อบรมเชิงปฏิบัติการ สิทธิประโยชน์ประกันสังคม

SAM_0042

กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อยฯ อบรมเชิงปฏิบัตการเรื่องสิทธิประกันสังคม หวังความรู้เพื่อการสื่อสารกับสมาชิก

กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการฝึกผู้นำแรงงานเพื่อเป็นวิทยากร ด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์วัฒนธรรมกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม โดยได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาผู้นำเพื่อคุณภาพชีวิตและสังคม (พรส.) เพื่อให้ผู้นำแรงงานรุ่นใหม่ได้ฝึกปฏิบัติจริงจากการทำบทบาทสมมุติ

นางสาวสงวน ขุนทรง ผู้ประสานงานกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ ได้กล่าวถึงการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ 2 เพื่อต้องการให้ทุกคนได้เรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะได้นำกลับไปใช้ในองค์กรของตนเอง เมื่อคนงานหรือสมาชิกมาขอคำปรึกษา เราก็จะสามารถแนะนำได้อย่างถูกต้อง

นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) ได้ทบทวนการอบรมครั้งที่ 1 ด้านสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ทั้ง 7 กรณี และกฎหมายที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2558 ที่ผ่านมา กรณีว่างงานเพิ่มเหตุสุดวิสัย เช่น น้ำท่วมได้รับ 50 % ของค่าจ้าง ส่วนจะได้กี่วันนั้นต้องไปออกกฎกระทรวงอีกที และได้ให้ความเห็นหลักการของการเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ซึ่งไม่ตอบโจทย์สิ่งที่ผู้ประกันตนมีความต้องการ เช่น การคลอดบุตรไปเพิ่มสิทธิเรื่องจำนวนบุตร แทนที่จะเพิ่มเงินค่าคลอด และกรณีสงเคราะห์บุตรไปเพิ่มจำนวนบุตร แทนที่จะขยายอายุการรับสิทธิของบุตร เพราะในหลักความเป็นจริงทุกวันนี้แค่เลี้ยงลูกเพียง 1 คนยังเลี้ยงดูลำบากแล้ว การแก้ไขเพิ่มเติมเพิ่มด้านสิทธิประโยชน์จึงไม่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง

ผู้เข้าร่วมได้ทบทวนความรู้ที่ได้รับจากครั้งที่ 1โดยให้ผู้เข้าร่วมเป็นวิทยากรออกมาบรรยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคม ทั้ง 7 กรณี พูดถึงประกันสังคมเกิดขึ้นเมื่อปี 2533 มีสิทธิประโยชน์ 7 กรณี จากนั้นเป็นบทบาทสมมุติที่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมต้องพลัดกันร้องเรียนและรับเรื่องร้องทุกข์ใน 7 กรณี ซึ่งมีทั้งหมด 7 คู่ 7 กรณี เพื่อฝึกให้แกนนำได้กล้าพูดกล้าแสดงออก ดังนี้

SAM_0041

1.กรณีประสบอันตราย หรือ เจ็บป่วย (จ่ายสมทบมาแล้ว 3 เดือน ใน 15 เดือน) บทบาทสมมุติ กรณีเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงทับขาทำให้ขาหัก แพทย์จึงต้องผ่าตัดให้และนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาล 1 อาทิตย์ จึงให้ออกจากโรงพยาบาล และให้หยุดพักรักษาตัวต่ออีก 3 เดือน ไม่เคยใช้สิทธิประกันสังคมมาก่อนเลยจึงไม่รู้ว่าตนจะได้รับสิทธิอะไรบ้างในระหว่างหยุดพักรักษาตัว

– นายจ้างต้องแจ้งขึ้นทะเบียนลูกจ้างภายใน 30 วัน – กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินหากไม่ได้เข้ารับการรักษาตามบัตรรับรองสิทธิต้องแจ้งให้ต้นสังกัดทราบภายใน 72 ชั่วโมง

– บริการทางการแพทย์ – เงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย แต่ไม่เกิน 90 วันต่อครั้ง และไม่เกิน 180 ต่อปี เว้นแต่ ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จะได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ไม่เกิน 365 วัน

2.กรณีทุพพลภาพ (จ่ายสมทบมาแล้ว 3 เดือน ใน 15 เดือน) บทบาทสมมุติ กรณีล้มหัวฟาดพื้นอย่างแรงแพทย์วินิจฉัยว่าเส้นเลือดในสมองแตกทำให้เป็นอัมพาตและไม่สามารถทำงานได้ ต้องสูญเสียสมรรถภาพ ภรรยาของจึงได้มาปรึกษาหารือ ว่าจะทำอย่างไรดี จะได้เงินทดแทนการขาดรายได้หรือไม่และได้กี่เดือน (จ่ายสมทบไม่น้อยกว่า 6 เดือนขึ้นไปก่อนทุพพลภาพ)

– ค่ารักษา เท่าที่จ่ายจริง ไม่เกินเดือนละ 2,000 บาท – เงินทดแทนการขาดรายได้ ร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ตลอดชีวิต – ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ 40,000 บาท – เมื่อเสียชีวิตจะได้ค่าทำศพ 40,000 บาท – ได้รับเงินสงเคราะห์(ทายาท)ตามระยะเวลาส่งเงินสมทบ – รับเงินออมในกรณีชราภาพทั้งหมด

3. กรณีตาย (จ่ายสมทบมาแล้ว 1 เดือน ใน 6 เดือน) บทบาทสมมุติ กรณีประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ลื่นเสียหลักล้มจนเสียชีวิต ส่งสมทบหลายปีจะได้รับสิทธิจากประกันสังคมหรือไม่ และได้กรณี อะไรบ้าง – ค่าทำศพ 40,000 บาท – เงินสงเคราะห์กรณีตาย หากผู้ตายจ่ายสมทบตั้งแต่ 36 เดือนขึ้นไป แต่ไม่ถึง 120 เดือน จะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 4 เดือน จ่ายสมทบตั้งแต่ 120 เดือนขึ้นไปจะได้รับเงินสงเคราะห์ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 12 เดือน – จะได้รับเงินออมกรณีชราภาพคืน

ส่วนเงินสงเคราะห์กรณีตายจะจ่ายให้ 1.ตามที่ผู้ประกันตนระบุให้เป็นผู้รับ 2.ผู้มีสิทธิตามกฎหมาย คือ บิดา มารดา

4.กรณีคลอดบุตร (จ่ายสมทบมาแล้ว 5 เดือน ใน 15 เดือนก่อนคลอด) บทบาทสมมุติ กรณี นายจ้างเพิ่งจะนำส่งสมทบให้เพียง 11 เดือน แต่นางสมทรง ได้ตั้งครรภ์แล้ว 2 เดือน ทำให้มีความกังวลว่าตนจะได้รับสิทธิในเงินค่าคลอดบุตรและเงินสงเคราะห์บุตรหรือไม่อย่างไร เพาระไม่เคยรู้สิทธิด้านประกันสังคมมาก่อนเลย

– ผู้ประกันมีสิทธิเบิกได้เหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท – ผู้ประกันตนหญิง ได้รับเงินสงเคราะห์หยุดงาน ร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย เป็นระยะเวลา 90 วัน – ผู้ประกันตนชายที่อยู่กินฉันสามี-ภรรยากับหญิงอย่าง เปิดเผย แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ต้องมีหลักฐานหรือหนังสือรับรอง

5.กรณีสงเคราะห์บุตร (จ่ายสมทบมาแล้ว 12 เดือน ใน 36 เดือน)

– ได้รับเงินเดือนละ 400 บาท คราวละ 3 คน ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ 6 ขวบ – ต้องเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย

6.กรณีชราภาพ (เริ่มเก็บ ธ.ค.41 จะมีผลบำนาญ ปี 2557) บทบาทสมมุติ กรณีเกษียณอายุและต้องกลับไปอยู่บ้าน ความหวังที่พอมีอยู่บ้างก็คือเงินบำเหน็จบำนาญชราภาพของกองทุนประกันสังคม แต่ไม่รู้จะไปรับที่ไหน จะได้เดือน ๆละกี่บาท อีกอย่างสิทธิประโยชน์ประกันสังคมชราภาพที่ว่านี้จะจ่ายให้สักกี่ปีก็ไม่รู้เลย และที่สำคัญอย่างถ้าหากว่านางสาวกรุณาต้องเสียชีวิตไปวันใดวันหนึ่ง เงินเหล่านี้ใครจะเป็นผู้รับมรดกต่อ

– ต้องมีอายุ 55 ปี และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด,ตาย,ทุพพลภาพ จะได้รับเงิน – ได้รับบำเหน็จ (กรณีส่งเงินสมทบไม่ถึง 180 เดือน) จะได้รับเงินก้อนงวดเดียวหากจ่ายสมทบไม่ครบ 12 เดือน จะได้รับเฉพาะส่วนของตน หากจ่ายสมทบ เกิน 12 เดือน จะได้รับส่วนของผู้ประกันตนและของนายจ้าง เงินบำนาญ (กรณีส่งเงินสมทบครบ 180 เดือน) ได้รับเป็นรายเดือนไปตลอดชีวิต ร้อยละ 20 ของค่าจ้างเฉลี่ย และหากเสียชีวิตภายใน 5 ปี หลังรับเงินบำนาญ ทายาทจะได้รับ 10 เท่าของเงินบำนาญที่รับอยู่ การคำนวณเงินบำนาญ จะนำค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย หากส่งเงินสมทบเกิน 180 เดือน + เพิ่มให้อีก ร้อยละ 1.5 ต่อปี

7. กรณี ว่างงาน (จ่ายเงินสมทบมาแล้ว 6 เดือน ใน 15 เดือน) บทบาทสมมุติ กรณีถูกเลิกจ้างแต่บริษัทฯได้จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย แต่อายุมากหางานทำไม่ได้แล้วเมื่อว่างงานจะมีสิทธิได้รับประโยชน์อะไรบ้างจากประกันสังคม 1. กรณีถูกเลิกจ้าง ได้รับร้อยละ 50 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 6 เดือน 2. กรณี ลาออก ได้รับร้อยละ 30 ของค่าจ้าง ไม่เกิน 3 เดือน กรณีว่างงาน ต้องไปแจ้งขึ้นทะเบียนภายใน 30 วัน ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศที่สะดวก แต่ต้องไปรายงานตัวทุกเดือน หากเคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาแล้วโดยส่งเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด แจ้งขึ้นทะเบียนภายใน 6 เดือน เพื่อเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39 และต้องส่งเงินสมทบภายในวันที่ 15 ของทุกเดือนจำนวน 432 บาท/เดือน

 ได้รับสิทธิ 6 กรณี (ไม่ได้ว่างงาน)

นักสื่อสารแรงงานศูนย์อ้อมน้อย – อ้อมใหญ่