อบรมอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ หวังช่วยลดการละเมิดสิทธิ

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ร่วมกับ  มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า  ได้จัดฝึกอบรมเสริมศักยภาพด้านสิทธิแรงงานให้กับกลุ่มอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติ  เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2555  ที่ห้องประชุมสำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน  เขตราชเทวี  กรุงเทพฯ   โดยมีนายตุลา ปัจฉิมเวช  นักกฎหมายสิทธิแรงงาน  และ ว่าที่ร้อยตรี ชนญาดา จันทร์แก้ว  ทนายความอาสาสมัคร  เป็นวิทยากรฝึกอบรม  
   นายเมี่ยนเวย์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า (มรพ.) กล่าวแนะนำว่า กิจกรรมฝึกอบรมนี้อยู่ภายใต้โครงการเครือข่ายความช่วยเหลือและฟื้นฟูเพื่อแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วม  ครอบคลุมทั้งกลุ่มแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ  วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครให้มีความสามารถในการช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหาได้  
   นายตุลากล่าวว่า  ประเด็นเรื่องสิทธิแรงงานตามที่กฎหมายบัญญัติเป็นสิ่งสำคัญ  การที่เป็นลูกจ้างก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าตนเองมีสิทธิอะไรบ้างที่กฎหมายบัญญัติไว้ให้  เพื่อที่จะได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามสิทธิที่จะได้  จึงเป็นที่มาของการฝึกอบรมเรียนรู้ในวันนี้  ซึ่งก็จะมีเรื่องของการคุ้มครองแรงงาน  ประกันสังคม  ความปลอดภัยในการทำงาน  กองทุนเงินทดแทน เป็นต้น
 
   สำหรับอาสาสมัครแรงงานข้ามชาติที่เข้ารับการฝึกอบรม  หลายคนเป็นแรงงานที่ประสบภัยน้ำท่วมในช่วงปลายปีที่ผ่านมา  และประสบกับปัญหาต่างๆกัน  
   โกมองโซ  เป็นลูกจ้างของบริษัทซับคอนแทร็ค ทำงานอยู่ในโรงงานทำขนมปังย่านอ้อมน้อย  มีลูกจ้างต่างชาติราว 500 คนส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า  ทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 1 ทุ่ม ได้ค่าจ้าง 280 กว่าบาท  น้ำไม่ท่วมโรงงาน  แต่เจ้าของหอพักที่ถูกน้ำท่วมแจ้งให้คนมารับไปอยู่ศูนย์พักพิงที่ จ.ราชบุรี  ส่วนเพื่อนคนงานหลายคนถูกนายจ้างซับฯบังคับข่มขู่ให้ลุยน้ำไปทำงาน  ใครไม่ไปก็ไม่ได้ค่าจ้าง  แต่ หม่องมิตโซ  ซึ่งทำงานที่เดียวกัน น้ำท่วมที่พักจึงเดินทางกลับพม่าเองเพราะมีพาสปอร์ต  เมื่อน้ำลดจึงเดินทางกลับมาทำงานที่โรงงานแห่งใหม่ย่านถนนเพชรเกษม
ด้าน โกมินทาย  ทำงานที่โรงงานผลิตยางใกล้ๆกันย่านถนนเพชรเกษม มีคนงานต่างชาติที่ส่วนใหญ่เป็นชาวพม่าราว 150 คน ทำงานวันละ 12 ชั่วโมงตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 2 ทุ่ม ได้ค่าจ้างวันละ 370 กว่าบาท  ทุกวีค(15 วัน)จะต้องหักให้บริษัทซับฯคนละ 250 บาท  ช่วงน้ำท่วมมีรถมารับส่งไปทำงาน
   ขณะที่ ไนสามเค  ช่วงน้ำท่วมหยุดทำงานที่โรงงานผลิต พีวีซี เพื่อไปเป็นอาสาสมัครที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานผู้ประสบภัยน้ำท่วมอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่  มีส่วนในการช่วยเหลือพี่น้องแรงงานข้ามชาติซึ่งประสบความเดือดร้อนมาก ทั้งการแจกจ่ายข้าวปลาอาหารยังชีพรวมไปถึงช่วยเรื่องสิทธิต่างๆของแรงงาน  เคเคยบอกว่าไม่กลัวที่มาช่วยงานที่ศูนย์ฯเพราะแรงงานข้ามชาติหางานง่ายเนื่องจากนายจ้างส่วนมากต้องการแรงงานราคาถูกๆ  แต่วันนี้กลับไม่มีงานจากโรงงานย่านนั้นให้เคทำ  ซึ่งเขาคิดว่าอาจเป็นผลจากการที่เข้าไปช่วยงานที่ศูนย์ฯช่วงน้ำท่วมก็เป็นได้
   ทั้งนี้ทุกคนกล่าวตรงกันว่า  ช่วงน้ำท่วมแรงงานข้ามชาติถูกละเมิดสิทธิมาก  ถูกบังคับถึงขนาดยิงปืนขึ้นฟ้าขู่ให้ไปทำงานทั้งที่น้ำท่วมที่พักเดินทางลำบาก  ย้ายไปทำงานที่อื่นก็ไม่รับ หรือต้องจ่ายค่าสมัครงานใหม่อีก 4 พันกว่าบาท  รวมทั้งมีกรณีไม่จ่ายค่าจ้างให้คนงาน  การได้มาฝึกอบรมวันนี้เป็นประโยชน์มากทำให้รู้ว่าแรงงานข้ามชาติมีสิทธิอะไร มีกฎหมายอะไรคุ้มครองบ้าง  ซึ่งก็จะนำสิ่งที่เรียนรู้ไปเผยแพร่สู่เพื่อนๆแรงงานข้ามชาติให้ได้รู้สิทธิของตัวเองต่อไป  แต่การไปเผยแพร่ก็ยากลำบากเพราะทำได้เพียงบอกเล่าสู่กันฟัง  การแจกเป็นเอกสารหรือประชุมกันจะถูกเพ่งเล็ง อาจกระทบถึงการทำงาน  อยากให้องค์กรหรือหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องผลิตเป็น วีซีดี ซึ่งสามารถเผยแพร่อย่างเปิดเผยได้ก็จะทำให้เข้าถึงคนงานได้มากขึ้น
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน