อ้อมน้อยมีอุทกภัย แรงงานมีน้ำใจไร้พรมแดน

เมื่อน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ความเดือดร้อนของแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ และประชาชนทั่วไปต่างตกอยู่ในสถานการณ์ที่ทุกคนต้องเอาชีวิตและทรัพย์สินให้รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม การกินอยู่มีความยากลำบากต่อการดำรงชีพ ต่างจากชีวิตที่เคยอยู่อย่างปกติทุกวัน ชีวิตของแรงงานยิ่งมีความยากลำบากมากในสถานการณ์เช่นนี้ ข้าวของทรัพย์สินมีความเสียหาย ที่เก็บทันก็ดี แต่ที่เก็บไม่ทันก็ต้องกลับไปเริ่มใหม่อีกครั้ง ทำงานมาหลายปีกว่าจะซื้อข้าวของแต่ละอย่างได้ น้ำมาวันเดียวกวาดไปทั้งชีวิต

โรงงานหยุดแบบไม่มีกำหนด นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง แรงงานขาดรายได้ ถูกเลิกจ้าง  ปัญหาเหล่านี้ล้วนเหมือนถูกกำหนดเอาไว้แน่นอนแล้วว่า ต้องเป็นแรงงานที่จำยอมต้องแบกรับภาระไว้อย่างที่ปฏิเสธไม่ได้ ท่ามกลางความเดือดร้อนของแรงงานเหล่านั้น ได้เกิดแรงงานอาสาที่เข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเพื่อนแรงงานด้วยกัน โดยที่ไม่เลือกว่าจะเป็น แรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบ แรงงานข้ามชาติ หรือแม้แต่ประชาชนทั่วไป พวกเขามีใจที่อยากช่วยซึ่งกันและกัน หนึ่งในนั้นคือ "เคเค" คนงานชาวพม่า เขาอาสาจะทำหน้าที่ขับเรือ นำถุงยังชีพและน้ำดื่มไปแจกให้กับแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ที่อยู่ตามตรอกซอกซอยในเขตพื้นที่อ้อมน้อย

นาย เจามินไน (KYAW MIN NAING ) หรือ เคเค อายุ 29 ปี อาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ ทำงานอยู่ที่ บริษัท ไทยแคปปิตอล พลาส จำกัด ตั้งอยู่ที่ 20/3 ม.1 ถ.แปรโต ต.ยายชา อ.สามพราน จ.นครปฐม บริษัทผลิตบานประตู PVC มีคนงานจำนวน 70 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ (พม่า) กว่า 40 คน เป็นแรงงานไทยจำนวน 30 คน

เคเคเล่าว่า ตนเองทำงานอยู่แผนกเจาะรู วันหนึ่งต้องเจาะให้ได้ที่ 500 บาน ได้ค่าจ้างวันละ 215 บาท โรงงานหยุด 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ไม่จ่ายค่าจ้าง โรงงานเปิดไปทำงานได้ 3 วัน แล้วหยุด 1 วัน พอไปทำงานเสมียนบอกว่าทำไมไม่มาทำงาน มาทำงานค่าชดเชยก็ไม่ได้ ตนคงไม่กลับไปทำงานที่เดิมแล้ว ช่วงนั้นน้ำท่วมสูงมากต้องใช้เรือ "พี่เมี่ยนเวย์" ซึ่งเป็นคนทำงานด้านสิทธิแรงงานพม่า ร่วมกับทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย บอกว่าให้มาช่วยทำงานช่วยเหลือแรงงานในช่วงน้ำท่วมตนก็มา เพราะเห็นว่ามีคนเดือดร้อนทั้งพี่น้องแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ ทั้งการเดินทาง ไม่สามารถหากินได้ และตั้งใจว่าจะอยู่ช่วยเหลืองานศูนย์ช่วยเหลือแรงงานนี้ให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะไปหางานใหม่ทำ

"ผมขับเรือเป็น ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับใช้ทำงานให้กับสังคม ทำดีให้กับสังคม ดีใจที่ตัวเองได้ช่วยเพื่อนแรงงานที่เดือดร้อน แม้บางทีเจอปัญหาเรือรั่ว เครื่องเรือดับ น้ำมันหมด แต่ไม่รู้สึกท้อ อยากช่วย มีคนเดือดร้อนจำนวนมาก หลายที่เพื่อนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตรอยู่ลำบากมาก ออกมาก็ไม่ได้เพราะกลัว ไม่มีอะไรกิน แต่ก็มีบางคนที่ทนหิวทนอดไม่ไหวเสี่ยงลุยน้ำออกมาขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงาน ฯ แต่ก็มีปัญหาด้านการสื่อสารกับคนไทยไม่ได้ ผมเข้ามาเป็นล่ามให้ รู้สึกดีที่สามารถทำประโยชน์ช่วยพี่น้องแรงงานชาติเดียวกันได้ เพราะแรงงานขาติชาติไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจัง  พวกเราต้องช่วยกันเอง แล้วก็มีพี่น้องแรงงานไทยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมสูงจำนวนมาก  ผมก็ขับเรือไปแจกของให้ เข้าไปช่วยเหลือ  ภูมิใจมากที่ให้โอกาสและไว้ใจให้ช่วยกันทำงานในศูนย์แห่งนี้"

เคเคเล่าปิดท้ายว่า มาทำงานที่เมืองไทยตั้งแต่อายุ 13 ปี ตอนนั้นเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ลำบากมาก ต่อมาได้บัตรทำงานตอนป๊ 2545  ทำงานมาหลายที่แล้ว ฟังภาษาไทยรู้หมด แต่พูดไม่ค่อยได้เพราะลิ้นสั้น พูดไม่ชัด แต่เข้าใจ เสร็จจากนี้ก็จะหางานทำใหม่ ซึ่งคิดว่าคงหาไม่ยาก เพราะรู้จักพี่น้องแรงงานเพิ่มมากขึ้น

                                        อัยยลักษณ์  เหล็กสุข นักสื่อสารแรงงาน รายงาน