ตาข่าย ป้องกันแต่เกิดปัญหาเหมือนกันหมด ต่อมาก็ให้สร้างระบบปิด ต้องมีการคิดพัดลมใช้เครื่องน้ำมันปั่นไฟ แมลงวันมากเหมือนเดิม เล้าละ 2 แสนบาทก็ต้องลงทุน ขึ้ไก้เปี้ยกต้องตักออกเองเพื่อรักษาความสะอาดให้ไก่มีคุณภาพ สุขภาพดี แต่ก็มีปัญหาสุขภาพ เมื่อเกษตรกรลงทุนไปแล้วจะออกจากระบบยากมากเนื่องจากลงทุนเป็นหนี้แล้ว ต้องทน ด้วยคิดว่าจะถอนทุนได้สักรุ่นหนึ่ง บางครั้งได้ไก่มาเลี้ยงแล้วไม่ไข่ อายุ 15 สัปดาห์ ซึ่ง19 สัปดาห์ก็ต้องไข่แต่ไม่ไข่ ตัดสินใจเลิกเลี้ยง ตอนนี้มีหนี้ 4 แสนบาท

                นายเรวัตร ชัยอินทร์   ตัวแทนผู้เลี้ยงปลา ต. น้ำพอง อ. น้ำพอง เล่าว่า ปัญหาคนเลี้ยงปลาในน้ำพอง ได้มีการรวมกลุ่มกันเพื่อการต่อรองกับบริษัท เนื่องจากประสบปัญหาปลาตาย ซึ่งเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย ปัญหาดังกล่าวไม่มีใครเข้ามาแนะนำ หรือช่วยเหลือปล่อยให้ผู้เลี้ยงปลา

                นายสุดนา วังคะวิง ตัวแทนผู้เลี้ยงหมู ต. บ้านกง อ. หนองเรือ กล่าวว่า การเลี้ยงหมูเริ่มจากเพื่อนมาชักชวน ซึ่งตอนแรกตนเองจะไปทำงานที่ต่างประเทศ แต่เมื่อเห็นเพื่อนๆเลี้ยงหมูมีรายได้ก็เลยลงทุนเลี้ยง ซึ่งได้ตกลงเลี้ยงหมู กู้ ธกส.มา 5 แสนบาท เลี้ยงไปมาหมูกินโฉนด เลี้ยงไปเลี้ยงมาเป็นหนี้ล้านกว่าบาท เลี้ยงรุ่นแรก 400 ตัว ตายจำนวนมาก แน่นเกินไปบอกว่าเราเลี้ยงไม่ได้คุณภาพ ช่วงที่จะมีการออกจากระบบ คือมีการเข้ามากำหนดเรื่องของเล้าใหม่เป็นระบบปิดติดพัดลม การเลี้ยงมาแต่ละรุ่นก็ได้แค่กินเท่านั้นไม่เพียงพอในการส่งหนี้ธกส.ทำให้เกิดหนี้เพิ่มพูนมากขึ้น

                นายบุญทัน สายสุด  ตัวแทนผู้เพาะปลูกเมล็ดพันธุ์ ต. หนองเรือ อ. หนองเรือ กล่าวว่า บริษัทมีการเอาเปรียบกลุ่มเมล็ดพันธุ์ ซึ่งบริษัทเป็นผูที่ควบคุมการผลิตทั้งหมดทั้งยา ปุ๋ย และการตรวจสอบคุณภาพเมล็ดก็ไม่ได้ทำต่อหน้าเกษตรกร ปลูกอยู่ที่ขอนแก่น ไปตรวจ และชั่งที่กาฬสินเป็นต้น ทำให้เกษตรกรรู้สึกถึงความไม่โปร่งใส ซึ่งแรกๆจะมีการตรวจสอบและทั้งที่บ้านเกษตรกร พันธุ์ดูว่ามีการมีเปอร์เซ็นต์งอกเท่าไร และเมื่อพันธุมีการเจือปนก็ต้องถอนทิ้ง ซึ่งความเสี่ยงอยู่ที่เกษตรกรทั้งที่เมล็ดพันธุ์มากจากบริษัท หากปลูกได้ตามที่บริษัทกำหนดคุณภาพได้ราคากิโลละ1-2 พันบาท แต่งโมมีพันธุ์จากประเทศเกาหลี และหลายประเทศที่นำมาส่งเสริมให้ปลูก สัญญาก็เป็นสัญญาของบริษัทที่เป็นผู้ร่างมา เราไม่ได้มีส่วนร่วม มีหน้าที่เซ็นต์ยอมรับสัญญาอย่างเดียวทำให้ต้องแบกรับความเสี่ยงและภาระแต่เพียงผู้เดียว

                นายสราวุธ แก้วจันทร์เพ็ง ตัวแทนผู้ปลูกอ้อย ต. บ้านเม็ง อ. หนองเรือเล่าว่า ได้รับความเจ็บปวดจากการปลูกอ้อย ได้ปีละต้อ ปลูกได้ 5 ปีแล้ว เดิมทำนามากว่า 10 ปี แต่เมื่อมีการมาปลูกอ้อยก็ได้รับความเจ็บปวดจากระบบพันธสัญญา การที่เราไม่รู้กฎหมายจึงทำให้เกิดปัญหาผลกระทบจากสัญญาไม่เป็นธรรมจากบริษัท มีการกำหนดเรื่องความหวาน น้ำหนักข้อสังเกตคือว่าทำไมอ้อยพันธุ์เดียวกันแต่รถขนคันเดียวกันแต่น้ำหนัก ความหวานไม่เท่ากัน ทำให้ตั้งแต่ปลูกอ้อยมามีรายได้ดูดีแต่กลับยังเป็นหนี้อยู่ ต้องใช้รายได้จากการปลูกข้าว

                ทางเลือกทางออกทางแก้: การสนับสนุนการคุ้มครองดูแลเกษตรกร ในระบบเกษตรพันธสัญญาด้านสุขภาพ สวัสดิการ และการจัดการอาชีพ

                อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล  คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวถึงยุติธรรมชุมชน: การผลิต การค้า และสัญญาที่เป็นธรรมว่า เรื่องที่เกี่ยวข้องจากภาคเกษตรคือการเพิ่มผลผลิต ทั้งปุ๋ย ยา เมล็ดพันธุ์ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกร แต่อยู่ในมือของบริษัท และรัฐ จากการศึกษา พบว่าการเกษตรไม่ได้อยู่ในรูปแบบเดิมเข้าสู่การเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ซึ่งมีบริษัทที่เข้ามาควบคุม เป็นระบบต้นน้ำ กลางน้ำปลายน้ำ ซึ่งเกษตรกรอยู่ในระยะต้นน้ำ

                การที่เข้าไปอยู่ในระบบนี้ คนรุ่นใหม่ไม่เข้ามาทำการเกษตร คนที่เป็นเกษตรกรปัจจุบันคือคนที่สูงอายุ การส่งต่อความรู้และกิจการ คนที่อยู่ในระบบเกษตรกร การตัดสินใจที่จะปลูกหรือว่าเลี้ยงมีแนวคิดไม่ต่างกับการซื้อหวย คือ คิดว่าจะดี จะได้ การลงทุนดังกล่าวเป็นการลงทุนให้กับบริษัท

                เดิมการผลิตของบริษัทต้องลงทุนเอง มีการซื้อที่ดิน และจ้างคนงานเข้ามาทำ แต่เมื่อการใช้ทุนและสื่อในการส่งเสริม ทำให้เกิดการให้เกษตรกรเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด โดยการทำสัญญากับเกษตรกร ซึ่งมีกฎหมายเรื่องสัญญาที่เป็นธรรม แต่ปัญหาคือเกษตรกรไม่สามารถที่จะเข้าถึงกฎหมายได้ ไม่เคยมีเกษตรกรที่ฟ้องบริษัท มีแต่บริษัทฟ้องเกษตรกร เนื่องจากเกษตรกรไม่มีสัญญาอยู่ในมือ และไม่รู้เรื่องกฎหมาย

                ทางออก คือต้องออกแบบโครงสร้างภาครัฐ และกฎหมายใหม่ การที่จะหวังให้สภาผู้แทนมาจัดการออกกฎหมายให้เกิดการคุ้มครองสร้างความเป็นธรรมคิดว่ายาก จึงจะเสนอแนวคิดยุติธรรมชุมชน เกิดขึ้นในระดับตำบล มีการแก้ไขกฎหมาย และให้อำเภอเป็นผู้ไกล่เกลี่ยปัญหา พื้นที่เกษตรพันธสัญญา อบต.ต้องการที่จะมีการทำการคัดเลือกจัดสรรโคต้าการทำเกษตรพันธสัญญา ให้มีการดำเนินการ มีการจัดตั้งเครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญาเข้าไปคุยกับบริษัท ให้ดูว่าบริษัทใดเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรมเข้ามา บริษัทที่จะมาส่งเสริมการผลิตต้องเป็นบริษัทที่เป็นธรรม  

                บริษัทกลัวเกษตรกรหรือไม่ คือไม่กลัว แต่เกษตรกรกลัวบริษัทไม่ให้ทำ การที่ต้องสร้างอำนาจต่อรองจึงต้องเป็นการรวมกลุ่มต่อรอง จุดที่บริษัทกลัวคือ ภาพลักษณ์ ซึ่งต้องมีการชูประเด็นความเป็นธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อให้บริษัทต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นเกษตรกรจะเป็นแพะรับบาป และต้องทำให้เกษตรกรพันธสัญญาเป็นหุ้นส่วนกับบริษัท การที่จะทำได้ต้องมีการสร้างเครือข่าย รวมกลุ่มในการต่อรอง การมีข้อสัญญาในมือต้องมีการวิเคราะห์ และดูด้วย และต้องมีทนายที่เข้าใจความเป็นธรรม การต่อสู้ใช้ว่าเกษตรกรจะชนะ การเพิ่มเติมสัญญาของบริษัท มีการประวิงเวลาในการดำเนินการทางศาลอีกการยืดเวลาออกไปทำให้เกษตรกร

                นายแพทย์ปัตพงษ์ เกตุสมบูรณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าทางเลือกสู่เกษตรพันธสัญญาที่ยั่งยืนและปลอดภัย คือ จากการที่มีการทำงานวิจัย กรณีเกษตรกรพันธสัญญาผลิตเมล็ดพันธ์ มีการใช้ยา สารเคมีเกิดผลกระทบกับเกษตรกรเอง และสิ่งแวดล้อม ข้อดีก็มี ข้อเสียก็มี ข้อดี คือมีรายได้ มีการรวมกลุ่มกันผลิต อิสระ ข้อเสียคือข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม บริษัทกำหนดการตรวจสอบ กดราคา

                ข้อที่น่าเป็นห่วงคือการใช้สารเคมีที่อันตราย เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ทั่วโลกยกเลิกและห้ามใช้ ซึ่งมีรายหนึ่งที่สามีตายขณะที่ฉีดสารเคมี

                กรณีการปลูกอ้อยก็เช่นเดียวกันที่มีการใช้สารเคมีอย่างหนัก เกษตรกรมีปัญหาสุขภาพ และหนี้สิน แต่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากสารเคมีตกค้าง สารเคมีที่เป็นตัวฆ่าหญ้า ฆ่าแมลง การที่เป็นโรคเบาหวานก็เป็นผลกระทบด้วยเช่นกัน จะพบได้จากเท้า มือเท้าเปื่อย หญิงตั้งครรภ์หากรับสารเคมีเหล่านี้ก็จะกระทบ การได้รับผลกระทบจากการใช้สารเคมีไม่ใช่แต่เกษตรกรยังมีสารที่กระจายในสิ่งแวดล้อม และตกค้างอาหารสู่ผู้บริโภค บริษัทที่ขายสารเคมี ยังขายยารักษาอีก ทำให้บริษัทเหล่านี้รวย ซึ่งไม่มีใครทำอะไรกับคนกลุ่มนี้ได้เนื่องจากกลุ่มบริษัทเหล่านี้จะมีอำนาจในทางการเมืองด้วย   

หากยังไม่มีการกำหนดเรื่องเป้าหมายชีวิต กำหนดการใช้ชีวิต ไม่เปลี่ยนวิถีชีวิต วิธีการผลิต การใช้สารเคมีมีแต่เพิ่มขึ้นน่ากลัวมากขณะนี้ การที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวทำให้เกิดผลกระทบ และในที่สุดนำไปสู่การล้มเหลว หากมีการปรับวิธีการผลิตใหม่หันกลับไปคิดใหม่เป้าหมายชีวิตคืออะไร แต่ต้องมีการรวมกลุ่มกันคิดว่า จะพัฒนาวิถีชีวิตรูปแบบใด ต้นทุนที่ต้องคิดไม่ใช่แค่รายได้ ต้องมีการคำนวณต้นทุนชีวิต ขณะนี้มีการเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมากจากการบริโภคที่มีสารตกค้าง

                นายชมพู นามพบ เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยบ้านดงดิบ จ. ร้อยเอ็ด นำเสนอประสบการณ์ในการปลูกอ้อย “ปลอดภัย และลดต้นทุน” อ้อยอินทรีย์ พืชอาหาร ข้าวไร่ว่า ปลูกอ้อยตั้งแต่ปี 2540 ปัญหาก็ไม่ต่างกับเกษตรกรปลูกอ้อยที่ขอนแก่น ต้นทุนคือยาฆ่าหญ้า ซึ่งการปลูกอ้อยไม่คุ้มทุน จึงมีการรวมกลุ่มในการปลูกอ้อยอินทรีย์กันขึ้น โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นการลดต้นทุน เป็นการปลูกอ้อยทางเลือกทางรอด ได้ผลดีแตกต่างจากเดิมได้ไร้ละ 10 ตันซึ่งมีการปลูกเปรียบเทียบกันระหว่างไร้ที่ใช้สารเคมี และปุ๋ย กับไร้ที่ปลูกโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยขี้หมู มีการใช้น้ำหมักชีวภาพ ใช้3-5 เดือน เป็นกลุ่มที่ปลูกอ้อยรายย่อย ทำให้อ้อยมีขนาดเท่ากัน ต่างกับไร่ที่ปลูกอ้อยที่ใช้สารเคมีที่ต้นไม่เท่ากัน จากการเปรียบเทียบทำให้เห็นว่าไร่ที่ปลูกใช้ขบวนการผลิตใช้อินทรีย์ได้ผลผลิตที่ดีกว่า สิ่งที่ได้คือคุณภาพชีวิตที่ดีด้านสุขภาพ และรายได้ที่ดีขึ้นเพราะมีการลดต้นทุนไม่ต้องใช้สารเคมีและปุ๋ย                    

                นายสันต์ ละครพล  อดีตเกษตรกรผู้เลี้ยงปลา จ. มหาสารคาม เล่าถึงประสบการณ์ในการเลี้ยงปลา ว่า เป็นคนที่ล้มเหลวจากการเลี้ยงปลา การที่เปิดเผยปัญหานำเรื่องตนเองที่ล้มเหลวไปเล่าเพื่อเป็นอุทาหรณ์กับคนอื่นๆ ซึ่งแรกคิดว่าทำนา และเลี้ยงปลาเป็นอาชีพเสริม แต่ปัญหาที่เกิดคือปลาตายหมด 20 กระชัง เกิดวิกฤติจากแม่น้ำชีลดลง และมีคนที่เลี้ยงปลาจำนวนมาก น้ำไม่ไหล ขาดอ๊อกซิเจนตายหมด ซึ่งเชลล์และบริษัทก็ไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือ เราต้องรับผิดชอบทั้งหมด ช่วงที่ให้เลี้ยงก็ไม่ได้มีปัญหามากเพราะกระชังบริษัทไม่ได้กำหนด แต่มีการกำหนดเรื่องขนาดของปลา อาหาร ต้องเลี้ยงได้ 50 กระสอบ และต้องสั่งจากบริษัทหากไปซื้ออาหารปลาที่อื่นก็ไม่ได้ต้องอยู่ในการดูแล และกฎเกณฑ์ ปลาต้องได้ 120 วัน ได้น้ำหนักบริษัทจึงจะจับ หากได้พันธุ์ปลาไม่ได้อาจไม่ได้ขนาดบริษัทก็ไม่จับ บางครั้งเลี้ยงถึง5-7เดือนปลาชุดนี้จะขายไม่ได้กำไร เลี้ยงตั้งแต่ปี 2542 ล้มปี 2549 แรกก็ยังเลี้ยงอยู่บ้าง แต่ไม่มากเหมือนเดิม จึงหยุดเลี้ยงปลากระชัง ทางออกของตนก็คิดว่าจะต้องรวมกลุ่มเพื่อหาข้อต่อรองไม่ให้เกิดการเอาเปรียบกัน แต่ปัญหาคนเลี้ยงปลายังรวมกลุ่มกันไม่ได้ เนื่องจากต่างดิ้นร้นเอาตัวรอดเมื่อเกิดวิกฤติ มีคนเข้ามาส่งเสริมการทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อหาทางออกในกลุ่มคนเลี้ยงปลา เป็นการคิดหาทางออกในการหาอาชีพใหม่เข้ามาเสริม       

                นางสาวมัทนา โกสุมภ์      แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน นำเสนอบัญชีฟาร์ม: เพิ่มข้อมูล เพิ่มอำนาจการต่อรอง ว่า หากเกษตรกรมีข้อมูลมาประกอบในการตัดสินใจ อาจทำให้ระวังในการที่จะเข้าสู่ระบบ หรืออาจเปลี่ยนแนวคิดไปประกอบอาชีพอื่นก็ได้

                การที่มีการทำบันทึกเรื่องราว และมีการนำไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจทำให้เกิดความรู้กับเกษตรกรรายอื่นๆ มีการบันทึกต้นทุน และเหลือหรือไม่หลังที่มีการคำนวณรายได้ การสูญเสียนำมาหักต้นทุน และมีการเปรียบเทียบราคาระหว่างกลุ่มอาชีพ เช่น พบว่าค่าเลี้ยงหมูของภาคกลางได้ราคาถูกกว่า ภาคเหนือ ค่าใช้จ่ายการเตรียมโรงเรือน ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าซ่อมบำรุง ค่าจ้างแรงงาน ค่าอาหาร ค่ายา ฯลฯ ซึ่งอาจยังไม่ได้รวมเรื่องคุณภาพชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อม แล้วนำมาสรุปว่าขาดทุน หรือได้กำไร เงินกู้และดอกเบี้ยต้นทุนทั้งหมดเท่าไร หากมาคำนวณแล้วอาจได้รับค่าจ้างต่ำกว่าแรงงานในสถานประกอบการอีก

                หมายเหตุ: จากงานเวทีเสวนา “เกษตรพันธสัญญาที่ปลอดภัย” จังหวัดขอนแก่น วันที่ 15 สิงหาคม 2555 ที่ห้องประชุมภูผาม่าน โรงแรมขอนแก่น โฮเต็ล อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดโดย ศูนย์ประสานการพัฒนาท้องถิ่นและชุมชนจังหวัดขอนแก่น ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบจังหวัดขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรพันธสัญญาจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายเกษตรพันธสัญญา สนับสนุนโดย แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส.

นักสื่อสารแรงงาน รายงานนักสื่อสารแรงงาน รายงาน