พี่ไทยยังดื้อ ฝืนกระแสโลก ยื้อยกเลิก สงสัยเอาใจรัสเซีย ถามนายกปู ไปเยือนประเทศต่างๆทั่วโลก ไม่รู้หรือว่าใยหินอันตราย
รศ.ดร.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ประเทศฮ่องกง ได้ประกาศใช้กฎหมายการควบคุมมลพิษทางอากาศ 2013 เพื่อดำเนินการยกเลิกการใช้แร่ใยหินแอสเบสตอสทุกชนิด ทั้งนี้ โฆษกกรมป้องกันสิ่งแวดล้อมแถลงว่า “กฎหมายที่ปรับปรุงนี้จะขยายขอบเขตการควบคุมการนำเข้าและการขายแร่ใยหิน จากเดิมที่เคยยกเลิก แร่ใยหินคลอซิโดไลท์ หรือ ใยหินสีฟ้าและ อโมไซท์ หรือ ใยหินสีน้ำตาล รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวกับการผลิตวัสดุที่ใช้ใยหินเหล่านี้ เป็น การยกเลิกการนำเข้า การส่งต่อทางเรือ การขาย การใช้ แร่ใยหินทุกชนิด และ วัสดุที่มีแร่ใยหินทุกชนิด( ซึ่งก็หมายรวมถึงแร่ใยหินสีขาว หรือ ไครโซไทล์) การบังคับใช้ตามกฎหมายนี้ยังมีผลต่อข้อบังคับในการควบคุมโรงงานและการอุตสาหกรรมที่ต้องไม่ใช้ใยหินอีกต่อไป”
ในฮ่องกงมีการใช้แร่ใยหินอย่างแพร่หลายทั้งในวัสดุก่อสร้าง วัสดุทนไฟ ฉนวนกันความร้อนและการลดแรงเสียดทาน มาตั้งแต่ ปี 1975 เพราะมีความทนทานและยังทนความร้อนและสารเคมี อย่างไรก็ตามการที่ใยหินแอสเบสตอสเป็นสารก่อมะเร็งและการสูดอาณุภาคของใยหินจะทำให้เกิดโรคแอสเบสโตซิส โรคปอดและมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ดังนั้นการยกเลิกการใช้ใยหินทั้งหมดทุกชนิดจึงเป็นการขจัดความเสี่ยงต่อสุขภาพและเป็นการป้องกันสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ กฎหมายยกเลิกการใช้ใยหินนี้ระบุโทษสูงสุดสำหรับการละเมิดไว้ถึง 8 แสนบาทและจำคุก 6เดือน
รศ .ดร. ภก .วิทยา กุลสมบูรณ์ กล่าวว่า “ถือได้ว่า ฮ่องกง เป็นอีกหนึ่งประเทศในเอเชีย ต่อจาก ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ บรูไน ไต้หวัน ที่ดำเนินการมาก่อนหน้า เช่นเดียวกับ ยุโรป ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกมาก่อนหน้า ประเทศไทยเสียโอกาสลดความเสี่ยงจากใยหิน ทั้งที่มี มติ ครม. มาแล้ว แต่ยังหวังผลประโยชน์การค้าจากรัสเซีย มากกว่าชีวิต ผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคไทย แทนที่จะทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำเรื่องนี้ในอาเซียน ”
นางสมบุญ สีคำดอกแค ผู้ประสานงานเครือข่าย T-BAN และสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯเครือข่ายแรงงาน ได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องขอขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข โดยขอให้เปิดเผย รายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยเร็วที่สุด และแสดงความเป็นห่วงจากที่ได้รับทราบการที่นายกรัฐมนตรี จะได้ไปเยือนประเทศรัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะมีการพูดคุยในเรื่องการให้มีการใช้ใยหินต่อไปในประเทศไทย จึงมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยได้นำประเด็นเรื่องการค้ากับประเทศรัสเซีย มาประกอบในการพิจารณาที่จะยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเอาประโยชน์ที่จะได้รับทางการค้า มาใช้ตัดสินโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน
นางสมบุญ สีคำดอกแค กล่าวว่า มีคำถามมากมายสำหรับประเทศไทยที่มีการถ่วงเวลาการยกเลิกใยหิน และมีความพยายามที่จะหาทางสร้างหลักฐานหักล้างว่าไม่อันตราย ล่าสุดทราบมาว่าจะกระทรวงอุตสาหกรรมจะมีการยกเลิกใยหินในสินค้าเพียงบางชนิด แต่ไม่ยอมยกเลิกในสินค้าที่มีการใช้ใยหินจำนวนมาก เช่น กระเบื้องมุงหลังคา กระเบื้องปูพื้น ท่อน้ำซีเมนต์ เบรคและคลัทช์ เป็นต้น เชื่อว่าน่าจะเป็นแรงกดดันจากประเทศรัสเซีย ผ่านทางรัฐบาล และ นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็จะเดินทางไปรัสเซีย จึงมีการแปรรูปอันตรายของใยหินไครโซไทล์ให้น้อยลงหรือไม่มีเลย โดยมีการดำเนินการเป็นขบวนการผ่านทั้งทางกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงสาธารณสุข อย่างไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน ถือเป็นอาชญากรรมเงียบที่น่าตกใจ หากรัฐบาลพลิก มติ ครม. เดิม ที่เคยให้มีการยกเลิกใยหิน ถือได้ว่าเป็นการทำลายเจตนารมย์ของฝ่ายต่างๆ ที่สนับสนุน ทั้งภาคประชาชน องค์กรผู้บริโภค สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ที่เคยส่งเรื่องการยกเลิกใยหินให้ ครม. แบน ไปตั้งแต่ เดือน เมษายน ปี 2554
“ ขอสื่อสารถึง นายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่า ท่านจะเลือกผลประโยชน์การค้ากับรัสเซีย หรือ ชีวิต คนไทย ทำไมมาตรฐานชีวิตคนไทย ผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค ต่ำกว่า ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ บรูไน และ ประเทศที่เจริญแล้ว ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย ที่ยกเลิกใยหิน หรือ ท่านคิดว่าคนไทยไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าประเทศอื่นๆเขาตื่นตัวกันเรื่องนี้อย่างไร ทั้งที่ท่านใช้เงินงบประมาณเดินทางไปเจรจากับประเทศต่างๆมาทั่วโลก แต่กลับไม่เอาเรื่องอันตรายของใยหินที่ประเทศต่างๆยกเลิกแล้วมาพิจารณา ปล่อยให้กระทรวงอุตสาหกรรมหาทางถ่วงเวลายื้อเรื่องไปเรื่อย”
ทั้งนี้เครือข่ายฯได้ออกแถลงการณ์ เครือข่าย T-BAN สังคมไทยไร้แร่ใยหิน วันที่ 1 ตุลาคม 2556 ดังนี้
ตามที่สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วย ฯเครือข่ายแรงงาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย T-BAN ฯ ได้มีการติดตามการดำเนินการของภาครัฐเกี่ยวกับ มติ ครม 12เมษายน 2554 สังคมไทยไร้แร่ใยหิน มาโดยตลอดพบว่าการดำเนินงานดังกล่าวมีความล่าช้า โดยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ตั้งแต่ 18ธันวาคม 2555 โดยมีรองปลัดเป็นประธาน
และได้ทำหนังสือยื่นถึงนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ตามหนังสือพิเศษ 3/56 ทางผอ.ศูนย์บริการประชาชนปฏิบัติราชการแทนปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ตอบมาเป็นหนังสือที่ นร.0105.04/85612 ลงวันที่ 25กรกฎาคม2556 ว่าสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรีได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงอุตสาหกรรมซึ้งมีหน้าที่รับผิดชอบกรณีที่ท่านกราบเรียนนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยแจ้งตรงมายังสภาเครือข่าย ฯ แต่ทราบว่าอุตสาหกรรมก็รอผลพิจารณาจากคณะกรรมการชุดนี้ จนบัดนี้ยังไม่มีการเปิดเผยผลการศึกษาต่อสาธารณชน ทำให้การดำเนินการยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ซึ่งเป็นปัจจัยก่อมะเร็งปอดมะเร็งเยื่อหุ้มปอด และมะเร็งชนิดอื่นๆยังไม่มีการดำเนินการต่อเนื่องต่อไปทั้งที่เป็นมติ ครม. ซึ่งอ้างว่ารอผลการศึกษานี้
เครือข่ายฯ จึงขอทราบความคืบหน้าของการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข โดย ขอให้เปิดเผย รายงานผลการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดย คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ ทางเครือข่ายฯ ได้รับทราบ การที่ นายกรัฐมนตรี จะได้ไปเยือนประเทศรัสเซีย และ มีแนวโน้มที่จะมีการพูดคุยในเรื่องการให้มีการใช้ใยหินต่อไปในประเทศไทย จึงมีความกังวลต่อการที่ประเทศไทยได้นำประเด็นเรื่องการค้ากับประเทศรัสเซีย มาประกอบในการพิจารณาที่จะยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการนำเอาประโยชน์ที่จะได้รับทางการค้า มาใช้ตัดสินโดยไม่คำนึงถึงชีวิตและสุขภาพของประชาชน
ดังนั้น หากมีแนวโน้มที่แสดงถึงความพยายามที่จะใช้ข้อมูลใดใด เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไข มติ คณะรัฐมนตรี เรื่อง การให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปในทางที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้ใช้แรงงานและผู้บริโภคประชาชนทั่วไป ทางเครือข่ายฯ จะขอรณรงค์คัดค้านอย่างถึงที่สุด
ขอแสดงความนับถือ
เครือข่าย T-BAN สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯเครือข่ายแรงงาน
สัมภาษณ์เพิ่มเติม
นางสมบุญ สีคำดอกแค 081-813-2898
รศ .ดร. ภก .วิทยา กุลสมบูรณ์ 089-114-8814